8 สรรพคุณประโยชน์ของต้นหนุมานนั่งแท่น ! (ว่านหนุมานนั่งแท่น)

หนุมานนั่งแท่น

หนุมานนั่งแท่น ชื่อสามัญ Gout Plant, Guatemala Rhubarb, Fiddle-leaved Jatropha[5]

หนุมานนั่งแท่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha podagrica Hook. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรหนุมานนั่งแท่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หัวละมานนั่งแท่น (ประจวบคีรีขันธ์), ว่านเลือด (ภาคกลาง), ว่านหนุมาน, ว่านหนูมานนั่งแท่น เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของหนุมานนั่งแท่น

  • ต้นหนุมานนั่งแท่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง พบได้ตั้งแต่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลถึงระดับ 800 เมตร โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร ลำต้นพองที่โคน ลำต้นอวบน้ำผิวไม่เรียบ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว และมีเหง้าอยู่ใต้ดินลักษณะกลมยาว อาจเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นใส ๆ ไม่เหนียวเหนอะหนะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและใช้หัวหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ชอบแสงแดดจัดแบบเต็มวัน สามารถทนต่อความแล้งได้ดี[1],[3]

ต้นหนุมานนั่งแท่น

  • ใบหนุมานนั่งแท่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ติดแผ่นใบแบบก้นปิด หูใบแตกแขนงยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร[1],[3]

ว่านหนุมานนั่งแท่น

  • ดอกหนุมานนั่งแท่น ออกดอกเป็นช่อกึ่งช่อเชิงหลั่น ยาวได้ถึง 26 เซนติเมตร แกนช่อดอกยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายยอด มีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีแดงมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีส้มหรือสีแดง ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร จานรองดอกเป็นรูปโถ เกสรเพศผู้จะยาวประมาณ 6-8.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรเชื่อมกันที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงจะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ก้านชูและก้านชูช่อดอกเป็นสีแดง[1],[2],[3]

รูปหนุมานนั่งแท่น

ดอกหนุมานนั่งแท่น

  • ผลหนุมานนั่งแท่น ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผิวผลเรียบ แบ่งเป็นพู 3 พู ปลายมน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีดำ เมื่อผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาว 12 มิลลิเมตร เมล็ดมีเยื่อสีขาวอยู่ที่ขั้ว[1],[2],[3]

ผลหนุมานนั่งแท่น

เมล็ดหนุมานนั่งแท่น

สรรพคุณของหนุมานนั่งแท่น

  1. หัวหรือเหง้าใช้กินเป็นยาบำรุงพละกำลังสำหรับผู้ที่ใช้กำลังแบกหามหรือทำงานหนัก (เหง้า)[4]
  2. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (เหง้า)[4]
  3. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้น้ำยางเป็นยาทารักษาแผลมีดบาด แผลถลอก และใช้ห้ามเลือด ส่วนวิธีใช้ขั้นตอนแรกก็ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเสียก่อน แล้วซับแผลด้วยสำลีให้แห้ง แล้วใช้มือเด็ดบริเวณก้านกลางใบ โดยให้เลือดใบที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เมื่อน้ำยางเริ่มไหลออกมาก็ให้ใช้นิ่วมือรองยางที่หยดลงมา แล้วนำไปป้ายบริเวณแผลวันละ 2-3 ครั้ง แผลก็เริ่มแห้งและตกสะเก็ดภายใน 1-2 วัน(น้ำยาง)[1],[2] ส่วนเหง้าก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลเช่นกัน (เหง้า)[4]
  4. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้น้ำยางจากต้นหนุมานนั่งแท่นเป็นยาทารักษาฝี (น้ำยาง)[1],[2]
  5. นำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกทาตามข้อมือข้อเท้า นวดแก้อาการเคล็ดขัดยอก (เหง้า)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนุมานนั่งแท่น

  • เมล็ดมีสารกลุ่ม phorbol esters ที่เป็นพิษเช่นเดียวกับสบู่ดำ[2]
  • สารสกัดจากเมล็ดหนุมานนั่งแท่นด้วยปีโตรเลียมอีเทอร์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดี[2]

พิษของหนุมานนั่งแท่น

  • ส่วนที่เป็นพิษ : เมล็ดและยาง โดยมีสารพิษที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ toxalbumin,curcin พิษจาก resin alkaloid glycoside[5]
  • อาการเป็นพิษ : น้ำยางเมื่อถูกผิวหนังจะเกิดอาการแพ้ระคายเคือง บวมแดงแสบร้อน ส่วนเมล็ดหากรับประทานเข้าจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หายใจเร็ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อชักกระตุก ความดันโลหิตต่ำ (พิษคล้ายละหุ่ง) โดยเมล็ดตะมีรสอร่อยหากรับประทานเพียง 3 เมล็ด ก็ทำให้เป็นอันตรายได้ และถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ตาบอดชั่วคราวได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากจะอาจทำให้ตาบอดถาวร (และห้ามนำเมล็ดหรือผลมารับประทานเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้)[5]
  • การรักษาพิษ : ให้ล้างน้ำยางออกจากผิวหนังโดยใช้สบู่ และอาจใช้ยาสเตียรอยด์ทา แต่ถ้ารับประทานเข้าไปให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกโดใช้ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ล้างท้อง หรือรีบทำให้อาเจียน และรักษาไปตามอาการ[5]

ประโยชน์ของหนุมานนั่งแท่น

  • สมุนไพรหนุมานนั่งแท่นเป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาแผลในม้า โดยพบว่าได้ยางหนุมานสามารถรักษาแผลให้หายได้ดีกว่าและเร็วกว่ายาเนกาซันท์ ยาปฏิชีวนะ และยาสมานแผลทั่วไป และยังเป็นยาเพียงชนิดเดียวที่ใช้รักษาบาดแผลเนื้องอกได้ ในขณะที่ยาอื่นรักษาไม่ได้ ส่วนแผลเน่าเปื่อยก็รักษาให้หายได้โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่ายาอื่นเท่าตัว (แม่โจ้)
  • ในด้านของความเชื่อ ในสมัยก่อนมีการนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรี ด้วยการนำหัวว่านมาแกะเป็นรูปพญาวานร แล้วเสกด้วยคาถาพุทธคุณ “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ แล้วอมไว้หรือพกติดตัวไว้ จะทำให้ศัตรูแพ้พ่าย ถ้านำมาแกะเป็นรูปพญานาคราช ให้เสกด้วย “เมตตา” 3-7 จบ เมื่อไปเจรจากับผู้ใด จะมีแต่ผู้รักใคร่ ปราถนาสิ่งใดก็สำเร็จทุกประการ ถ้านำมาแกะเป็นรูปพระพรหมแผลงศร ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ ใครจะมาทำร้ายทิ่มแทงเราก็จะล้มทับตัวเอง อาวุธที่มีก็จะพลัดหลุดจามือ จนสุดท้ายต้องหลบหนีไปเอง ถ้านำหัวว่านมาแกะเป็นรูปภควัมบดีปิดหูปิดตา คือปิดทวารทั้งเก้า ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะว่า – ภะคะวาติ” 7 จบ แล้วนำมาอมไว้ในปาก ผู้อื่นจะมองไม่เห็น ทำร้ายไม่ได้ หรือหากต้องการสิ่งใดก็จะสมดัง ปราถนา และถ้านำมาแกะเป็นรูปพระ แล้วเสกด้วยคาถา “อะ อิ อุ ธะ 7 จบ ก็จะช่วยป้องกันอันตรายได้ทั้งปวง”[4]
  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและว่านมงคลชนิดหนึ่งตามบ้านและวัดทั่วไป นิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้หัวหรือเหง้า โดยนำดินร่วนปนทรายปนกับผงอิฐดินเผาทุบให้แหลกละเอียด ตากน้ำค้างทิ้งไว้หนึ่งคืน ผสมใบพืชตระกูลถั่ว หญ้าสับ วางหัวว่านไม่ต้องกลบดินจนมิด (ให้หัวโผล่ และให้แสงแดดรำไร) ตอนจะรดน้ำให้ว่าคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ และถ้าจะให้ดีควรปลูกในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น เวลานำไปใช้ให้บอกกับต้นไม้ด้วยว่าจะใช้รักษาอะไร เช่น “ขอยารักษาแผลหน่อยนะ” แล้วน้ำยางจะไหลออกมามาก[4] ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าถ้าจะขุดหัวว่านมาใช้ ให้เสกด้วยคาถา “สัพพาสี – ภาณามเห” 3 หรือ 7 จบ รดน้ำรอบต้นแล้วขุด ในขณะที่ขุดให้เสกด้วยคาถา “หะนุมานะ โสธาระ” ซึ่งเป็นคาถาผูกอีก 3 หรือ 7 จบ จึงเก็บหัวว่านมาใช้ และตอนนำมาใช้ก็ต้องเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบก่อนทุกครั้ง เชื่อว่าจะมีอานุภาพฟันแทงไม่เข้า
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หนุมานนั่งแท่น (Hanuman Nang Thaen)”.  หน้า 326.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนุมานนั่งแท่น”.  หน้า 134.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “หนุมานนั่งแท่น”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [15 ก.ค. 2014].
  4. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ว่านหนุมานนั่งแท่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/.  [15 ก.ค. 2014].
  5. พืชมีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและโลหิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หนุมานนั่งแท่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_002.htm. [15 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ton Rulkens, Mauricio Mercadante, laajala, Prof KMS, guzhengman, 1guy2be, jayjayc)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด