โกฐก้านพร้าว สรรพคุณและประโยชน์ของโกฐก้านพร้าว 10 ข้อ !

โกฐก้านพร้าว

โกฐก้านพร้าว ชื่อสามัญ Picorrhiza[2]

โกฐก้านพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Picrorhiza kurroa Royle ex Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Picrorhiza lindleyana Steud, Veronica lindleyana Wall.) (พันธุ์จากอินเดีย), Neopicrorhiza scrophulariiflora (Pennell) D.Y.Hong (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Picrorhiza scrophulariiflora Pennell) (พันธุ์จากทิเบต)[1],[3] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

สมุนไพรโกฐก้านพร้าว มีชื่อเรียกอื่นว่า หูหวางเหลียน (จีนกลาง), กะฎุกะ, กฏุโรหินี, กฏุกะโรหินี, โอ่วไน้ เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของโกฐก้านพร้าว

  • ต้นโกฐก้านพร้าว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร[1] มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของป่าหิมพานต์จากแคชเมียร์ไปจนถึงแคว้นสิกขิมของประเทศอินเดีย มีการปลูกมากในประเทศจีน เขตปกครองตนเองของทิเบต เนปาล และในศรีลังกา[3]

ต้นโกฐก้านพร้าว

  • ใบโกฐก้านพร้าว ใบออกติดกับราก ซ้อนกันเหมือนใบดอกบัว ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรีเหมือนช้อน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร[1]

ใบโกฐก้านพร้าว

  • ดอกโกฐก้านพร้าว ออกดอกเป็นช่อแทงขึ้นจากโคนใบ ดอกมีสีม่วงเข้มหรือสีม่วงน้ำเงิน ก้านดอกยาว[1]

ดอกโกฐก้านพร้าว

  • ผลโกฐก้านพร้าว ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลม ส่วนเมล็ดเป็นรูปไข่ สีดำเงา ขนาดยาวประมาณ 1.2 มิลลิเมตร[1]
  • โกฐก้านพร้าว คือ ส่วนของรากหรือเหง้าแห้งที่นำมาใช้เป็นยา โดยจะมีลักษณะกลมยาว ผิวขรุขระ มีความยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับก้านย่อยของช่อดอกมะพร้าวเมื่อช่อดอกนั้นติดลูก ที่เรียกกันว่า “หางหนูมะพร้าว” มีข้อคล้ายตะไคร้ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยจะมีประมาณ 5-8 ข้อ แต่ละข้อจะมีขน ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทาเข้ม มีวง ๆ อันเป็นแผลเป็นของตา มีตาและมีส่วนของลำต้นติดอยู่บ้าง เนื้อนิ่ม รากจะมีรอยย่นตามแนวยาว มีรอยแตกตามขวาง และมีรอยแผลเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลเป็นจุด ๆ ที่รอยหักแข็ง ส่วนเนื้อในนั้นเป็นสีดำ เป็นสมุนไพรที่มีรสขมจัดและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว[1],[3]

รากโกฐก้านพร้าว

เหง้าโกฐก้านพร้าว

หมายเหตุ : โกฐก้านพร้าว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Picrorhiza kurroa Royle ex Benth. เป็นพันธุ์จากอินเดีย ส่วน Picroriza scrophulariora Pennell. เป็นพันธุ์จากทิเบต แต่สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

สรรพคุณของโกฐก้านพร้าว

  1. รากโกฐก้านพร้าวมีรสขม เป็นยาเย็นจัด ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ตับ และลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด[1],[3]
  2. ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน ลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ซึ่งมีอาการให้สะอึก แก้สะอึก แก้อาเจียน แก้เสมหะเป็นพิษ แก้เหงื่อออกไม่รู้ตัว แก้ซางตัวร้อนในเด็ก[1],[2],[3]
  1. รากและเหง้าใช้เป็นยาแก้หอบ แก้หอบเพราะเสมะหะเป็นพิษ[2],[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้ลม[3] ช่วยขับความชื้นในร่างกาย[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้โรคบิด แก้บิดชนิดปวดท้องน้อย[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร[1]
  5. ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว[1]
  6. ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐก้านพร้าวในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีส่วนประกอบของโกฐเขมาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง[3]
  7. โกฐก้านพร้าวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐก้านพร้าวนั้นจัดอยู่ใน “โกฐทั้งห้า” (เบญจโกฐ), “โกฐทั้งเจ็ด” (สัตตโกฐ) และ “โกฐทั้งเก้า” (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก[3]
  8. ในตำราอายุรเวทของอินเดียกล่าวว่า ถ้าใช้โกฐก้านพร้าวในขนาดต่ำ ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร และเป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ถ้าใช้มากจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง และเชื่อกันว่าเป็นยาแก้ไข้จับสั่นและเป็นยาขับน้ำดี[3]

ขนาดและวิธีใช้ : ให้นำมาบดเป็นยาผง ใช้รับประทานครั้งละ 0.5-1.5 กรัม โดยใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 3-10 กรัม[1]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีธาตุอ่อน ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เกินขนาด และรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐก้านพร้าว

  • สารที่พบในโกฐก้านพร้าว ได้แก่ สาร Cuthartic acid, D-Mannitalm, Kutkin, Kutkisterol, Picroside Rutkisterol, Vanillic acid เป็นต้น ส่วนในผลพบแป้ง น้ำตาล โปรตีน และวิตามินซี[1]
  • โกฐก้านพร้าวมีสารขมที่ชื่อว่า Picrorrhizin อยู่ในปริมาณสูง นอกจากนั้นยังมีสารที่แสดงฤทธิ์ต่อหัวใจหลายชนิด และสารอื่น ๆ อีก เช่น aucubin และสารในกลุ่ม iridoid glycosides[3]
  • จากการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์ลดความเครียด ลดระดับไขมันในเลือด ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ต้านออกซิเดชั่น แก้แพ้ ขยายหลอดลม ขับปัสสาวะ ปกป้องตับ ป้องกันการเกิดเนื้องอก ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ฯลฯ[3]
  • เมื่อนำโกฐก้านพร้าวไปต้มกับน้ำในสัดส่วน 1 ต่อ 4 พบว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา[1]
  • สารสกัดที่ได้จากรากโกฐก้านพร้าว นอกจากจะสามารถต่อต้านเชื้อได้หลายชนิดแล้ว ยังสามารถนำมาใช้แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อและตับอักเสบได้ด้วย[1]
  • การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าโกฐก้านพร้าวด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 12,500 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลอง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐก้านพร้าว”.  หน้า 100.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐก้านพร้าว Picorrhiza”.  หน้า 217.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐก้านพร้าว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [12 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด