เท้ายายม่อม สรรพคุณและประโยชน์ของแป้งเท้ายายม่อม 16 ข้อ !

เท้ายายม่อม

เท้ายายม่อม ชื่อสามัญ East Indian arrow root[3]

เท้ายายม่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze[1] จัดอยู่ในวงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)

สมุนไพรเท้ายายม่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บุกรอ (ตราด), สิงโตดำ (กรุงเทพฯ), นางนวล (ระยอง), ไม้เท้าฤาษี (ภาคกลาง), ท้าวยายม่อม, ว่านพญาหอกหลอก เป็นต้น[1],[3],[5]

หมายเหตุ : เท้ายายม่อมที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับเท้ายายม่อม (พืช) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum petasites (Lour.) S.Moore อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไม้เท้ายายม่อม

ลักษณะของเท้ายายม่อม

  • ต้นเท้ายายม่อม จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร (ใช้ทำแป้ง) ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบน หรือรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาวใส ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือการแยกหัว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก ไปจนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ และพบขึ้นหนาแน่นในบางพื้นที่ ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ ดินเป็นดินทราย และตามป่าชายหาด[1],[3],[5]

ต้นเท้ายายม่อม

  • ใบเท้ายายม่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ใบรูปฝ่ามือมีขนาดกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมกาบใบยาวประมาณ 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นสีดำแกมเขียว[1],[5]

ใบเท้ายายม่อม

  • ดอกเท้ายายม่อม ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะออกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกจะมีประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 170 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 20-40 ดอก กลีบรวมเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอมม่วงเข้ม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงในเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ส่วนวงนอกเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.4-0.7 เซนติเมตร แผ่นกลีบประดับเป็นสีเขียวเข้ม มีประมาณ 4-12 อัน เรียงเป็น 2 วง มีขนาดเกือบเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร มีชั้นใบประดับสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาลรองรับ ลักษณะเป็นรูปเส้นด้ายยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีประมาณ 20-40 อัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกออกเป็น 3 แฉก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม[1],[5]

ดอกเท้ายายม่อม

  • ผลเท้ายายม่อม ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดประมาณ 5-8 x 4-6 มิลลิเมตร ที่ผิวเมล็ดมีลาย[1],[5]

ผลเท้ายายม่อม

หมายเหตุ : ต้นเท้ายายม่อมจะยุบตัวเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ใบจะเหลือง ในช่วงนี้จะเก็บหัวเอาไปทำแป้งและเก็บหัวเล็ก ๆ ไว้ปลูกช่วงเข้าฤดูฝน[4]

สรรพคุณของเท้ายายม่อม

  1. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง (เหง้า)[5]
  2. หัวเท้ายายม่อมสามารถนำมาใช้ทำแป้งได้ ซึ่งเรียกว่า “William’s arrow root“, “Arrowroot starch” หรือ แป้งเท้ายายม่อม (ชื่อทางการค้าใช้คำว่า “แป้งท้าวยายม่อม“) ใช้เป็นอาหารอย่างดีสำหรับคนไข้ที่ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการเบื่ออาหารหลังฟื้นไข้ โดยจะช่วยทำให้เกิดกำลัง ชุ่มชื่นหัวใจ ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงได้เร็ว ส่วนวิธีการใช้นั้นให้นำแป้งมาละลายกับน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวด ตั้งไฟกวนจนสุก แล้วนำมาให้คนไข้รับประทาน (หัว)[1],[4],[5]
  1. สำหรับคนทั่วไปการรับประทานแป้งเท้ายายม่อมหรือนำมาใช้ประกอบอาหารจะมีสรรพคุณเป็นยาทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร (หัว)[4],[5]
  2. นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่า แป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เรามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแป้งชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังเชื่อว่าการบริโภคแป้งชนิดนี้จะช่วยทำให้อารมณ์และจิตใจมีความสมดุล ไม่วิตกกังวลหรือซึมเศร้าจนเกินไปได้อีกด้วย (หัว)[4]
  3. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[5]
  4. ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก)[5]
  5. ชาวฮาวายจะใช้หัวเท้ายายม่อมนำมาผสมกับน้ำและดินเคาลินสีแดง (red clay) ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสียและบิด ใช้หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ (หัว)[5]
  6. รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาเย็น หรือเผาให้ร้อนเอาผ้าห่อ นั่งทับแก้ไส้เลื่อน (ราก)[2],[5]
  7. แป้งที่ได้จากหัวสามารถนำใช้โรยบริเวณปากแผลเพื่อช่วยห้ามเลือดได้ (หัว)[4],[5]
  8. หัวหรือรากนำมาฝนกับน้ำมะนาวใช้ทาเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ (หัว, ราก)[4],[5]
  9. หากเป็นผดผื่นคัน ให้ใช้แป้งเท้ายายม่อมละลายกับน้ำแล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (หัว)[4],[5]
  10. ใช้เป็นยาพอกฝีแผล ช้ำ ถอนพิษ ด้วยการใช้แป้งเท้ายายม่อมนำมานวดกับน้ำอุ่นให้พอเป็นยางเหนียว ๆ แล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (หัว)[4]
  11. แป้งใช้โรยในถุงเท้าเพื่อป้องกันเชื้อราที่เท้าได้เป็นอย่างดี (หัว)[4],[5]

ประโยชน์ของเท้ายายม่อม

  1. แป้งที่สกัดได้จากหัวสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารและทำขนมได้หลายชนิด เมื่อนำไปประกอบอาหารจะให้ความเข้มเหนียวหนืดและใส เมื่อทำให้เย็นจะมีความเหนียวตัวมากกว่าแป้งมันสำปะหลัง จึงนิยมนำมาผสมกับแป้งชนิดอื่น ๆ เช่น ผสมกับแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด และแป้งข้าวเจ้า เพื่อให้ได้อาหารที่มีความเข้มเหนียวและเป็นมันวาว เช่น ขนมชั้น ขนมเปียกปูนหรือขนมน้ำดอกไม้ ขนมกรวย ขนมกล้วย ขนมกงหรือขนมกงเกวียน ขนมช่อม่วง ขนมดอกลำเจียก ขนมดอกอัญชัน ขนมเทียนแก้ว ขนมทองเอก ขนมเรไร ขนมวุ้นกรอบ ขนมฟักเขียว ขนมฟักทอง ขนมมันสำปะหลัง ขนมหัวผักกาด ขนมถ้วยหน้ากะทิ ลอดช่องกะทิ กะละแม เสวย ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวฟ่างเปียก ครองแครงกะทิ เต้าส่วน ทับทิมกรอบ บัวลอย เสน่ห์จันทร์ ใช้ผสมกับแป้งถั่วเขียวเพื่อทำซ่าหริ่ม หรือนำมาผสมกับแป้งเผือกและแป้งสาลีเพื่อทำขนมเค้ก ขนมพุดดิ้ง และขนมปัง สำหรับอาหารคาวจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในซุปเห็ดเจ ราดหน้า กระเพาะปลา หอยทอด เป็นต้น [3],[4]
  2. ดอกและยอดอ่อนนำมาต้มจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ หรือนำยอดอ่อนมาผัดกับน้ำกะทิสด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผัดกะทิเท้ายายม่อม” โดยนำน้ำกะทิสดไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนกะทิข้น จากนั้นให้นำยอดอ่อนใส่ลงไปผัดจนสุก รสชาติจะขมเล็กน้อย มีความหอมมันของกะทิ ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกกะปิอร่อยมาก (ข้อมูลจากคุณลุงสะอาด กล่อมสกุล)[4],[5]
  3. แป้งจากหัวใช้เป็นเครื่องประทินผิว ลดสิวฝ้า ทำให้หน้าขาวได้ ด้วยการใช้แป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักครู่แล้วค่อยล้างออก หรือนำมาใช้ผัดหน้าแทนแป้งฝุ่น[4]

หมายเหตุ : แป้งเท้ายายม่อมแท้ ๆ ตามท้องตลาด ในปัจจุบันแทบหาซื้อไม่ได้แล้ว โดยมากจะทำมาจากมันสำปะหลัง แต่ติดป้ายว่าเป็น “แป้งท้าวยายม่อม[4]

วิธีการทำแป้งเท้ายายม่อม

  1. ให้นำหัวเท้ายายม่อมมาปอกเปลือกออก ล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ (หัวสด 5 กิโลกรัม เมื่อทำเสร็จแล้วจะได้แป้งหนักกว่า 1 กิโลกรัม)
  2. นำหัวมาฝนกับแผ่นสังกะสีที่ตอกตะปูไว้ให้เป็นรูคล้ายกับก้นของกระชอน ขึงกับโครงไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม พาดบนอ่างที่ใช้รองเท้ายายม่อมที่ขูดแล้ว ในขณะขูดจะใช้น้ำชะเท้ายายม่อมลงในอ่าง (หลังขูดเสร็จในอ่างจะมีทั้งน้ำและเนื้อของเท้ายายม่อมอยู่ในนั้น)
  3. ใช้มือขยี้จนแป้งแยกออกจากกาก แล้วนำแป้งที่แยกได้มาวางทิ้งไว้ 1 คืน ให้ตกตะกอน เทน้ำสีเหลืองที่ลอยอยู่ข้างบนทิ้ง ใส่น้ำใหม่ลงไปกวนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืน โดยให้ทำเช่นนี้ประมาณ 3-4 ครั้ง จนน้ำที่ลอยอยู่ด้านบนแป้งเป็นสีใส
  4. นำแป้งสีขาวขุ่นที่นอนก้นอยู่ข้างล่างออกมาจากอ่าง โดยใช้ไม้พายงัดออกมาวางบนถาดที่เตรียมไว้สำหรับตาก จากนั้นใช้มือกลึงและบี้ให้ขนาดของก้อนแป้งเล็กลง แล้วนำมาตากแดดไว้จนกว่าจะแห้ง
  5. เมื่อตากแดดจนแห้งแล้วก็จะได้แป้งที่มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วให้นำมาเก็บใส่ในภาชนะที่ปิดสนิท สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน (ข้อมูลจากคุณศิริรัตน์ ลดหวั่น ผู้ผลิตแป้งเท้ายายม่อมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี)[4]

ท้าวยายม่อม

แป้งท้าวยายม่อม

เอกสารอ้างอิง
  1. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ท้าวยายม่อม (หัว)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [10 ธ.ค. 2014].
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน.  (มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล).  “เท้ายายม่อม”.  หน้า 212.
  3. จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๙, กันยายน ๒๕๓๒.
  4. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “เท้ายายม่อม… แป้งแท้แต่โบราณ อาหารฟื้นไข้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com.  [10 ธ.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สิงโตดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [10 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Warren McCleland, Tony Rodd, Forest and Kim Starr, Shubhada Nikharge, Ton Rulkens)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด