45 สรรพคุณและประโยชน์ของอัลฟัลฟ่า ! (อัลฟาฟ่า)

อัลฟัลฟ่า

ถั่วอัลฟัลฟ่า (อัลฟัลฟาหญ้าอัลฟัลฟ่า) ชื่อสามัญ Alfalfa, Lucerne (ลีวเซอน)

อัลฟัลฟ่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Medicago sativa L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

อัลฟัลฟ่า จัดเป็นพืชในตระกูลถั่ว เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันตกและในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จึงได้รับการขนานนามว่าคือ “ราชาแห่งอาหารทั้งมวล” (AL-FAS-FAH-SHA)[2] หรือเป็น “บิดาของอาหารทุกชนิด” (Father of all foods)[4]

ลักษณะของอัลฟัลฟ่า

  • ต้นอัลฟัลฟ่า จัดเป็นพืชตระกูลถั่วมีฝักที่มีลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร เจริญเติบโตได้ในแถบทุกอากาศทั่วโลก ลำต้นมีระบบรากที่มหัศจรรย์ เพราะในบางพื้นที่รากของต้นอัลฟัลฟ่าสามารถชอนไชลงไปได้ลึกกว่า 130 ฟุต จึงสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้มากและบริสุทธิ์กว่าพืชอื่น ๆ อีกทั้งต้นอัลฟัลฟ่าเองก็จะไม่สะสมสารพิษอีกด้วย[1],[2]

อัลฟัลฟา

ถั่วอัลฟัลฟา

รากอัลฟัลฟ่า

  • ใบอัลฟัลฟ่า ใบแตกออกเป็น 3 ใบย่อย[1]

ใบอัลฟัลฟ่า

  • ดอกอัลฟัลฟ่า ดอกเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงิน[1]

ดอกอัลฟัลฟ่า

  • ฝักอัลฟัลฟ่า มีเมล็ดอยู่ในฝัก[1]

ถั่วอัลฟัลฟ่า

เมล็ดอัลฟัลฟ่า

สรรพคุณของอัลฟัลฟ่า

  1. อัลฟัลฟ่ามีสารแคโรทีนและอุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่ต้องการฟื้นฟูเซลล์ที่ถูกทำลาย ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง[3],[4],[5]
  2. สารไฟโตเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยสารที่จัดเป็นสารประเภทไฟโตรเอสโตรเจนที่มีอยู่ในอัลฟัลฟ่าได้แก่ Isoflavones, Coumestans และสาร Lignans แต่ในปัจจุบันยังไม่มีขนาดแนะนำในการรับประทาน แต่อย่างไรก็ดีการเพิ่มการบริโภคอาหารที่สารดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งในร่างกายได้เป็นอย่างดี[3]
  3. สารซาโปนินมีรสขม มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร จึงช่วยทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น[5]
  4. สารซาโปนินที่พบในอัลฟัลฟ่า มีลักษณะเหมือนกันกับที่พบในรากโสม ซึ่งมันมีสรรพคุณช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทและช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างเหมาะสมและเป็นปกติ[3]
  5. อัลฟัลฟ่ามีเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย ช่วยทำให้ผิวหนังและเยื่อบุผิวหนังมีสุขภาพดี[3]
  6. อัลฟัลฟ่าอุดมไปด้วยธาตุฟลูออไรด์และแคลเซียม มันจึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี[3]
  7. ช่วยบำรุงเส้นผม ลดอาการผมร่วง ทำให้ผมหงอกกลับดำขึ้น[4]
  8. ช่วยทำให้ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกมองเห็นได้ดีขึ้น[4]
  9. ช่วยลดความดันโลหิต ลดปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบ[4]
  10. ช่วยลดระดับน้ำตาลและปรับระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน[4],[6]
  1. ในสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ใช้อัลฟัลฟ่าในการรักษาภาวะโลหิตจาง[2]
  2. ช่วยสนับสนุนการจับตัวของเลือด[2]
  3. ช่วยกำจัดของเสีย ขับสารพิษออกจากร่างกาย ขับสารพิษออกจากเลือดและอวัยวะภายใน ลดการตกค้างของของเสียตามผิวหนัง ช่วยทำให้เลือดสะอาดและไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้ผิวพรรณผ่องใสและสุขภาพที่ดีตามมา มันจึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ชอบรับประทานเนื้อสัตว์[3],[4]
  4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเมล็ดเลือดแดง ทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น[4]
  5. สารซาโปนินจะช่วยลดการอุดตันของเกล็ดเลือดในเส้นเลือดฝอย ช่วยลดอัตราของการเกิดความจำเสื่อม และภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงและโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ[5]
  6. ช่วยส่งเสริมการดูดซึมของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตของร่างกาย[6]
  7. อัลฟัลฟ่ามีส่วนช่วยฟื้นฟู บรรเทาอาการของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดสารเสพติดและติดแอลกอฮอล์ได้[4]
  8. ช่วยทำให้ผู้ที่เป็นภูมิแพ้มีอาการที่ดีขึ้น[4]
  9. วิตามินเคจากอัลฟัลฟ่า จะช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้[3]
  10. จากการศึกษาพบว่าสารซาโปนินและสารประกอบอื่นในอัลฟัลฟ่ามีความสามารถในการยึดติดในคอเลสเตอรอลกับเกลือน้ำดี ช่วยป้องกันและชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหาร จึงช่วยทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ช่วยป้องกันการสะสมไขมันในหลอดเลือด และช่วยควบคุมระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ โดยในการศึกษาจากผู้ป่วยจำนวน 15 คน ที่ให้อัลฟัลฟ่าในขนาด 40 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 8 วัน พบว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมันเลว (LDL) ลดลงประมาณ 17-18% ในขณะที่บางส่วนสามารถลดได้ถึง 26-30%[3]
  11. อัลฟัลฟ่ามีไฟเบอร์จากธรรมชาติอยู่สูงมาก และยังมีประโยชน์ในการช่วยฟื้นฟูภาวะลำไส้อ่อนแอ ช่วยในการลำเลียงของเสียออกจากระบบได้เป็นอย่างดี จึงทำให้หลอดลำไส้มีสุขภาพที่ดี[3]
  12. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหารและอาการดูดซึมอาหารได้ไม่ดี[2]
  13. แพทย์ชาวจีนได้มีการนำใบอัลฟัลฟ่าอ่อนเพื่อใช้ในการรักษาอาการย่อยไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับแพทย์ชาวอินเดียที่ใช้ใบและดอกในการรักษากระบวนการย่อยที่ทำงานได้น้อย (ใบ, ดอก)[2]
  14. มีแพทย์จำนวนมากที่ใช้อัลฟัลฟ่าเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร เช่น การมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก มีอาการจุดเสียดเป็นประจำ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคเบื่ออาหาร เป็นต้น และอัลฟัลฟ่ายังมีเอนไซม์ที่ช่วยทำให้การดูดซึมอาหารภายในร่างกายเป็นปกติ มีสารที่ช่วยเคลือบผิวของกระเพาะอาหารให้มีความแข็งแรง และยังพบว่าอัลฟัลฟ่าสามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องเนื่องจากมีแก๊สมาก รักษาแผลในกระเพาะลำไส้ได้เป็นอย่างดี[3]
  15. อัลฟัลฟ่ามีคุณสมบัติที่ช่วยในการขับถ่ายและการปัสสาวะให้เป็นปกติ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาท้องผูก บรรเทาอาการของริดสีดวงทวาร[3]
  16. อัลฟัลฟ่ายังถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะ ไต และต่อมลูกหมากที่ทำงานผิดปกติ[6]
  17. อัลฟัลฟ่างอกเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะการหมดประจำเดือนของสตรี (อัลฟัลฟ่างอก)[2]
  18. สาร Isoflavone ในอัลฟัลฟ่าถูกจัดเป็นเอสโตรเจนธรรมชาติ (Phytooestrogen) ซึ่งในสตรีในช่วงใกล้หมดประจำเดือนจะมีระดับเอสโตรเจนต่ำลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและเกิดภาวะกระดูกเสื่อม และสารดังกล่าวจะเข้าไปช่วยชดเชยระดับเอสโตรเจนที่ต่ำลง อีกทั้งยังช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยลดอาการผิดปกติในช่วงมีประจำเดือน เช่น มีอาการหงุดหงิดง่าย มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นต้น[3]
  19. ช่วยปรับสภาพของผู้หญิงวัยทอง ลดปัญหาอันเกิดเนื่องมาจากภาวะวัยทอง[4]
  20. อัลฟัลฟ่าถูกนำมาใช้ในประเทศจีนตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 6 โดยนำมาใช้เพื่อรักษาโรคไต และเพื่อบรรเทาอาการตัวบวมอันเนื่องมาจากการกักเก็บน้ำในร่างกายที่มากเกินไป[6]
  21. ชาวอินเดียในอเมริกาเหนือได้แนะนำให้ใช้อัลฟัลฟ่าในการรักษาโรคดีซ่าน[2]
  22. มีการใช้อัลฟัลฟ่าเพื่อช่วยบำบัดโรคข้อต่ออักเสบ แก้อาการปวดข้อ ข้อแข็ง และรูมาตอยด์ เนื่องจากอัลฟัลฟ่าจะช่วยปรับสมดุลของกรดด่างในร่างกาย ช่วยป้องกันการสะสมตัวของกรดยูริกและกรดอื่น ๆ ตามข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งจากหนังสือ Feel Like a Million ของแคทเทอรีน เอลวูล ได้ระบุว่าเมื่อให้ผู้ป่วยรูมาตอยด์ใช้อัลฟัลฟ่าเพื่อรักษาอาการปวดตามข้อ พบว่าผู้ป่วยสามารถงอมือได้สะดวกยิ่งขึ้นและอาการเจ็บปวดก็หายไป[2],[3]
  23. ช่วยระงับอาการปวดในโรคข้ออักเสบและถุงน้ำต่าง ๆ[6]
  24. ช่วยลดแผลอักเสบ[4]
  25. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย[4]
  26. ช่วยทำให้อาการชา บวม และเส้นเลือดขอดบรรเทาลง[4]
  27. อัลฟัลฟ่ามีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของแม่ได้ดีมากขึ้น[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอัลฟัลฟ่า

  • สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ของต้นอัลฟัลฟ่ามีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง จึงมีการนำมาใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การนำมาใช้ในหญิงที่ได้ทำการผ่าตัดเอามดลูกออก เป็นต้น[1]
  • สารในกลุ่มซาโปนินของต้นอัลฟัลฟ่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลด้วยการเพิ่มการนำคอเลสเตอรอลไปใช้ในการสร้างน้ำดีในตับ และยังออกฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด จึงช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดอันเนื่องมาจากไขมันได้ และสารซาโปนินยังสามารถช่วยฆ่าเชื้อราจำพวกแคนดิดา โดยสารดังกล่าวจะไปจับกับเซลล์เมมเบรนของเชื้อรา และทำให้เชื้อราตาย[1]
  • ธาตุแมงกานีสที่อยู่ในอัลฟัลฟ่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้[1]

ประโยชน์ของอัลฟัลฟ่า

  1. อัลฟัลฟ่างอก จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่นิยมนำมาใส่สลัด (มีกลิ่นคล้ายกับถั่วลันเตา) เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังมีไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งช่วยป้องกันมะเร็งได้[2]
  2. ใบตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่มเพื่อสุขภาพ[2]
  3. อัลฟัลฟ่าเป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอย่างหลากหลายและครบถ้วน มันจึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ[3]
  4. ต้นอัลฟัลฟ่ามีสารสำคัญอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น เช่น สารในกลุ่มอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavonoids) สารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins) สารในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids) รวมไปถึงสารในองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น คาร์โบไอเดรต โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ เกลือแร่ เอนไซม์หลัก 8 ชนิด และกรดอะมิโนจำเป็นทั้ง 8 ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้[1],[2]
  5. อัลฟัลฟ่าเป็นพืชที่อุดมไปด้วย Chlorophyll หากต้องการทราบว่ามันมีประโยชน์อย่างไร คุณสามารถอ่านได้ที่บทความนี้ คลอโรฟิลล์[3]
  6. สารไฟโตเอสโตรเจนเป็นตัวช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย การรับประทานอัลฟัลฟ่าจะช่วยทำให้ผู้ที่เป็นสิวง่าย มีปริมาณการเกิดสิวลดลง ทำให้ผิวหน้าดูสะอาดขึ้น[3]
  7. อัลฟัลฟ่าอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด รวมไปถึงเกลือแร่และโปรตีน จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่าง ๆ เช่น การนำมาใช้ผสมในครีมอาบน้ำ ในผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม เป็นต้น และยังพบว่ามีอยู่ในผลิตภัณฑ์ยาเม็ดสำเร็จรูป หรือเป็นแบบต้นแห้งสำหรับชงน้ำร้อนดื่ม[1]
  8. ชาวอาหรับโบราณรู้จักนำอัลฟัลฟ่ามาใช้ประโยชน์มานานแล้ว โดยใช้เป็นพืชเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงม้า เพื่อช่วยเพิ่มความเร็วและเพิ่มความแข็งแรงให้กับม้า[2]

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วอัลฟัลฟ่างอก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 23 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 2.1 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.9 กรัมถั่วอัลฟัลฟางอก
  • ไขมัน 0.7 กรัม
  • โปรตีน 4 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.076 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 2 0.126 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 3 0.481 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 5 0.563 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 6 0.034 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 9 36 ไมโครกรัม 9%
  • วิตามินซี 8.2 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินเค 30.5 ไมโครกรัม 29%
  • ธาตุแคลเซียม 32 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุเหล็ก 0.96 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุแมกนีเซียม 27 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุแมงกานีส 0.188 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 70 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุโพแทสเซียม 79 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุโซเดียม 6 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.92 มิลลิกรัม 10%

แหล่งที่มา : % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

วิธีการรับประทานอัลฟัลฟ่า

  • อัลฟัลฟ่าแบบสำเร็จรูปในปัจจุบันมีทั้งแบบเม็ด แคปซูล และแบบที่เป็นผงสำหรับใช้ชงเป็นชาดื่ม ซึ่งถ้าเป็นชาแนะนำว่าให้ใช้รับประทานในขนาด 1-2 ช้อนโต๊ะต่อถ้วย โดยนำไปต้มให้เดือดประมาณ 10-20 นาที ส่วนในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูลนั้นในปัจจุบันยังไม่มีขนาดแนะนำในการใช้เป็นที่แน่นอน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรบางท่านแนะนำว่าใช้ใช้รับประทานในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าใช้ในรูปแบบของทิงเจอร์ก็ให้ใช้วันละ 3 ครั้ง และการนำมาใช้เพื่อบำบัดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ก็ให้ใช้ในขนาด 250-1,000 มิลลิกรัม 2-3 ครั้งต่อวัน และให้รับประทานพร้อมกับอาหารหลัก[3]
  • โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอัลฟัลฟ่าต้องมีมาตรฐานและมีข้อความว่าปลอดจากสารคานาวานิน (Canavanine) และส่วนประกอบอื่นที่เป็นอันตราย จึงจะสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารเสริมได้อย่างปลอดภัย[3]

อัลฟาฟ่า

ข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงของอัลฟัลฟ่า

  • เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอัลฟัลฟ่ามีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบผง แบบหน่อและเมล็ด ซึ่งทั้งหมดจะมีสาร L-cavanine (สารที่อาจก่อให้เกิดเซลล์ผิดปกติ ม้ามเกิดการขยายตัว) แต่สารดังกล่าวจะหมดไปเมื่อใช้ความร้อน[3]
  • ไม่ควรใช้อาหารเสริมอัลฟัลฟ่าร่วมกับอาหารเสริมที่มีวิตามินอี เนื่องจากวิตามินอีจะเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมของอัลฟัลฟ่า[3]
  • อัลฟัลฟ่าอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องและท้องร่วงได้ หากคุณมีอาการดังกล่าวหลังการใช้ ให้หยุดใช้ทันที[3]
  • ห้ามใช้อัลฟัลฟ่าในผู้ป่วย SLE ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด[1]
  • ควรระมัดระวังในการใช้อัลฟัลฟ่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด หรือในผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาฮอร์โมน[1]
  • ห้ามใช้อัลฟัลฟ่าในปริมาณที่มากเกินกว่าการได้รับอัลฟัลฟ่าประจำวันจากอาหารปกติ[1]
  • สมุนไพรอัลฟัลฟ่าเหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนในกรณีของเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรนำมาใช้[3]
  • ไม่แนะนำให้ใช้อัลฟัลฟ่าในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร โดยเฉพาะในส่วนของเมล็ดอัลฟัลฟ่านั้นไม่ควรจะใช้กับสตรีเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง[1]
  • การใช้อัลฟัลฟ่าควรระมัดระวังในเรื่องของผลของการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน[1]
  • แม่ว่าอัลฟัลฟ่าจะเป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและเกลือแร่ แต่ก็ควรจะระมัดระวังพิษจากสารประกอบต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเมล็ดอัลฟัลฟ่านั้นจะไม่แนะนำให้รับประทาน[1]
  • จากการทดสอบให้ลิงเพศเมียที่ให้กินต้นและเมล็ดอัลฟัลฟ่าจะเกิดอาการคล้ายกับโรคซิสเต็มมิค ลูปุส อิริเธรีมาโตซูส (Systemic Lupus Erythrematosus หรือ SLE-like Syndrome) (อาการของโรค SLE คือ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเกิดความผิดปกติขึ้นเอง ซึ่งลักษณะของอาการดังกล่าวทำให้ข้อต่ออักเสบ เกิดความเสี่ยงที่ไตและอวัยวะอื่น ๆ ที่จะสูญหาย) เนื่องจากสารคานาวานิน (Canavanine) ที่อยู่ในอัลฟัลฟ่านั้นมีความคล้ายคลึงกับกรดอาร์จินิน (Arginine) ดังนั้นสารคานาวานิน (Canavanine) จึงเป็นพิษกับสัตว์ทุกชนิด ซึ่งสารดังกล่าวจะพบได้มากในเมล็ด แต่จะเพียงเล็กน้อยในส่วนของลำต้นและใบของต้นอัลฟัลฟ่า[1],[3]
  • มีรายงานความเป็นพิษของหน่ออัลฟัลฟ่าสดที่ติดเชื้อแบคทีเรียจากเมล็ดก่อนจะแตกหน่อ โดยในหน่อที่ยังสดอาจมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยในผู้ที่ได้รับประทานเข้าไป จึงมีคำแนะนำว่าเด็กเล็ก รวมถึงผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อของต้นอัลฟัลฟ่า[3]
  • นอกจากนี้ยังพบว่าอัลฟัลฟ่าไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อสาย Salmonella TA98 and TA100[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “อัลฟัลฟ่า”.  (วราลักษณ์ รวยสูงเนิน).  อ้างอิงใน: www.pharm.su.ac.th.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th.  [19 ม.ค. 2014].
  2. สำนักงานเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี.  “อัลฟาลฟา บิดาแห่งอาหารทั้งปวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: khaokhitchakut.chanthaburi.doae.go.th.  [19 ม.ค. 2014].
  3. สุขภาพดีดีดอทคอม.  “Alfalfa คืออะไร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.healthdd.com.  [19 ม.ค. 2014].
  4. ครูบ้านนอก.  “อัลฟัลฟา หญ้ามหัศจรรย์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kroobannok.com.  [19 ม.ค. 2014].
  5. บ้านสมุนไพร.  “อัลฟัลฟา (Alfalfa) กับบทบาทอาหารเสริม”.  อ้างอิงใน: นพ.จรัสพล รินทระ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bansamonprai.com.  [19 ม.ค. 2014].
  6. อัลฟัลฟ่า คืออะไร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ffcnulife.com.  [19 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Valter Jacinto | Portugal, myrique baumier, Paolo’s, RahelSharon, Spidra Webster, smir_001 catching up slowly, Cheryl Moorehead, greatandlittle, C-79, Macleay Grass Man)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด