โนรา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโนรา 12 ข้อ ! (กำลังช้างเผือก)

โนรา

โนรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hiptage benghalensis (L.) Kurz[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Hiptage benghalensis var. benghalensis[1] โดยจัดอยู่ในวงศ์โนรา (MALPIGHIACEAE)[1]

สมุนไพรโนรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะเลา (เชียงใหม่), พญาช้างเผือก (แพร่), กำลังช้างเผือก (ภาคเหนือ), แหนปีก (ภาคอีสาน), กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของต้นโนรา

  • ต้นโนรา จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว (เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 10 เมตร) เถาเป็นสีเขียว ลักษณะกลมเกลี้ยง เนื้อไม้แข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง (บ้างว่าแตกกิ่งก้านสาขามาก) ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เพราะออกรากได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนช่วย สามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้ทุกภาค โดยจะขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และป่าชายหาด ตั้งแต่ระดับใกล้น้ำทะเลไปจนถึง 2,000 เมตร[1],[2],[3]

รูปต้นโนรา

ต้นโนรา

  • ใบโนรา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน มีต่อมเล็ก ๆ อยู่ใกล้ฐานใบ[1],[2]

ใบโนรา

โนรา

  • ดอกโนรา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน กลางดอกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นดอกส้มโอ มีกลีบดอก 5 กลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบข้างจะพับลง ปลายกลีบจักเป็นฝอย กลีบดอกมักยู่ยี่ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมี 1 ก้าน ที่ยาวเป็นพิเศษ ส่วนกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกมี 5 กลีบโคนเชื่อมติดกัน มีกลีบหนึ่งมีต่อมนูน ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 3-4 วันแล้วก็ร่วง และจะมีดอกใหม่ทยอยบานอยู่เรื่อย ๆ โดยจะออกดอกในช่วงช่วงฤดูหนาวคือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

รูปโนรา

ดอกโนรา

  • ผลโนรา ผลเป็นผลแห้งไม่แตก เป็นสีแดง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ปลายแหลม มีปีก 3 ปีก ปีกกลางมีขนาดใหญ่[1],[2]

ผลโนรา

เมล็ดโนรา

สรรพคุณของโนรา

  1. แก่นโนราเป็นยาอายุวัฒนะ (แก่น)[1]
  2. แก่นใช้ดองเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)[2]
  3. แก่นและเปลือกต้นเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น, เปลือกต้น)[4]
  4. แก่นมีรสร้อนขื่น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือกต้น)[4]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (แก่น)[1]
  6. ช่วยแก้อาการก่อนเพลีย (แก่น)[1]
  7. ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (แก่น)[1]
  8. แก่นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด (แก่น)[1],[4]
  9. เปลือกต้นนำมาตำพอกใช้รักษาแผลสด (เปลือกต้น)[2]
  10. ใบมีรสร้อนขื่น ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง[2] รักษาหิด รูมาติก (ใบ)[4]
  11. แก่นและเปลือกต้นเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น (แก่น, เปลือกต้น)[4]

ประโยชน์ของโนรา

  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดอกมีความสวย ออกดอกจำนวนมากในการออกดอกแต่ละครั้ง ดอกให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน และในช่วงที่อากาศเย็นจะหอมมากเป็นพิเศษ ถ้าหากต้องให้ออกดอกบ่อย ๆ ก็ให้ปลูกกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ และควรตัดแต่งกิ่งให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะต้นที่ถูกตัดแต่งกิ่งให้เป็นไม้พุ่มอยู่ตลอดเวลาจะไม่ค่อยออกดอก เนื่องจากพรรณไม้ชนิดนี้จะออกดอกบริเวณปลายกิ่ง โดยธรรมชาติแล้วพรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย แต่เราสามารถตัดแต่งให้เป็นไม้ยืนต้นแบบเดี่ยว ๆ ได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โนรา”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 129.
  2. หนังสือสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.  “โนรา”.  (วีระชัย ณ นคร).
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โนรา”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [28 มี.ค. 2014].
  4. Green Clinic.  “โนรา”.  อ้างอิงใน: หนังสือเครื่องยาไทย 1 (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th.  [28 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Shipher (士緯) Wu (吳), Dinesh Valke, Foggy Forest, milind bhakare)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด