แห้ม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแห้ม 10 ข้อ ! (แฮ่ม)

แห้ม

สมุนไพรแห้ม (อ่านว่า “แฮ่ม“, “แฮ้ม“) ชื่อวิทยาศาสตร์ Coscinium fenestratum (Goetgh.) Colebr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coscinium usitatum Pierre) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1] มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นขมิ้นเครือ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Arcangelisia flava (L.) Merr. (ต่างชนิด แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน)

ลักษณะของแห้ม

ต้นแห้ม หรือ ต้นแฮ่ม จัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับบอระเพ็ด ลำต้นที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร จะมีลักษณะเป็นชิ้นหรือแท่งตรงทรงกระบอก เรียกว่า “Coscinium” อาจพบในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 10 เซนติเมตร ผิวภายนอกเป็นสีน้ำตาลเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นแต่มีรสขม โดยพืชชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ใน The British Phamaceutical Codex 1991 ภายใต้หัวข้อ Coscinium[1] ยังไม่มีการปลูกในประเทศไทย และต้องนำเข้ามาจากประเทศลาวเท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสมุนไพร โดยจะมีทั้งแบบที่เป็นผงสีเหลือง (คล้ายขมิ้น) และแบบที่หั่นเป็นชิ้นเฉียง ๆ หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เนื้อไม้มีรูพรุนและเป็นสีเหลือง[3]

แฮ่ม

ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ต้นแห้มมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Coscinium fenestratum (Goetgh.) Colebr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coscinium usitatum Pierre) ชนิดนี้เป็นไม้เถา รากและเถาเป็นสีเหลือง ใบเป็นแบบสลับ ออกดอกเป็นช่อระหว่างใบ ดอกเป็นสีขาว พบได้ตามป่าเกือบทุกภาคของประเทศลาว ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ พันธุ์ Fibraurca recisa Pierre ชนิดนี้เป็นไม้เถาเช่นกัน เถาแก่จะเป็นสีเหลือง ใบเป็นแบบสลับ แต่ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว มักออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[4] (ตามรูปคือแห้มพันธุ์ Coscinium fenestratum (Goetgh.) Colebr.)

ต้นแห้ม

ใบแห้ม

ผลแห้ม

ผลแฮ่ม

สรรพคุณของแห้ม

  1. ในประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศทางตะวันออก จะใช้ต้นแห้มเป็นยาช่วยเจริญอาหาร ด้วยการนำลำต้นแห้งมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น รูปของยาชง (Infusion – เตรียมด้วยการนำลำต้นแห้งที่ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ 5 ส่วน นำมาแช่หรือชงในน้ำต้มเดือด 100 ส่วน ประมาณ 30 นาที มีขนาดโดสยาประมาณ 15-30 มิลลิลิตร), Tincture (เตรียมผงที่ได้จากลำต้นแห้ง 10 ส่วน, แอลกอฮอล์ 100 ส่วน นำหมักไว้ โดยมีขนาดยาประมาณ 2-4 มิลลิลิตร), Concentraled liquor (เตรียมผงที่ได้จากลำต้นแห้ง 50 ส่วน และแอลกอฮอล์ 40 ส่วน แล้วเติมน้ำให้ได้ทั้งหมดเป็น 100 ส่วน มีขนาดโดสยาประมาณ 2-4 มิลลิลิตร) (ลำต้นแห้ง)[1]
  2. ตามตำรายาพื้นบ้าน จะใช้สมุนไพรแห้มเป็นสมุนไพรช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสรรพคุณดังกล่าวยังมีไม่มากนัก จึงมีคำแนะนำให้ใช้มะระขี้นกเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือดแทน เพราะมีสรรพคุณที่แน่นอนกว่า (ลำต้นแห้ง)[1],[3]
  3. สรรพคุณแห้มทั้งสองสายพันธุ์ตามตำรายาไทย จะใช้เป็นยาแก้ไข้ (ลำต้นแห้ง, รากและเถา)[2],[4]
  4. ใช้เป็นยาแก้ตาแดง (ลำต้นแห้ง)[2] แก้ตาอักเสบ (รากและเถา)[4]
  5. ในประเทศลาวจะใช้สมุนไพรแห้มเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด (ลำต้นแห้ง)[2],[3]
  1. ใช้แก้โรคบิด ลำไส้อักเสบ กระเพาะอักเสบ (รากและเถา)[4]
  2. รากและเถาใช้เป็นยาแก้ฝี แก้ผื่นคัน (รากและเถา)[4]
  3. แห้มเป็นสมุนไพรที่เพิ่งรู้จักกันเมื่อไม่นานมานี้ และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยผู้บริโภค “เชื่อ” ว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ละลายไขมันในเลือด รักษาเบาหวาน โรคไต และช่วยถอนพิษตกค้างในร่างกาย[3] และยังมีสรรพคุณที่ “อ้วดอ้างเกิน” จริงอีกมากมายจากผลิตภัณฑ์แห้มสำเร็จรูป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ถึงประโยชน์ดังกล่าว เช่น ระบุว่าแห้มเป็นยาอายุวัฒนะ รักษามะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ ปวดหลังอวดเอว แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ แก้สตรีอยู่ไฟไม่ได้ ช่วยลดความอ้วน แก้หอบหืด ฯลฯ
  4. ส่วนข้อมูลจากคุณ seahorse แห่งบอร์ดสมุนไพรดอทคอม (samunpri.com) ซึ่งได้อ้างอิงสรรพคุณของแฮ่มในหนังสือคัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์ของท่านอาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ไว้ว่า
    • เถาแฮ่ม มีรสร้อนฝาดเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ร้อนใน แก้ดีซ่าน แก้ท้องเสียอันเนื่องมาจากอาหารไม่ย่อย ช่วยขับผายลม ทำให้เรอ และแก้ดีพิการ
    • รากแฮ่ม มีรสร้อนฝาดเฝื่อนเช่นเดียวกับเถา ใช้ฝนเป็นยาหยอดตาแก้ริดสีดวงตา แก้ตาแดง ตาอักเสบ ตาแฉะ ตามัว ช่วยบำรุงน้ำเหลือง และช่วยขับลมอัมพฤกษ์
    • ใบแฮ่ม มีรสร้อนฝาดเฝื่อนเช่นกัน มีสรรพคุณเป็นยาขับโลหิตระดูที่เสียเป็นลิ่มเป็นก้อนของสตรีให้ออกมา ช่วยแก้มุตกิดระดูขาว และช่วยขับน้ำคาวปลา
    • ดอกแฮ่ม มีฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดมูกเลือด
    • ส่วนข้อมูลจากคุณ ck256 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แฮ่มมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะได้ดี

หมายเหตุ : ข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ระบุว่า แห้มเป็นไม้ยืนต้นที่พบได้มากในแถบประเทศลาวและเวียดนาด ประกอบด้วย 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Coscinium usitatum Pierre (เถาแก่มีสรรพคุณตาม [2] แก้ปวดท้องบิด แก้ไข้ แก้ตาแดง และใช้ไล่ยุง) และพันธุ์ Fibraurea recisa Pierre (รากและเถามีสรรพคุณตาม [4] เป็นยาแก้ไข้ แก้ตาอักเสบ ลำไส้อักเสบ กระเพาะอักเสบ โรคบิด แก้ฝี และผื่นคัน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสรรพคุณทางแผนโบราณ[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแห้ม

  • องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญที่พบได้ คือ สารกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloid) ที่มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลือง มีชื่อว่า “เบอบีริน” “(berberine) นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่มซาโปนิน (Saponin) อีกด้วย[1]
  • จากการศึกษาฤทธิ์สมุนไพรแห้ม (สมุนไพรแฮ่ม) ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่เป็นเบาหวานและในหนูขาวปกติ พบว่าสมุนไพรชนิดนี้ในขนาด 0.5 และ 1 กรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัว สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่เป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สมุนไพรแห้มจะไม่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวปกติที่ไม่เป็นเบาหวาน และไม่มีผลต่อภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเฉียบพลันทั้งในหนูที่เป็นเบาหวานและหนูปกติ แต่ยังไม่มีการศึกษาในคนที่ยืนยันผลการลดระดับน้ำตาลในเลือด[2]
  • สารสกัดเอทานอลจากแห้ม มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในหนูเบาหวานและหนูปกติ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ผ่านทางการกระตุ้นการหลั่งของอินซูลินจากตับอ่อน และยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์มอลเตสและซูเครส ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำสารสกัดดังกล่าวมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคเบาหวานต่อไปในอนาคต[5]
  • แห้มสายพันธุ์ Fibraurea recisa Pierre รากและเถามีส่วนประกอบทางเคมี ได้แก่ คูลัมบามีน, จูโทรไรซิน, เบอบีริน, พัลมาทิน, อัลคาลอยด์ เป็นต้น และจากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ พบว่าแห้มสายพันธุ์นี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย[4]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษแบบกึ่งเฉียบพลันแห้มของสารสกัดแห้มต่อหัวใจ ปอด ตับอ่อน และอัณฑะในหนูขาวทดลอง ด้วยการป้อนสารสกัดดังกล่าวในขนาด 100, 200, 300 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัว เป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่า สมุนไพรชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษและทำให้สัตว์ทดลองตาย ไม่มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวตลอดระยะเวลาการได้รับยา ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์และสารที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของการทำงานของตับและไต รวมถึงระดับเกลือแร่ในเลือด จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่มีผลต่อการทำงานของตับและไต แต่พบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดแห้มมีการเพิ่มอัตราการเคลื่อนตัวและการมีชีวิตรอดของสเปิร์มมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังไม่พบพยาธิสภาพของโครงสร้างในระดับจุลกายวิภาคของหัวใจ ปอด ตับอ่อน และไต แต่กลับพบว่ามีการเพิ่มจำนวนของ vacoules ในเซลล์ตับเป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มจำนวนชั้นของ germ cells ใน seminiferous tubules และเมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 5 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้หนูตาล ส่วนในขนาด 2.5 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยให้หนูทดลองกินเป็นเวลา 3 เดือน ก็ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด โดยไม่มีผลต่อระบบประสาทและการเคลื่อนไหว แต่มีค่าทางโลหิตวิทยา บางตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าปกติ และยังไม่มีรายงานว่าสมุนไพรชนิดนี้มีอันตรกิริยากับพืชหรือยาชนิดใดบ้าง อย่างไรก็ตามก็ควรจะระมัดระวังในการใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นระยะเวลานาน เพราะยังไม่มีข้อมูลวิจัยทางคลินิก เนื่องจากแห้มมีสาร berberine ซึ่งเป็นสารสำคัญและมีข้อควรระมัดระวังถึงผลข้างเคียงต่อหัวใจ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการหายใจขัด และอาจมีพิษต่อระบบเลือด หัวใจ และตับได้[2]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษ ยังไม่มีพบรายงานความเป็นพิษในคน เมื่อทดลองกับหนูถีบจักร โดยการป้อนสารสกัดแห้มด้วยเอทานอล 50% ในขนาดสูงถึง 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนความเข้มข้นของสารสกัดแห้มที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งเมื่อกินสารสกัด มีค่าเท่ากับ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[2]
  • ส่วนข้อมูลจากสถาบันวิจัยสมุนไพรได้ระบุผลการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง โดยพบว่า เมื่อป้อนสารสกัดแห้มในขนาด 40 กรัมต่อกิโลกรัม จะทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้หายใจไม่สะดวก การเคลื่อนไหวลดลง และทำให้สัตว์ทดลองตาย จึงขอเตือนให้ผู้บริโภคที่ใช้สมุนไพรแห้มควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่แน่ใจถึงความปลอดภัยและขนาดที่เหมาะสมในการใช้ เพราะยังขาดข้อมูลการศึกษาถึงความเป็นพิษและรายงานทางคลินิกอีกมาก เพราะยังไม่มีการศึกษาในคน เพียงแต่ที่ผ่านมานักวิจัยได้ทำการศึกษาในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลองเท่านั้น[3]

ประโยชน์ของแห้ม

  • ใช้ไล่ยุง[2]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรแห้ม

  • การรับประทานสมุนไพรแห้มเป็นจำนวนมากจะส่งผลทำให้ตับอักเสบได้ ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีเกลือแร่และโพแทสเซียมสูง (ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร)[3]
  • สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรแห้ม โดยพบว่า สมุนไพรชนิดนี้มีแบบผง ซึ่งมักเป็นยาแผนปัจจุบันจำพวกสเตียรอยด์เจือปนหรืออาจเป็นสารสเตียรอยด์ทั้งหมด หากได้รับสารสเตียรอยด์ในปริมาณมากก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้[3]
  • บางข้อมูลระบุว่า แห้มเป็นสมุนไพรที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและขับน้ำได้จริง และดูเหมือนว่าจะช่วยลดน้ำหนักได้เหมือนยาลดน้ำหนัก เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ขับแร่ธาตุและสารตัวอื่น ๆ ออกจากร่างกาย เช่น โพแทสเซียมและโซเดียม ซึ่งสาร 2 ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นสารสื่อนำระบบการทำงานหลักของหัวใจและไต หากรับประทานสมุนไพรชนิดนี้อย่างต่อเนื่องในระยะแรกก็ดูเหมือนจะเป็นปกติ เพราะสารทั้ง 2 ชนิดนี้ร่างกายสามารถชดชดเชยได้ในระยะแรก ๆ แต่เมื่อสะสมไปนาน ๆ หรือใช้เป็นเดือน ๆ ร่างกายจะเริ่มอ่อนเพลีย หัวใจและไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงขั้นไตวายและเป็นโรคหัวใจได้ (by Mr.taro)[5]
  • การใช้สมุนไพรแห้มเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้ารับประทานในจำนวนที่มากจนเกินไป จะไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดอาการช็อกได้ นอกจากนี้แห้มยังมีฤทธิ์ยาระบายอีกด้วย (ข้อมูลจาก: abhakara.com by จัทร์เจ้าขา)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “แฮ่ม”.  หน้า 176.
  2. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สมุนไพรแฮ้ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [16 ส.ค. 2014].
  3. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.  “แพทย์แผนไทยเผยกินแห้มไม่กระทบไต แพทย์แผนไทยชี้มีผลต่อตับหัวใจ”., “เตือนอันตราย แห้มมีพิษเฉียบพลันทำลายประสาท”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.moph.go.th.  [16 ส.ค. 2014].
  4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “รายละเอียดของแฮ่ม”.  อ้างอิงใน : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [16 ส.ค. 2014].
  5. Chulalongkorn University.  (Wanlaya Jittaprasatsin).  “ฤทธิ์และกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดแห้ม ต่อระดับน้ำตาลในเลือด ของหนูปกติและหนูเบาหวาน (Effects and mechanism of action of Coscinium fenestratum extract on blood glucose level in normal and diabetic rats)”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, kimsoft, Palachandra M)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด