เทียนบ้าน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเทียนบ้าน 53 ข้อ !

เทียนบ้าน

เทียนบ้าน ชื่อสามัญ Garden balsam[1],[3]

เทียนบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)[1],[3]

สมุนไพรเทียนบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน (ภาคกลาง), จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง (จีน), จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ เป็นต้น[1],[3],[4],[9]

ลักษณะของเทียนบ้าน

  • ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ เนื้อใส โคนต้นเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ปลูกได้ง่าย โตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ชอบแสงแดดอ่อน ๆ จึงควรปลูกในที่ร่มรำไร[1],[3],[4],[11]

ต้นเทียนบ้าน

ต้นเทียนดอก

  • ใบเทียนบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าลำต้น หลังใบและท้องใบเรียบ บ้างว่าผิวของเนื้อใบสากและหยาบ[1],[3],[4]

ใบเทียนบ้าน

  • ดอกเทียนบ้าน ออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสมก็ได้ (แต่นิยมนำดอกขาวมาใช้ทำยา) ดอกมีกลีบดอกประมาณ 4-5 กลีบ กลีบดอกอาจซ้อนกันหรือไม่ซ้อนกันก็ได้ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายของกลีบดอกหยักเว้าเป็นลอน ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวานยาว ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ โดยรังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมีสีสดสวย[1],[4],[9],[11]

ดอกเทียนบ้าน

รูปดอกเทียนบ้าน

ดอกเทียนสวน

ดอกเทียนดอก

  • ผลเทียนบ้าน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ผิวผลมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ ผลมีก้านยาวมองเห็นได้ชัดเจน เป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4],[9]

ผลเทียนบ้าน

เมล็ดเทียนบ้าน

สรรพคุณของเทียนบ้าน

  1. รากมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย ใช้กระจายเลือด ขับลมชื้นในร่างกาย (ราก)[4] ส่วนเมล็ดมีพิษ ช่วยกระจายเลือด (เมล็ด)[6] ลำต้นช่วยทำให้เลือดเดินสะดวก (ลำต้น)[6]
  2. ดอกเป็นยาเย็น ใช้บำรุงร่างกาย (ดอก)[6]
  3. เมล็ด ใบ ดอก ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกเลือด (เมล็ด, ใบ, ดอก, ทั้งต้น)[4],[6] บ้างว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือดเช่นกัน (ราก)[8]
  4. ใช้แก้จมูกอักเสบ บวมแดง ด้วยการใช้ยอดสดนำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนเช้าและเย็น (ยอดสด)[5]
  5. ลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือกลืน เพื่อแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (ต้น)[3] ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้ก้างติดคอเช่นกัน โดยใช้เมล็ดสดนำมาตำแล้วกลืนลงไป หรือถ้าไม่มีเมล็ดก็ให้ใช้รากสดนำมาเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนลงไปช้า ๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันเสีย (เนื่องจากยานี้ละลายกระดูกและฟันได้) (เมล็ด, ราก)[6],[9]
  6. ช่วยทำให้อาเจียน (ลำต้น)[6]
  7. เมล็ดเป็นยาขับเสมหะข้น (เมล็ด)[6]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ฝีบริเวณต่อมทอนซิล (ทั้งต้น)[4]
  9. ใช้แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ โดยใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป ให้อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง (เมล็ด)[9]
  10. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับลม (ทั้งต้น[4], ลำต้น[8]) ใบและดอกเป็นยาสลายลม (ใบ, ดอก)[6]
  1. ใบเป็นยาแก้บิด มูกเลือด (ใบ)[8]
  2. ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)[6]
  3. ดอกเป็นยาแก้อาการปวดก่อนมีประจำเดือน (ดอก)[6]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาขับเลือด ขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนไม่มา และใช้เป็นยากระจายเลือด โดยใช้เมล็ดแห้งของต้นเทียนบ้านชนิดดอกขาว 60 กรัม นำมาบดเป็นผงรวมกับตังกุย 10 กรัม และผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม (หรืออาจผสมกับตังกุย 10 กรัม ด้วยก็ได้) วันละ 3 เวลา (เมล็ด)[4],[5],[6],[9]
  5. สำหรับสตรีที่คลอดบุตรยาก ให้ใช้เมล็ดเทียนบ้าน 6 กรัม นำมาบดเป็นผงกินกับน้ำ แต่ต้องระวังอย่าให้ถูกฟัน (เมล็ด)[9]
  6. เมล็ดใช้เป็นยาขับลูกที่ตายในท้องของสตรี (เมล็ด)[6] และช่วยขับรกค้าง (รกไม่ออก) โดยใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดเป็นผงขนาด 3.2 กรัม ใช้รับประทานร่วมกับเหล้าเหลืองอุ่น ๆ (เมล็ด)[9]
  7. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ราก)[8]
  8. ใช้รากเป็นยาแก้ตกเลือด (ราก)[8]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ซีสต์หรือก้อนเนื้อในมดลูกของสตรี (เมล็ด)[4]
  10. เมล็ดช่วยแก้ตับแข็ง (เมล็ด)[8]
  11. ใช้แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 4-5 ราก นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทาน 3-4 ครั้งก็จะเห็นผล (ราก)[5],[9]
  12. ใบตากแห้งนำมาตำผสมกับพิมเสนใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรังได้ ส่วนรากก็ช่วยรักษาแผลเรื้อรังเช่นกัน (ราก, ใบ)[3],[4],[5],[9] ส่วนเมล็ดใช้แก้แผลติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง (เมล็ด)[8]
  13. ดอกนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกรักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แผลพุพอง หรือแผลไฟไหม้ได้ หรือจะใช้ใบสดที่ล้างสะอาดแล้วประมาณ 5-10 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกรักษาแผลพุพอง วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[5],[6] ส่วนเมล็ดก็ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้เช่นกัน (เมล็ด))[8]
  14. ใช้แก้แผลอักเสบ แผลเน่าเปื่อย รวมถึงฝีหนอง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น (ใบ)[5],[9] ส่วนลำต้นก็ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยได้เช่นกัน (ลำต้น)[6]
  15. ใช้แก้แผลงูสวัด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอก (ต้น)[5]
  16. ใช้แก้พิษงู แก้แผลงูกัด ด้วยการใช้ต้นสด 160 กรัม นำมาตำเอาน้ำดื่มเป็นยาและเอากากที่เหลือพอกแผล ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษงูเช่นกัน และใช้ใบเป็นยาแก้งูกัด (ต้น, ใบ)[4],[6],[9]
  17. หมอจีนจะใช้ใบของต้นเทียนดอกขาวนำมาตำใช้พอกเป็นยาถอนพิษ ปวดแสบ ปวดร้อน (ใบ)[8]
  18. ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (ใบ)[5]
  19. ใช้รักษาฝี ให้ใช้ต้นเทียนดอกทั้งต้น (ไม่รวมราก) 1 ต้น นำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณหัวฝี หรือจะใช้เฉพาะใบสดประมาณ 5-10 ใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย หรือจะใช้กากที่ตำได้จากลำต้นนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นฝีแทนก็ได้ แต่เวลาที่ตำควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สีติดมือ (ใบ, ต้น, ทั้งต้นไม่รวมราก)[1],[2],[3],[5]
  20. ช่วยแก้ฝีอักเสบเกิดที่หลัง ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกหรือใช้ยาสดล้างสะอาดตำและต้ม 2 หม้อ รินเอาน้ำมารวมกันเคี่ยวให้ข้นเป็นครีม ใช้ทากระดาษแก้ว นำมาปิดที่แผล โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1 ครั้ง (ใบ)[9]
  21. หรือหากเป็นฝีมีหนอง ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝีหนองด้วยเช่นกัน (ต้น, ราก)[4]
  22. หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้แผลหนองเรื้อรัง (ใบ)[6]
  23. ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือทาแก้น้ำกัดมือ (ใบ)[3]
  24. ใบใช้แก้ฝีประคำร้อย แก้ฝีตะมอย (ใบ)[3],[6
  25. หากเล็บขบ เล็บช้ำ (เนื่องจากถูกของหนักตกใส่ ไม่ควรทิ้งไว้นาน เพราะอาจจะทำให้เล็บของคุณเสียได้) ให้ใช้ใบเทียนบ้านประมาณ 2-3 ใบ นำมาตำให้ละเอียดในภาชนะที่เป็นกะลาหรือในถุงที่สะอาด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นภายใน 1-2 ชั่วโมง จะทำให้เล็บหายเขียว และยังช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย แต่จะทำให้เล็บของคุณกลายเป็นสีแดงอมสีน้ำตาล ซึ่งมันจะล้างไม่ออก ต้องรอจนกว่าเล็บจะยาวแล้วค่อยตัดออก (ใบ)[1],[2]
  26. ใช้เป็นยากันเล็บถอด จมูกเล็บหรือซอกข้างเล็บอักเสบบวม ด้วยการใช้ยอดสด 1 กำมือที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำตาลทรายแดงครึ่งช้อนชา ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[5],[9] บ้างว่าใช้ดอกตำพอกเป็นยากันเล็บถอด (ดอก)[8]
  27. หรือหากเล็บเท้าอักเสบบวม หรือเป็นแผลบริเวณเล็บมือ ก็ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[4
  28. ใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียว ฟกช้ำเป็นก้อน แก้หกล้ม บวมแดง ด้วยการใช้รากแห้งบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ผสมกับเหล้ารับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้น 1 แก้ว ผสมกับเหล้าเหลืองกินเป็นยาแก้ฟกช้ำ (ราก, ทั้งต้น)[4],[8],[9]
  29. เมล็ดและทั้งต้นช่วยแก้อาการปวดบวม (เมล็ด, ทั้งต้น)[4] ลำต้นมีสรรพคุณแก้ปวด แก้บวมเป็นพิษ (ลำต้น)[6]
  30. ใบช่วยแก้บวม แก้อาการเจ็บปวดเนื่องจากการกระทบกระแทก ดอกช่วยแก้ปวด ปวดเอว ลดบวม (ใบ, ดอก)[6] รากช่วยลดบวม (ราก)[8]
  31. ช่วยแก้หน้าบวมและขาบวม ให้ใช้รากและใบสดผสมกับน้ำตาลทราย ตำให้ละเอียดแล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่บวม (รากและใบ)[9]
  32. ช่วยขับลมชื้น แก้ปวดไขข้อ ใช้รักษาอาการปวดข้อกระดูกอันเนื่องมาจากลมชื้น ด้วยการใช้ต้นสด 40 กรัมผสมกับเหล้ารับประทาน หรือจะใช้ใบสด 30 กรัม (ใบแห้งให้ใช้ 15 กรัม) นำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าดื่มเป็นยาแก้ปวดข้อก็ได้ ส่วนดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดข้อเช่นกัน (ต้น, ใบ, ดอก)[4],[5],[6],[9]
  33. ช่วยแก้เหน็บชา (ลำต้น)[6]
  34. ช่วยทำให้เส้นเอ็นคลายตัว (ลำต้น)[8]
  35. ช่วยแก้อาการปวดกระดูก (ราก)[8]
  36. ดอกและใบใช้ตำพอก แก้อาการปวดตามข้อมือข้อเท้าของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ (ใช้รักษาอาการเล็บขม มีหนองได้ด้วย) (ดอกและใบ)[4]
  37. ใบและรากนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกเศษแก้วตำเนื้อหรือใช้รักษาเสี้ยน (ใบและราก)[3],[5]
  38. น้ำคั้นจากต้นช่วยบำรุงผิวและลดริ้วรอย (ต้น)[8]

วิธีใช้สมุนไพรเทียนบ้าน

  • การเก็บมาใช้เป็นยา ถ้าเป็นส่วนของใบหรือทั้งต้น ให้เก็บในช่วงฤดูร้อนแล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือจะใช้สด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นดอก ให้เก็บตอนที่ดอกบานเต็มที่แล้ว แล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือถ้าเป็นเมล็ด ก็ให้เลือกเก็บตอนแก่เต็มที่ก่อนแตก แล้วนำมาตากแห้ง เอาสิ่งปลอมปนออก แล้วเก็บไว้ใช้[9]
  • การใช้ตาม [4],[6],[8] หากใช้ทั้งต้น ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะทำเป็นเม็ดหรือผงรับประทานก็ได้ (หากใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง), ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 10-15 กรัม (ใบสดใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (หากใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือต้มอาน้ำชะล้าง) หรือเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 2-4 กรัม (บ้างว่า 2.5-8 กรัม) นำมาทำเป็นเม็ดหรือเป็นผง (ใช้ภายนอก ให้นำมาบดเป็นผง) แต่ถ้าเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน ส่วนรากนั้น ถ้าเป็นรากแห้งให้นำมาบดเป็นผงรับประทานหรือแช่กับเหล้ากิน (หากใช้ภายนอก ให้นำมาตำแล้วพอก) และถ้าเป็นเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม หรือใช้ครั้งละ 2-5 กรัม นำมาบดเป็นผงหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาทำเป็นยาเม็ด[4],[9]

YouTube video

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนบ้าน

  • ในใบของต้นเทียนบ้าน มีส่วนประกอบที่ชื่อ 2-methoxy-1, 4-naphthaquinone ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราในพืชได้[8]
  • ในดอกพบว่ามีสาร Anthocyanins, Cyanidin, Delphinidin, Harands, Quercetin, Pelargonidin, Malvidin Kaempferol ส่วนรากพบ Cyanidin, mono-glycosidise เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่ามีน้ำมันระเหยกับน้ำมัน และในน้ำมันพบสาร เช่น Balsaminasterol parinaric acid และโปรตีน เป็นต้น[4],[8]
  • ในเมล็ดเทียนบ้านพบว่ามีสาร Balsaminasterol Parinaric acid และมีน้ำมันและโปรตีนอีกด้วย[4]
  • จากการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจำพวก Dermatophytes ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคผิวหนัง กลาก และฮ่องกงฟุตได้ ส่วนฤทธิ์ในการรักษาฝีนั้นยังไม่มีผู้ทดลอง[8]
  • จากการศึกษาสารสำคัญในเมล็ดที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าเป็นสารจำพวก Peptides ซึ่งประกอบไปด้วย กรดอะมิโน 20 ชนิด และสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอล 95% จากส่วนที่อยู่เหนือดินแห้ง สารสกัดจากทั้งต้นด้วยเมทานอล คือ 2-methoxy-1,4-naphtho-quinone (MNQ) นอกจากนี้สารสำคัญในเทียนบ้านที่เป็นสารในกลุ่ม Naphthoquinone ซึ่งเรียกชื่อเฉพาะว่า lawsone พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด[7]
  • มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นเทียนบ้าน เมื่อใช้สารสกัดจากดอกและใบก็พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ ส่วนน้ำที่สกัดจากรากและลำต้นไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus แต่เมื่อทดสอบด้วยสารสกัดเอทานอล 95% จากใบและดอกเทียนบ้าน พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อStaphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ ในขณะที่สารสกัดนี้จากลำต้นและรากกลับไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้เมื่อทำการทดสอบสารสกัดเมทานอลและน้ำสกัดจากลำต้นและใบในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด พบว่าสารสกัดจากลำต้นและใบทั้ง 2 แบบสามารถต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ โดยสารสกัดจากใบจะมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และสารสกัดด้วยเมทานอลจะมีฤทธิ์ที่ดีกว่าน้ำสกัด และจากการทดสอบสารสกัดเอทานอล 95% และน้ำสกัดจากส่วนต่าง ๆ ก็พบว่าสารสกัดจากทุกส่วน ยกเว้นสารสกัดจากลำต้นด้วยน้ำสามารถต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ดี[7]
  • จากการทดสอบน้ำสกัดจากใบและลำต้น โดยนำน้ำสกัดที่ได้มาย้อมผ้าไหมและผ้าขนสัตว์ แล้วทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ของผ้าที่ถูกย้อม พบว่าฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสีย้อมจะขึ้นอยู่กับเวลาของการย้อมและความเข้มข้นของสีย้อม และยังพบว่าผ้าไหมที่ย้อมสีแล้วจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าผ้าขนสัตว์ โดยสีย้อมที่ได้จากใบจะมีฤทธิ์กว่าส่วนของลำต้น[7]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของดอกเทียนบ้าน มีการศึกษาถึงสารสำคัญที่ได้จากกลีบดอกของต้นเทียนบ้านที่มีฤทธิ์เป็น selective cyclooxy genase-2 (COX-2) inhibitor โดย enzyme cyclooxygenase-2 จะก่อให้เกิดสารกระตุ้นการอักเสบหลายชนิด เช่น histamine, prostaglandin โดยมีสารสำคัญเป็นสารจำพวก 1,4-naphthoquinone sodium salts[7]
  • มีการทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากพืชชนิดต่าง ๆ โดยใช้กระดาษซับสารสกัดวางบนวุ้นเพาะเชื้อ พบว่าสารสกัดอะซีโตน ไดเอทิลอีเทอร์ เอทานอล และน้ำสกัดจากส่วนเหนือดินของต้นเทียนบ้าน มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus[7]
  • สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบเทียนบ้านมีสาร Methyl lawsone ซึ่งสามารถช่วยฆ่าเชื้อราที่ทำให้เป็นโรคกลากและฮ่องกงฟุตได้[1],[2]
  • น้ำที่สกัดได้จากดอกเทียนบ้านมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อบิด เชื้อไทฟอยด์ และเชื้อ Staphylococcus ได้[4]
  • น้ำที่สกัดได้จากเทียนบ้านในความเข้มข้น 1 ต่อ 3 พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อราในหลอดทดลองได้หลายชนิด[4]
  • เมล็ดเทียนบ้านสกัดด้วยน้ำมีผลกระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่ท้องและไม่ท้อง และต่อมมดลูกของหนูขาวที่ท้อง ทำให้มดลูกเกิดการหดตัวเร็วและแรงขึ้น ส่วนน้ำสกัดหรือส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดจะมีผลทำให้ลำไส้เล็กที่แยกออกมาของกระต่ายเกิดการคลายตัว[9]
  • ส่วนการใช้เป็นยาคุมกำเนิด ได้มีการทดสอบให้หนูขาวเพศเมียกินน้ำต้มจากเมล็ด 10 วัน พบว่าจะออกฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดได้เป็นอย่างดี และยานี้จะกดความรู้สึกทางเพศ การทำงานของมดลูก และลดน้ำนม[9]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษ โดยให้หนูกินเมล็ดร่วมกับน้ำในขนาด 3 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ชั่วโมงละ 1 ครั้งรวม 3 ครั้งอยู่หลายวัน พบว่าหนูที่ท้องก็ยังไม่แท้ง และให้กระต่ายกินก็ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด[9]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ ด้วยการทดสอบสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากส่วนเหนือดินกับเซลล์ Hela-S3 โดยมี IC50 เท่ากับ 25 มคก./มล. พบว่ามีฤทธิ์อ่อน ๆ แต่ถ้าใช้สารสกัดนี้จากเมล็ดที่มีขายทั่วไปกับเซลล์ดังกล่าว จะมีค่า IC50 มากกว่า 0.3 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ และหากใช้น้ำสกัดหรือสารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นแห้งที่ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. กับเซลล์ดังกล่าวก็ให้ผลเช่นเดียวกัน[7]

ประโยชน์ของเทียนบ้าน

  1. ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้สระผม จะช่วยบำรุงผม ทำให้ผมดกดำได้[3]
  2. ชาวบาหลีในอดีตจะนำใบเทียนบ้านมารับประทานเป็นอาหาร[10]
  3. น้ำคั้นจากใบสดสามารถนำมาใช้ย้อมสีผมแทนใบเทียนกิ่งได้ แต่เวลาใช้ต้องระมัดระวังไม่ให้สีติดตามเสื้อผ้าและร่างกาย[1],[2] เด็ก ๆ จะใช้กลีบและผลของต้นเทียนเป็นของเล่น เพราะดอกมีกลีบต่าง ๆ ที่ใช้ย้อมหรือทาได้ดีและไม่มีอันตราย ซึ่งชาวมาเลเซียในอดีตจะใช้กลีบของต้นเทียนทาสีเล็บ[10] ดอกและใบสดใช้ย้อมเล็บ ทำให้เล็บเป็นสีส้ม[12]
  4. เมล็ดบีบให้น้ำมันใช้เป็นน้ำมันสำหรับหุงต้มหรือน้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียง[12]
  5. ต้นเทียนดอกหรือเทียนบ้านเป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ หรือตามสวนยาจีนทั่ว ๆ ไป[3],[9] อีกทั้งชื่อของต้นเทียนก็เป็นมงคลอีกด้วย เพราะเปรียบเสมือนสิ่งที่ให้แสงสว่างที่ชาวพุทธใช้ในการบูชาพระรัตนตรัย และใช้ในงานพิธีต่าง ๆ[10]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเทียนบ้าน

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3],[4],[9]
  • เมล็ดเทียนบ้านสามารถละลายกระดูกและฟัน ทำให้ฟันเสียได้ จึงควรระมัดระวังไม่ให้ถูกฟันในขณะใช้[6],[9]
  • รากของต้นเทียนบ้านหากรับประทานในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันนาน ๆ หรือรับประทานบ่อย ๆ จะเป็นอันตรายต่อม้ามและกระเพาะ[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เทียนดอก (Tian Dok)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 147.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนบ้าน Garden Balsam”.  หน้า 124.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เทียนดอก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 382-384.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “เทียนดอก”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 268.
  5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เทียนบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 มี.ค. 2014].
  6. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “เทียนบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.  [22 มี.ค. 2014].
  7. สมุนไพร, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.  “เทียนบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [22 มี.ค. 2014].
  8. ไทยโพสต์.  “เทียนบ้านรักษาเล็บขบ และวิธีรักษาเชื้อราที่เล็บอย่างได้ผล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [22 มี.ค. 2014].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “ดาวเรืองและเทียน”.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  อ้างอิงใน: หนังพจนานุกรมสมุนไพรจีน (ของประเทศจีน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [22 มี.ค. 2014].
  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 334 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “เทียนไม้ดอกงามที่ได้นามจากลำต้น”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [22 มี.ค. 2014].
  11. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “เทียนบ้าน”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [22 มี.ค. 2014].
  12. ไทยเกษตรศาสตร์.  “เทียนบ้านมีสรรพคุณดังนี้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [22 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Babij, Muhammad Al Shanfari, Indu Pillai, indianature s9, Nagraj Salian)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด