เทียนสัตตบุษย์ สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนสัตตบุษย์ 17 ข้อ !

เทียนสัตตบุษย์

เทียนสัตตบุษย์ ชื่อสามัญ Anise[2], Aniseed[3]

เทียนสัตตบุษย์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pimpinella anisum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]

สมุนไพรเทียนสัตตบุษย์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสียวหุยเซียง โอวโจวต้าหุยเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของเทียนสัตตบุษย์

  • ต้นเทียนสัตตบุษย์ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร กิ่งและก้านเป็นสีเขียว รูปทรงกลมผิวมีร่องหรือเหลี่ยม[1] เทียนสัตตบุษย์เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ได้มีการนำไปปลูกมากทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปยุโรป รัสเซีย แอฟริกาเหนือ เม็กซิโก และอินเดีย[3]

ต้นเทียนสัตตบุษย์

  • ใบเทียนสัตตบุษย์ ใบเป็นใบเดี่ยวแทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่เหมือนพัด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ส่วนที่แตกจากกิ่งช่วงยอดต้นเป็นรูปแฉกยาวมีใบประกอบ 3 ใบ แบบขนนก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย[1]

ใบเทียนสัตตบุษย์

  • ดอกเทียนสัตตบุษย์ ออกดอกเป็นช่อคล้ายก้านซี่ร่ม หลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีขนาดเล็ก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ตัว ติดอยู่บนฐานรอบดอก เรียงสลับกับกลีบดอก มีรังไข่ 5 ห้อง อยู่ต่ำกว่า[1]

ดอกเทียนสัตตบุษย์

  • ผลเทียนสัตตบุษย์ ผลมีลักษณะเป็นรูปยาวรีกลม คดงอเล็กน้อย เปลือกผลเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล[1]

ผลเทียนสัตตบุษย์

เมล็ดเทียนสัตตบุษย์

สรรพคุณของเทียนสัตตบุษย์

  1. ผลและเมล็ดเทียนสัตตบุษย์มีรสเผ็ดหวานเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ธาตุ และไต ใช้เป็นยาแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ (ผล, เมล็ด)[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้หอบ (เมล็ด)[2] ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ (ผล, เมล็ด)[1],[3] ใช้เป็นส่วนผสมในยาอมแก้ไอ โดยใช้ร่วมกับชะเอมจีน (น้ำมันหอมระเหย)[3]
  3. ช่วยขับเหงื่อ (ผล)[3]
  4. ช่วยแก้อาการสะอึก (ผล, เมล็ด)[1]
  5. ผลและเมล็ดใช้เป็นยาแก้ลมขึ้น ขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ผล, เมล็ด)[1],[3]
  1. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ผล, เมล็ด)[1]
  2. ช่วยแก้อาการแพ้ท้อง (เมล็ด)[2]
  3. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ผล, เมล็ด)[1]
  4. ช่วยขับน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร (ผล, เมล็ด)[1]
  5. ผลมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา (ผล)[3] น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค (น้ำมันหอมระเหย)[3]
  6. เมล็ดเทียนสัตตบุษย์จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม และใช้ตำรับยาหอม (เมล็ด)
  7. เมล็ดเทียนสัตตบุษย์ยังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนสัตตบุษย์อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนสัตตบุษย์ เทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ และเทียนเยาวพาณี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืด (เมล็ด)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามที่ต้องการ[1]

ข้อควรระวัง : ไม่ควรนำผลเทียนสัตตบุษย์มาบดให้เป็นผง เพราะจะทำให้กลิ่นหอมระเหยไป และไม่ควรใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ เพราะจะเป็นพิษกับร่างกาย[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนสัตตบุษย์

  • ในผลเทียนสัตตบุษย์พบน้ำมันหอมระเหย Anise oil มีสาร Anethole เป็นองค์ประกอบหลัก และยังพบสารคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย[1]
  • จากการทดลองฤทธิ์ขยายหลอดลมของเทียนสัตตบุษย์ โดยใช้หลอดลมของหนูที่ถูกทำให้ตีบตัวด้วย methacholine เมื่อให้สารสกัดน้ำ สารสกัดเอทานอล น้ำมันหอมระเหย และ theophylline (1mM) จะแสดงฤทธิ์ขยายหลอดลมอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ได้น้อยกว่า theophylline ส่วนสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับ theophylline กลไกในการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการยับยั้ง muscarinic receptors[4]
  • เมล็ดเทียนสัตตบุษย์ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นมดลูกให้บีบตัวแรงขึ้น[1]
  • เมื่อใช้เมล็ดเทียนสัตตบุษย์ ให้สตรีหลังคลอดบุตรรับประทาน พบว่าสามารถกระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมให้มากขึ้นได้ แต่หากสตรีไม่มีบุตรจะพบว่ามีอาการคัดเต้านม และมีการกระตุ้นความต้องการทางเพศได้เล็กน้อย[1]
  • เมื่อให้หนูขาวทดลองรับประทานน้ำมันจากผลเทียนสัตตบุษย์ พบว่ามีการสร้างเซลล์ใหม่ที่ตับเพิ่มขึ้นได้[1]

รูปเทียนสัตตบุษย์

ประโยชน์ของเทียนสัตตบุษย์

  1. ใบสดใช้รับประทานเป็นผักดิบ หรือใช้ตกแต่งอาหารให้ดูสวยงามน่ารับประทาน[3]
  2. ในประเทศอินเดียจะใช้ใบและรากเทียนสัตตบุษย์ที่มีกลิ่นหอม นำไปเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร[1]
  3. ผลหรือเมล็ดมีกลิ่นหอมและมีรสหวาน สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขนมหวาน ขนมปัง ลูกกวาด เครื่องดื่ม เหล้า ใช้เครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารคาวหวาน โดยเฉพาะพวกเข้าเครื่องแกงแบบอินเดีย อีกทั้งเมล็ดยังช่วยเพิ่มรสให้กับพวกซุป ซอสต่าง ๆ ขนมปัง เค้ก บิสกิต ฯลฯ ได้อีกด้วย[3]
  4. เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีกลิ่นหอม ทางยุโรปและอินเดีย จึงนิยมใช้น้ำมันจากผลเทียนสัตตบุษย์ (Oil of anise) เป็นส่วนผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ใช้ผสมเครื่องหอม สบู่ และของหอมชนิดอื่น ๆ ใช้แต่งกลิ่นน้ำยาบ้วนปาก แต่งกลิ่นอาหาร ลูกกวาด เครื่องดื่ม เหล้า ใช้แต่งกลิ่นบุหงา และกลบกลิ่นไม่ดีของยา แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนด[1],[3]
  5. บ้างใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นยาฆ่าแมลงต่าง ๆ เช่น หมัด เหา เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เทียนสัตตบุษย์”.  หน้า 280.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนสัตตบุษย์ Anise”.  หน้า 215.
  3. ไทยเกษตรศาสตร์.  “เทียนสัตตบุษย์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [05 ธ.ค. 2014].
  4. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ขยายหลอดลมของเทียนสัตตบุษย์”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [04 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Víctor, Achégate, Bogumil Rychlak, Kenko.), www.luontoportti.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด