โคกกระออม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโคกกระออม 36 ข้อ !

โคกกระออม

โคกกระออม ชื่อสามัญ Balloon vine, Heart pea, Heart seed, Smooth leaved heart Pea[1],[2],[3],[6]

โคกกระออม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cardiospermum halicacabum L. จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1],[2],[3],[6]

สมุนไพรโคกกระออม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุ้มต้อก (แพร่), วิวี่ วี่หวี่ (ปราจีนบุรี), โพออม โพธิ์ออม (ปัตตานี), เครือผักไล่น้ำ ลูกลีบเครือ (ภาคเหนือ), กะดอม โคกกระออม (ภาคกลาง), ติ๊นโข่ ไหน (จีน), เจี่ยขู่กวา เต่าตี้หลิง ไต้เถิงขู่เลี่ยน (จีนกลาง), สะไล่น้ำ[6], สะไล่เดอะ[6], สะโคน้ำ[6], สะไคน้ำ[6], หญ้าแมงวี่[3], หญ้าแมลงหวี่[11] เป็นต้น[1],[2],[3],[6]

ลักษณะของโคกกระออม

  • ต้นโคกกระออม มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน มีการแพร่กระจายเป็นวัชพืชไปทั่วโลก ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค[10] โดยจัดเป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุกขนาดกลาง มีอายุราว 1 ปี ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก มีเถายาวประมาณ 1-3 เมตร มักเลื้อยเกาะพันกันขึ้นไปบนต้นไม้หรือตามกิ่งไม้ หรืออาจเลื้อยไปตามพื้นดิน ลักษณะของเถาเป็นเหลี่ยมมีสันประมาณ 5-6 เหลี่ยม และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ผิวของเถาเป็นสีเขียว เถามีขนาดโตเท่ากับก้านไม้ขีดไฟ หรืออาจจะเล็กกว่านั้นก็มี และบริเวณข้อของเถาจะมีมือสำหรับยึดเกาะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด มักเกิดขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ตามชายป่า หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า ริมทาง ตามริมน้ำ หรือบริเวณที่มีร่มเงา จนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร[1],[3],[6],[7],[10]

ต้นโคกกระออม

หญ้าแมลงหวี่

  • ใบโคกกระออม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นหยักลึกและมีมือเกาะสั้น ๆ จะอยู่ที่ปลายยอดระหว่างซอกเถาที่มีก้านช่อดอก โดยมือจับจะมีอยู่ 2 อันแยกกันออกจากก้านช่อดอกที่ยาว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบไม่มีขน ใบหลังจะมีขนาดเล็กกว่า และมีก้านใบยาว[1],[2],[3]

ใบโคกกระออม

  • ดอกโคกกระออม ดอกออกเป็นช่อ ๆ มีประมาณ 3-4 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ดอกมีขนาดไม่เท่ากัน ดอกยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน[1]

ดอกโคกกระออม

ดอกโคกกระออมเพศผู้
ดอกโคกกระออมเพศผู้

ดอกโคกกระออมเพศเมีย
ดอกโคกกระออมเพศเมีย

  • ผลโคกกระออม ผลมีลักษณะคล้ายกับถุงลมเป็นเยื่อบาง ๆ ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เปลือกผลบางและเป็นสีเขียวอมเหลือง มีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ทั่วผล ผลเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ก้านผลสั้น ภายในผลจะมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 1-3 เมล็ด[1],[3],[6],[10]

รูปโคกกระออม

ผลโคกกระออม

ลูกโคกกระออม

  • เมล็ดโคกกระออม เมล็ดมีลักษณะกลม ผิวเรียบ มีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าวโพด หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีเขียวอ่อนและค่อนข้างนิ่ม และเมื่อเมล็ดแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำและแข็ง ที่ขั้วเมล็ดเป็นสีขาวลักษณะคล้ายรูปหัวใจ[1],[3],[6],[10]

เมล็ดโคกกระออม

หมายเหตุ : ในพรรณไม้วงศ์เดียวกัน ยังพบว่ามีต้นโคกกระออมอีกชนิดหนึ่ง คือ โคกกระออมชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cardiospermum Halicacabum L.var microcarpum (Kunth) Blume โดยจะมีลักษณะรูปร่างภายนอกที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ชนิดนี้ขนาดของผลจะเล็กกว่ากันประมาณ 1 เท่าตัว แต่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้[1]

สรรพคุณของโคกกระออม

  1. ทั้งต้นมีรสขมและเผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น โดยจะออกฤทธิ์ต่อตับและไต สามารถใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ได้ (ทั้งต้น)[1]
  2. ช่วยแก้พิษในร่างกาย (ทั้งต้น)[1]
  3. ช่วยทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)[1]
  4. ดอกมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาขับโลหิต (ดอก)[2]
  5. ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตให้ตก (ดอก)[3]
  6. ทั้งต้นใช้ต้มกินต่างน้ำ จะช่วยลดความโลหิตได้ (ทั้งต้น)[11]
  7. ใช้รักษาโรคดีซ่าน (ทั้งต้น)[1]
  8. ช่วยแก้ตาเจ็บ (ใบ)[8]
  9. ทั้งต้นช่วยรักษาต้อตา (ทั้งต้น)[1] น้ำคั้นจากรากสดใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาต้อ (ราก)[2],[3],[9] หมอพื้นบ้านจะนำรากสด ๆ มาคั้นกับน้ำสะอาดใช้หยอดตาแก้ตาต้อ แก้เจ็บตาได้ผลดี (ราก)[11]
  10. เมล็ดมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด)[2],[3] ส่วนเถาใช้เป็นยาแก้ไข้ รักษาไข้จับ (เถา)[3],[4] บ้างว่าใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[5] บ้างใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[11]
  1. ช่วยแก้ไข้เพื่อทุราวสา แก้ปัสสาวะให้บริบูรณ์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  2. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (เมล็ด)[2],[3] บ้างว่าใช้โคกกระออมทั้ง 5 นำมาต้มกินต่างน้ำก็ช่วยขับเหงื่อได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[11]
  3. ใบมีรสขมขื่น ใช้แก้อาการไอ รักษาโรคหืดไอ แก้ไอหืด (ใบ)[2],[4] ส่วนน้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการไอ (น้ำคั้นจากใบ)[4],[11]
  4. ทั้งต้นใช้ผสมกับตัวยาอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (ทั้งต้น)[4] ส่วนน้ำคั้นจากใบสดก็ช่วยแก้หอบหืดเช่นกัน (น้ำคั้นจากใบ)[11]
  5. รากโคกกระออมมีรสขม ทำให้อาเจียน (ราก)[2],[3]
  6. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[2],[3] บ้างว่าใช้ทั้งต้นเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[5]
  7. ช่วยรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  8. ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด และใช้แก้นิ่ว โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มเป็นยาใช้กินต่างน้ำ (ทั้งต้น)[1],[5],[11] หากใช้แก้ปัสสาวะขัดเบา ให้ใช้โคกกระออมและใบสะระแหน่ อย่างละประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำประทาน (เข้าใจว่าคือต้นแห้ง)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใบเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[4]
  9. ใช้ทั้งต้นนำมาต้มให้คนแก่ที่อาการต่อมลูกหมากโตใช้ดื่มต่างน้ำเป็นยา จะช่วยลดอาการของต่อมลูกหมากโตได้ (ทั้งต้น)[11]
  10. ดอกช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ดอก)[4] น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (น้ำคั้นจากใบ)[4]
  11. ผลมีรสขมขื่น ช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)[2],[3],[5]
  12. ช่วยดับพิษทั้งปวง (ผล)[2],[3],[5]
  13. ช่วยดับพิษแผลไฟไหม้ แผลไฟลวก (ผล)[2],[4],[5]
  14. ใบสดใช้เป็นยาใส่แผลชั้นยอด โดยใช้น้ำต้มข้น ๆ นำมาใช้ล้างแผล (ใบ)[11]
  15. ทั้งต้นใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู (ทั้งต้น)[1] รากใช้ตำคั้นเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้พิษงู ส่วนกากที่เหลือใช้เป็นยาพอกแก้พิษงู พิษงูเห่า และพิษจากแมลง (ราก)[2],[3],[9],[11]
  16. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ฝี กลาก เกลื้อน (ทั้งต้น)[1]
  17. ใช้แก้ฝีบวม ฝีหนอง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี (ต้นสด)[1],[11] ส่วนใบสดก็สามารถนำมาตำพอกรักษาฝีได้เช่นกัน (ใบ)[2],[3]
  18. แก้รัดฐาณฝีและถอดไส้ฝี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  19. ช่วยแก้อาการปวดบวมฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นโคกกระออมแห้งประมาณ 10-18 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้าใช้รับประทาน (ต้นแห้ง)[1]
  20. ใช้รักษาอาการอักเสบบวมตามร่างกาย โดยนำมาใบสดมาตำกับเกลือแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบบวม (ใบ)[11]
  21. ทั้งต้นช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ทั้งต้น)[4]
  22. ช่วยรักษาโรครูมาตอยด์ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำไปเคี่ยวกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาทาเช้าและเย็นติดต่อกันประมาณ 7 วัน อาการของโรครูมาตอยด์จะค่อย ๆ ดีขึ้น (ใบ)[11]
  23. แพทย์แผนจีนจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับน้ำนม ทำให้เกิดน้ำนม และยังช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ทั้งต้น)[5],[9],[11]

วิธีใช้สมุนไพรโคกกระออม

  • วิธีใช้ตาม [1] ต้นแห้ง ให้ใช้ประมาณ 10-18 กรัม นำมาต้มกับน้ำประทาน[1]
  • วิธีใช้ตาม [1 ]หากเป็นต้นสด ให้ใช้ประมาณ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทานหรือใช้เป็นยาพอกภายนอก[1]
  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโคกกระออม

  • ในเมล็ดของโคกกระออมพบว่ามีน้ำมันหอมระเหย เช่น 11-Eicosenoic acid, 1-Cyano-2 hydroxy methyl prop 2-ene-1-ol และสาร Saponin เป็นต้น[1]
  • น้ำมันระเหยจากเมล็ดโคกกระออม เมื่อนำไปทดลองกับสุนัขพบว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้านำน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง[1]
  • การทดลองในหนูขาวระบุว่าสารสกัดจากใบโคกกระออมมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและช่วยยับยั้งการอักเสบ[4]
  • ใบกระออมมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงใช้ใบเป็นยาแก้หอบหืดได้[11]

ประโยชน์ของโคกกระออม

  • ในชนบทจะเรียกต้นโคกกระออมว่า “หญ้าแมงหวี่” หากเด็กมีอาการตาแฉะหรือตาแดง ก็มักจะมีแมลงหวี่มาตอม คนชนบทก็จะใช้เถาของต้นโคกกระออมรวมทั้งใบสด ๆ ด้วย มาพันไว้รอบศีรษะ จะทำให้แมลงหวี่กลัวไม่กล้ามาตอมอีก (เถาและใบ)[3]
  • ใช้เป็นยาสระผมกำจัดรังแค ด้วยการนำเถาโคกกระออมมาทุบคั้นแช่ในน้ำพอข้น ๆ แล้วนำมาใช้ชโลมศีรษะและทิ้งไว้สักครู่ แล้วค่อยล้างออก จะช่วยกำจัดรังแคได้ดีมาก[7],[11]
  • มีการนำยอดอ่อนโคกกระออมมาใช้รับประทานเป็นผักสดหรือเผาไฟ โดยยอดอ่อนจะมีรสขมเล็กน้อย[6] ช่วยบำรุงสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความแก่และช่วยในการต่อต้านมะเร็งได้อีกต่างหาก[11]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “โคกกระออม”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 168.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โคกกระออม (Kok Kra Om)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 86.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โคกกระออม”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 207-208.
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โคกกระออม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [19 ก.พ. 2014].
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “โคกกระออม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [19 ก.พ. 2014].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “สะไคน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [19 ก.พ. 2014].
  7. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โคกกระออม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.  [19 ก.พ. 2014].
  8. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “โคกกระออม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [19 ก.พ. 2014].
  9. ไทยรัฐออนไลน์.  “โคกกระออมกับสรรพคุณน่ารู้”.  (นายเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [19 ก.พ. 2014].
  10. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โคกกระออม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [19 ก.พ. 2014].
  11. สยามธุรกิจ.  “หญ้าแมงหวี่ ขับปัสสาวะ-ลดความดัน-แก้หอบหืด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.siamturakij.com.  [19 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, judymonkey17, Lapommangels, hanatomosan, sonnia hill, Nelindah, drillerbryan, Orient Sea)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด