8 วิธีรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก & การปฐมพยาบาลน้ําร้อนลวก !!

แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burns) เป็นบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก คือ กินบริเวณกว้างและแผลมีขนาดลึก ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

สาเหตุของแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

บาดแผลชนิดนี้โดยมากมักจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ขาดความระวัง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่พบได้มีดังนี้

  • ความร้อน เช่น ไฟ (เตาไฟ ตะเกียง พลุ ประทัด บุหรี่), วัตถุที่ร้อน (เตารีด จานชามที่ใส่ของร้อน), น้ำร้อน (กระติกน้ำ กาน้ำ ไอน้ำ หม้อน้ำ), น้ำมันร้อน ๆ (ในกระทะ) เป็นต้น
  • กระแสไฟฟ้า (ไฟฟ้าช็อต)
  • สารเคมี เช่น กรด ด่าง
  • รังสี เช่น แสงแดด (แสงอัลตราไวโอเลต), รังสีโคบอลต์, รังสีเรเดียม, รังสีนิวเคลียร์, ระเบิดปรมาณู เป็นต้น
  • การเสียดสีอย่างรุนแรง

อาการแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

อาการบาดเจ็บจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน ขนาดความกว้างของบาดแผล ตำแหน่งของบาดแผล และความลึกของบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกนั้น ๆ

  • ขนาดความกว้างของบาดแผล หมายถึง บริเวณพื้นที่ของบาดแผล บาดแผลที่มีขนาดใหญ่ (กินบริเวณกว้าง) จะมีอันตรายกว่าบาดแผลที่มีขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีโอกาสติดเชื้อถึงขั้นเป็นโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตได้
    • การประเมินขนาดกว้างของบาดแผล โดยทั่วไปนิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งถ้าคิดแบบคร่าว ๆ ก็ให้เทียบเอาว่า แผลขนาด 1 ฝ่ามือของผู้ป่วย เท่ากับ 1% ของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น ถ้าแผลมีขนาดเท่ากับ 5 ฝ่ามือ ก็คิดเป็นประมาณ 5% เป็นต้น
    • ในทางการแพทย์ได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไว้เป็นมาตรฐานทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อสะดวกต่อการคำนวณ ดังนี้
      เปอร์เซ็นต์บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
      เปอร์เซ็นต์บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  • ตำแหน่งของบาดแผล บาดแผลที่เกิดขึ้นที่มือหรือตามข้อพับต่าง ๆ อาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อพับต่าง ๆ มีแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้เหยียดออกไม่ได้ ถ้าบาดแผลเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มาก ถ้าถูกบริเวณตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรือถ้าสูดควันไฟเข้าไปในปอดในระหว่างที่เกิดเหตุ ก็อาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ กลายเป็นหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ ซึ่งในกรณีนี้อาจรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ได้และเสียชีวิตได้
  • ความลึกของบาดแผล หรือ ดีกรีความลึกของบาดแผล (Degree of burn wound) ผิวหนังคนเราจะมีความลึก 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (Dermis) เราสามารถแบ่งบาดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกออกได้เป็น 3 ระดับ เพื่อใช้บอกถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บ การวางแผนการรักษา และผลการรักษา ดังนี้
    • ระดับที่ 1 (First degree burn) หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย และยังสามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้ โดยปกติจะหายได้เร็วและสนิท และไม่ทำให้เกิดแผลเป็น จึงมีโอกาสหายได้สนิท ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้ออักเสบ
      • มักเกิดจากการถูกน้ำร้อน ไอน้ำร้อนเดือด การถูกแดดเผา (อาบแดด) หรือถูกวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียด ๆ และไม่นาน ซึ่งผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลจะมีลักษณะแดงบวมเล็กน้อย และมีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน แต่ไม่มีตุ่มพองหรือหนังหลุดออก โดยบาดแผลระดับนี้จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและโปรตีน จึงไม่ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผล และมักจะหายได้เองโดยไม่มีอันตรายร้ายแรงและไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อ (โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน)
        แผลไฟไหม้
    • ระดับที่ 2 (Second degree burn) สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
      • บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดตื้น (Superficial partial-thickness burns) คือ บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด และหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ ใต้หนังกำพร้า แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญขึ้นมาทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วภายใน 2-3 สัปดาห์ และมักไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อ) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดร่องรอยผิดปกติของผิวหนังหรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามมาได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง โดยบาดแผลระดับนี้มักจะเกิดจากการถูกเปลวไฟ หรือถูกของเหลวลวกใส่ อาการและบาดแผลโดยรวมจะมีลักษณะแดงและพุพองเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็กและใหญ่ ผิวหนังอาจหลุดลอกออกเห็นเป็นเนื้อสีชมพูหรือสีแดง ๆ มีน้ำเหลืองซึม และผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนมาก เพราะเส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่ไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก อาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ และติดเชื้อได้ง่าย
      • บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดลึก (Deep partial-thickness burns) คือ บาดแผลที่มีการทำลายของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลระดับที่ 2 ชนิดตื้น คือ จะไม่ค่อยมีตุ่มพอง แผลเป็นสีเหลืองขาว แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำเติม โดยแผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยทำให้แผลไม่เกิดการติดเชื้อได้
    • ระดับที่ 3 (Third degree burn) หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อ ขุมขน และเซลล์ประสาท และอาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก ผู้ป่วยจึงมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผลเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมด
      • มักเกิดจากไฟไหม้ หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือถูกไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและติดเชื้อรุนแรงได้ ผิวหนังทั้งชั้นจะหลุดลอกออกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ หรือแดงสลับขาว หรือเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม บาดแผลระดับนี้จะไม่หายเอง แผลมักจะหายยากและเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูนมาก (Hypertrophic scar or keloid) นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดแผลหดรั้งทำให้ข้อยึดติดตามมาสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง

ในการเกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแต่ละครั้ง อาจมีบาดแผลที่มีความลึกในระดับที่ต่างกันในคนเดียวกันได้ และบางครั้งในระยะแรกอาจแยกบาดแผลระดับที่ 2 และ 3 ออกจากกันได้ไม่ชัด แต่อย่างไรก็ตามบาดแผลทั้ง 2 ระดับนี้ก็ล้วนเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรงทั้งสิ้น และต้องคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผลด้วย

การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเบื้องต้น

เมื่อพบผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรรีบช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน (ทันที) ดังนี้

  • บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกระดับที่ 1
    • ให้ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน หรือแช่อวัยวะส่วนที่เป็นแผลลงในน้ำสะอาดประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง (อาจใช้สบู่อ่อน ๆ ชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อนและล้างด้วยน้ำสะอาด) โดยน้ำที่ใช้แช่ควรเป็นน้ำธรรมดาจากก๊อกน้ำ ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด น้ำจากตู้เย็น หรือน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้บาดแผลลึกมากขึ้นได้
    • ไม่ควรใส่ตัวยา ครีม หรือสารใด ๆ ทาหรือชโลมลงบนบาดแผล ถ้ายังไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำปลา กะปิ ปลาร้า เครื่องปรุง ยาสีฟัน และยาหม่องทา เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น
    • ให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าแห้งสะอาด
    • ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
      การปฐมพยาบาลน้ําร้อนลวก
      IMAGE SOURCE : www.healthylife.com, blogs.redcross.org.uk
      การปฐมพยาบาลไฟไหม้
      IMAGE SOURCE : www.onlymyhealth.com
  • บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกระดับที่ 2
    • ให้ล้างแผลหรือแช่แผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติด้วยวิธีดังที่กล่าวมา ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ทาด้วยยา (ถ้ามี) แล้วใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าแห้งสะอาดปิดแผลไว้
    • แผลที่เป็นตุ่มน้ำใส ไม่ควรเอาเข็มไปเจาะเพื่อระบายเอาน้ำออก เพราะเข็มที่ใช้อาจไม่สะอาด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อบาดทะยักหรือเกิดแผลอักเสบได้
    • ถ้าบาดแผลเกิดมีขนาดกว้าง เช่น ประมาณ 10-15% (10-15 ฝ่ามือ) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกได้อย่างรวดเร็ว หรือเกิดบาดแผลที่บริเวณใบหน้า (รวมทั้งปากและจมูก) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ลำบาก หรือเกิดบาดแผลที่ตา หู มือ เท้า หรืออวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดเป็นแผลเป็นได้ง่าย ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และในขณะที่รอส่งโรงพยาบาล อาจช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้นด้วยการ
      1. เปลื้องเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากให้ตัดออกเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่นอย่าดึงออก เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดลอกออกมาเป็นแผลและทำให้ผู้ป่วยเจ็บมากขึ้น แต่ควรใช้ผ้าสะอาดคลุมไว้
      2. ถ้ามีกำไลหรือแหวนก็ควรถอดออกให้หมด เพราะหากปล่อยไว้ นิ้วหรือข้อมืออาจบวมทำให้ถอดออกได้ยาก
      3. ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
      4. ถ้ามีอาการคล้ายจะเป็นลม ควรให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าขึ้นสูงเล็กน้อย
      5. ควรใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วยเอาไว้ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ (ในกรณีที่ผิวหนังเสียหน้าที่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลง ซึ่งผิวหนังจะเกิดภาวะหนาวสั่นได้)
      6. ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือต้องใช้เวลาในการเดินทางไปถึงโรงพยาบาลมากกว่า 2 ชั่วโมง ควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรืออาจให้กินน้ำส้มคั้นก็ได้ โดยควรให้ดื่มครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว ทุก ๆ 15 นาที
      7. ให้ผู้ป่วยรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) 1-2 เม็ด เพื่อช่วยระงับอาการปวด และอาจให้รับประทานยาไดอะซีแพม (Diazepam) ในขนาด 5 มิลลิกรัม 1/2-1 เม็ด
  • บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกระดับที่ 3
    • เนื่องจากเป็นบาดแผลที่มีขนาดลึก ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายร้ายแรงได้ จึงควรรีบนำส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบาดแผลในเด็กที่มีขนาดมากกว่า 10% หรือบาดแผลในผู้ใหญ่ที่มีขนาด 15% และก่อนนำส่งโรงพยาบาล อาจปฐมพยาบาลผู้ป่วยในเบื้องต้นไปด้วยเช่นเดียวกับบาดแผลระดับที่ 1 และ 2 ดังกล่าว

การรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

สำหรับการรักษาในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาจให้การรักษาผู้ป่วยดังนี้

  1. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ชนิดตื้น ให้การรักษาโดยการล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับแผลให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ (Topical antibiotic) หรือใช้วัสดุปิดแผลต่าง ๆ ที่มีขายในท้องตลาดก็เพียงพอแล้ว และถ้าผู้ป่วยรู้สึกปวดก็ให้รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol)
    • สำหรับบาดแผลระดับที่ 1 อาจใช้ครีมสเตียรอยด์ หรือเจลว่านหางจระเข้ขององค์การเภสัชกรรม ทาบาง ๆ หรือทาด้วยวาสลินหรือน้ำมันมะกอกแทนก็ได้
    • สำหรับยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ (Topical antibiotic) ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ 1% ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfadiazine) เพราะมีฤทธิ์กว้างในการครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย แต่ในกรณีที่ใช้ไปนาน ๆ แล้วเกิดเชื้อดื้อยา อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นตามความไวของเชื้อ เช่น ใช้เจนตามัยซินครีม (Gentamicin cream) ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ, ใช้ฟูซิดินครีม (Fucidin cream) ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (เช่น Staphylococcus, Streptococcus หรือเชื้อ MRSA) เป็นต้น
    • ในปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกก้าวหน้าไปมาก โดยมีวัสดุปิดแผลใหม่ ๆ (Burn wound dressing product) ที่มีคุณภาพดีหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้กับบาดแผลไฟไหมน้ำร้อนลวกระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ชนิดตื้น เช่น ACTICOAT, AQUACEL® Ag, Askina® Calgitrol® Ag, Mepitel®, Urgotul® SSD เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้องและการได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดจะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ลดการเกิดแผลเป็น และลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้มาก ดังนั้น เมื่อมีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว แต่ถ้าเป็นบาดแผลระดับที่ 2 ชนิดลึก ถึงระดับที่ 3 การรักษาโดยการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า
  2. ถ้าเป็นบาดแผลระดับที่ 2 และ 3 ในกรณีดังต่อไปนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ได้แก่ เกิดบาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ หรือตามข้อพับต่าง ๆ, เกิดบาดแผลระดับที่ 2 ในเด็กที่มีขนาดมากกว่า 10% (10 ฝ่ามือ) หรือในผู้ใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 15% (15 ฝ่ามือ), เกิดบาดแผลระดับที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 2% (2 ฝ่ามือ), เกิดบาดแผลในทารก เด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) หรือผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 55 ปี) เพราะถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจทำให้มีอันตรายได้มากกว่าที่พบในคนวัยหนุ่มสาว ดังนั้นจึงควรนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย, สูดควันไฟเข้าไปในระหว่างที่เกิดเหตุ, มีภาวะช็อก (ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย)
  3. ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในข้อ 2 อาจให้การรักษาโดย
    • ชะล้างแผลด้วยเกลือที่ปราศจากเชื้อ และถ้ามีคราบเขม่าติดแน่น อาจใช้สบู่ช่วยล้างออกได้ แต่ห้ามถูแผลแรง ๆ เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น หลังจากล้างแผลแล้ว ให้ใช้ผ้าที่ปราศจากเชื้อซับน้ำให้แห้ง ทาด้วยยาฆ่าเชื้อและฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ถ้ามีอาการปวด
    • ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เกิดที่ฝ่ามือเพียง 2-3 ตุ่ม ไม่ควรใช้เข็มเจาะ แต่ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) หรือทิงเจอร์เมอไทโอเลต (Merthiolate) และปิดด้วยผ้าก๊อซ แล้วตุ่มจะค่อย ๆ แห้งหลุดล่อนไปเองภายใน 3-7 วัน
    • ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อขริบเอาหนังที่พองออก แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับแผลให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfadiazine), ครีมซัลฟาไมลอน (Sulfamylon), น้ำยาโพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) หรือพ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์ (Predexspray) ถ้าเป็นแผลที่บริเวณแขนหรือขา ให้ใช้ผ้าพันเอาไว้ แต่ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ แล้วล้างแผลและใส่ยาวันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น
    • ถ้ามีตุ่มพองที่แขนขา หลังมือ หลังเท้า หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้วให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) เจาะให้เป็นรู แล้วใช้ผ้าก๊อซที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง แล้วทาด้วยโพวิโดน-ไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด แล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อนไปเอง
    • แผลระดับที่ 2 ที่มีขนาดไม่กว้าง หลังจากล้างแผลแล้วให้ทายาลงบนแผลและปิดทับด้วย Non-adherent dressing หรือปิดแผลด้วย Biologic dressing แล้วใช้ผ้าก๊อซหลาย ๆ ชั้นทับปิดอีกครั้ง แต่ถ้าแผลระดับที่ 2 มีขนาดกว้างมากกว่า 3% หรือเป็นแผลระดับที่ 3 ให้ทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผล (Topical chemotherapeutic agent) แล้วปิดทับด้วย Non-adherent dressing และผ้าก๊อซหลาย ๆ ชั้น และควรเปิดแผลดูและเปลี่ยน Dressing หลังจากนั้น 24-48 ชั่วโมง ถ้าแผลไม่มีอาการติดเชื้อให้ทิ้งไว้นาน 2-3 วัน จึงเปลี่ยนแผลอีกครั้ง ถ้าแผลไม่หายเองภายใน 3 อาทิตย์และมีขนาดใหญ่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin graft)
    • บาดแผลที่ใบหน้า ให้ทาด้วย 1% คลอแรมฟินีคอล (Chloramphenicol ointment) และเปิดแผลทิ้งไว้ ทายาบ่อย ๆ วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อไม่ให้แผลแห้ง ถ้าจะใช้ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfadiazine) ต้องระวังอย่าให้เข้าตา
    • บาดแผลที่มือ หลังจากทายาและปิดแผลแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกดาม ยกมือและแขนสูงกว่าระดับหัวใจ หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว สามารถถอดเฝือกออกและเริ่มทำการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณที่มีบาดแผลต่อไป
    • บาดแผลที่ข้อพับที่ทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ (เหยียดไม่ได้) ในกรณีนี้สามารถป้องกันได้โดยใช้เฝือกดามข้อพับข้อนั้นไว้ตั้งแต่แรก
    • บาดแผลที่ขา หลังจากทายาและปิดแผลแล้ว ให้ยกขาสูง และให้นอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียงนาน 72 ชั่วโมง แล้วจึงเริ่มให้เดินได้ (ถ้าไม่มีแผลที่ฝ่าเท้า)
    • บาดแผลที่อวัยวะสืบพันธุ์ ให้เปิดแผลทิ้งไว้หลังจากทายาแล้วโดยไม่ต้องปิดแผล และล้างแผลทายาใหม่ทุกครั้งที่ขับถ่าย
    • ถ้าบาดแผลยังไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง มีอาการเบื่ออาหาร) หรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin graft)
  4. บาดแผลที่เกิดจากความร้อนหรือไฟ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและเกิดการติดเชื้อตามมาได้ ดังนั้น การดูแลรักษาหลัก ๆ คือ การให้ยาแก้ปวด (ในบางกรณีอาจใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ที่สมอง (เช่น มอร์ฟีน) และยาลดการอักเสบ (NSAIDs)) และยาปฏิชีวนะที่มีทั้งชนิดกินและทา ซึ่งจะช่วยป้องกันการถูกทำลายของแผลหรืออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจากเชื้อแบคทีเรียและช่วยไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  5. บาดแผลจากการถูกไฟฟ้าช็อต เป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดน้ำหล่อเลี้ยงอวัยวะของร่างกาย การดูแลรักษาโดยแพทย์จะเป็นการให้สารละลายน้ำเกลือทางหลอดเลือดเป็นหลัก ร่วมกับสารที่ช่วยขับปัสสาวะ (Osmotic Diuretic)
  6. บาดแผลที่เกิดจากสารเคมี เช่น จากการถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาลโดยการรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อกทันที เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที แล้วไปโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  7. ภาวะแทรกซ้อนในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลกว้าง แพทย์จะให้สารน้ำ ได้แก่ ริงเกอร์แลกเตท (Ringer’s lactate) โดยในวันแรกอาจให้ในขนาด 4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ต่อเนื้อที่บาดแผล 1% โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8 ชั่วโมงแรก และอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือให้หมดภายใน 16 ชั่วโมงต่อมา วันต่อมาอาจให้น้ำเกลือและพลาสมา ส่วนการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว (หรือหลัง 1 สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็จะมีโอกาสติดเชื้อรุนแรง และโดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลระดับที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลระดับที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10% ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษาได้ยากและผู้ป่วยมักมีอัตราการเสียชีวิตสูง
  8. การดูแลตนเองหลังรับการรักษาของผู้ป่วยบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
    • รักษาความสะอาดของแผลให้ดี
    • หมั่นทายาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นหรืออะไรก็ตามที่จะทำให้เกิดการระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ทุกชนิด เพราะหากโดนบริเวณบาดแผล อาจทำให้เกิดอาการคันหรือมีการติดเชื้อได้ง่าย
    • ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่บริเวณบาดแผลให้บาดแผลสมานปิดเร็วขึ้น
    • บริเวณข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อมือ นิ้วมือ ข้อพับแขน ข้อศอก ข้อเท้า คอ ไหล่ ที่มีแผลค่อนข้างลึก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้ง มีผลให้ข้อต่อต่าง ๆ ยึดติด ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม และอาจก่อให้เกิดความพิการขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรบริหารข้อต่อนั้น ๆ อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
    • เมื่อแผลหายดีแล้วจะต้องระวังไม่ให้แผลถูกแสงแดดหรือให้ใช้ครีมกันแดดเป็นเวลา 3-6 เดือน และควรใช้น้ำมันหรือครีมโลชั่นทาที่ผิวหนังอยู่เสมอเพื่อลดอาการแห้งและคัน
    • สำหรับแผลที่หายโดยใช้เวลามากกว่า 3 อาทิตย์ หรือแผลที่หายหลังจากการทำผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin graft) แนะนำให้ใส่ผ้ายืด (Pressure garment) เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหนา (Hypertrophic scar) แต่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 2-3 เดือน หากไม่ได้ผลอาจรักษาแผลเป็นนูนด้วยการฉีดยาประมาณเดือนละ 1 ครั้งจนกว่าแผลเป็นจะเรียบ และอาจใช้ยาทารักษาแผลเป็นรวมด้วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเกาหรือนวดบริเวณแผลเป็นแรง ๆ เพราะจะทำให้แผลเป็นยืดกว้างกว่าเดิม

การป้องกันแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

ไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากความประมาทแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการป้องกันในเบื้องต้นจึงควรปฏิบัติดังนี้

  • ถ้าต้องทำอาหารและอาจต้องสัมผัสของร้อน ควรระมัดระวังและป้องกันตนเองให้ดี
  • ในบ้านที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังและจัดหาสถานที่ที่วางวัสดุที่มีความร้อนให้เหมาะสมให้ห่างจากมือเด็ก อย่าวางกระติกน้ำร้อน กาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง ตะเกียง ไม้ขีด หรือวัตถุอื่น ๆ ที่มีความร้อนไว้ใกล้มือเด็ก และอย่าให้เด็กเล่นในห้องครัว
  • อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ไว้ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย
  • สำหรับบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องทำความร้อนต่าง ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับเปลวไฟหรือเปลวเพลิงสูง ควรมีการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม
วิธีป้องกันน้ำร้อนลวก
IMAGE SOURCE : sts-firstaid.co.uk
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burns)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1059-1063.
  2. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้น้ำร้อนลวก”.  (รศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ส.ค. 2016].
  3. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “การดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn Management)”.  (ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ส.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ยารักษาแผลไหม้ (Drugs in burns)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [31 ส.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด