หญ้าแส้ม้า สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าแส้ม้า 16 ข้อ !

หญ้าแส้ม้า

หญ้าแส้ม้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Verbena officinalis L. จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1],[2]

สมุนไพรหญ้าแส้ม้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นังด้งล้าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)[2], สะหน่ำบล้อ (ปะหล่อง)[3], ถิแบปี โทเกงไก๊ แบเปียงเช่า หม่าเปียนเฉ่า (จีนกลาง)[1] เป็นต้น (ชื่อสามัญ Vervain[3], Juno’s tears[3], European verbena[4], Herb of the cross[4])

ลักษณะของหญ้าแส้ม้า

  • ต้นหญ้าแส้ม้า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นเล็กเป็นเหลี่ยม และมีขนแข็งรอบต้น[1] มักพบขึ้นในที่แห้งแล้งแดดจัด หรือที่รกร้างไร่เก่า หรือขึ้นประปรายในสวนผลไม้ที่สูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,650 เมตร[4]

ต้นหญ้าแส้ม้า

  • ใบหญ้าแส้ม้า ใบออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรี แยกแฉกคล้ายขนนก ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หน้าใบและหลังใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย เส้นหลังใบเห็นได้ชัด[1]

ใบหญ้าแส้ม้า

  • ดอกหญ้าแส้ม้า ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 16-30 เซนติเมตร มีดอกเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีน้ำเงินม่วง รูปดอกเป็นหลอด แตกออกเป็นแฉก 5 แฉกที่ปลายกลีบ แบ่งออกเป็นแฉกบน 2 แฉก และแฉกล่าง 3 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่ในกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่บนรังไข่ รังไข่มี 4 อัน เมื่อก้องแห้งและร่วงไปจะติดผลเป็นฝักยาว[1]

นังด้งล้าง

ดอกหญ้าแส้ม้า

  • ผลหญ้าแส้ม้า ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว ผลแก่มีการแตกเมล็ดออก ผลมีเมล็ด 4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแบนยาว[1]

ผลหญ้าแส้ม้า

สรรพคุณของหญ้าแส้ม้า

  1. ทั้งต้นมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้ไข้หวัดตัวร้อน แก้ไข้จับสั่น (ทั้งต้น)[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้คอเจ็บ คอบวม คออักเสบ คอตีบ (ทั้งต้น)[1]
  3. ช่วยแก้บิดติดเชื้อ (ทั้งต้น)[1]
  4. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว จะใช้ราก ใบ ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แก้พิษ (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[2]
  5. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
  1. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี (ทั้งต้น)[1]
  2. ช่วยฆ่าพยาธิใบไม้ในตับ (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  4. ช่วยแก้ไตอักเสบบวมน้ำ (ทั้งต้น)[1]
  5. ช่วยกระจายเลือด แก้อาการฟกช้ำดำเขียว ปวดบวม (ทั้งต้น)[1]
  6. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ฝีหนองอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  7. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มเอาน้ำมาล้างเท้า แก้แผลแมลงสัตว์กัดเท้า เท้าเป็นแผล (ทั้งต้น)[2]
  8. นอกจากจะเป็นสมุนไพรที่ใช้ภายในเพื่อเป็นยาแก้ไข้หวัดแล้ว ยังใช้รักษาอาการอักเสบภายในชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  9. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว จะใช้ราก ใบ ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[2]
  10. ใบนำมาคั้นเอาน้ำมาทาหรือพอก หรือต้มกับน้ำอาบ สระผม ช่วยกำจัดรังแค เหา โลน และหมัดได้ (ใบ)[2]
  11. ชาวปะหล่องจะใช้ใบเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคตานขโมย ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรอื่น ๆ อีก เช่น รากหญ้าคา รากสาบแร้งสาบกา รากด่อกะซองหว่อง ต้นน้ำนมราชสีห์ และเปลือกไข่ที่เพิ่งฟักเป็นตัว ห่อผ้าสีดำ แล้วนำมาต้มให้เด็กที่เป็นตานขโมยอาบ (ใบ)[3]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [1] ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม[1]

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหญ้าแส้ม้า

  • สำหรับผู้ที่มีพลังหย่อน ม้ามหรือกระเพาะพร่อง และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าแส้ม้า

  • ทั้งต้นพบสาร Adenosine, Cornin, Stachyose, Tannin, Verbenalin, Verbenalol และน้ำมันระเหย เป็นต้น[1]
  • เมื่อใช้สารที่สกัดจากหญ้าแส้ม้า ทำเป็นยาฉีดให้กับผู้ป่วยที่เป็นไข้จับสั่น พบว่ามีการยับยั้งและสามารถรักษาโรคไข้จับสั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ต้องฉีดเข้าก่อนที่ไข้จับสั่นจะกำเริบประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในครั้งหน้า
  • เมื่อนำหญ้าแส้ม้ามาต้มหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วนำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของกระต่ายที่กำลังมีอาการอักเสบของตับ พบว่าสามารถบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวดของกระต่ายได้[1]
  • สาร Verbenalin มีฤทธิ์กระตุ้นสัตว์ทดลองให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น[1]
  • ส่วนที่อยู่เหนือดินมีฤทธิ์ลดการอักเสบในคนได้ ส่วนในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ขับปัสสาวะ[2]
  • สารสกัดจากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์แก้ปวด ส่วนสารสกัดจากใบด้วยแอลกอฮอล์หรือกรดมีฤทธิ์ต้านการเจริญของแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิดได้ดีมาก และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมได้อีกด้วย[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าแส้ม้า”.  หน้า 584.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “นังด้งล้าง”.  หน้า 222.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “นังด้งล้าง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [10 ก.ค. 2014].
  4. สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “นังด้งล้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: chm-thai.onep.go.th. [10 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by –Tico–, HEN-Magonza, Stoutcob, Bob Osborn, naturgucker.de / enjoynature.net)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด