แสมสาร สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแสมสาร 23 ข้อ !

แสมสาร

แสมสาร ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia garrettiana Craib) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรแสมสาร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กสาร (นครราชสีมา, ปราจีนบุรี), ขี้เหล็กโคก ขี้เล็กแพะ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กป่า (ภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กราบัด กะบัด (ชาวบน-นครราชสีมา), ไงซาน (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1]

ลักษณะของแสมสาร

  • ต้นแสมสาร จัดเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีเนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นเรือนยอดกลมทึบ เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ลำต้นขรุขระแตกเป็นร่องลึก แตกเป็นสะเก็ดเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพราะได้ผลดีที่สุด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด ในประเทศไทยพบได้มาทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่น ๆ ยกเว้นภาคใต้ โดยมักขึ้นในบริเวณป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าที่ราบต่ำทั่วไป และป่าผลัดใบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบขึ้นกระจายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1],[2],[4],[5],[6]

ต้นแสมสาร

  • ใบแสมสาร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 6-9 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปหอก หรือรูปหอกถึงรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 10-15 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนหูใบเรียวเล็กและหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]

ใบแสมสาร

  • ดอกแสมสาร ออกดอกเป็นช่อใหญ่ โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือออกตามมุมก้านใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ดอกย่อยเป็นสีเหลือง สีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองทอง กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมน โคนกลีบดอกเรียว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปกลม เป็นสีเขียวออกเหลือง แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ติดอยู่กับผนังกลางดอก 10 อัน ก้านเกสรเป็นสีน้ำตาลมีขนาดยาวไม่เท่ากัน มีขนาดใหญ่ 2 อัน ขนาดเล็ก 5 อัน และอีก 3 อัน เป็นแบบลดรูป ส่วนรังไข่และหลอดเกสรเพศเมียเกลี้ยงหรือมีขนประปราย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[4]

ดอกแสมสาร

  • ผลแสมสาร ออกผลเป็นฝักแบน ฝักมักจะบิด เปลือกฝักค่อนข้างบาง ผิวฝักเรียบเกลี้ยงไม่มีขน มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่ฝักมักจะบิดและแตกออก และเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 10-20 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร โดยจะติดฝักในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[4],[5]

ผลแสมสารฝักแสมสาร

สรรพคุณของแสมสาร

  1. แก่นมีรสขมเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาแก้โลหิต แก้ลม (แก่น)[1],[2]
  2. รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (ราก)[5] ช่วยบำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  3. ช่วยเจริญธาตุไฟ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  4. ยอดใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคเบาหวาน (ยอด)[6]
  5. ดอกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นอนไม่หลับ (ดอก)[6]
  1. ช่วยถ่ายกระษัย (แก่น)[1],[2]
  2. ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  3. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (แก่น)[5]
  4. ตำรายาไทยใช้แก่นเป็นยาถ่ายเสมหะ ขับเสมหะ (แก่น)[1],[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ (เปลือกต้น)[6]
  5. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (แก่น)[1],[3]
  6. ใบใช้เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาถ่าย (ใบ)[1],[5]
  7. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นสีต่าง ๆ (แก่น)[2] แก้ปัสสาวะพิการ (แก่น)[5]
  8. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[6]
  9. ช่วยฟอกถ่ายประจำเดือนของสตรี (แก่น)[1],[2],[3] แก้โลหิตประจำเดือนเสีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  10. ช่วยแก้ไตพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  11. ใช้บำบัดโรคงูสวัด (ใบ)[1],[5]
  12. ช่วยรักษาแผลสดและแผลแห้ง (ใบ)[5]
  13. แก่นมีสรรพคุณช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อนหรือหย่อน (แก้ปวดเมื่อย) (แก่น)[1],[2]
  14. ช่วยแกลมในกระดูก (แก่น)[5]
  15. ใบใช้บำบัดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว (ใบ)[1],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแสมสาร

  • พบว่ามีสารในกลุ่มแอนทราควิโนนอยู่หลายชนิดแก่นแสมสารได้แก่ Chrysophanol และ Cassialoin[3] นอกจากนี้ยังพบ aloe emodin, aloin, deoxy, benz-(D-E)-anthracen-7-one, 7-(H): 6,8-dihydroxy-4 methyl, betulic acid, bibenzyl, 3,3′-4-trihydroxy, bibenzyl, 3,3′-dihydroxy, cassialoin, cassigarol A,B,C,D,E,F,G, chrysophanic acid, chrysophanol dianthrone, quercetin, piceatannol, piceatanol, protocatechuic aldehyde, scirpusin B, rhamnetin, rhamnocitrin[5]
  • แสมสารมีฤทธิ์ด้านฮีสตามีน ด้านการบีบตัวของลำไส้ เมื่อนำมาผสมในยาทำให้แท้ง ทำให้มดลูกคลายตัว และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง เป็นพิษต่อตัวอ่อน กระตุ้นมดลูก ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์เหมือน Lectin ยับยั้งเอนไซม์ H+,H+-ATPase และ lipoxygenase หยุดการขับน้ำย่อย[5]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารกสัดจากแก่นแสมาสารด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตรา 1:1 หรือฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรทดลองในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ[5]

ประโยชน์ของแสมสาร

  • ดอกอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ แต่ต้องนำมาต้มเพื่อลดความขมลงก่อนจะนำไปแกง คล้ายกับแกงขี้เหล็ก[4],[5]
  • เนื้อไม้แสมสารมีความทนทาน เหนียว เสี้ยนตรง ไม่หักง่าย และไม่แข็งมากจนเกินไป ในสมัยก่อนนิยมนำมาใช้ในการต่อเรือ แต่ในปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือช่าง ทำสลัก เขียง ฝักมีด ฯลฯ หรือนำมาใช้ทำเป็นถ่านไม้และฟืน ซึ่งจะเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูงถึง 6,477 แคลอรี่/กรัม ถ้าเป็นฟืนจะให้ความร้อน 4,418 แคลอรี่/กรัม (มีสถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก.)[4],[5]
  • ในปัจจุบันนิยมนำต้นแสมสารมาปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามข้างทางทั่วไป โดยเป็นไม้ขนาดค่อนข้างเล็ก มีทรงพุ่มเป็นเรือดยอดสวยงาม เมื่อยามออกดอกจะมีดอกขาวโพลนหนาแน่น และหากนำมาปลูกในพื้นที่จำกัด (ขนาดกว้างยาว 3*3 เมตร) ก็จะช่วยเพิ่มความสวยงามได้มากยิ่งขึ้น[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “แสมสาร (Samae San)”.  หน้า 309.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “แสมสาร”.  หน้า 145.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “แสมสาร”.  หน้า 78.
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “แสมสาร”.
  5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “แสมสาร กะบัด ขี้เหล็กโคก ขี้เหล็ก คันชั่ง ขี้เหล็กแพะ ขี้เหล็กสาร ไงซาน กราบัด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “แสมสาร”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : khaodanherb.com, www.pharmacy.mahidol.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด