เทียนข้าวเปลือก สรรพคุณและประโยชน์เทียนข้าวเปลือก 26 ข้อ !

เทียนข้าวเปลือก

เทียนข้าวเปลือก ชื่อสามัญ Fennel, Sweet fennel[1],[2],[3]

เทียนข้าวเปลือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Foeniculum vulgare Mill.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anethum foeniculum L., Foeniculum dulce Mill., Foeniculum officinale All., Foeniculum capillaceum Gilib.) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรเทียนข้าวเปลือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนแกลบ, เทียนหวาน, เตียนแกบ, ยี่หร่าหวาน, ฮุ่ยเซียง เสี่ยวหุยเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[5]

ลักษณะของเทียนข้าวเปลือก

  • ต้นเทียนข้าวเปลือก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกกิ่งก้านบริเวณปลายยอด กิ่งและก้านมีสีเทาอมเขียว ผิวมีร่องตามยาว[1]

ต้นเทียนข้าวเปลือก

  • ใบเทียนข้าวเปลือก ใบมีลักษณะเป็นเส้นฝอย แตกเป็นแฉกคล้ายขนนกประมาณ 3-4 แฉก มีก้านใบยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร[1]

ใบเทียนข้าวเปลือก

  • ดอกเทียนข้าวเปลือก ออกดอกเป็นช่อคล้ายร่ม โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 5-30 ดอก ก้านช่อดอกจะแตกออกเป็นก้านประมาณ 5-20 ก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกเทียนข้าวเปลือกมีขนาดเล็ก สีเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปกลมรี ยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน[1]

ดอกเทียนข้าวเปลือก

รูปดอกเทียนข้าวเปลือก

  • ผลเทียนข้าวเปลือก ออกผลเป็นคู่บริเวณดอก ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานคล้ายข้าวเปลือก ด้านข้างของผลค่อนข้างแบน ผิวเรียบไม่มีขน เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรืออาจเว้าเล็กน้อย ด้านที่นูนจะมีสันตามแนวยาวของเมล็ด 3 เส้น และด้านแนวเชื่อมอีก 2 เส้น สันมีลักษณะยื่นนูนออกจากผิวอย่างเด่นชัด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 1.1-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.6-8.4 มิลลิเมตร ผลมักจะไม่ค่อยแตกเป็น 2 ซีก ทำให้ดูคล้ายข้าวเปลือก แต่บางครั้งก็แตกเป็น 2 ซีก ซึ่งภายในแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ทำให้เหมือนแกลม เมื่อนำมาบดเป็นผงสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเขียว โดยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสหวานและเผ็ดร้อน[3]

ผลเทียนข้าวเปลือก

เมล็ดเทียนข้าวเปลือก

รูปเทียนข้าวเปลือก

เทียนแกลบ

สรรพคุณของเทียนข้าวเปลือก

  1. เมล็ดมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ไต และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยากระจายความเย็นในไต ทำให้ไตมีความอุ่น (เมล็ด)[1]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)[1]
  3. ช่วยแก้กระษัย ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือกบดเป็นผง นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (เมล็ด)[1]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เมล็ด)[1],[2],[3]
  5. ช่วยแก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ (เมล็ด)[3]
  6. ช่วยแก้อาการคลั่ง นอนสะดุ้ง (เมล็ด)[3]
  7. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร กระตุ้นความอยากอาหาร (เมล็ด)[3]
  8. ช่วยแก้อาเจียน (เมล็ด)[1]
  9. ช่วยแก้อาการไอ (เมล็ด)[3]
  10. ช่วยในการขับเสมหะและละลายเสมหะ (เมล็ด)[1],[2],[3]
  1. เมล็ดใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือกและพริกไทยอย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วลิสงรับประทานก่อนอาหารครั้งละ 50 เม็ด (เมล็ด)[1],[2],[3]
  2. ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย (เมล็ด)[3]
  3. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ ปวดท้อง ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือก 8 กรัม, ข่าลิง 8 กรัม, โอวเอี๊ยะ 8 กรัม, หัวแห้วหมูคั่ว 10 กรัม นำทั้งหมดมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (เมล็ด)[1]
  4. ช่วยแก้ลำไส้อักเสบในเด็ก (เมล็ด)[3]
  5. ช่วยแก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ (เมล็ด)[3]
  6. ชวยแก้อาการปวดท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือนของสตรี (เมล็ด)[1]
  7. ช่วยขับปัสสาวะ (เมล็ด)[3]
  8. ใช้แก้ลมเย็น มือเท้ามีอาการเย็นหรือชา (เมล็ด)[1]
  9. ใช้แก้อาการปวดหลัง ปวดเอว เนื่องจากไตไม่มีกำลัง ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือกนำมาบดเป็นผง ใช้ตุ๋นกับไตหมูรับประทานเป็นยา (เมล็ด)[1]
  10. เทียนข้าวเปลือกจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเทียน” ซึ่งประกอบไปด้วยตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งห้า” (เทียนข้าวเปลือก เทียนขาว เทียนดำ เทียนแดง และเทียนตาตั๊กแตน), ตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งเจ็ด” (เพิ่มเทียนเยาวพาณีและเทียนสัตตบุษย์), ตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งเก้า” (เพิ่มเทียนตากบและเทียนเกล็ดหอย) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม[3]
  11. เทียนข้าวเปลือกปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) อันได้แก่ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อาเจียน ใจสั่น และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง[3]
  12. นอกจากนี้เทียนข้าวเปลือกยังปรากฏอยู่ในตำรับยา “น้ำมันมหาจักร” ซึ่งในคำอธิบายพระตำราพระโอสถพระนารายณ์ระบุไว้ว่า น้ำมันขนาดนี้จะประกอบไปด้วย เทียนทั้งห้า (รวมถึงเทียนข้าวเปลือก), การบูร, น้ำมันงา, ดีปลี และผิวมะกรูดสด ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม แก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคัน ใช้ทาแก้อาการเมื่อยขบ และใส่บาดแผลที่มีอาการปวด หรือเกิดจากเสี้ยนหนาม หอกดาบ ถ้าระวังไม่ให้แผลถูกน้ำก็จะไม่เป็นหนอง[3]

วิธีใช้สมุนไพรเทียนข้าวเปลือก

  • การใช้ตาม [1] ให้รับประทานครั้งละ 3-10 กรัม โดยนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรืออาจใช้ร่วมกับตัวยาชนิดอื่น ๆ ตามตำรับยาก็ได้[1]
  • การใช้ตาม [3] ยาผง ในขนาด 0.3-0.6 กรัม สารสกัดแอลกอฮอล์ (1:1 ในแอลกอฮอล์ 70%) ขนาด 0.8-2 มิลลิลิตร ใช้วันละ 3 ครั้ง หรือในรูปของยาชง (ยาผง 1-3 กรัมชงกับน้ำ 150 มล. สารสกัดของเหลว(1:1 กรัมต่อมิลลิลิตร) ขนาด 1-3 มล. ทิงเจอร์ (1:5 กรัมต่อมิลลิลิตร) ขนาด 5-15 มิลลิลิตร ใช้รับประทานระหว่างมื้ออาหารวันละ 2-3 ครั้ง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลาย ๆ สัปดาห์[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนข้าวเปลือก

  • สารที่พบได้ในเมล็ด ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยประมาณ 3-6% และในน้ำมันพบสาร Anethole, Anisealdehyde, Anisic acid, a-Phellandrene, a-Pinene, cis-Anethole, Dipentene, Estragole, Fenchone และพบน้ำมันอีก 18% โดยส่วนใหญ่เป็น Petroselinic acid, Stigmasterol, 7-Hydroxycoumarin เป็นต้น[1]
  • น้ำมันเทียนข้าวเปลือก มีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 1.5-8.6% ซึ่งในน้ำมันมี Trans-anethole อยู่ในปริมาณมาก นอกนั้นยังมี anisic acid, anisic, aldehyde, alpha-pinene, camphene, estragole (methyl chavicol), fenchone, limonene สารในกลุ่ม flavonoid เช่น quercetin-3-arabinoside, quercetin-3-glucurunide, isoquercitrin, rutin และมีสารในกลุ่มคูมาริน เช่น umbelliferone[3]
  • เทียนข้าวเปลือกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดสารก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้คลื่นเหียนอาเจียน เป็นยาระบาย แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง[3]
  • น้ำมันหอมระเหย สารสกัดน้ำ และสาร Diglucoside stilbene trimers และอนุพันธ์ Benzoisofuranone มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ[3]
  • น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดไม่เกาะตัวกัน[3]
  • สารสกัดด้วยน้ำมันมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูทดลองและมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ[3]
  • สาร Fenchone มีฤทธิ์ในการต่อต้านและยับยั้งเชื้อบางชนิดในลำไส้และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้[1]
  • ในกรณีที่มีอาการปวดท้อง พบว่าการให้น้ำมันหอมระเหยเทียนข้าวเปลือกในรูปอิมัลชัน จะช่วยทำให้ทารกมีอาการดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม และสูตรตำรับเทียนข้าวเปลือกจะช่วยทำให้ทารกมีอาการดีขึ้นด้วย[3]
  • เทียนข้าวเปลือกมีฤทธิ์ช่วยลดอาการท้องเสียได้[3]
  • น้ำมันจากเมล็ดเทียนข้าวเปลือกมีฤทธิ์เป็นยาขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวและคลายกล้ามเนื้อเรียบให้เป็นจังหวะได้ จึงสามารถช่วยขับลมในลำไส้และบรรเทาอาการปวดท้องได้[1]
  • สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ช่วยปกป้องกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองจากการทำลายของแอลกอฮอล์[3]
  • สารสกัดอะชิโตนมีฤทธิ์คล้ายกับเอสโตรเจนในหนู โดยมีฤทธิ์ในการขับน้ำนม ขับประจำเดือนของสตรี โดยมีสารสำคัญคือ Polymer ของ Anethole[3]
  • จากการศึกษาผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนในระดับปานกลางถึงรุนแรง เมื่อได้รับประทานน้ำมันหอมระเหยปริมาณ 25 หยด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่ายา Mefenamic acid แต่การได้รับสารสกัดเทียนข้าวเปลือกจะช่วยลดอาการปวดได้ดีเทียบเท่ากับยา Mefenamic acid[3]
  • น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับในหนูทดลอง[3]
  • น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Helicobacter pylori[3]
  • สารสกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ต้านอาการปวดและอักเสบ[3]
  • สารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหลอดลมโดยมีผลต่อ Potassium channel[3]
  • ในกรณีคนปกติ การสูดดมน้ำมันหอมระเหยเทียนข้าวเปลือกจะมีผลกระตุ้นระบบอัตโนมัติ Sympathetic[3]
  • สารสกัดด้วยเมทานอลมีผลต่อเอนไซม์ CYP 450 ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญของยาที่ใช้ร่วมกัน[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลับของสารสกัดผลเทียนข้าวเปลือกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 16 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 2,500 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และยังให้โดยวิธีการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบว่ามีอาการเป็นพิษ[3]
  • สาร Estragole ในเทียนข้าวเปลือก ก่อให้เกิดเนื้องอกในหนูทดลอง[3]
  • น้ำมันหอมระเหยของเทียนข้าวเปลือกมีผลทำให้เกิดประสาทหลอนได้[3]
  • น้ำมันหอมระเหยปริมาณ 0.93 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีพิษต่อเซลล์ทารกที่เลี้ยงในหลอดทดลอง[3]

ประโยชน์ของเทียนข้าวเปลือก

  1. เมล็ดสามารถนำมาใช้ใส่ในอาหารประเภทต้ม ตุ๋น เพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน หรือจะนำมาอบบดผสมในขนมอบอย่างขนมปัง เค้ก หรือบิสกิต เป็นต้น
  2. ชาวล้านนาจะใช้เมล็ดเทียนข้าวเปลือกเป็นส่วนผสมของพริก ลาบพริก น้ำพริกลาบ ส่วนยอดอ่อนของต้นที่เรียกว่า “ผักชีลาว” จะใช้เป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาวเนื้อสัตว์ต่าง ๆ หรือยำต่าง ๆ[5] (ส่วนนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะใช้ประโยชน์ของต้นเทียนแกลบ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Foeniculum vulgare Mill.) ที่กล่าวถึงในบทความนี้หรือไม่ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ของต้นผักชีลาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Anethum graveolens Linn.) ก็ได้ เนื่องจากทั้งสองชนิดมีลักษณะของต้นและดอกที่คล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งยังมีชื่อท้องถิ่นเหมือนกันอีกด้วยว่า “เทียนข้าวเปลือก“)
  3. ในต่างประเทศจะใช้หน่อและใบของต้นเทียนข้าวเปลือกมาใช้ในการประกอบอาการ เช่น ผัด ต้ม ตุ๋น ย่าง หรือรับประทานแบบสด ๆ[6]
  4. มีการใช้เทียนข้าวเปลือก (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด) มาใช้แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อ ซอส กลิ่นซุป ขนมหวาน ขนมปัง เหล้า ผักดอง และมีการใช้น้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือกชนิดหวานในการแต่งกลิ่นยาถ่าย (ช่วยบรรเทาอาการไซ้ท้องได้ด้วย) ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือกชนิดจมจะนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ครีม เครื่องหอม สบู่ สารชะล้าง และยาทาภายนอก[4],[5]

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดเทียนข้าวเปลือก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 345 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 52.29 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 39.8 กรัม
  • ไขมัน 14.87 กรัม
  • โปรตีน 15.80 กรัม
  • น้ำ 8.81 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.408 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.353 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 6.050 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.470 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 21.0 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 1,196 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 18.54 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 385 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 487 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 1,694 มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม 88 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 3.70 มิลลิกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คุณค่าทางโภชนาการของหน่อต้นเทียนข้าวเปลือกดิบ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 31 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 7.29 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 3.1 กรัม
  • ไขมัน 0.20 กรัม
  • โปรตีน 1.24 กรัม
  • น้ำ 90.21 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.01 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินบี 2 0.032 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 3 0.64 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 5 0.232 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 6 0.047 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 9 27 ไมโครกรัม 7%
  • วิตามินซี 12 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุแคลเซียม 49 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุเหล็ก 0.73 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมกนีเซียม 17 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุแมงกานีส 0.191 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุโพแทสเซียม 414 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุสังกะสี 0.20 มิลลิกรัม 2%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

หน่อเทียนข้าวเปลือก

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเทียนข้าวเปลือก

  • ผู้ที่มีพลังหย่อน มีไข้สูงหรือพิษไข้ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
  • ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์[3]
  • ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือกในเด็กหรือทารก เพราะจะทำให้หลอดลมหดเกร็ง หายใจไม่ได้[3]
  • อาจเกิดอาการแพ้ผิวหนังหรือที่ระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “เทียนข้าวเปลือก”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 266.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนข้าวเปลือก Fennel”.  หน้า 214.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เทียนข้าวเปลือก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [20 มี.ค. 2014].
  4. ไทยเกษตรศาสตร์.  “เทียนข้าวเปลือก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [20 มี.ค. 2014].
  5. อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “เทียนข้าวเปลือก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [20 มี.ค. 2014].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Fennel”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Fennel. [20 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kenneth A. Wilson, Cozy Memories, naturgucker.de, Hamood Ahmed Siddiqui, Monceau, Miltos Gikas, Miguel Ángel García, shadowshador, Charlie Charlton, Ñ ù ï : (•ิ_•ิ) !)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด