เกลื้อน (Tinea versicolor) สาเหตุ, อาการ, การรักษา ฯลฯ

เกลื้อน

เกลื้อน (Tinea versicolor, Pityriasis versicolor) เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อ Malassezia spp. ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นตามผิวหนังในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก โดยเฉพาะในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแดด ทำงานแบกหาม เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อเป็นเวลานาน

  • ในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นจะพบโรคเกลื้อนได้มากกว่าในประเทศที่มีภูมิอากาศเย็น เช่น ในประเทศซามัวจะพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกลื้อนได้มากถึง 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสวีเดนจะพบได้เพียง 1% เท่านั้น แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยในแผนกผิวหนังของโรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ในอันดับต้น ๆ
  • มักพบโรคนี้ในช่วงฤดูร้อนมากกว่าในฤดูหนาว
  • ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ส่วนในเด็กและผู้สูงอายุจะพบได้น้อยมาก

สาเหตุของเกลื้อน

  • สาเหตุ : เกลื้อนเกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า “มาลาสซีเซีย” (Malassezia spp.)* (แต่เดิมมีชื่อว่า พิไทโรสปอรัม (Pityrosporum spp.)) ซึ่งปกติจะเป็นเชื้อราที่มีอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของคนเราเป็นปกติอยู่แล้ว โดยไม่ทำให้เกิดโรคอะไร ซึ่งเชื้อนี้จะมีรูปร่างเป็นแบบกลม ๆ ที่เรียกว่ายีสต์ (Yeast) แต่เมื่อมีปัจจัยบางอย่างเกิดขึ้น ก็จะทำให้เชื้อเหล่านี้เปลี่ยนรูปร่างจากแบบกลม ๆ กลายเป็นเส้นที่เรียกว่าไฮฟี (Hyphae) ซึ่งรูปร่างของเชื้อราแบบนี้นี่เองที่เป็นทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนังขึ้นมา
  • การติดต่อ : โรคนี้ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ยากมาก เพราะการเกิดโรคนี้มักจะขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายที่เสริมให้เชื้อราที่มีอยู่ประจำถิ่น (Normal flora) บนผิวหนังเจริญงอกงามมากกว่าการติดโรคจากการสัมผัสกับผู้ที่เป็นเกลื้อน (สรุป การสัมผัสรอยโรคไม่ทำให้ติดโรคแต่อย่างใด)
  • ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดเกลื้อน ในปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยที่แน่ชัดที่ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่างและก่อให้เกิดโรคเกลื้อนขึ้นมา แต่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น
    • อายุ พบว่าในช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นจะพบโรคนี้ได้มากกว่าวัยอื่น เพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมากและมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีอัตราการหลุดลอกออกของผิวหนังช้ากว่าปกติหรือผู้ที่มีผิวมันจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
    • สภาวะทุพโภชนาการ หรือการขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งการขาดอาหารจะทำให้กลไกด้านภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์
    • ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่ที่ร้อนอบอ้าว เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแดด (กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา), ทำงานแบกหาม, ทำงานในโรงงาน, ผู้ที่ต้องแต่งเครื่องแบบร้อนอบ (เช่น ทหาร ตำรวจ), เป็นนักกีฬา เป็นต้น
    • การใช้ยาบางชนิด : เช่น ใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดกว้างเป็นเวลานาน ๆ หรือได้รับสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
    • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์
    • ภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะความเครียด, ภาวะโลหิตจาง, วัณโรค, การตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • มีเชื้อแล้วต้องเป็นโรคเกลื้อนเสมอไปหรือไม่ ? : ในคนปกติถึงแม้จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่บนร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่สำหรับบางคนที่มีเหงื่อออกมาก เชื้อราชนิดนี้ก็จะเจริญงอกงามจนทำให้กลายเป็นเกลื้อนได้

หมายเหตุ : เชื้อ Malassezia spp. ที่พบว่าทำให้เกิดโรคเกลื้อนได้มีอยู่ 11 ชนิด (Species) แต่ชนิดที่พบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกลื้อนได้บ่อย คือ Malassezia globosa รองลงมาคือ Malassezia sympodialis และ Malassezia furfur

อาการของเกลื้อน

  • บริเวณที่ขึ้น : มีผื่นขึ้นกระจายอยู่ในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้าอก หลัง ไหล่ ซอกคอ ลำคอ ต้นแขน หน้าท้อง ใบหน้า เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่มักจะพบขึ้นบริเวณแผ่นหลังและหน้าอก มีบ้างที่พบขึ้นบริเวณลำคอ หน้าท้อง และต้นแขน แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบขึ้นที่บริเวณใบหน้า (เกลื้อนเป็นโรคเชื้อราที่เกิดขึ้นได้เฉพาะกับผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น)
  • รูปร่าง ขนาด และจำนวน : ผื่นจะมีลักษณะขึ้นเป็นดวงกลม ๆ หรือเป็นรูปวงรี ขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่า จำนวนหลายดวง ซึ่งตัวผื่นมักจะขึ้นแยกจากกันเป็นดวง ๆ และอาจเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ได้
  • สี : ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นบนผิวหนังที่มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีตั้งแต่สีขาว สีชมพู สีน้ำตาลจาง ๆ ไปจนถึงสีน้ำตาลแดง จึงมักทำให้ผิวหนังมีสีซีดจางกว่าผิวหนังปกติข้างเคียง (Hypopigmentation) หรือมีสีเข้มกว่าสีผิวหนังปกติข้างเคียง (Hyperpigmentation) ก็ได้ แต่ในคนไทยมักจะพบว่าเป็นแบบสีซีดจางมากกว่า (ผื่นมีสีขาวเกิดจากเชื้อราสร้างเอนไซม์ที่ไปขัดขวางการสร้างเม็ดสีของเซลล์ของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ส่วนผื่นที่มีสีอื่น ๆ นั้น จะเกิดจากเชื้อราไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีและผลิตเม็ดสีชนิดต่าง ๆ มากขึ้น)
  • ลักษณะ : ผื่นที่ขึ้นเป็นเกลื้อนจะมีลักษณะแบนราบและมีขอบเขตชัดเจน ผิวสัมผัสของผื่นจะไม่เรียบ (มีลักษณะย่นเล็กน้อย) และมีเกล็ดบางเลื่อมสีขาว น้ำตาล หรือแดงเรื่อ ๆ คลุมอยู่บนผิว ในระยะที่เป็นใหม่ ๆ เมื่อเอาเล็บขูดที่ผื่นเหล่านี้จะร่วนออกเป็นขุยขาว ๆ
  • อาการอื่น ๆ : ผู้ป่วยจะไม่มีอาการคัน ยกเว้นในบางครั้งที่มีเหงื่อออกมาก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคันได้เล็กน้อยพอให้รำคาญ

การวินิจฉัยโรคเกลื้อน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยดูจากอาการของผู้ป่วยจากลักษณะของผื่นและตำแหน่งที่ผื่นขึ้นเป็นหลัก และผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ในกรณีที่ผื่นมีลักษณะไม่ชัดเจนอาจต้องใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ โดยการขูดเอาผิวหนังตรงบริเวณผื่นนำมาวางบนแผ่นสไลด์ แล้วหยดด้วยน้ำยาเคมีที่มีชื่อโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 30% และนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกลื้อนก็จะพบเชื้อราที่มีรูปร่างแบบเส้น (Hyphae) ปนกับรูปร่างแบบกลม ๆ (Yeast) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า สปาเกตตี กับ มีตบอล หรือเบคอนกับไข่ดาว และถ้านำไปย้อมด้วยสีพิเศษชนิดต่าง ๆ ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ยารักษากลากเกลื้อนที่ดีที่สุด

ปกติแล้วผิวหนังของคนเราจะแบ่งออกเป็นชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นผิวหนังแท้ ในส่วนของชั้นผิวหนังกำพร้าจะแบ่งย่อยออกไปอีก 4-5 ชั้น ในการวินิจฉัยเมื่อตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณที่เป็นผื่นไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะพบเชื้อรารูปร่างแบบเส้นและแบบกลมอยู่เฉพาะผิวหนังชั้นบนสุด (ชั้นขี้ไคล) ของชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น เชื้อราจะไม่ลุกลามลงไปยังชั้นผิวหนังส่วนล่าง ๆ ซึ่งจะแตกต่างกับเชื้อราชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบว่าชั้นผิวหนังกำพร้าจะมีการหนาตัวขึ้นและมีการสร้างเคราตินมากขึ้น และพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาอยู่รอบหลอดเลือดที่อยู่ในชั้นผิวหนังแท้

ควรแยกโรคนี้ออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคด่างขาว กลาก กลากน้ำนม เพราะถ้าเป็นโรคเหล่านี้และทาด้วยยารักษาเกลื้อนมักจะไม่ได้ผล (กลากจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดง มีขอบเขตชัดเจน ขอบภายนอกจะมีสีเข้มกว่าด้านใน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ต่างจากโรคเกลื้อน ส่วนกลากน้ำนมนั้นจะไม่ได้เกิดจากเชื้อรา แต่เป็นโรคที่เซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าลดลง จึงทำให้เกิดเป็นผื่นแบนราบสีออกขาวดูคล้ายโรคเกลื้อน แต่กลากน้ำนมมักจะพบขึ้นบริเวณใบหน้าและมีขอบเขตของผื่นไม่ชัดเจนเหมือนโรคเกลื้อน)

วิธีรักษาเกลื้อน

  • ผู้ที่ยังมีผื่นไม่มาก ให้ใช้ยาแบบทาหรือครีมรักษาโรคเชื้อรา (Antifungal cream) โดยให้ทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ (วิธีนี้จะใช้เวลาในการรักษานานกว่ายาแบบกิน)
  • ผู้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้แชมพูสระผมเซลซัน (ในแชมพูจะมีตัวยาซีลีเนียมซัลไฟด์) โดยให้อาบน้ำและเช็ดตัวให้แห้งก่อน จากนั้นให้ใช้สำลีชุบยาแล้วทาลงบริเวณที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที แล้วอาบน้ำใหม่อีกรอบเพื่อล้างยาออก ให้ทำเช่นนี้วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ (การใช้ยานี้ควรระวังเรื่องการแพ้ ถ้าใช้แล้วมีอาการบวม แดง คัน หรือแสบร้อนคล้ายน้ำร้อนลวก ควรเลิกใช้ในทันที) หรืออาจใช้แชมพูคีโตโคนาโซล โดยให้ทาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วล้างออก โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
  • ผู้ที่มีผื่นมากและเป็นบริเวณกว้าง หรือเป็นเกลื้อนแบบเรื้อรัง แพทย์จะให้กินยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เพราะการใช้ยาในรูปแบบทาจะไม่สะดวก และระยะเวลาที่ใช้รักษาจะนานกว่ายาแบบกิน อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ก็ย่อมมีมากกว่า (แต่ก็พบได้น้อย) และต้องใช้ยาเหล่านี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)รักษาเกลื้อน เป็นยารับประทานชนิดหลัก ในผู้ใหญ่ให้ใช้ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนในเด็กให้ใช้ในขนาด 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม) ติดต่อกัน 10-14 วัน (ยานี้อาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบได้ จึงไม่ควรใช้นานเกิน 2 สัปดาห์ ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ของยาชนิดนี้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น ส่วนอาการแพ้ยาอาจพบได้บ้าง แต่พบค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ถ้ากินในขนาดที่สูงกว่าปกติ หรือเกินวันละ 400 มิลลิกรัม อาจทำให้เกิดอาการนมโตในผู้ชายได้ แต่เมื่อหยุดใช้ยาอาการนี้จะหายได้เอง)
    • ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 7 วัน (ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ของยาชนิดนี้ คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดิน และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน นอกจากนี้ยังอาจทำให้ตับอักเสบ เอนไซม์ตับในเลือดสูง แต่เมื่อหยุดใช้ยาก็จะสามารถกลับเป็นปกติได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับจึงไม่ควรใช้ยานี้)
  • การใช้สมุนไพรรักษาโรคเกลื้อน จะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีผื่นไม่มากนัก ซึ่งก็มีสมุนไพรอยู่เป็นร้อยชนิดที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาเกลื้อน เช่น
    • กุ่มบก (Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs) ใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
    • ข่า (Alpinia galanga (L.) Willd. ) ใช้เหง้าแก่ขนาดเท่าหัวแม่มือ นำมาตำให้ละเอียดเติมเหล้าโรงผสมลงไปเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย
    • ชุมเห็ดเทศ (Senna alata (L.) Roxb.) ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดหรือขยี้ใช้ถูทาบริเวณที่เป็นนาน ๆ และบ่อย ๆ
    • มะคำดีควาย (Sapindus trifoliatus L.) ให้ใช้ผลนำมาทุบให้แตก แช่น้ำหรือต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน
    • ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz) ใช้ใบสดประมาณ 5-8 ใบ นำมาตำให้ละเอียดเติมเหล้าโรงผสมลงไปเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน
    • อัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.) ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็นเกลื้อน
    • กระเทียม (Allium sativum Linn.) ไม่แนะนำให้ใช้ครับ เพราะอาจทำให้ผิวหนังไหม้และเกลื้อนไม่หาย ส่วนรอยด่างขาวซึ่งเกิดจากเชื้อเกลื้อนอาจติดอยู่นานถึงแม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม
  • การดูแลตนเองและป้องกันโรคเกลื้อนไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    1. ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้น และหมั่นล้างมือให้สะอาด อย่าแกะหรือเกาเพราะจะทำให้เชื้อลุกลามได้
    2. ควรรักษาความสะอาดของร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เหงื่อไคลหมักหมม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ถ้ามีเหงื่อออกมากก็ให้อาบน้ำฟอกสบู่บ่อย ๆ และเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณซอก เช่น รักแร้ ขาหนีบ ง่ามนิ้ว เป็นต้น
    3. ไม่ควรใส่เสื้อซ้ำกันโดยที่ยังไม่ได้ซัก เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกมาผึ่งแดดแรง ๆ ให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง (เมื่อหายเป็นเกลื้อนแล้ว ควรนำเสื้อผ้าที่เคยใส่ไปต้มหรือรัดด้วยความร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อจะได้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก)
    4. ไม่สวมเสื้อผ้าที่หนาและคับ แต่ควรเป็นเสื้อผ้าที่มีเนื้อบางและเย็นแบบหลวม ๆ แขนสั้น หรือที่ไม่รัดจนอึดอัด และไม่ใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อตลอดทั้งวัน
    5. ควรอยู่ในที่ที่เย็นสบายมีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อับชื้น ถ้าอยู่ที่บ้านก็ให้เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ เปิดม่านออกให้แสงแดดเข้าบ้างในตอนเช้า
    6. หลังการทำงานหรือเล่นกีฬาที่ทำให้มีเหงื่อออกมากก็ไม่ควรปล่อยให้เหงื่อหมักหมมเป็นเวลานาน (ผู้ที่ทำงานในที่โล่งแจ้งเมื่อร้อนและมีเหงื่อออกมาก เมื่อมีโอกาสในช่วงพักเที่ยงควรถอดเสื้อออกผึ่งเสื้อให้แห้ง แล้วจึงค่อยใส่ซ้ำในช่วงบ่าย แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเสื้ออีกตัวในภาคบ่าย อย่าใส่เสื้อที่หมักเหงื่อและเปียกตลอดทั้งวัน)
    7. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน
    8. ในเด็กเล็กที่เป็นเกลื้อน ผู้ปกครองไม่ควรรักษาเอง แต่ควรพาไปพบแพทย์ เพราะการเลือกชนิดยาและปริมาณยาจะแตกต่างกับที่ใช้ในผู้ใหญ่ และในเด็กเล็กมักจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูงกว่าถ้าใช้ในขนาดที่ไม่เหมาะสม
    9. ผู้ป่วยที่เคยเป็นเกลื้อน แม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะเชื้อราที่เป็นสาเหตุเป็นเชื้อราที่อยู่ในร่างกายของคนเราเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว ผู้ป่วยจึงมักจะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยตัวเองและสามารถซื้อยาจากร้านขายยามาใช้เองได้ แต่ต้องให้เภสัชกรอธิบายการใช้ยาให้ฟังอย่างละเอียด เพราะยาแต่ละชนิดจะมีวิธีการใช้ ระยะเวลาการใช้ และมีผลข้างเคียงในการใช้ที่แตกต่างกัน และหากเคยแพ้ยาอะไรมาก่อนก็ต้องแจ้งให้เภสัชกรทราบด้วย
    10. ในกรณีที่พบผื่นตามลักษณะข้างต้นและไม่แน่ใจว่าเป็นโรคเกลื้อนหรือไม่ หรือในรายที่เป็นเกลื้อนและได้รักษาด้วยการใช้ยารักษาเกลื้อนด้วยตนเองมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ผื่นยังไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่พบผื่นขึ้นในบริเวณอื่นที่แปลกออกไป เช่น บริเวณใบหน้า มือ เท้า ซึ่งอาจจะเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่เกลื้อนได้ เช่น กลาก กลากน้ำนม โรคด่างขาว ที่จะมีวิธีรักษาและการใช้ยารักษาที่แตกต่างกัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  • การป้องกันเกลื้อนกลับมาเป็นซ้ำ ในบางรายเมื่อรักษาแล้วอาการอาจกำเริบขึ้นมาได้อีก ซึ่งในกรณีนี้อาจป้องกันได้ด้วยการทาครีมรักษาโรคเชื้อราทุกเดือน เดือนละ 2 วันติดกัน โดยให้ทาวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็นหลังอาบน้ำ หรือให้ทาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 2-3 เดือน หรือให้ทาแชมพูเซลซันเดือนละ 1 ครั้ง หรือแชมพูคีโตโคนาโซล 1 ครั้ง ทุก ๆ 2 สัปดาห์ หรือให้กินยาคีโตโคนาโซลหรือไอทราโคนาโซล ขนาด 400 มิลลิกรัม เดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 6 เดือน (ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ) แต่ถ้ายังเป็นแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาจมีภาวะบางอย่างที่สนับสนุนให้เกิดโรคได้ เช่น เอดส์ วัณโรค ภาวะโลหิตจาง ขาดอาหาร การตั้งครรภ์ การได้รับสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น (โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์ที่มักพบเป็นเกลื้อนเรื้อรัง)

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์เพื่อทารักษาเกลื้อน เพราะอาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่ลุกลามได้ ถ้าจะซื้อยามาใช้เอง จะต้องระวังอย่าซื้อยาที่เข้าสเตียรอยด์มาใช้ และอย่าใช้ยาน้ำที่ทาแล้วแสบ ๆ หรือยาที่มีฤทธิ์ลอกผิว หรือขี้ผึ้งเบอร์ต่าง ๆ ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน เพราะจะไม่ค่อยได้ผล ซึ่งในบางรายอาจทำให้ผิวหนังไหม้และเกิดการอักเสบได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคุณควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาทุกชนิด

โดยทั่วไปแล้ว เกลื้อนเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ไม่มีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ไม่ทำให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้ยารักษาเลยก็ตาม เพียงแต่จะทำให้ผิวหนังในบริเวณที่เป็นนั้นเกิดรอยด่างเป็นดวง ๆ แลดูไม่สวยงามและอาจก่อให้เกิดความรำคาญได้ (อาการคันเมื่อมีเหงื่อออก) และมักเป็นแบบเรื้อรัง แม้ว่าจะรักษาหายแล้วแต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ผื่นก็จะค่อย ๆ หายไปเองและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยผิวหนังจะเริ่มกลับมาเป็นสีปกติเหมือนเดิมภายในระยะเวลา 1-2 เดือน หรืออาจนานกว่านั้นเป็น 2-4 เดือน โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นแต่อย่างใด (การตากแดดบ่อย ๆ จะช่วยเร่งผิวที่เป็นรอยด่างให้กลับมาเป็นสีเดิมได้เร็วขึ้น)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 983-985.
  2. หาหมอดอทคอม.  “เกลื้อน (Pityriasis versicolor)”.  (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [31 มี.ค. 2016].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 128 คอลัมน์ : โรคน่ารู้.  (พญ.ปรียา กุลละวณิชย์).  “กลากเกลื้อน : โรคยอดนิยมประจำเมืองร้อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [31 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.regionalderm.com, www.flickr.com (by Sarahrosenau), redbook.solutions.aap.org, blog.drseymourweaver.com, en.wikipedia.org (by Grook Da Oger), www.pcds.org.uk, www.dermquest.com, www.onlinedermclinic.com, www.familysavvy.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด