ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไรแฟมพิซิน

ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) หรือ ไรแฟมพิน (Rifampin) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ไรฟาดิน (Rifadin) เป็นยาที่ทางการแพทย์มักนำมาใช้รักษาวัณโรค โรคเรื้อน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus aureus, Mycobacterium, Neisseria meningitidis ฯลฯ สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ในการรักษาโรคดังกล่าว

ตัวอย่างยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซิน หรือ ไรแฟมพิน (ชื่อทางการค้า) มีชื่อทางการค้า เช่น มาโนริฟซิน (Manorifcin), ไรซิน (Ricin), ไรฟาซิน-เอ (Rifacin-A), ไรฟาดิน (Rifadin), ไรฟาเจน (Rifagen), ไรแฟม (Rifam), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ไรแฟมพิซิน จีพีโอ (Rifampicin GPO), ไรแฟมพิซิน แอกด์ฮอน (Rifampicin Acdhon), ไรแฟม-พี (Rifam-P), ไรแมกซิน (Rimaccin), ไรเมซิน (Rimecin), ไรพิน (Ripin) ฯลฯ

รูปแบบยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายทั้งแบบชนิดที่เป็นยาผสมและแบบยาเดี่ยว สำหรับยาเดี่ยว ได้แก่

  • ยาแคปซูล ขนาด 150, 300 และ 450 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม

ไรแฟมพิซินคือ
IMAGE SOURCE : www.akorn.com

สรรพคุณของยาไรแฟมพิซิน

  • ใช้รักษาวัณโรค (Tuberculosis), โรคเรื้อน (Leprosy), โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus), โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Meningitis) จากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), โรคลีเจียนเน็ลลานิวโมเนีย (Legionella pneumonia), โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax), โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis), โรคหนองใน (Gonorrhoea), การติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus – MRSA), โรคติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสที่มีอาการรุนแรง, โรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยาไรแฟมพิซิน (เช่น Staphylococcus aureus, Streptococcus, Neisseria gonorrhoeae, Neisseria meningitidis, Haemophilus influenzae, Escherichia coli, Brucella spp., Proteus spp., Legionella spp. เป็นต้น)
  • ใช้รักษาผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) แต่ไม่มีอาการ และใช้ป้องกันการติดเชื้อนี้ในเด็กอายุ 4 ปีหรือต่ำกว่า
  • ใช้ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcemia หรือ Meningococcal meningitis) สำหรับผู้ที่สัมผัสโรค (เป็นพาหะของเชื้อไนซ์ซีเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) ที่ไม่มีอาการ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปจากลำคอและจมูกส่วนใน)
  • ยาไรแฟมพิซินอาจใช้รักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพันธุกรรมหรือดีเอนเอ (DNA) ของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะไปรวมตัวกับเอนไซม์ที่มีชื่อว่า RNA polymerase และทำให้เอนไซม์หยุดลง (ไม่มีผลต่อเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์) จึงทำให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ เจริญเติบโต และตายในที่สุด

หลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารและกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อของร่างกายและไขสันหลัง (ระดับยาสูงสุดในเลือดคือเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการรับประทานยา) ไรแฟมพิซินจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ยาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างในระหว่างการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ยาจะถูกกำจัดออกจากร่างกายประมาณ 50% ของระดับยาในกระแสเลือด โดยส่วนใหญ่จะถูกขับออกจากร่างกายทางน้ำดีและทางปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาไรแฟมพิซิน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาไพร็อกซิแคม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไรแฟมพิซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยารักษาวัณโรคบางตัว เช่น ไอโซไนอาซิด (Isoniazid), ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) สามารถส่งผลกระทบต่อตับจนก่อให้มีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการบวมตามร่างกาย อาจพบอาการตกเลือด ผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวเหลือง หากพบอาการข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอปรับขนาดการรับประทานยา
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยากดภูมิต้านทานโรคสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) สามารถลดประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันดังกล่าวได้ ผลที่ติดตามมา เช่น ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะล้มเหลวด้วยร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายเข้ามาใหม่ เป็นต้น
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยารักษาโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น อินดินาเวียร์ (Indinavir), โลปินาเวียร์ (Lopinavir) สามารถทำให้ระดับยาที่ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในร่างกายลดต่ำลงและด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาการรับประทานยาให้เหมาะกับผู้ป่วย
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ไดคูมารอล (Dicumarol), วาร์ฟาร์ริน (Warfarin) จะส่งผลให้ประสิทธิผลของยาต้านการแข็งตัวของเลือดลดลง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน มีอาการบวม ห้อเลือด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ผู้ให้การรักษาทันที
    • นอกจากนี้ ยาไรแฟมพิซินอาจต้านฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคหัวใจ (ดิจิทาลิส) ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคเอดส์ ถ้าใช้ร่วมกัน
  • หากเป็นหรือเคยเป็นโรคตับ
  • มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไรแฟมพิซิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคดีซ่าน
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร เนื่องจากการใช้ยาไรแฟมพิซินในหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด 2-3 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทารก ถ้าจำเป็นต้องใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ควรให้วิตามินเคแก่มารดาและทารกหลังคลอด เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในทารก
  • การรับประทานยานี้อาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานยาอื่นที่อาจมีผลต่อตับ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่าจะไม่มีโรคตับก็ต้องเฝ้าดูอาการของตับอักเสบด้วยเช่นกัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยานี้อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

วิธีใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • สำหรับวัณโรค (ใช้รักษาวัณโรคได้ทุกชนิด ทั้งแบบลุกลาม เรื้อรัง และดื้อยา) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม (ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 450 มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานในขนาดวันละ 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม (ยังไม่มีการกำหนดขนาดยาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน) วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6-8 เดือน โดยให้รับประทานก่อน 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง หรือก่อนนอน และต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด ตามคำแนะนำของแพทย์
  • สำหรับโรคเรื้อน (ใช้รักษาได้ทั้งชนิดที่มีเชื้อน้อยและชนิดที่มีเชื้อมาก เพื่อเปลี่ยนอาการของโรคจากระยะติดต่อเป็นระยะไม่ติดต่อ) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม (ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 450 มิลลิกรัม) เดือนละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 6-24 เดือน แล้วแต่ระยะของโรค และต้องใช้ร่วมกับยารักษาโรคเรื้อนอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด เช่น แดพโซน (Dapsone), โคลฟาซิมีน (Clofazimine) ฯลฯ ตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนในเด็กควรให้ในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดได้ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้งต่อวัน
  • สำหรับโรคสครับไทฟัส ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 900 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • สำหรับเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน
  • สำหรับโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • สำหรับโรคลีเจียนเน็ลลานิวโมเนีย ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน และอาจให้ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในการรักษาร่วมด้วย
  • สำหรับโรคบรูเซลโลซิส ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-900 มิลลิกรัม ร่วมกับยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) วันละ 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียวติดต่อกันนาน 45 วัน
  • สำหรับรักษาโรคหนองใน (ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 900 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และอาจต้องรับประทานซ้ำในวันที่ 2-3 (ควรให้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่นด้วย เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา)
  • สำหรับการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง และต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด
  • สำหรับโรคติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสที่มีอาการรุนแรง ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยให้ยาทุก 12 ชั่วโมง ในกรณีที่เชื้อแพร่กระจายทั่วร่างกายหรือเยื่อหัวใจอักเสบต้องใช้ร่วมกับยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ส่วนในกรณีที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง (การติดเชื้ออยู่บริเวณลึก แต่ยังไม่ถึงแก่ชีวิต) ต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด
  • สำหรับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) แต่ไม่มีอาการ และบุคคลนั้น ๆ ใกล้ชิดกับเด็กอายุ 4 ปีหรือต่ำกว่า อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ในผู้ใหญ่ควรได้รับคำแนะนำให้รับประทานยานี้ในขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 วัน
  • สำหรับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อซึ่งไวต่อยาไรแฟมพิซิน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง และควรใช้ร่วมกับยาต้านแบคทีเรียอื่นที่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อนั้น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อ
  • สำหรับใช้ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไนซ์ซีเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) ที่ไม่มีอาการ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปจากลำคอและจมูกส่วนใน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน ควรให้ในขนาดครั้งละ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน ให้ครั้งละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) ติดต่อกัน 2 วัน (ทั้งหมดนี้ให้รับประทานรวม 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน)

ไรฟาดิน
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

คำแนะนำในการใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • ควรรับประทานยานี้ตอนท้องว่าง โดยให้รับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และให้รับประทานยาติดต่อกันจนหมดช่วงการรักษาตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ในวงการแพทย์นั้นจัดให้ยาไรแฟมพิซินอยู่ในหมวดหมู่ของยาอันตราย และอยู่ในประเภท Pregnancy Category C (ระดับความปลอดภัยในคนท้อง) แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับโรคก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายโดยตรงหรือนำมาซึ่งการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม
  • ยานี้อาจต้านฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ
  • หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อ แสบยอดอก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ควรไปพบแพทย์ แต่หากมีผื่นขึ้น คันตามตัว จ้ำเลือดและเลือดออกง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออก ให้หยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

การเก็บรักษายาไรแฟมพิซิน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานทานยาไรแฟมพิซิน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาไรแฟมพิซิน สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาไรแฟมพิซิน

  • การรับประทานยานี้อาจทำให้ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำตา น้ำลาย เหงื่อ และเสมหะ ออกเป็นสีส้มแดง ซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด (ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอาจทำให้เลนส์ติดสีถาวรได้)
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดยอดอก รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปวดท้อง ท้องเดิน ฯลฯ
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการผื่นคัน ผื่นลมพิษได้ แต่มักจะไม่รุนแรง
  • อาจทำให้ตับอักเสบ (ดีซ่าน)
  • อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีอาการจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนัง) แต่เมื่อหยุดยาก็จะหายไปได้เอง
  • การใช้ยานี้ในขนาดสูง คือมากกว่าวันละ 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาจทำให้มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 254-255.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “RIFAMPIN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [21 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาไรแฟมพิน/ไรแฟมพิซิน (Rifampin/Rifampicin)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 ก.ย. 2016].
  4. Siamhealth.  “Rifampicin (ไรแฟมพิซิน)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [21 ก.ย. 2016].
  5. ThaiRx.  “ไรฟาดิน 300 มก.”, “Rifampicin Lederle 300 mg”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [21 ก.ย. 2016].
  6. Drugs.com.  “Rifampin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [21 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด