แว่นแก้ว สรรพคุณและประโยชน์ของผักแว่นแก้ว 9 ข้อ !

แว่นแก้ว

แว่นแก้ว ภาษาอังกฤษ Water pennywort

แว่นแก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia rotunda L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Kaempferia longa Jacq., Kaempferia versicolor Salisb., Zerumbet zeylanica Garsault) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ผักแว่นแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวแก้ว, ผักหนอก, ผักหนอกใหญ่, ผักหนอกเทศ เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของแว่นแก้ว

  • ต้นแว่นแก้ว เดิมทีแล้วมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศเขตร้อน[1] ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคกลาง[5] โดยจัดเป็นพืชล้มลุกริมน้ำหรือโผล่เหนือน้ำ มีลักษณะคล้ายบัวบก เป็นพืชที่มีอายุยาวหลายปี ลำต้นเป็นไหลกลมยาวเรียว มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นและแตกรากและใบตามข้อ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เซนติเมตร มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะเป็นกลุ่ม ๆ เจริญเติบโตได้เร็วและชอบแสงแดด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกต้นอ่อน[1],[2],[4]

ต้นแว่นแก้ว

ต้นไม้ผักแว่น

บัวแก้ว

รูปแว่นแก้ว

ลักษณะแว่นแก้ว

  • ใบแว่นแก้ว เป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกลม ก้านใบยาวเรียวติดกับตัวใบที่บริเวณกลางใบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวสด ขอบเป็นหยักเว้าตื้นและกว้าง ผิวด้านบนเรียบและเป็นมัน[1],[2],[4]

สมุนไพรแว่นแก้ว

ใบแว่นแก้ว

  • ดอกแว่นแก้ว มีขนาดเล็กสีขาว ลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกโคนใบ ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยจะแตกจากก้านช่อ ดอกจะออกเป็นกระจุก ช่อละ 2-3 กระจุก ในแต่ละกระจุกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 12-15 ดอก โดยดอกย่อยมีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้อยู่ 5 ก้าน[1],[4]

ดอกแว่นแก้วผักหนอก
  • ผลแว่นแก้ว ผลเป็นผลแห้ง แก่แล้วแตกเป็น 2 ซีก ในแต่ละซีกจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด และเมล็ดมีขนาดเล็ก[4]

สรรพคุณผักแว่นแก้ว

  1. แว่นแก้วมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)[5]
  2. ใบนำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการช้ำในได้ (ใบ[3], ทั้งต้น[5])
  3. ทั้งต้นใช้แก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)[5]
  4. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ทั้งต้น)[5]
  5. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[5]
  6. ช่วยในการขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[5]
  7. ใช้เป็นยาแก้บวม (ทั้งต้น)[5]

ประโยชน์ผักแว่นแก้ว

  • นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลา อ่างปลา ปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อให้ความสวยงาม และยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย[1],[2]
  • ใบหรือผักแว่นแก้ว สามารถนำมารับประทานได้ โดยใช้รับประทานเป็นผัก ใช้เป็นผักจิ้มเครื่องหลน ใช้เป็นเครื่องเคียง หรือนำไปแกง หรือใช้รับประทานกับลาบแบบสด ๆ หรือนำไปคั้นทำเป็นน้ำดื่ม[3],[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [7 พ.ย. 2013].
  2. พรรณไม้น้ำ เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [7 พ.ย. 2013].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “แว่นแก้ว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [7 พ.ย. 2013].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th  [7 พ.ย. 2013].
  5. งานประสานงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.  “มารู้จักต้นไม้ในงานประสานงาน ม.แม่โจ้ กันเถิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.coordinate.mju.ac.th.  [7 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by minnow8, Vietnam Plants & The USA. plants, Alice & Seig, Eric Hunt., Douglas M Smith, sakichin, beautyinature4me, Douglas M Smith, LoveSloth, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด