เลือดควายใบใหญ่ ประโยชน์ของต้นเลือดควายใบใหญ่ 3 ข้อ !

เลือดควายใบใหญ่

เลือดควายใบใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Knema furfuracea (Hook. f. & Thomson) Warb. จัดอยู่ในวงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE)[1]

สมุนไพรเลือดควายใบใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทร์ดง (ยะลา), เลือดควาย (ตรัง), สานแดง แปงู (มลายู-นราธิวาส), ลำเลือด (ลั้วะ), ตุ๊ดไลมาม (ขมุ), ด่งฉาง (ม้ง), เดี่ยงหย้าม (ไม้ยาง แดง) (เมี่ยน) ส่วนชาวนครศรีธรรมราชเรียก “เลือดควายใบใหญ่[1],[2],[3]

ลักษณะของเลือดควายใบใหญ่

  • ต้นเลือดควายใบใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร หรือมากกว่า เรือดยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม กิ่งก้านขนานกับพื้นดิน ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล มียางสีแดง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว เปลือกชั้นในเป็นสีส้ม โคนต้นมีรากค้ำยันสูงประมาณ 1-2 เมตร รอบโคนต้นมีรากายใจลักษณะคล้ายกับบ่วงครึ่งวงกลมโผล่ขึ้นทั่วไป พบเฉพาะในป่าพรุทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย[1],[3]

ต้นเลือดควายใหญ่

  • ใบเลือดควายใบใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน ทู่ หรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขุยสีขาว เส้นแขนงใบมีประมาณ 10-12 คู่ ก้านใบสั้นมาก หรือยาวได้ประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร[1],[3]

ใบเลือดควายใบใหญ่

รูปใบเลือดควายใบใหญ่

  • ดอกเลือดควายใบใหญ่ ออกดอกเป็นช่อสั้นตามซอกใบด้านหลัง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้จะมีกาบขนาดเล็กที่ก้าน ส่วนดอกเพศเมีย กลีบดอกด้านนอกจะมีขนสีน้ำตาล ด้านในมีสีแดงสดและมีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[3]
  • ผลเลือดควายใบใหญ่ ผลมีลักษณะกลมรีหรือรูปไข่ ปลายผลมน มีขนาดประมาณ 3.4-4.5 เซนติเมตร ผิวผลมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่หนาแน่น ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดเดี่ยว เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงหรือสีแดงแกมสีส้ม ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[3]

ผลเลือดควายใบใหญ่

เมล็ดเลือดควายใบใหญ่

สรรพคุณของเลือดควายใบใหญ่

  • ใบใช้เป็นยารักษาสิว (ใบ)[1]

ประโยชน์ของเลือดควายใบใหญ่

  • เนื้อไม้นิยมนำมาใช้สำหรับก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำคอกหมู หรือใช้ทำหน้าไม้[2]
  • ลำต้นและกิ่งใช้สำหรับทำฟืน[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เลือดควายใบใหญ่”.  หน้า 171.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เลือดควายใบใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [26 ต.ค. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “เลือดควายใบใหญ่”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [26 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), www.fpcn.net

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด