ไข้หวัด (หวัด) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหวัด 20 วิธี !!

ไข้หวัด

ไข้หวัด หรือ โรคหวัด (Common cold, Upper respiratory tract infection – URI) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้นที่กระทบต่อจมูกและคอ อาการที่สำคัญของโรคนี้มีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เองภายใน 7 วัน

หวัด* เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพบเกิดได้ตลอดทั้งปี มักพบได้มากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว และในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนในช่วงฤดูร้อนจะพบโรคนี้ได้น้อยลง ในคนบางคนอาจเป็นโรคนี้ได้ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ ที่อาจเป็นไข้หวัดเฉลี่ยประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดนั้นมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด จึงมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลงไป

หมายเหตุ : หวัด หรือ ไข้หวัด (Common cold) หมายถึง โรคไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โดยเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ส่วนอาการตัวร้อน หรือ ไข้ (Fever) นั้น อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าค่าปกติคือ 36.5–37.5 องศาเซลเซียส เช่น เกิดจากการติดเชื้อ (ไข้หวัดก็เป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่ง) รวมถึงโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ภูมิต่อต้านตัวเอง มะเร็ง ฯลฯ ซึ่งคนที่เป็นไข้นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นหวัดก็ได้ และถ้าเป็นไข้ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเป็นไข้เพราะอะไร จึงจะได้ใช้ยารักษาได้อย่างถูกต้อง

สาเหตุของไข้หวัด

เชื้อที่เป็นสาเหตุ : เกิดจาก “เชื้อหวัด” ซึ่งเป็นไวรัส (Virus) ที่มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดจากกลุ่มไวรัสจำนวน 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด พบได้มากที่สุดประมาณ 30-80% นอกนั้นก็มีกลุ่มไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ที่พบได้ประมาณ 10-15%, กลุ่มไวรัสอะดีโน (Adenovirus), กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus), กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza virus), กลุ่มอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV), กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), กลุ่มเชื้อเริม (Herpes simplex virus) เป็นต้น

สาเหตุไข้หวัด

การเกิดซ้ำ : การเกิดโรคไข้หวัดขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดนั้นไปตลอด ส่วนในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

การติดต่อ : เชื้อหวัดเป็นเชื้อที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่ (Droplet transmission) นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อกันได้โดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดอยู่ที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ หนังสือ ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ของเล่นต่าง ๆ เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อคนปกติมาสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคน ๆ นั้นมา และเมื่อไหร่ที่คน ๆ นั้นใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้ (ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่าอากาศที่ไหลเวียนอยู่ในเที่ยวบินพาณิชย์เป็นวิธีการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ดี บุคคลที่นั่งใกล้ชิดก็ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงกว่า)

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งแสดงอาการ) : ประมาณ 1-3 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 10-12 ชั่วโมงนับตั้งแต่ได้รับเชื้อ และมักมีอาการรุนแรงที่สุดในช่วง 2-3 วันหลังเริ่มมีอาการ

อาการของไข้หวัด

โดยทั่วไปโรคนี้มักมีอาการไม่รุนแรง อาการที่พบได้ทั่วไป คือ เป็นหวัด คัดจมูก จาม มีน้ำมูกใสไหล คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว อาจมีอาการปวดหนักศีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลีย (แต่ไม่มาก) ปวดกล้ามเนื้อ มีแสบตา เสียงแหบ และอาจมีไข้ได้ แต่เป็นไข้ไม่สูง (ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) โดยจะมีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ในบางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ ส่วนในทารกอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย

ในผู้ป่วยโรคหวัดพบว่ามีอาการเจ็บคอประมาณ 40% พบอาการไอ 50% ในขณะที่อาการปวดกล้ามเนื้อพบในผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่มักไม่พบอาการไข้ (มีเพียงอาการคัดจมูก มีน้ำมูกใส) แต่พบทั่วไปในทารกและเด็ก

ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก และประมาณ 35-40% ของผู้ป่วยเด็กจะมีอาการไอนานกว่า 10 วัน และ 10% ของผู้ป่วยเด็กจะมีอาการไอนานกว่า 25 วัน

ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว

อาการไข้หวัด

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด

  • ที่พบได้บ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้เป็นทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ (มีการประมาณเอาไว้ว่า ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหวัดเหล่านี้ 8% เกิดไซนัสอักเสบ และ 30% เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ
  • ในเด็กเล็กอาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูงได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ เรียกว่า “หวัดลงหู
  • โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร เป็นต้น) ตรากตรำทำงานหนัก ในเด็กทารกหรือในผู้สูงอายุ

ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดใด แต่โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 7 วัน ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงนั้นพบเกิดได้น้อย ถ้าเกิดก็มักจะเกิดในผู้สูงอายุ ในเด็กทารก ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น ถ้าอาการน้ำมูกไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หรือน้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว หรือมีอาการปวดหูหรือหายใจหอบเหนื่อย ไข้กลับมาสูง ไอมาก เสมหะมาก ควรรีบกลับไปพบแพทย์

การวินิจฉัยโรคไข้หวัด

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหวัดได้จากอาการที่แสดง ประวัติการระบาดของโรค ฤดูกาล และจากการตรวจร่างกาย เช่น อาการไข้ มีน้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ส่วนในเด็กอาจพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง อาจต้องมีการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูค่าเกล็ดเลือดเพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

วิธีรักษาไข้หวัด

เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่

  • การดูแลตนเองเบื้องต้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    1. พักผ่อนให้มาก ๆ ไม่ตรากตรำทำงานหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป
    2. อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด อย่าอาบน้ำเย็น และควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
    3. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อช่วยลดไข้และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากมีไข้สูง
    4. พยายามรับประทานอาหารให้ได้ตามปกติ โดยควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ รสไม่จัด และเพิ่มการรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง
    5. อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน ๆ เช่น ซุปไก่ร้อน ๆ น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ เช่น ชาร้อน น้ำขิงอุ่น ๆ
    6. ควรใช้ผ้าชุบน้ำชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกอุณหภูมิปกติ (อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
    7. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ (ถ้าทำเอง อย่าให้เค็มมาก) และทุกครั้งหลังรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม
    8. งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    9. ในกรณีของผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่รับประทานอาหารได้น้อย อาจจำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม รวมทั้งวิตามินซี
    10. ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 1-3 วัน (ขึ้นอยู่กับสุขภาพด้วย), มีไข้ร่วมกับผื่นขึ้น, ไอมาก, เจ็บคอมากหรือรับประทานอาหารได้น้อย, มีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว, ปวดศีรษะ เจ็บตำแหน่งไซนัสมากขึ้น, หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก, ปวดหู มีน้ำออกจากหู (หูติดเชื้อ), เสียงแหบไม่ดีขึ้นหลังหวัดหายแล้ว, อาการต่าง ๆ เลวลงหรือมีอาการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น หรืออาการไม่หายภายใน 10-15 วัน หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
      วิธีแก้หวัด
  • ให้ยารักษาไปตามอาการ ดังนี้
    • สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตที่มีอายุมากกว่า 5 ปี
      1. ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ (Antipyretics) ซึ่งโดยทั่วไปยาลดไข้ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มหลังนี้จะให้ผลในการลดไข้ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับลดไข้ในกรณีของไข้เลือดออก หากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วรับประทานยากลุ่มนี้จะมีโอกาสทำให้เลือดออกจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นก่อนใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องได้รับการวินิจฉัยแยกโรคไข้หวัดจากโรคไข้เลือดออกให้ได้ก่อน นอกจากนั้นยาดังกล่าวยังมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะ การใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการของโรคกระเพาะมากขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยโรคไตที่ยากลุ่มนี้จะมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง สำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากได้รับยากลุ่มนี้สำหรับลดไข้ ควรรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมาก ๆ
        • พาราเซตามอล (Paracetamol) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 8 เม็ด หรือ 4 กรัมต่อวัน ส่วนในเด็กไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ
        • แอสไพริน (Aspirin) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด (ชนิดเม็ด 300 หรือ 325 มิลลิกรัม) โดยให้รับประทานในเวลาที่มีอาการไข้ และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรมได้
        • ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม
      2. ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้รับประทานยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ (Antihistamine) เมื่ออาการทุเลาลงแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ โดยยาลดน้ำมูกสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เป็นต้น และกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ ลอราทาดีน (Loratadine), เดสลอราทาดีน (Desloratadine), เซทิไรซีน (Cetirizine), เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เป็นต้น โดยยาในกลุ่มแรกจะสามารถควบคุมอาการได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม แต่จะทำให้เกิดอาการง่วงซึม เนื่องจากมีฤทธิ์กดระบบประสาท หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
        • คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (ชนิดเม็ด 4 มิลลิกรัม) วันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 0.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง
        • ลอราทาดีน (Loratadine) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (ชนิดเม็ด 10 มิลลิกรัม) วันละครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา (ชนิดน้ำ 5 มิลลิกรัม/ช้อนชา) หรือ 1/2 เม็ด วันละครั้ง
      3. ถ้ามีอาการคัดแน่นจมูกมากเนื่องจากมีน้ำมูกมาก ให้รับประทานยาแก้คัดจมูก (Decongestants) เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) หรือใช้ยาสำหรับพ่นรูจมูก ได้แก่ ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline), ไซโลเมตาโซลีน (xylometazoline), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นต้น โดยยาในรูปแบบพ่นจมูกจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาในรูปแบบรับประทาน แต่การใช้ยาพ่นจมูกนี้ต้องใช้อย่างถูกวิธีและใช้ในระยะสั้นที่สุด (3-5 วัน) ซึ่งก่อนใช้ต้องสั่งน้ำมูกออกก่อนเสมอ และห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดใช้ยา ทำให้เกิดการระคายเคืองจมูก และทำให้มีน้ำมูกเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยาแก้คัดจมูกยังอาจมีผลกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย ในการใช้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้
        • ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 เม็ด (ชนิดเม็ด 60 มิลลิกรัม) วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 7-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา (ชนิดน้ำ 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา) หรือ 1/2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง, ในเด็กอายุ 5-6 ปี ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2-3 ครั้ง (ยานี้รับได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านยา)
        • ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการทำให้จมูกโล่งด้อยกว่าซูโดอีเฟดรีนอยู่บ้าง ในผู้ใหญ่ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 1.87-3.75 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 3.75-7.5 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง และในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10-20 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 7.5-15 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
        • เพื่อความสะดวกในการใช้ยาและลดภาระการรับประทานยาหลายเม็ด ในท้องตลาดจึงมีการจัดทำยาในรูปแบบของยาเม็ดสูตรผสมที่มีทั้งตัวยาลดน้ำมูกและตัวยาแก้คัดจมูกในเม็ดเดียวกัน
        • นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีที่ช่วยลดน้ำมูกและทำให้หายใจโล่งขึ้นอีกวิธี คือ การล้างจมูกที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้น้ำเกลือ 0.9% g/mL (Normal saline solution) และกระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็ม ขนาด 10-20 mL (ทั้งสองอย่างนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) บริเวณที่เหมาะสมในการล้างจมูกคือ อ่างล้างหน้า สามารถทำได้โดยการเตรียมดูดน้ำเกลือด้วยกระบอกฉีดยา จากนั้นให้ก้มหน้าและกลั้นหายใจเอาไว้ พร้อมกับสอดกระบอกฉีดยาเข้าในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง แล้วฉีดน้ำเกลือ 5-10 mL เข้าในจมูก แล้วสั่งน้ำมูกออกเบา ๆ วิธีนี้สามารถทำซ้ำได้จนกว่าจะรู้สึกโล่งในรูจมูก และให้ทำกับรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน โดยทั่วไปนิยมใช้ล้างวันละ 2 ครั้ง
      4. ถ้ามีอาการไอ ควรจิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) แต่ถ้าไอมากให้รับประทานยาแก้ไอ ซึ่งในกลุ่มยาบรรเทาอาการไอนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ ยาระงับการไอ (Antitussive) ที่ใช้สำหรับรักษาอาการไอระคายคอ ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture), เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), โคเดอีน (Codeine) เป็นต้น และกลุ่มยาขับเสมหะ (Expectorant) ที่ เหมาะสำหรับรักษาอาการไอแบบมีเสมหะหรือเสลด เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาที่เรียกว่า ยาละลายเสมหะ (Mucolytic agents) เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), แอมบรอกซอล (Ambroxol), อะซิทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) เป็นต้น ซึ่งยาในสองกลุ่มหลังนี้จะมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรง และสภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มารับประทานเอง
        • ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ส่วนในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง (ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)
        • เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ในผู้ใหญ่และผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 15 มิลลิกรัม) หรือ 1-2 ช้อนชา (ชนิดน้ำเชื่อม 15 มิลลิกรัม/ช้อนชา) วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/4 ช้อนชา อายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้งเช่นกัน
        • ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง (ควรให้หลังอาหารและก่อนนอน)
        • โคเดอีน (Codeine) ใช้แบ่งรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่แพทย์แนะนำ (ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการหอบหืดกำเริบหรือมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้)
    • สำหรับทารกและเด็กเล็ก
      1. ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ชนิดน้ำเชื่อม
      2. ถ้ามีน้ำมูก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อย ๆ (ถ้าน้ำมูกเหนียวข้น ให้ใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดในจมูก (ถ้าน้ำมูกเหนียวข้น ควรชุบน้ำต้มสุกหรือน้ำเกลือให้พอชุ่มก่อน)
      3. ถ้ามีอาการไอให้จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งมะนาว (ห้ามให้น้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคโบทูลิซึม) แต่ถ้ามีอาการอาเจียน ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน แนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตอนจะเข้านอน
        ยาแก้หวัด
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะยานี้ไม่ได้มีผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (อาการที่สังเกตได้ของการติดเชื้อไวรัส คือ มีน้ำมูกใส ๆ หรือสีขาว) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีไข้ทุกวันติดต่อกันเกิน 4 วัน เจ็บคอ มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดหู หูอื้อ ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ส่วนในรายที่แพ้เพนิซิลลินวีให้ใช้อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) แทน แต่ในการใช้กลุ่มนี้จะต้องมีวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด คือ ใช้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเวลานาน 7-10 วัน (หรือตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ) โดยต้องใช้ติดต่อกันไปจนครบแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุถูกทำลายและมีจำนวนลดลงจนไม่เกิดอาการแสดง เช่น หายเจ็บคอ แต่เชื้อยังไม่หมดไปจากร่างกาย จึงจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนร่างกายกำจัดเชื้อได้หมด แต่หากใช้ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด นอกจากผู้ป่วยจะไม่หายจากอาการที่เป็นอยู่แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมาคือ ต้องเสียเงินในการซื้อยาเพิ่มขึ้น และอาจไม่มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยในอนาคตได้
  • ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ให้งดใช้ยาลดน้ำมูกและยาระงับการไอ แต่ให้ดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ วันละ 10-15 แก้วแทน
  • สมุนไพรแก้หวัด ในปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรชนิดใดที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สามารถช่วยลดระยะเวลาของการติดเชื้อได้
  • คำแนะนำอื่น ๆ เกี่ยวกับไข้หวัด
    1. ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง
    2. เมื่อเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจจะทำให้เชื้อลุกลามเข้าหูและโพรงไซนัส จนทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้
    3. โรคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น
    4. การหาสาเหตุของการไอและแก้ไขให้ตรงจุดเป็นเรื่องสำคัญมาก หากผู้ป่วยใช้ยาแก้ไอที่ไม่ถูกกับสาเหตุที่เป็นอยู่ เช่น ใช้ยากดการไอในกรณีที่การไอเกิดจากเสมหะ นอกจากเสมหะจะขัดขวางทางเดินหายใจแล้ว ร่างกายก็ยังไม่สามารถขับเสมหะออกโดยการไอได้อีกด้วย
    5. อย่าซื้อยาชุดแก้หวัดที่มีเตตราไซคลีน (Tetracycline) คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) หรือเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ผสมอยู่ด้วย เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจเกิดอันตรายได้อีกด้วย
    6. สำหรับเด็กเล็ก ไม่ควรซื้อยาแก้หวัดแก้ไอสูตรผสมต่าง ๆ มารับประทานเอง เพราะอาจมีตัวยามากเกินความจำเป็นจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกายได้ แม้แต่ยาแก้แพ้ แก้หวัด ที่นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กได้ด้วย ซึ่งในการรักษากันเองเบื้องต้นนั้นแนะนำว่าควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลเพียงชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า
    7. เด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือเพิ่งเข้าโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดได้บ่อยเป็นธรรมดา เพราะจะติดเชื้อหวัดหลากหลายชนิดจากเด็กคนอื่น ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นควรมียาลดไข้พาราเซตามอลไว้ประจำบ้านให้เด็กได้รับประทานเวลาตัวร้อน ส่วนยาอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ และอย่ารับประทานยาปฏิชีวนะ (ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ) โดยไม่จำเป็น แต่ควรสงวนไว้ใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้จริง ๆ เท่านั้น เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่ออาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้เชื้อโรคดื้อยา ตัวยาไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกาย เป็นต้น แต่ควรดูแลในเรื่องของอาหารการกิน หมั่นชั่งน้ำหนักตัว พอพ้น 3-4 เดือนไปแล้วอาการก็จะห่างไปเอง เนื่องจากร่างกายเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดมากชนิดแล้ว
    8. ผู้ที่เป็นหวัดและจามบ่อย ๆ โดยไม่มีไข้ มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร มากกว่าที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
    9. ผู้ที่มีอาการไข้และมีน้ำมูก ตัวร้อนจัดอยู่ตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้อาการก็ไม่ค่อยทุเลาลง มักจะไม่ใช่เป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หัด เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ในระยะแรก ๆ อาจแสดงอาการคล้ายกับไข้หวัดได้ เช่น ไข้เลือดออก ไขสันหลังอักเสบ สมองอักเสบ ไอกรน คอตีบ โปลิโอ ไทฟอยด์ ตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น ซึ่งในกรณีเหล่านี้แพทย์จะติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่ามีไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
    10. ผู้ที่เป็นไข้หวัดเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ประจำ ซึ่งมีอาการตัวร้อนร่วมด้วย อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด โรคโลหิตจางอะพลาสติก ธาลัสซีเมีย โรคขาดอาหาร เป็นต้น หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจดูว่าผู้ป่วยมีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่และให้การรักษาต่อไป
    11. ถ้ามีอาการหอบหรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (ในเด็กอายุ 0-2 เดือน จะหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี จะหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที และอายุ 1-5 ปีจะหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาจเป็นปอดอักเสบหรือมีภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้ โดยอาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น
    12. ถ้าสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก เช่น ผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
    13. ในเด็กถ้ามีอาการชักร่วมด้วย โปรดดูเพิ่มเติมในเรื่อง “ชักจากไข้
    14. ผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไอต่อไปได้ ในบางรายอาจมีอาการไอโครก ๆ อยู่เรื่อย ๆ อาจนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน เป็นต้น ซึ่งมักจะทำให้มีอาการไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะไรทั้งนั้น เพียงแต่ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ก็เพียงพอแล้ว (ควรงดดื่มน้ำเย็น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้มีอาการไอมากขึ้น)

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ส่วนยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่ใช้รักษาไปตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ถ้าเป็นเกิน 4 วัน มักแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนหรืออาจเกิดจากโรคอื่น ๆ

วิธีป้องกันไข้หวัด

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัดธรรมดา มีแต่วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่พบบ่อย ดังนั้นการป้องกันโรคหวัดธรรมดาที่สำคัญ คือ

  1. หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป
  2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
  3. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  4. ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
  5. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  6. ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง งานมหรสพ เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
  7. อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
  8. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง
  9. สำหรับผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง

วิธีรักษาไข้หวัด

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 389-392.
  2. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รับมือโรคหวัดอย่างไร ให้เหมาะสม”.  (ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [21 ก.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “โรคหวัด (Common cold)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [22 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : lillingtonmedicalservices.org, wwww.wikimedia.org, dorothyanneb.com, www.npr.org, www.wikihow.com, www.nhs.uk

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด