เพนิซิลลินวี / เพนวี (Penicillin V) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เพนิซิลลินวี

เพนิซิลลิน วี (Penicillin V) เป็นยาในกลุ่มเพนิซิลลิน หรือ ฟีนอกซีเมทิลเพนิซิลลิน (Phenoxymethyl penicillin) ซึ่งแพทย์มักเรียกเพนิซิลลินวีแบบย่อ ๆ ว่า เพน วี (Pen V) โดยจัดเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานที่มีโครงสร้างทางเคมีที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งถูกนำมาใช้รักษาอาการติดเชื้อที่มีระดับรุนแรงจากต่ำไปจนถึงระดับกลาง เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อของผิวหนัง การติดเชื้ออื่น ๆ เป็นต้น แต่มักใช้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนักกับเชื้อที่อยู่ในระดับรุนแรง

ยาเพนิซิลลินวีไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่มีเอนไซม์ต่อต้านหรือทำลายโครงสร้างทางเคมีของยานี้ได้ (Beta-lactamase-producing bacteria) แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียแกรมบวก และต่อต้านแบคทีเรียแกรมลบได้ไม่ดีเท่ากับเบนซิลเพนิซิลลิน (Benzylpenicillin)

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาเพนิซิลลินวีเป็นยาจำเป็นของระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของชุมชน ส่วนคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่สิ่งที่น่าวิตกในเรื่องของการใช้ยานี้อย่างหนึ่งก็คือ การแพ้ยา ซึ่งเพนิซิลลินวีสามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรเลือกหรือหาซื้อยาเพนิซิลลินวีมารับประทานเอง และควรได้รับการคัดกรองและรับยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น

ตัวอย่างยาเพนิซิลลินวี

ยาเพนิซิลลินวี (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เมดิก-วี (Medic-V), เพนวี (Pen V), เพน วี แอตแลนติก (Pen V Atlantic), เพน วี เจเนอรัล ดรักส์ เฮาส์ (Pen V General Drugs House), เพน วี ยูโทเปียน (Pen V Utopian), เพน วี-ออรอล ทู (Pen V-Oral Two), เพน วี-ออรอล โฟร์ (Pen V-Oral Four), เพนิซิลลิน วี เอเชียน ยูเนียน (Penicillin V Asian Union), เพนิซิลลิน วี โอสถ (Penicillin V Osoth), เพนวีดอน (Penvedon), เพนวีดอน ดราย ไซรัป (Penvedon Dry Syrup), เพนวีลิน (Penvelin), เพนวีโน (Penveno), เพนวิซิล (Penvisil), ฟีนอกซีเมทิล เพนิซิลลิน เอเชียน ฟาร์ม (Phenoxymethyl Penicillin Asian Pharm) ฯลฯ

รูปแบบยาเพนิซิลลินวี

  • ยาเม็ด / ยาแคปซูล ขนาด 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต), 250 มิลลิกรัม (4 แสนยูนิต) และ 500 มิลลิกรัม (8 แสนยูนิต)
  • ยาแคปซูล ขนาด 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) และ 250 มิลลิกรัม (4 แสนยูนิต)
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 62.5 มิลลิกรัม (1 แสนยูนิต) และ 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) / 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) และ 250 มิลลิกรัม / 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)

เพนวี
IMAGE SOURCE : www.tdmu.edu.ua, www.fda.moph.go.th

เพนิซิลลินวี
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

เพนิซิลลินวีโปแตสเซียม
IMAGE SOURCE : healthy.kaiserpermanente.org

สรรพคุณของเพนิซิลลินวี

  • ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) เช่น ไข้หวัดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ไข้อีดำอีแดง เหงือกอักเสบ ถุงน้ำตาอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมหลังช่องจมูกอักเสบ ปอดอักเสบ แผลอักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ขุมขนอักเสบ โรคไฟลามทุ่ง โรคแอนแทรกซ์ในระดับที่ไม่ค่อยรุนแรงมาก บาดแผลสัตว์กัดหรือคนกัด เป็นต้น
  • ใช้ป้องกันไข้รูมาติก (Rheumatic fever) และโรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease – RHD)
  • อาจใช้ป้องกันโรคไตอักเสบชนิดเฉียบพลันได้
  • ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพนิซิลลินวี

ยาเพนิซิลลินวีมีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ตัวยาสามารถต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้างสารเปบทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นตัวประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย จากการก่อกวนนี้จึงทำให้การสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียหยุดชะงักจนไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแพร่พันธุ์ และทำให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

ยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 60% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 80% แล้วตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางโมเลกุลของยา และร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที เพื่อกำจัดยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาเพนิซิลลินวี

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพนิซิลลินวี สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, ไดคล็อกซาซิลลิน), ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีหรือเคยมีโรคตับ โรคไต โรคเลือด โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ไข้ละอองฟาง และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด, แอสไพริน (Aspirin), เมโธเทรกเซท (Methotrexate), วาร์ฟาริน (Warfarin), โพรเบเนซิด (Probenecid) รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเพนิซิลลินวีอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลินวีด้วย ร่วมกับยาต้านมะเร็งเมโธเทรกเซท (Methotrexate) สามารถทำให้ระดับของยาเมโธเทรกเซทในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาได้ หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน หรือแพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาทั้งสองให้เหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลินวีด้วย ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ ซึ่งการจะใช้ยานี้ร่วมกันจะต้องคอยเฝ้าระวังและควบคุมกลไกการแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ
    • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลินวีด้วย ร่วมกับยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) อาจทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียของยาเพนิซิลลินน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน
    • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลินวีด้วย ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของเอทธินิลเอสตราไดออล (Ethinyl estradiol – EE) อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยลงไป ดังนั้น ในขณะที่ใช้ยานี้ร่วมกันจึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย
    • ยาเพนิซิลลินวีอาจรบกวนผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้ผลการวิเคราะห์คลาดเคลื่อน ดังนั้น ในระหว่างการใช้ยานี้ ควรนำข้อมูลการใช้ยามาประกอบในการพิจารณาการวิเคราะห์แปลผลการตรวจปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการด้วยทุกครั้ง
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบถึงการใช้ยาเพนิซิลลินวี

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเพนิซิลลินวี

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, ไดคล็อกซาซิลลิน) หรือยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ก่อนใช้ยาผู้ป่วยจึงควรแจ้งประวัติการใช้ยาโดยละเอียด เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะถึงแม้ว่ายาเพนิซิลลินวีจะจัดเป็นยาที่ปลอดภัยกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น มีผื่นขึ้นหรือมีอาการท้องเสียหลังการใช้
  • ควรระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด
  • ควรระวังการเกิดเชื้อราในช่องปากและอวัยวะเพศในขณะที่ได้รับยาในกลุ่มเพนิซิลลินที่รวมถึงเพนิซิลลินวีด้วย เพราะยาอาจกระตุ้นให้มีการดื้อของเชื้อโรค (เชื้อดื้อยา) ติดตามมาได้
  • หากต้องใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรระวังเรื่องของการทำงานของไตและระบบเลือดด้วยว่ายังปกติอยู่หรือไม่

วิธีใช้ยาเพนิซิลลินวี

  • สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 125-500 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง สูงสุดได้ไม่เกินวันละ 3,000 มิลลิกรัม)
  • สำหรับการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcal Infection) ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคไข้อีดำอีแดง และโรคไฟลามทุ่ง ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 125-250 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory tract Infection) ถ้าเป็นการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcal infections) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 125-250 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ส่วนการติดเชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcal infections) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง จนกระทั่งผู้ป่วยไม่มีไข้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin or Soft tissue infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง
  • สำหรับคอหอยอักเสบ (Pharyngitis) และต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) ในผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่น และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ส่วนในเด็กน้อยกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันเช่นกัน
  • สำหรับชั้นกลางอักเสบ/หูน้ำหนวก (Otitis media) และปอดอักเสบ (Pneumonia) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง จนกระทั่งผู้ป่วยไม่มีไข้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน
  • สำหรับโรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (Cutaneous bacillus anthracis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยา ครั้งละ 200-500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับป้องกันไข้รูมาติก (Rheumatic fever) และโรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัม (4 แสนยูนิต) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็นเช่นกัน

คำแนะนำในการใช้ยาเพนิซิลลินวี

  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยควรกลืนยาทั้งเม็ดและดื่มน้ำตามประมาณ 1 แก้ว (หากต้องรับประทานยานี้วันละ 4 ครั้ง ให้รับประทานยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนเข้านอน)
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาเพนิซิลลินวีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ให้รับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องจนครบช่วงการรักษา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • หากมีลมพิษ ผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก ปวดท้องมาก ท้องเสียอย่างมาก หรือคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที (ถ้ามีอาการแพ้ยา เช่น เกิดลมพิษ ผื่นคัน แน่นหน้าอก ใจสั่น แพทย์จะให้หยุดใช้ยา และให้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด แต่ถ้าเป็นรุนแรง เช่น เป็นลม ช็อก แพทย์จะฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline), ยาแก้แพ้รานิทิดีน (Ranitidine) และยาสเตียรอยด์ (Steroids) ให้

การเก็บรักษายาเพนิซิลลินวี

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส หรืออนุโลมให้เก็บยาได้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดด (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาเพนิซิลลินวี

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาเพนิซิลลินวี ให้รับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาเพนิซิลลินวี

  • อันตรายที่พบได้บ่อยของยากลุ่มเพนิซิลลิน คือ การแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงแค่ลมพิษ ผื่นคัน ใจสั่น แน่นหน้าอก ไปจนถึงหอบตัวเขียว ความดันต่ำ เป็นลม ภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากการแพ้ยาเพนิซิลลินชนิดฉีด (เช่น เพนิซิลลินจี (Penicillin G), โปรเคนเพนิซิลลิน (Procaine penicillin), เบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) เป็นต้น ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับการติดเชื้อรุนแรง และเนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพ้ยารุนแรงได้ จึงควรใช้ยาชนิดฉีดในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อมเท่านั้น) อาจทำให้ตายคาเข็มได้ ส่วนผู้ที่แพ้ง่ายเพียงแต่สูดหายใจเข้าไปหรือสัมผัสถูกตัวยาก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้แล้ว
  • อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ลิ้นเป็นฝ้า ไม่สบายท้อง ท้องเสีย แน่นหน้าอก มีไข้ เป็นต้น
  • การใช้ยาเพนิซิลลินในขนาดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก หรือมีไข้ขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “เพนิซิลลินวี (Penicillin V)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 237-239.
  2. Drugs.com.  “Penicillin V Potassium Dosage”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [12 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “PENICILLIN V”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [12 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เพนิซิลลิน วี (Penicillin V)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [12 ต.ค. 2016].
  5. ThaiRx.  “Penicillin V Tablets 125 mg”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [12 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด