34 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหมี่ ใบหมี่ ! (หมีเหม็น)

หมี่

หมี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Litsea chinensis Lam., Litsea sebifera Pers.) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[1],[2],[6]

สมุนไพรหมี่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมูเหม็น (แพร่), ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี (อุดรธานี, ลำปาง), ตังสีไพร (พิษณุโลก), อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี), หมูทะลวง (จันทบุรี), มะเน้อ ยุบเหยา (ภาคเหนือ, ชลบุรี), ทังบวน (ปัตตานี), มัน (ตรัง), มะเย้ย ไม้หมี่ (คนเมือง), ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่), ลำหญุบหญอ (ลั้วะ), มือเบาะ (มลายู-ยะลา), ส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมีเหม็น เป็นต้น[1],[3],[4],[5]

ลักษณะของต้นหมี่

  • ต้นหมี่  หรือ ต้นหมีเหม็น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ลำต้นแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าดงดิบ[1],[2],[3],[5]

ต้นหมีเหม็น

  • ใบหมี่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเป็นครีบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ตามก้านใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ต้นหมี่

  • ดอกหมี่ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-20 อัน เรียงเป็นชั้น ๆ ก้านเกสรมีขน ชั้นในมีต่อมกลม ๆ อับเรณูเป็นรูปรี มี 4 ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมันอยู่ตรงกลาง อับเรณูเป็นแบบฝาเปิด กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปกลม ส่วนช่อดอกเพศเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปช้อน ส่วนเกสรเพศเมียไม่มีขน รังไข่เป็นรูปไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปจาน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกจากกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4]

หมี่

ดอกหมีเหม็น

  • ผลหมี่ มีกลิ่นเหม็น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ก้านผลมีขน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็ง ช่อหนึ่งมีผลประมาณ 3-5 ผล [1],[2],[3],[5]

หมีเหม็น

ผลหมีเหม็น

สรรพคุณของหมี่

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากต้นหมี่เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้ไข้ออกฝีเครือ (ราก)[6]
  3. เปลือกสดใช้อมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น (เปลือกต้น)[7]
  4. ช่วยแก้ลมเป็นก้อนในท้อง (ราก)[6]
  5. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องร่วง (ราก)[7]
  6. เปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  7. ใบมีสรรพคุณเป็นยาปัสสาวะ (ใบ)[3]
  8. ช่วยแก้ริดสีดวงแตก (ราก)[6]
  9. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดมดลูกของสตรี (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  10. ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (ต้น)[4]
  1. รากและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (ราก, เปลือกต้น)[3] ใบใช้ตำพอกรักษาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ (ใบ)[4] ส่วนยางใช้ตำพอกปิดทาแผล (ยาง)[2]
  2. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาแก้แผลอักเสบ และเป็นยาห้ามเลือด (เปลือกต้น)[3],[4]
  3. ใช้แก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง (ใบ)[3]
  4. ใบสดใช้ขยี้ทารักษากลากเกลื้อน (ใบ)[7]
  5. เปลือกต้นใช้ฝนทาแก้ผื่นคัน แสบร้อน (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  6. ใบและเมล็ดมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ตำพอกรักษาฝี แก้ปวด (ใบและเมล็ด)[1],[2],[3] ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้เปลือกต้นหรือรากผสมกับเมล็ดหรือผลน้อยหน่าที่แห้งคาต้น ฝนกับน้ำทารอบฝีให้รัดหนองออกมา (เปลือกต้น, ราก)[5] ส่วนตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดอำนาจเจริญจะใช้รากต้นหมี่นำมาฝนทารักษาฝี (ราก)[3]
  7. เปลือกต้นใช้ฝนทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (เปลือกต้น)[3] ส่วนใบใช้ขยี้ทาแก้พิษแมงมุม (ใบ)[7]
  8. ใบใช้เป็นยาถอนพิษร้อน (ใบ)[6]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาถอนพิษอักเสบต่าง ๆ (เมล็ด)[6]
  10. ยางมีรสฝาดร้อน ใช้ตำพอกทาแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวม (ยาง)[1],[2]
  11. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดกล้ามเนื้อ (ราก)[1],[3] เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยแก้อาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ (เปลือกต้น)[1],[2],[3] ส่วนผลดิบให้น้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นยาถูนวดแก้ปวดได้ (ผลดิบ)[3]
  12. ช่วยถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นอ่อน (เปลือกต้น)[2]
  13. บางท้องถิ่นจะนำรากมาตากให้แห้ง ดองกับเหล้าขาว กินเป็นยาแก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่เป็นปกติ เป็นลมพิษ เป็นต้น (ราก)[7]
  14. รากใช้เป็นส่วนผสมของยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง (ราก)[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหมี่

  • สารสำคัญที่พบในใบหมี่ ได้แก่ actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticuline, sebiferine[6]
  • ใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา มีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ แก้อาการท้องเดิน[6]
  • Essential oil ที่สกัดจากใบมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มฤทธิ์การทำให้นอนหลับ มีฤทธิ์ทำให้ความดันต่ำนานขึ้น[6]
  • สารสกัดเมทานอลจากเปลือกใบมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการรักษาโรคท้องร่วงและโรคบิด[6]
  • น้ำมันหอมระเหยจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus (gram positive bacteria) ส่วนน้ำมันจากผลมีฤทธิ์ยับยั้ง Candida albicans (yeast)[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยฉีดสารสกัดจากพืชส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม[6]

ประโยชน์ของหมี่

  1. ผลสุกใช้รับประทานได้[3]
  2. ใบใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว หรือใช้รองปิดปากไหปลาร้ากันหนอน[7]
  3. ใบนำมาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาสระผม ช่วยป้องกันรังแค และทำให้ผมนุ่ม หรือจะนำใบและยอดอ่อนมาผสมกับเปลือกต้นเถารางแดง ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาผสมแล้วต้มรวมกัน แล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผมก็ได้[3],[4]
  4. ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา[3]
  5. ดอกนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย[7]
  6. ใบสามารถย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเขียว[3] ส่วนเปลือกใช้ย้อมสีผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงจากเปลือกใช้ทำธูปจุดไล่แมลง[7]
  7. ยางของต้นใช้ทาเครื่องจักสานให้หนาและทนทาน และใช้ดักแมลงตัวเล็ก[7]
  8. เนื้อไม้ของต้นสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือนำลำต้นมาใช้ทำฟืน[4]
  9. ใบหมี่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางเครื่องสำอางได้ดี เพราะหาได้ง่าย ราคาไม่แพง เนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่สามารถนำมาใช้เป็นสารเคลือบผิวและผมในการปกป้องและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและผม อีกทั้งสารสกัดจากใบยังมีสารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอกได้อีกด้วย[6]
  10. ในด้านประเพณีและความเชื่อ บางท้องถิ่นจะใช้ใบนำมาห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ส่วนในด้านความเชื่อนั้น มีการขูดเปลือกเพื่อขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลจะนำใบมาเหน็บบั้นเอวไว้ โดยเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการจุกเสียด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าคนท้องที่สระผมด้วยใบหมี่กับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หมีเหม็น (Mi Men)”.  หน้า 329.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “หมีเหม็น”.  หน้า 189.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หมี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [28 ก.ย. 2014].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หมีเหม็น”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [28 ก.ย. 2014].
  5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หมีเหม็น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [28 ก.ย. 2014].
  6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “การนำสมุนไพรใบหมี่มาใช้ทางเครื่องสำอาง APPLICATION OF BAI MEE (Litsea glutinosa) IN COSMETICS”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ist.cmu.ac.th/researchunit/pcrnc/.  [28 ก.ย. 2014].
  7. ลานปัญญา.  (by bangsai).  “ต้นหมี่…”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : lanpanya.com/proiad/archives/152.  [28 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by hcc2889602, siuyu yeung, guzhengman, John Elliott, 阿橋, Quentin)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด