เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เมโทโคลพราไมด์

เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า พลาซิล (Plasil) และนอซิล (Nausil) เป็นยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารและทำให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากช่องทางเดินอาหารได้เร็วมากขึ้น ยาตัวนี้จึงถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการของกระเพาะและลำไส้ทำงานไม่ดีหรือบีบตัวน้อยเกินไป จนทำให้อาหารคั่งค้างอยู่นานก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา นอกจากนี้ ยาเมโทโคลพราไมด์ยังถูกนำไปใช้ประกอบการรักษาเพื่อป้องกันและระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนจากสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วย เช่น จากการแพ้ท้อง จากโรคปวดศีรษะไมเกรน จากยาเคมีบำบัด จากการฉายรังสี ภายหลังการผ่าตัด ฯลฯ

ยาเมโทโคลพราไมด์มีจำหน่ายทั้งชนิดยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ในสถานพยาบาลแทบทุกแห่ง ประชาชนทั่วไปจะคุ้นเคยกับยารับประทานมากกว่ายาฉีด เพราะสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วผู้ป่วยก็สามารถหยุดยาได้เอง แต่อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ร่วมด้วยเสมอ

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เมโทโคลพราไมด์อยู่ในบัญชียาที่จำเป็นต่อสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของแต่ละประเทศ สำหรับในประเทศไทยได้บรรจุยาเมโทโคลพราไมด์ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดยารักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ไม่ว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น

ตัวอย่างยาเมโทโคลพราไมด์

ยาเมโทโคลพราไมด์ (ชื่อทางการค้า) มีชื่อทางการค้า เช่น เอมีทัล (Emetal), ฮ็อกเพอแรน (Hawkperan), เฮท-เพอแรน (H-Peran), เค.บี. เมต้า (K.B. Meta), มาโนซิล (Manosil), มาริล (Maril), มาโนซิล (Manosil), เมตซิล (Met-Sil), เมโทโคลพราไมด์ จีพีโอ (Metoclopramide GPO), เมโทคลอร์ (Metoclor), นอซิล (Nausil), พลาไมด์ (Plamide), พลามีน (Plamine), พลาซิล (Plasil), อาร์-เจ แท็บ/ไซรัป (R-J Tab/Syrup), โวเมซี (Vomesea) ฯลฯ

รูปแบบยาเมโทโคลพราไมด์

  • ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำ ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

นอซิล
IMAGE SOURCE : Medthai.com

สรรพคุณของยาเมโทโคลพราไมด์

  • ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากการตั้งครรภ์ (แพ้ท้อง) จากโรคไมเกรน โรคทางเดินอาหาร เบาหวาน ไตวาย อาเจียนจากยา จากยาเคมีบำบัด จากการฉายรังสี อาเจียนหลังการผ่าตัด จากโรคมะเร็ง จากภาวะสารยูเรียเกินในร่างกาย เป็นต้น (ยกเว้นจากการเมารถเมาเรือและสาเหตุจากโรคทางหู ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้ผล)
  • ใช้รักษาอาการจุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อน (GERD) บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก
  • ใช้รักษาโรคกระเพาะและลำไส้ทำงานผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนอาหารลงสู่ลำไส้นานกว่าปกติ (Diabetic gastric stasis)
  • ใช้กระตุ้นการหลั่งน้ำนมในหญิงหลังคลอด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโทโคลพราไมด์

ยาเมโทโคลพราไมด์จะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองบางตัว เช่น โดพามีน (Dopamine) จึงมีผลให้กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น และทำให้มวลของอาหารเคลื่อนตัวและถูกส่งต่อไปตามลำไส้โดยไม่ได้กระตุ้นการหลั่งกรด น้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการหดตัวและกระชับ ด้วยกลไกข้างต้นจึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคกรดไหลย้อน

เมื่อร่างกายได้รับยาเมโทโคลพราไมด์ ภายในเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์โดยกระจายตัวผ่านไปที่สมอง ผ่านเข้ารก อีกทั้งยังสามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้ด้วย ยาเมโทโคลพราไมด์จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายประมาณ 50% ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะถูกกำจัดผ่านไปกับปัสสาวะ และมีส่วนน้อยที่ผ่านไปกับอุจจาระ

ก่อนใช้ยาเมโทโคลพราไมด์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมโทโคลพราไมด์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเมโทโคลพราไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจบางตัว เช่น ยาดิจิทาลิส (Digitalis) หรือ ไดจอกซิน (Digoxin) จะทำให้การดูดซึมของยารักษาโรคหัวใจลดลง จึงควรต้องปรับขนาดและเวลาการรับประทานของทั้งคู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
    • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานบางตัว เช่น ยาอินซูลิน (Insulin) อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรปรับขนาดและระยะเวลาการให้ยารักษาโรคเบาหวานต่อผู้ป่วยโดยแพทย์
    • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาอาการทางจิตประสาทบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด, ยาแก้ซึมเศร้า, ยาแก้แพ้, ยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ อาจทำให้ฤทธิ์ของการสงบประสาทมีมากขึ้น จึงควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหากมีการใช้ร่วมกัน
    • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่น ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline), ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ยากลุ่มดังกล่าวถูกดูดซึมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลข้างเคียงที่มีมากขึ้นตามไปด้วย
    • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยาแอนติสปาสโมดิก (Antipasmodics) อาจทำให้ฤทธิ์ยาต้านกัน จึงไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกัน
  • มีหรือเคยมีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต, ภาวะกระเพาะหรือลำไส้อุดตัน, ภาวะกระเพาะหรือลำไส้ทะลุ, ภาวะเลือดออกหรือแผลในทางเดินอาหาร, เนื้องอกของต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma), อาการชักหรือมีประวัติเป็นโรคลมชัก, อาการป่วยทางจิต, โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน, โรคหอบหืด, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, เป็นหรือเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม, การเคลื่อนไหวผิดปกติ, ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD), ภาวะพร่องเอนไซม์เมทิโมโกลบิน รีดักเตส (Methemoglobin reductase)
  • มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ผ่าตัดหรือทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยานี้อยู่

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเมโทโคลพราไมด์

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาเมโทโคลพราไมด์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะหรือลำไส้อุดตัน, ผู้ที่มีภาวะกระเพาะหรือลำไส้ทะลุ, ผู้ที่มีภาวะเลือดออกหรือแผลในทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก, ผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma) เพราะยานี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาได้
  • ห้ามใช้ยานี้เมื่อหมดอายุ
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคซึมเศร้า ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เพราะบุคคลเหล่านี้มีร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป
  • หากต้องใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยาและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ผลข้างเคียงของยานี้อาจก่อให้เกิดอาการง่วงนอน ง่วงซึม มึนงง อ่อนเพลียได้ หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

วิธีใช้ยาเมโทโคลพราไมด์

  • สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนจากโรคและยา ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 10-20 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารหรือก่อนรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • สำหรับป้องกันอาการอาเจียนจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็ง ให้ใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ก่อนการให้ยาเคมีบำบัดประมาณ 30 นาที ทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง (2-5 ครั้ง)
  • สำหรับระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด ให้ใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 10-20 มิลลิกรัมหลังการผ่าตัด อาจฉีดซ้ำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น
  • สำหรับรักษาภาวะกรดไหลย้อน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาเม็ดครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยให้รับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที และก่อนนอน
  • สำหรับโรคกระเพาะและลำไส้ทำงานผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาเม็ดครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยให้รับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที และรับประทานก่อนนอน ติดต่อกันเป็นเวลา 2-8 สัปดาห์
  • สำหรับกระตุ้นการหลั่งน้ำนมในหญิงหลังคลอด ให้รับประทานยาเม็ดครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง เป็นเวลา 10-14 วัน

คำแนะนำในการใช้ยาเมโทโคลพราไมด์

  • ให้รับประทานยานี้ตอนท้องว่าง โดยรับประทานก่อนอาหารประมาณ 15-30 นาที ตามขนาดและความถี่ที่ระบุไว้ในฉลากยาหรือตามที่แพทย์สั่ง
  • ด้วยอาการ เพศ และวัยของผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกันไปนั้น ขนาดการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยจึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่า 5 วัน และไม่ใช้ในขนาดน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ส่วนการใช้ยานี้ในเด็กอายุเกิน 1 ปีขึ้นไปให้ใช้เป็นยาอันดับรอง (Second-choice treatment) ในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัด และระงับอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด
  • การใช้ยานี้ในผู้ใหญ่ควรใช้เพื่อป้องกันหรือเพื่อระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด การฉายรังสี หลังการผ่าตัด และโรคปวดศีรษะไมเกรน
  • การใช้ยานี้ในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

การเก็บรักษายาเมโทโคลพราไมด์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าให้เก็บยานี้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส[3]
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาเมโทโคลพราไมด์

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาเมโทโคลพราไมด์

  • ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ง่วงนอน มึนงง รู้สึกสับสน อ่อนเพลีย อิดโรย เหนื่อยล้า กระวนกระวาย กระสับกระส่าย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ มีอารมณ์ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาการนมโตในผู้ชาย (Gynecomastia) อาการน้ำนมออกผิดธรรมชาติในผู้หญิง (Galactorrhea) ประจำเดือนขาด เกิดอาการผื่นคัน อาจทำให้เม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น นิวโทรฟิล รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ มีปริมาณลดต่ำลงกว่าปกติ และมีน้อยกรณีที่อาจเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง (จากพิษของยานี้ต่ออวัยวะตับ)
  • ผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างบ่อยและดูน่ากลัว คือ อาจทำให้มีความผิดปกติของประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (Extrapyramidal symptoms – EPS) เช่น ตาเหลือก คอเอียง ลิ้นแข็ง ขากรรไกรแข็ง เป็นต้น ซึ่งมักพบได้ในเด็กเล็กหรือในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ร่วมกับยาฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เช่น ลาร์แกกทิล (Largactil), สปารีน (Sparine) ซึ่งเป็นยารักษาโรคจิต แต่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาแล้วจะค่อย ๆ หายไปได้เอง หรืออาจแก้ไขโดยการฉีดยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เข้ากล้ามเนื้อ ในขนาด 25-50 มิลลิกรัม (ในเด็กให้ใช้ในขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ก็จะช่วยให้หายได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 292-293.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “METOCLOPRAMIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [18 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 ก.ย. 2016].
  4. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Metoclopramide กับข้อแนะนำใหม่ที่เข้มงวด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [18 ก.ย. 2016].
  5. Drugs.com.  “Metoclopramide”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [18 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด