ไฟเดือนห้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไฟเดือนห้า 22 ข้อ !

ไฟเดือนห้า

ไฟเดือนห้า ชื่อสามัญ Bastard ipecacuanha, Butterfly Weed, Blood Flower, Milkweed, Silkweed[2]

ไฟเดือนห้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Asclepias curassavica L. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1],[3]

สมุนไพรไฟเดือนห้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำแค่ (แม่ฮ่องสอน), บัวลาแดง (เชียงใหม่), ค่าน้ำ เด็งจ้อน (ลำปาง), ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์), ดอกไม้เมืองจีน ไม้เมืองจีน (สุราษฎร์ธานี), เทียนแดง (ภาคกลาง), เทียนใต้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา จิงเฟิ่งฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของไฟเดือนห้า

  • ต้นไฟเดือนห้า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร และอาจสูงได้ถึง 1 เมตร ตามกิ่งอ่อนและก้านดอกมีขน กิ่งและก้านมียางสีขาวคล้ายน้ำนมอยู่ภายใน ไฟเดือนห้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานแล้ว โดยขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไป[1],[2]

ต้นไฟเดือนห้า

  • ใบไฟเดือนห้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ก้านใบสั้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกยาวหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-13 เซนติเมตร[1]

ใบไฟเดือนห้า

  • ดอกไฟเดือนห้า ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ง่ามใบและที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 7-20 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มปกคลุม ดอกเป็นสีแดง ยาวเกือบ 1 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะพับงอ และมีรยางค์รูปมงกุฎหรือกระบังรอบสีเหลืองหรือส้มยื่นออกมา ดอกหนึ่งจะมีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน[1],[2]

ดอกไฟเดือนห้า

  • ผลไฟเดือนห้า ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงยาวคล้ายรูปกระสวย ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่แบนและมีขนยาวสีขาว เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และกระจุกขนยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร[1],[2]

ผลไฟเดือนห้า

เมล็ดไฟเดือนห้า

สรรพคุณของไฟเดือนห้า

  1. เมล็ดมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น (เมล็ด)[1]
  2. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุไฟ (ต้น)[3]
  3. ใช้เป็นยาขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟ (เมล็ด)[1] แก้เลือดทำพิษในเรือไฟ (การติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร) (ต้น)[3]
  4. ช่วยแก้โรคหัวใจอ่อน (ต้น[3], เมล็ด[1])
  5. ต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวเย็นหมดสติ ไข้ตรีโทษ (อาการไข้กระหายน้ำ เหงื่อออกมา ซึม เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย บางครั้งมีอาการอาเจียนเป็นสีเหลืองปนเลือด) (ต้น)[3]
  1. ช่วยแก้อาการเหงื่อออกมากไม่รู้ตัว (เมล็ด)[1]
  2. รากมีรสเผ็ด เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน (ราก[1], ทั้งต้น[6])
  3. ช่วยแก้เต้านมอักเสบ ด้วยการใช้เมล็ดไฟเดือนห้าประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และใช้รากสดตำพอกบริเวณที่เป็น (ราก, เมล็ด)[1]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้บิด รักษาแผลในลำไส้ กระเพาะอาหาร รวมถึงแผลในมดลูก (ทั้งต้น)[6]
  5. ใบสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ พยาธิไส้เดือน (ใบ)[3],[6]
  6. ใช้เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ต้น[3], เมล็ด[1])
  7. ตำรับยาแก้อาการปวดประจำเดือน ระบุให้ใช้รากไฟเดือนห้าสด 35 กรัม และเมล็ดพริกไทย 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1] ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดประจำเดือนเช่นเดียวกัน (เมล็ด)[1]
  8. ช่วยรักษาหนองใน (ใบ)[6]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ ห้ามเลือด (เมล็ด[1], ใบ, ทั้งต้น[6])
  10. ใช้รักษาแผลสด แก้อาการฟกช้ำ เนื่องจากถูกกระแทกหรือหกล้ม ด้วยการใช้ดอกไฟเดือนห้าแห้งและเมล็ด อย่างละเท่ากัน นำมารวมกันบดเป็นผง ใช้โรยลงบนบาดแผล (ดอก, เมล็ด)[1] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ฟกช้ำจากการหกล้มได้เช่นกัน (ราก)[3]
  11. ใช้รักษาฝีหนองภายนอก ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และใช้รากสดตำพอกบริเวณที่เป็น (เมล็ด)[1]
  12. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน กลากเกลื้อน (เมล็ด)[1]
  13. ใบใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคเรื้อน แก้พิษฝี (ใบ)[3]
  14. รากใช้เป็นยารักษากระดูกร้าว หรือกระดูกหัก (ราก)[1]
  15. ตำรับยารักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ ของหมอสมหมาย ทองประเสริฐ จะประกอบไปด้วยพืชสมุนไพร 5 ชนิด และชิ้นส่วนของสัตว์อีก 5 ชนิด อันได้แก่ ไฟเดือนห้า, ข้าวเย็นเหนือ, ลิ้นงู, หญ้าสาบกา, หลอดเถื่อน สำหรับชิ้นส่วนของสัตว์นั้นไม่ได้บอกไว้ จากการวิจัยพบว่าหากไม่ใช้ชิ้นส่วนสัตว์จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลงประมาณ 10% (ซึ่งจะไม่ใช้ก็ได้) และหากแยกใช้โดด ๆ ประสิทธิภาพในรักษาก็จะไม่ดีเท่าที่ควร แต่หากรวมพืชทั้ง 5 ชนิด ประสิทธิภาพในการรักษาก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ส่วนสูตรของสถาบันมะเร็งแห่งชาติและองค์การเภสัชที่นำมาใช้จะแตกต่างไปจากนี้ครับ แต่ก็ยังมีส่วนประกอบของไฟเดือนห้าเป็นส่วนประกอบหลักเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ดีสมุนไพรตำรับนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งแต่อย่างใด คงมีเพียงแต่ข้อมูลจากประสบการณ์การใช้สมุนไพรตำรับนี้ในคลินิกของนายแพทย์สมหมายเท่านั้น

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] เมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนรากให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือตำคั้นเอาน้ำรับประทานหรือใช้ภายนอกนำไปตำพอกแผลบริเวณที่เป็น[1]

ข้อควรระวัง : รากและดอกหากใช้มากเกินไปจะเกิดพิษ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเกิดจากสาร Asclepiadin ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาตและอาจทำให้เสียชีวิตได้[2],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของไฟเดือนห้า

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ Ascurogenin, Asclepin, Calotropin, Curassvicin เป็นต้น[1]
  • จากการทดลอง พบว่าสาร Ascurogenin, Asclepin และ Curassicin มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายทดลอง ทำให้หัวใจของกระต่ายมีการบีบตัวแรงขึ้น[1]
  • ยางจากต้นไฟเดือนห้ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด[1]
  • สาร Calotropin มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในโพรงจมูกที่อยู่นอกตัวของสัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของไฟเดือนห้า

  • นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเป็นกลุ่มหลาย ๆ ต้น ตามบ้าน ตามสำนักงาน และตามสวนสาธารณะทั่วไป เพราะดอกมีสีสันสวยงามเจิดจ้าน่าชม[4]
  • ขนที่หุ้มเมล็ดสามารถนำไปใช้ยัดหมอนแทนการใช้นุ่น ทำให้หมอนนุ่มหนุนนอนได้สบายไม่แพ้การยัดนุ่นแม้แต่น้อย[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ไฟเดือนห้า”.  หน้า 414.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไฟเดือนห้า”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [06 พ.ย. 2014].
  3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ไฟเดือนห้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [07 พ.ย. 2014].
  4. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ไฟเดือนห้า ขนเมล็ดมีประโยชน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [07 พ.ย. 2014].
  5. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา.  “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp.  [07 พ.ย. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ไฟเดือนห้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [07 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Andres Hernandez S., Dinesh Valke, Reinaldo Aguilar, PARSHOTAM LAL TANDON, Russell Cumming, Christie)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด