อาหารไม่ย่อย อาการ สาเหตุ และวิธีแก้อาการอาหารไม่ย่อย 7 วิธี !!

อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย หรือ ธาตุพิการ (ภาษาอังกฤษ : Indigestion หรือ Dyspepsia) หมายถึง อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น ส่วนสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลากหลาย และมีตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงโรคที่รุนแรง และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้ บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่พบได้บ่อยประมาณ 25-40% ของประชากรทั้งหมดต่อปี และพบได้เกือบทุกคนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะพบได้มากกว่าในเด็ก ส่วนโอกาสการเกิดอาการมีใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

อาการอาหารไม่ย่อยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ประมาณ 7% ของผู้ป่วยทั้งหมด และคิดเป็น 50% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการของระบบทางเดินอาหารในเวชปฏิบัติทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งมักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง จนส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

สาเหตุอาหารไม่ย่อย

เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยเป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งมิใช่โรคที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยประมาณ 40% ของผู้ป่วยจะสามารถตรวจพบสาเหตุของอาการได้ แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 60% จะหาสาเหตุของอาการไม่พบ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล) ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ อาหาร หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

  1. อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล (Non-ulcer dyspepsia หรือ Functional dyspepsia) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (ไม่ว่าจะตรวจด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้) เพียงแต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เช่น
    • การรับประทานอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ ซึ่งส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้
    • การรับประทานอาหารเร็ว ซึ่งการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดจะทำให้อาหารย่อยได้ยากขึ้น
    • อาหารบางอย่าง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันมาก (เช่น อาหารทอด ผัด ที่มีน้ำมันมาก ๆ), อาหารรสจัด (เผ็ดจัดและเปรี้ยวจัด), อาหารที่มีกากใยสูงมาก, อาหารย่อยยาก, อาหารหมักดอง, อาหารที่สร้างแก๊สในลำไส้, อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นต้น
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
    • การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
    • การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด รวมถึงช็อกโกแลต เพราะสารกาเฟอีนจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น (จากการศึกษาพบว่า ชนิดของอาหารที่มักทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่ น้ำอัดลม อาหารทอด เนื้อแดง พาสต้า และกาแฟ เป็นต้น)
    • ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล ซึ่งจะส่งผลทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และ/หรือมีการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้อย่างผิดปกติ
    • สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนหรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
  2. โรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) ซึ่งเป็นแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Stomach) ที่เรียกว่า “โรคแผลกระเพาะอาหาร” (Gastric ulcer) หรือเป็นแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (Doudenum) ซึ่งเรียกว่า “โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น” (Duodenal ulcer) โดยเป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 15-25%
  3. โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 5-15%
  4. กระเพาะอักเสบ/กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
  5. กระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอยู่นาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  6. โรคของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
  7. โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นกรณีที่พบได้น้อยกว่า 2% ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป (ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection), การมีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือเป็นผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีความชุกของมะเร็งกระเพาะอาหารสูง)
  8. โรคอื่น ๆ เช่น โรคกังวลทั่วไป, โรคซึมเศร้า, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคขาดน้ำย่อยบางชนิด (เช่น น้ำย่อยน้ำนม), โรคลำไส้แปรปรวน, โรคการดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption syndrome), โรคลำไส้ขาดเลือด, ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (ทั้งต่อมไทรอยด์เป็นพิษและต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย), ต่อมหมวกไตทำงานน้อย, Collagen vascular disease, การมีพยาธิในลำไส้ เป็นต้น
  9. เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์ เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีน เตตราไซคลีน อิริโทรมัยซิน เป็นต้น

อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

อาการอาหารไม่ย่อย

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ในลักษณะจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย โดยอาจมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างร่วมกัน และอาจเกิดขึ้นในระหว่างรับประทานอาหารหรือหลังการรับประทานอาหารก็ได้ (บางรายอาจมีประวัติการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หรือมีความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ) โดยอาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือขึ้นไป และจะไม่มีอาการปวดท้องในระดับใต้สะดือและไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย

  • ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอเปรี้ยวหรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ และจะเป็นมากเวลานอนราบหรือก้มตัว
  • ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก มักจะมีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือหิวก่อนเวลา หรือปวดท้องในตอนดึก และอาการจะทุเลาเมื่อกินยาลดกรด ดื่มน้ำ หรือกินอาหาร และมักจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
  • ในผู้ป่วยที่เป็นโรคของตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน และมะเร็งในช่องท้อง ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการอาหารไม่ย่อยหรือแผลเพ็ปติก แต่ในระยะต่อมามักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ดีซ่าน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย (ถ้าเป็นโรคตับหรือถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม แต่ถ้าเป็นมะเร็งอาจคลำได้ตับโตหรือมีก้อนในท้องหรือมีภาวะซีด)
  • ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการจุกแน่นยอดอกและปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจมีประวัติการสูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

อาการอาหารไม่ย่อย
IMAGE SOURCE : expertbeacon.com

ความรุนแรงของอาการอาหารไม่ย่อยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น จะมีอาการรุนแรงมากเมื่อเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือเป็นกลุ่มอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมและรักษาอาการได้ แต่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังจนอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตได้ถ้าไม่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (เช่น อาจต้องทำให้หยุดงาน หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง) เพราะจากการศึกษาในกลุ่มประชากรในเวชปฏิบัติปฐมภูมิของประเทศสวีเดนพบว่า จากการติดตามผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจำนวน 288 คนไป 1 ปี พบว่า 61% ของผู้ป่วยยังคงมีอาการของอาหารไม่ย่อยและยังต้องรับประทานยาอยู่ ในขณะที่ผลการศึกษาอื่น ๆ ก็พบผลที่ใกล้เคียงกันคือประมาณ 50-80% แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการประมาณตัวเลขที่แน่นอน

สำหรับผลข้างเคียงจากอาการอาหารไม่ย่อย หลัก ๆ คืออาการไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ และอาการยังขึ้นอยู่กับสาเหตุที่กล่าวไป เช่น ถ้าเกิดจากโรคแผลเพ็ปติกหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกจากแผลเพ็ปติกหรือจากแผลมะเร็งร่วมด้วย

กลไกการเกิดอาการอาหารไม่ย่อย

  • Delay gastric emptying time คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการบีบตัวของกระเพาะอาหารเพื่อดันอาหารลงสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ
  • Impaired gastric accommodation คือ การคลายตัวของกระเพาะอาหารส่วนต้นหลังการรับประทานทำได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้แรงดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น และไปกระตุ้นตัวรับความรู้สึกบริเวณผนังกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการขึ้นมา
  • Hypersensitivity to gastric distention คือ การรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารที่ไวกว่าคนปกติทั่วไป

การวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อย

แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุการเกิดได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการรับประทานยา การตรวจร่างกาย และจากการที่ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดกรด (Antacids) หรือยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลังจากนั้นจะดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะวินิจฉัยได้ว่า เป็นอาการอาหารไม่ย่อย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้นก็อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก, การตรวจเลือดดูน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน, การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ (Upper endoscopy) ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, การกลืนแป้งแบเรียมตรวจกระเพาะอาหาร (Barium UGI study) เมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร, การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในช่องท้องส่วนต้น (Ultrasound Upper Abdomen) ที่อาจพบก้อนในตับ เป็นต้น

แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นเพียงอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล เพราะในผู้ที่เป็นอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลแพทย์มักจะตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ นอกจากอาจมีอาการท้องอืด เคาะท้องเกิดเสียงโปร่ง ๆ ของลมในท้อง

ก่อนจะวินิจฉัยอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ว่าเป็นเพียงอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล หรือแผลเพ็ปติก หรือโรคกระเพาะอาหาร แพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพราะมีโรคอีกหลายโรคที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นโรคกรดไหลย้อน โรคหัวใจขาดเลือด นิ่วน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ หรือมะเร็งในช่องท้องอื่น ๆ

วิธีรักษาอาหารไม่ย่อย

แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ การรักษาไปตามสาเหตุ (ในรายที่ทราบสาเหตุ) เช่น การรักษาโรคแผลเพ็ปติก การปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่) แนวทางการรักษาหลัก ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการให้ยาต่าง ๆ เช่น ยาลดกรด (Antacids), ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้, ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) และยาขับลม (Antiflatulent) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  1. ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือมีอาการจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติรับประทานยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์จะให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ถ้ารู้สึกว่าอาการทุเลาลงหลังรับประทานยาได้ 2-3 ครั้ง ให้รับประทานยาติดต่อกันนานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้
    • ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม (การวินิจฉัยอาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์กระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้งแบเรียม (Barium GI study) ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscopy) เป็นต้น แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ) ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
      • รับประทานยาลดกรดและยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 มา 2-3 ครั้งแล้วยังไม่รู้สึกทุเลาลงแม้แต่น้อย หรือมีอาการทุเลาลงแล้วแต่รับประทานยาจนครบ 2 สัปดาห์แล้วยังรู้สึกไม่หายดี หรือมีอาการกำเริบซ้ำอีกหลังจากหยุดรับประทานยาจนครบ 8 สัปดาห์แล้ว
      • มีอาการเบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลดลง ซีด ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น
      • สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือนิ่วน้ำดี
      • พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

        ยาแก้อาหารไม่ย่อย
        IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

  2. ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อหรือยาขับลม (Antiflatulent) หรือยาลดกรดที่มีไซเมทิโคนผสมอยู่ โดยในเด็กเล็กให้รับประทานยาไซเมทิโคน ½-1 หยด (0.3-0.6 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำ 2-4 ออนซ์ (¼-½ ถ้วย) หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง ถ้ายังไม่ได้ผลหรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือดอมเพอริโดน (Domperidone) ก่อนอาหาร 3 มื้อ
    • ถ้ามีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ ให้รับประทานยาไดอะซีแพม (Diazepam)
    • ถ้ามีอาการดีขึ้น ให้รับประทานยาต่อไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ
  3. มีหลักฐานชี้ว่า การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy – CBT) สามารถช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพเพียงพอชัดเจนสำหรับการลดอาการอาหารไม่ย่อยในผู้ป่วยทุกราย แต่อาจใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นต้น
  4. การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    • งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอนติสปาสโมดิก ทีโอฟิลลีน เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ย่อยได้ยาก (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล) เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้อาการเลวลง
    • ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ ส่วนอาหารมื้อเย็นให้รับประทานก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
    • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร และอย่ารับประทานอาหารแต่ละมื้อจนอิ่มมากเกินไป
    • หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ อย่าล้มตัวลงนอนทันทีหรืออยู่ในท่าก้มงอตัว แต่ควรรออย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กระโปรง หรือคาดเข็มขัดที่รัดแน่นจนเกินไป
    • ควรเคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังการรับประทานอาหารเพื่อช่วยในการย่อยและการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เพราะจะช่วยขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วและไม่คั่งค้างจนก่อให้เกิดอาการได้
    • ถ้ามีความเครียดควรออกกำลังกายเป็นประจำหรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำงานอดิเรกหาความบันเทิงใจ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูภาพยนตร์ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา ตามหลักศาสนาที่นับถือ
    • ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 20-40 นาที (แต่ไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังรับประทานอาหาร)
    • ถ้ามีน้ำหนักตัวมากควรหาทางลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างถูกวิธี
    • อาจปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเกี่ยวกับการซื้อยาลดกรด (Antacids) หรือยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) มารับประทาน
    • ถ้าภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุของอาการ แต่ถ้าอาการต่าง ๆ เลวลง ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ และควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่ออาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย
    • นอกจากนั้น คือ การสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับประเภทและปริมาณของอาหาร แล้วหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารเหล่านั้นลงและค่อย ๆ ปรับตัวไปเรื่อย ๆ

อาหารไม่ย่อยทําไงดี
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

วิธีป้องกันอาหารไม่ย่อย

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยควรป้องกันที่สาเหตุและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารดังที่กล่าวในหัวข้อ “การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 530-533.
  2. ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.  “ดีสเปปเซีย อาการธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในเวชปฏิบัติปฐมภูมิ”.  (อ.พญ.กนกพร สุขโต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th.  [08 ก.พ. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [09 ก.พ. 2017].
  4. Siamhealth.  “อาหารไม่ย่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [10 ก.พ. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด