ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive thyroid) หรือที่บางคนเรียกว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย, ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้น้อยไม่เพียงพอหรือไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้เลย ทำให้ร่างกายทุกส่วนรวมทั้งสมองและความคิดทำงานเชื่องช้า เนื่องจากขาดไทรอยด์ฮอร์โมนไปกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญเป็นพลังงานให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำงานได้ จึงทำให้กิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ขึ้นตามมา

ไฮโปไทรอยด์ที่มีสาเหตุมาจากตัวของโรคต่อมไทรอยด์เองจะเรียกว่า “ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนปฐมภูมิ” (Primary hypothyroidism) แต่หากเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือของสมองส่วนไฮโปทาลามัสแล้วส่งผลกระทบมายังการทำงานของต่อมไทรอยด์จะเรียกว่า “ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ” (Secondary hypothyroidism)

ไฮโปไทรอยด์เป็นภาวะที่พบได้บ่อยภาวะหนึ่ง โดยพบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป สามารถพบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้มากในผู้หญิงวัยกลางคน (ในเด็กเกิดใหม่ทุก 3,000-4,000 คน จะพบภาวะนี้ได้ 1 คน ส่วนในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปจะพบได้ประมาณ 15% และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-8 เท่า)

หมายเหตุ : ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างและใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบไปด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้ายและด้านขวาที่แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม

ต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ ไทรอกซีน (Thyroxine), ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) และแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่าฮอร์โมนไทรอกซีนและฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงไทรอยด์ฮอร์โมนจึงมักหมายถึงเฉพาะฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ เพราะฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งหมดจากอาหารและจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่าเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์ต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อการทำงาน และเพื่อการซ่อมแซมที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนินนั้นจะมีหน้าที่แค่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้สมดุล

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปทาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งภาวะผิดปกติต่าง ๆ ของต่อมไทรอยด์จึงสัมพันธ์กับการทำงานและโรคต่าง ๆ ของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจด้วย

สาเหตุของไฮโปไทรอยด์

หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้ไม่เพียงพอจะก่อให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ได้ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้

  • โรคภูมิคุ้มต้านตนเอง (Autoimmune disease) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายตัวเอง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “โรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต” (Hashimoto’s thyroiditis) เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบและผลิตแอนติบอดี้มาทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์จึงผลิตฮอร์โมนฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้ไม่เพียงพอและเกิดภาวะขาดไทรอยด์ตามมา
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดส่วนต่าง ๆ เกือบทุกส่วนของต่อมไทรอยด์ออกไปจะทำให้ร่างกายหยุดการผลิตฮอร์โมนหรือผลิตได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
  • การฉายรังสีที่บริเวณลำคอ ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสีที่บริเวณลำคอหรือศีรษะ แล้วรังสีที่ฉายนั้นไปทำลายเซลล์ภายในต่อมไทรอยด์ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอ
  • การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยต้องกินยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid drug) เพื่อลดและปรับระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้เป็นปกติ และอาจได้รับการรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน/สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านไทรอยด์ มีอาการกำเริบบ่อย ไม่สะดวกในการใช้ยาอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการแพ้ยา ซึ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ได้
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ยาบางตัวที่ใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะทางจิต โรคมะเร็ง หรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone), ลิเทียม (Lithium), อินเตอร์ลูคีน 2 (Interleukin-2), อินเตอร์เฟอรอน (Interferon), โพแทสเซียมเปอร์คลอเรท (Potassium perchlorate), ยาหรือสีที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น บางครั้งยาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ได้
  • การขาดสารไอโอดีน เนื่องจากไอโอดีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์และร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับมาจากการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น เกลือไอโอดีน อาหารทะเล ปลาทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม (ในเด็กเล็กอาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดาระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร)

นอกจากนี้ ไฮโปไทรอยด์ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก เช่น

  • การตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจประสบภาวะขาดไทรอยด์ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือภายหลังการตั้งครรภ์ไปแล้วได้ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะไทรอยด์ต่ำหลังคลอด” (Postpartum hypothyroidism) เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบจะทำให้ร่างกายผลิตสารภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะทำให้มารดาเกิดความดันโลหิตสูงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของอายุครรภ์ ส่วนทารกในครรภ์ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย
  • โรคแต่กำเนิด (Congenital disease) ทารกบางรายอาจไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่องทำให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่า “โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด” (Congenital hypothyroidism)
  • โรคบางชนิดที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
  • ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง การทำงานของต่อมใต้สมองที่ผิดปกติสามารถส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ เนื่องจากต่อมใต้สมองมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์หรือทีเอสเอช (Thyroid-stimulating hormone : TSH) หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติก็จะไม่สามารถผลิตทีเอสเอชขึ้นมากระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ได้ตามปกติ ส่งผลให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายน้อยลง อย่างไรก็ตาม การป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์จากสาเหตุนี้ก็พบได้น้อย ทั้งนี้ ไฮโปไทรอยด์ที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่เรียกว่า “ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ” (Secondary hypothyroidism) ก็มีสาเหตุการเกิดได้หลากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น โรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome), เนื้องอกสมอง, เนื้องอกต่อมใต้สมอง, การผ่าตัดต่อมใต้สมอง (เช่น การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง), การฉายรังสีรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง, การมีเลือดออกในต่อมใต้สมองจากต่อมใต้สมองได้รับอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุที่เกิดในส่วนของศีรษะ), โรคหรืออุบัติเหตุของสมองที่ส่งผลถึงการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง) เป็นต้น

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ได้ ดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพียงบางส่วน
  • ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีรักษาที่บริเวณลำคอหรือหน้าอกส่วนบน
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาต้านไทรอยด์หรือน้ำแร่รังสีไอโอดีน
  • ผู้ที่เคยตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคภูมิต้านตนเอง และภูมิต้านตนเองที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอื่น เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคภูมิต้านตนเองอื่น ๆ

อาการของไฮโปไทรอยด์

อาการไฮโปไทรอยด์ในผู้ใหญ่ที่พบจะมีอยู่หลากหลายอาการและจะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงที่ผู้ป่วยขาดฮอร์โมนดังกล่าว ทั้งนี้ อาการบางอย่างที่ปรากฏขึ้นอาจแสดงออกไม่ชัดเจน คล้ายกับอาการป่วยของโรคอื่น และบางอาการก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย แต่โดยทั่วไปแล้วอาการจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมักจะใช้เวลาหลายปี (อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เกิดอาการ ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน) หากกระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานช้าลงจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นอาการที่พบบ่อยและอาการที่พบได้น้อย ดังนี้

  • อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ซึมเศร้า ผมร่วง ผิวหนังหยาบแห้ง เล็บด้าน  เปราะ ฉีก แตก ง่าย ขนคิ้วบางโดยเฉพาะตรงส่วนปลาย ๆ ของคิ้ว กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลำไส้มักจะเคลื่อนไหวช้าทำให้มีอาการท้องผูกเป็นประจำ และเนื่องจากร่างกายทำงานเชื่องช้าจึงมีการใช้พลังงานน้อย ผู้ป่วยจึงมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก และจะรู้สึกหนาวง่ายกว่าคนปกติ (จึงชอบอยู่ในอากาศร้อนมากกว่าอากาศเย็น) บางรายอาจมีอาการคอพอก (คอโต) ร่วมด้วย
  • อาการที่พบได้น้อย ได้แก่ ประจำเดือนมามากและนานหรือประจำเดือนไม่มา, เสียงแหบ, หูตึง, ความต้องการทางเพศลดลงหรือไม่มีความรู้สึกทางเพศ, มีบุตรยาก, เป็นโรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ (ทำให้รู้สึกเจ็บหรือชาที่มือ), หลงลืมหรือความคิดสับสน (ในผู้ป่วยสูงอายุ)

ส่วนในทารก เด็ก และวัยรุ่นที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์จะเกิดอาการดังนี้

  • อาการไฮโปไทรอยด์ในทารก ทารกที่เกิดมาแล้วต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือไม่มีต่อมไทรอยด์อาจปรากฎอาการบางอย่าง เช่น สำลักบ่อย, หน้าบวมฉุ, ลิ้นมีขนาดใหญ่คับปากและยื่นออกมา, ตัวเหลืองตาเหลือง (อาการนี้มักเกิดจากตับของทารกไม่สามารถเผาผลาญบิริรูบินซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดจากร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วกลับมาใหม่ได้) เป็นต้น หากอาการของโรคกำเริบขึ้น ทารกมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและแคระแกร็น โดยในระยะนี้ เด็กจะมีอาการท้องผูก มวลกล้ามเนื้อน้อย ซึม ไม่ร้องกวน และนอนหลับมากเกินไป ต้องคอยปลุกขึ้นมาให้นม ถ้าทารกยังไม่ได้รับการรักษาต่อไป (แม้จะเกิดอาการไม่รุนแรง) เด็กจะมีรูปร่างตัวเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ ซึ่งเรียกว่า “สภาพแคระโง่” (Cretinism) หรือ “เด็กเครติน” (Cretin) ซึ่งทางภาคเหนือจะเรียกว่าโรคเอ๋อ โดยชนิดที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีนเนื่องจากมารดาเป็นโรคคอพอกประจำถิ่นจะเรียกว่า “สภาพแคระโง่ประจำถิ่น” (Endemic cretinism) ส่วนชนิดที่เกิดจากต่อมไทรอยด์เจริญได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรกเกิดจะเรียกว่า “สภาพแคระโง่แต่กำเนิด” (Congenital cretinism)
  • อาการไฮโปไทรอยด์ในเด็กและวัยรุ่น โดยทั่วไปจะมีอาการคล้ายในผู้ใหญ่ แต่อาจจะมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ฟันแท้ขึ้นช้ากว่าปกติ, เจริญเติบโตช้า (ส่งผลให้มีรูปร่างเตี้ย), เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้า, การเรียนรู้ช้า เป็นต้น

โรคไฮโปไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.endocrineweb.com

โดยทั่วไปไฮโปไทรอยด์เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง รักษาได้ แต่ผู้ป่วยอาจต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนไปตลอดชีวิต ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือกินยา อาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะไม่หายไปและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการก็จะทุเลาลงได้ภายในเวลาไม่นาน และร่างกายจะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ภายในไม่กี่เดือน (แต่ถ้าขาดยาอาการก็จะกลับมากำเริบได้ใหม่) ส่วนในทารกแรกเกิด ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ 1 เดือน (ก่อนมีอาการชัดเจน ซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจเลือด) เด็กก็จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง แต่เด็กยังคงต้องกินยาทุกวันและห้ามหยุดยา

ภาวะแทรกซ้อนของไฮโปไทรอยด์

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดอาการต่อไปนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและในด้านการงานได้

  • ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์มักเกิดอาการซึมเศร้าได้ในช่วงแรกและอาการอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ไฮโปไทรอยด์ยังก่อให้เกิดพัฒนาการทางสมองที่ช้าด้วย
  • ปัญหาสุขภาพหัวใจ ไฮโปไทรอยด์อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากระดับไขมันเลว (LDL) ที่สูงนั้นสามารถเกิดได้กับผู้ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือผู้ป่วยเป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการได้ นอกจากนี้ภาวะขาดไทรอยด์ยังอาจทำให้หัวใจโตและนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ด้วย
  • คอพอก ต่อมไทรอยด์ที่ถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้น นอกจากนี้ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto’s thyroiditis) คือหนึ่งในสาเหตุของอาการคอพอกที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่ปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังมานาน จะทำลายปลายประสาท ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ ชา หรือเสียวปลาบบริเวณที่เส้นประสาทถูกทำลายได้ ทั้งนี้ ยังอาจก่อให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อได้ด้วย
  • ภาวะมิกซีดีมาโคม่า (Myxedema coma) เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่สุดแต่พบได้น้อย และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคและปล่อยไว้นานก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการความดันโลหิตต่ำ อุณหภูมิร่างกายลดลง หายใจแผ่ว ไม่ตอบสนองใด ๆ และถึงขึ้นหมดสติ ซึ่งในกรณีที่เกิดอาการร้ายแรงที่สุดก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยเกิดภาวะนี้จะต้องได้รับการรักษาในทันที
  • ภาวะมีบุตรยาก เมื่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำจะส่งผลต่อการตกไข่ของผู้หญิงและทำให้มีลูกได้ยาก นอกจากนี้ โรคภูมิต้านตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของไฮโปไทรอยด์ก็ทำให้มีบุตรยากด้วยเช่นกัน
  • เด็กเกิดมาผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้และไม่ได้รับการรักษาจะเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาและมีความผิดปกติได้สูงกว่าทารกซึ่งเกิดจากแแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยทารกเหล่านี้จะมีแนวโน้มมีปัญหาในด้านพัฒนาการทางด้านร่างกาย (ตัวเตี้ยแคระ) และความฉลาด (ปัญญาอ่อนหรือภาวะสติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์) แต่หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาในช่วงเดือนแรก ๆ ตั้งแต่เกิด เด็กก็จะสามารถมีพัฒนาการที่เป็นปกติได้
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ติดเชื้อง่าย เป็นหมัน แท้งบุตรง่าย ภาวะอ้วน อาการปวดข้อ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นโรคจิต (Myxedema madness)

อาการไฮโปไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.gponline.com

การวินิจฉัยไฮโปไทรอยด์

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคในอดีต ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ และจะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการอ่อนเพลีย ตัวบวมฉุ หน้าบวม คิดช้าและทำอะไรช้ากว่าที่เคย ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ผมบางและหยาบ ผมร่วง ขนคิ้วร่วง ชีพจรเต้นช้า (อาจต่ำกว่า 50 ครั้ง/นาที) อาจตรวจพบอาการคอโตหรือไม่ก็ได้ ส่วนในทารกอาจตรวจพบอาการตัวอ่อนปวกเปียก ซีด ดีซ่าน ผิวหยาบแห้ง ลิ้นโตคับปาก ท้องป่อง สะดื่อจุ่น

หากสงสัยแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับทีเอสเอชและฮอร์โมนไทรอยด์ (ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะจัดว่าป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ ส่วนผู้ที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีระดับทีเอสเอชสูง ก็จัดว่าป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ด้วยเช่นกัน โดยจะเรียกว่า “ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการ” (Subclinical hypothyroidism)) ซึ่งมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • การตรวจทีเอสเอช (Thyroid-stimulating hormone : TSH) เป็นการตรวจหลักที่ใช้ในการวินิจฉัยไฮโปไทรอยด์ เนื่องจากอาการของไฮโปไทรอยด์ในขั้นแรกนั้นระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์จะยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ก่อน (ตรวจพบโรคได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรค) แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยตรวจทีเอสเอชก่อน เพราะเมื่อผู้ป่วยประสบภาวะขาดไทรอยด์ ต่อมใต้สมองจะเร่งผลิตทีเอสเอชให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ แต่ระดับทีเอสเอชที่เพิ่มขึ้นนี้จะเกิดขึ้นก่อนระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ลดต่ำลง
  • การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ในกรณีที่ผู้ป่วยป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์อันเนื่องมาจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส ซึ่งจะมีระดับทีเอสเอชต่ำกว่าปกติ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่า “การตรวจทีอาร์เอช” (Thyrotropin releasing hormone: TRH) ซึ่งเป็นการตรวจที่จะช่วยระบุได้ว่าภาวะขาดไทรอยด์นั้นเกิดความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส (ในการตรวจแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่อมไร้ท่อจะทำการฉีดฮอร์โมนดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วย)

นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจเอกซเรย์ปอดเพื่อดูภาพหัวใจ (อาจพบว่ามีภาวะหัวใจโต เนื่องจากมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจหรือน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด), การตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ (เป็นการตรวจที่อาจช่วยวินิจฉัยตำแหน่งของอาการป่วยได้), การตรวจเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่แพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุของโรคน่าจะมาจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)

ตรวจไฮโปไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.endocrineweb.com

การแยกโรค

เนื่องจากไฮโปไทรอยด์มีอาการแสดงได้หลายอย่าง แพทย์จึงต้องแยกโรคนี้ออกจากสาเหตุอื่น ๆ มากมาย เช่น

  • อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
    • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ ตรงข้ามกับไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ทำให้มีอาการน้ำหนักตัวลดลง ขี้ร้อน เหงื่อออก ใจสั่น มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว นอนไม่หลับ ถ่ายเหลว
    • ภาวะดีซ่าน ทำให้พบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะเหลืองพร้อม ๆ กัน ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคตับ โรคถุงน้ำดี และอื่น ๆ
    • ภาวะซีด (โลหิตจาง) จากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งจะมีอาการหน้าตา ริมฝีปาก ลิ้น มือ และเล็บซีดเผือดกว่าปกติ
    • ภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการคิดมาก เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า คิดช้า พูดช้า ท้องเสียหรือท้องผูก เบื่ออาหารหรือกินเก่ง
  • อาการบวมฉุ อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยา โรคขาดอาหาร โรคไต
  • อาการคอโตหรือคอพอก อาจต้องแยกออกจากโรคคอพิกเป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) คอพอกที่เกิดจากการขาดไอโอดีน (มักพบทางภาคเหนือและภาคอีสานที่ผู้ป่วยไม่ได้บริโภคเกลือที่ใส่ไอโอดีนและอาหารทะเล)
  • อาการปัญญาอ่อนในเด็ก อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome)
  • อาการเสียงแหบ หูตึง ท้องผูก หรือชีพจรช้า อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย

การรักษาไฮโปไทรอยด์

แนวทางการรักษาไฮโปไทรอยด์ คือ การรักษาที่สาเหตุหรือแก้ไขที่ต้นเหตุ (ในกรณีที่แก้ได้) เช่น ถ้ามีสาเหตุเกิดจากการใช้ยาบางชนิดนี้ เมื่อหยุดยานั้น (ถ้าหยุดได้) อาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาลงไปได้เอง

แต่ถ้าเป็นไฮโปไทรอยด์ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ไฮโปไทรอยด์ที่มีสาเหตุมาจากการฉายรังสีบริเวณลำคอ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทนไปตลอดชีวิต

โดยทั่วไปแพทย์จะนิยมให้ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์เข้าไปแทนที่ฮอร์โมนเดิมในร่างกาย เช่น ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ไทรอกซีน” (Thyroxine) หรือชื่อทางการค้าที่รู้จักกันดี คือ “เอลทรอกซิน” (Eltroxin™) ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทาน วันละ 1-3 เม็ด โดยยาเลโวไทรอกซีนนี้จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ เมื่อผู้ป่วยกินยานี้เข้าไปได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะเริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ยาเลโวไทรอกซีนยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้นจากการป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ด้วย ผู้ป่วยจึงควรกินยาเลโวไทรอกซีนไปตลอดชีวิต แต่ขนาดยาที่ใช้ในการรักษาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งภายหลังจากให้ยารักษาไปแล้วแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการและตรวจระดับฮอร์โมนทีเอสเอชในเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย

แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมเพื่อรักษาไฮโปไทรอยด์ โดยจะตรวจดูระดับฮอร์โมนทีเอสเอชหลังจากให้ยาผู้ไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน โดยยาเลโวไทรอกซีนนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากผู้ป่วยได้รับยามากเกินขนาดจะเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น ตัวสั่น น้ำย่อยในกระเพาะเพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่เกิดภาวะขาดไทรอยด์รุนแรงหรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะได้รับยาในปริมาณน้อยก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นในภายหลัง เพราะจะช่วยให้หัวใจสามารถปรับระดับการทำงานให้เข้ากับกระบวนการเผาผลาญของเมตาบอลิซึมที่เพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดกินยาเมื่อรู้สึกดีขึ้น เพราะอาการของโรคจะกลับมากำเริบได้อีกครั้ง

วิธีรักษาไฮโปไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.everydayhealth.com

การดูแลตนเองของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์

ถ้ามีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นไฮโปไทรอยด์ เช่น อยู่ ๆ มีอาการตัวบวมฉุ เฉื่อยชา คิดช้า ทำอะไรช้าลงกว่าที่เคยเป็น และรู้สึกขี้หนาวกว่าคนอื่น ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรดูแลตนเอง ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริงก็ควรปฏิบัติดังนี้

  • ปฏิบัติตามที่แพทย์/พยาบาลแนะนำเสมอ
  • กินยาให้ครบถ้วน ห้ามขาดยา โดยเฉพาะยาไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งผู้ป่วยหลายรายอาจจำเป็นต้องกินยานี้ไปตลอดชีวิต (แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับสภาพอาการของผู้ป่วย)
  • อย่าเลิกไปหาหมอหรือเลิกกินยาโดยพลการ หรือหันไปใช้ยาอื่นหรือยาสมุนไพรที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าได้ผลจริง
  • การกินยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) อาจเกิดผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) อาการดังกล่าวจะยิ่งกำเริบมากขึ้นเมื่อเริ่มใช้ยานี้ ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยาเลโวไทรอกซีนมากเกินไปอาจเกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น หงุดหงิด ใจสั่น เหงื่อออก ท้องร่วง เสี่ยงต่อกระดูกพรุน เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ของคุณ
  • ยา อาหารเสริม หรืออาหารบางชนิด สามารถรบกวนการดูดซึมหรือลดประสิทธิผลในการรักษาของยาเลโวไทรอกซีนได้ เช่น ยาลดกรด (ได้แก่ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide), แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)), ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine), ยาบำรุงร่างกายกลุ่มวิตามินรวม (Multivitamin with Mineral), ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองหรือมีเส้นใยสูง เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาเลโวไทรอกซีนควรเว้นระยะเวลาการกินยาให้ห่างกัน 4 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย หรือควรปรึกษาแพทย์
  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน เช่น ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride), ไกลพิไซด์ (Glipizide), เมทฟอร์มิน (Metformin) สามารถส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดยาของผู้ป่วย
  • การใช้ยาเลโวไทรอกซีนร่วมกับยาลดน้ำมูกบางตัว เช่น ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก ใจสั่น และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หากต้องใช้ยาเหล่านี้คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • เมื่อรับการรักษากับแพทย์แล้วยังมีอาการไม่ปกติอยู่ ก็ควรรีบกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อจะได้ดูว่าเกิดจากอะไรหรือยาที่ใช้ไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงจากยา แล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
  • ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

การป้องกันไฮโปไทรอยด์

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว การป้องกันภาวะขาดไทรอยด์จึงเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรักษาโรคต่าง ๆ และสาเหตุที่เป็นมาแต่กำหนด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนคำแนะนำนอกจากนั้น คือ

  1. ไฮโปไทรอยด์ที่มีสาเหตุมาจากการขาดสารไอโอดีน สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีสารโอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น เกลือไอโอดีน อาหารทะเล ปลาทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม
  2. ไฮโปไทรอยด์อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้ ดังนั้น ในการใช้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อซื้อยามาใช้เอง เราควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ รวมทั้งอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ และควรรู้ว่ายาที่ใช้อยู่นั้นอาจมีผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง
  3. สำหรับทารกแรกเกิดนั้นสามารถรับการตรวจได้ด้วยวิธีการเจาะเลือดที่ส้นเท้า (Heel prick test) ซึ่งจะเป็นการนำตัวอย่างเลือดของเด็กไปตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเด็กมีความผิดปกติหรือเกิดภาวะใดที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตรวจนี้เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 2 วัน หากพบว่าป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ก็จะสามารถรับการรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เด็กก็จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง (การตรวจนี้แพทย์จะแนะนำให้ตรวจในทารกแรกเกิดทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการขาดสารไอโอดีน ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้สูง)
  4. ผู้ป่วยบางรายที่เสี่ยงเป็นไฮโปไทรอยด์สูงแต่ไม่แสดงอาการนั้น สามารถรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าอาการของโรคอยู่ในระดับใดเพื่อรับการรักษาต่อไป
  5. ไฮโปไทรอยด์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุ แพทย์จึงแนะนำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการตรวจภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์จากการตรวจสุขภาพประจำปี รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่คิดว่าตัวเองน่าจะตั้งครรภ์ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ภาวะขาดไทรอยด์/ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 814-816.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 381 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค.  “โรคขาดไทรอยด์”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [10 มิ.ย. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [12 ก.ค. 2017].
  4. พบแพทย์.  “ไฮโปไทรอยด์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [14 ก.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด