หูเสือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหูเสือ 10 ข้อ !

หูเสือ

หูเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saxifraga stolonifera Curtis (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Saxifraga sarmentosa L.f.) จัดอยู่ในวงศ์ SAXIFRAGACEAE

สมุนไพรหูเสือ มีชื่อเรียกอื่นว่า หู่เอ่อเฉ่า (จีนกลาง) [1]

หมายเหตุ : ต้นหูเสือที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นหูเสือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng. (Coleus amboinicus Lour.) ซึ่งอยู่ในวงศ์ LAMIACEAE อ่านได้ที่บทความ “เนียมหูเสือ

ลักษณะของหูเสือ

  • ต้นหูเสือ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีแดงม่วง มีความสูงของต้นประมาณ 40 เซนติเมตร ทั้งต้นมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุม[1]

ภาพหูเสือ

ต้นหูเสือ

รูปหูเสือ

  • ใบหูเสือ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขอบใบโค้งหยัก ใบแทงขึ้นมาจากโคนต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว มีเส้นใบสีเหลืองอมสีน้ำตาล มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงอมน้ำตาลไม่มีขนปกคลุม มีจุดแต้มกลม ๆ เล็ก ก้านใบยาว[1]

ใบหูเสือ

  • ดอกหูเสือ ดอกจะออกบริเวณปลายยอด แตกก้านช่อดอกมาก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ก้านหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4-7 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบล่างขนาดใหญ่ 2 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแคบปลายแหลม และกลีบเล็กด้านบนอีก 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลม มีแต้มสีเหลือง 5 แต้ม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน[1]

รูปดอกหูเสือ

ดอกหูเสือ

  • ผลหูเสือ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีเมล็ดเป็นรูปไข่แบน[1]

สรรพคุณของหูเสือ

  1. ใบมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้เล็ก ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้เด็กเป็นไข้ตัวร้อน และทำให้เลือดเย็น (ใบ)[1]
  2. ใบใช้เป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด ไอหอบ (ใบ)[1]
  1. ใช้เป็นยาแก้หูอักเสบ หูน้ำหนวก ด้วยการใช้ใบหูเสือสดประมาณ 1 กำมือ (30 กรัม) นำมาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำผสมกับพิมเสน นำมาหยดใส่หูวันละ 1-2 ครั้ง (ใบ)[1]
  2. ช่วยรักษาฝีในปอด (ใบ)[1]
  3. ใช้รักษาอาการตกเลือด ด้วยการใช้ใบหูเสือสดประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับเหล้าโรง โดยใช้น้ำ 1 ส่วน ต่อเหล้า 1 ส่วน แล้วนำมารับประทาน (ใบ)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[1]
  5. หากเป็นแผลบริเวณใบหู มีน้ำเหลือง ให้ใช้ใบหูเสือสด ผสมกับน้ำมันมะหอกหรือผสมกับพิมเสน 1 ส่วน สารส้มสตุ 5 ส่วน นำมาตำให้เข้ากัน แล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็นผล (ใบ)[1]
  6. ใช้เป็นแก้อีสุกอีใส ออกหัด (ใบ)[1]
  7. ใช้เป็นยาแก้ติดเชื้อไวรัสบนผิวหนัง (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : ใบใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ตามความเหมาะสม แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมนำมาใช้ภายนอก[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูเสือ

  • สารที่พบ ได้แก่ Alkaloid, Potassium chloride, cis-Caffeicd, Arbutin, Escelutin[1]
  • เนื่องจากต้นหูเสือเป็นยาพื้นบ้าน จึงยังไม่มีข้อมูลทางเภสัชวิทยา[1]

ประโยชน์ของหูเสือ

  • ในต่างประเทศนิยมนำต้นหูเสือมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หูเสือ”.  หน้า 622.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Eric Hunt, Andy Cowlishaw, FarOutFlora, harum.koh, Pietro Monteleone, www.jardinerosenaccion.es)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด