20 สรรพคุณและประโยชน์ของส้มเขียวหวาน ! (Mandarin orange)

ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน ชื่อสามัญ Mandarin orange, Mandarin, Mandarine, Tangerine[3],[5]

ส้มเขียวหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus reticulata Blanco (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus chrysocarpa Lush., Citrus crenatifolia Lush., Citrus crenatifolia var. lycopersiciformis Lush., Citrus deliciosa Ten., Citrus × nobilis var. koozi Sieb. ex Yu.Tanaka, Citrus × nobilis var. papillaris (Blanco) Wester, Citrus papillaris Blanco, Citrus papillaris var. chrysocarpa (Lush.) Alston, Citrus tangerina Yu.Tanaka) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2]

ส้มเขียวหวาน มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า มะเขียว มะบาง (เชียงใหม่), ส้มขี้ม้า (นครราชสีมา), ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มแก้วโบราณ ส้มจันทบูร ส้มตรังกานู ส้มแป้นกระดาน ส้มแป้นขี้ม้า ส้มแสงทอง (กรุงเทพฯ), ส้มจุก ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มแป้นหัวจุก (ปัตตานี), มะขุน มะแง มะจุก ส้มจุก ส้มเชียงตุง (ภาคเหนือ), ส้มเหม็น (ภาคกลาง), ซาโบโค ซ่าซุยโบโข่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลีมากุเละนีปี้ห์ ลีมากุเละลอเก๊าะ (มลายู-ปัตตานี), ลีมาจีนา ลีมายือโบ (มลายู), จวี๋ ชิงผี เฉินผีจวี๋ จวี๋เหอ (จีนกลาง), เปลือกส้มเขียวหวาน, ส้มจีนเปลือกล่อน เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของส้มเขียวหวาน

  • ต้นส้มเขียวหวาน มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงของต้นได้ประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนมีหนาม[1],[5]

ต้นส้มเขียวหวาน

  • ใบส้มเขียวหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มนรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือมีฟันเลื่อยเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน เนื้อใบแข็ง มีต่อมน้ำมันอยู่ตามแผ่นใบ[1]

ใบส้มเขียวหวาน

  • ดอกส้มเขียวหวาน ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อบริเวณง่ามใบและปลายยอดกิ่ง มีกาบใบ 5 ใบ มี 5 กลีบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 18-24 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมีประมาณ 3-5 อัน มีรังไข่ 9-15 อัน[1]

ดอกส้มเขียวหวาน

  • ผลส้มเขียวหวาน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อนิ่ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร เปลือกนอกเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองแดง ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน เปลือกอ่อน ผิวหนา และมีน้ำมันที่เปลือก ภายในมีเนื้อลักษณะฉ่ำน้ำ แบ่งออกเป็นกลีบ ๆ มีสีส้ม แต่ละกลีบจะมีเมล็ดสีขาวอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม สีขาวนวล (เปลือกสีเขียวนิยมนำมาตากแห้งใช้เป็นยา มีรสปร่าหอมร้อน)[1],[2],[5]

ผลส้มเขียวหวาน

รูปส้มเขียวหวาน

เนื้อส้มเขียวหวาน

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังมีส้มอีกชนิดหนึ่ง คือ Citrus tangerina Hort. ซึ่งมีลักษณะและสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

สรรพคุณของส้มเขียวหวาน

  1. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น (เปลือกผล)[1],[2]
  2. ผลมีสรรพคุณช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือด (ผล)[3]
  3. ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัด (ผล)[3]
  4. ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ (ผล)[3]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ (เปลือกผล)[1]
  1. ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นหน้าอก (เปลือกผล)[1]
  2. ช่วยแก้อาการปวดชายโครง (เปลือกผล)[1]
  3. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดเต้านม เต้านมอักเสบ (เมล็ด)[1]
  4. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาหารไม่ย่อย ท้องขึ้นท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น (เปลือกผล)[1],[2]
  5. ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ (ผล)[3]
  6. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เปลือกผล, เมล็ด)[1]
  7. ช่วยแก้อาการปวดอัณฑะ (เมล็ด)[1]
  8. เปลือกผลใช้เป็นยาขับลมในตับ กล่อมตับ คลายการบีบตัวของตับ (เปลือกผล)[1]
  9. ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย (ผล)[3]
  10. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวดกระษัยลม (เมล็ด)[1]
  11. เปลือกผลใช้เป็นยารักษาโรคผมร่วง (เปลือกผล)[2]
  12. ตำรายาไทยเปลือกส้มเขียวหวานถูกจัดอยู่ในตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบไปด้วย เปลือกส้มเขียวหวาน, เปลือกส้มจีน, เปลือกส้มซ่า, เปลือกส้มโอ, เปลือกส้มตรังกานู, เปลือกมะงั่ว, เปลือกมะกรูด และเปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะโลหะ แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ทางลม (เปลือกส้ม)[2]
  13. ส่วนในบัญชียาสมุนไพร ก็มีปรากฏการใช้เปลือกส้มเขียวหวานในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ที่มีส่วนปะกอบของเปลือกส้มเขียวหวานอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (เปลือกผล)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : เปลือกผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำรับประทาน[1]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีพลังหย่อนหรือร่างกายอ่อนแอ ห้ามรับประทาน (เข้าใจว่าหมายถึงเปลือกผลและเมล็ดที่นำมาใช้เป็นยา)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มเขียวหวาน

  • สารที่พบ ได้แก่ น้ำมันระเหย, วิตามินซี, วิตามินบี 1 และยังพบสาร anthranilic acid, apigenin, caryophyllene, creatine, citral, d-Limonene, geraniol, hesperidin, limonene, linalool, myrcene, naringenin, nerol, nobiletin, nomilin, ocimene, phellandrene, pinene, sabinene, sinensetin, tangeretin เป็นต้น[1],[2]
  • สารที่สกัดได้จากเปลือกผลส้มเขียวหวาน หรือน้ำต้มที่ได้จากเปลือกผลส้มเขียวหวาน มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ที่บีบตัวได้ และยังพบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกบทดลองให้เต้นเร็วขึ้น หากใช้สารมากเกินไปจะทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง[1]
  • เปลือกส้มเขียวหวานมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านไวรัส ต้านอะมีบา ต้านยีสต์ ต้านพยาธิ ไล่แมลง ฆ่าเห็บ ต้านอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ต้านอาการตัวเหลือง คลายกล้ามเนื้อเรียบ รักษาโรคเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อไวรัส ใช้ผสมในยารักษาโรคตับอักเสบ ผสมในยาห้ามเลือด[2]
  • น้ำมันระเหยจากเปลือกผลส้มเขียวหวานมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ให้มีน้ำย่อยมากขึ้น และกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวแรงขึ้น จึงสามารถช่วยขับลมออกจากลำไส้ได้[1]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากเปลือกผลมาฉีดเข้าหนูทดลอง พบว่าทำให้ไขมันในกระเพาะลำไส้ลดลง[1]
  • เมื่อใช้สารดังกล่าวมาฉีดเข้าสุนัขหรือกระต่ายทดลอง พบว่าความดันโลหิตของสัตว์สูงขึ้น[1]

ประโยชน์ของส้มเขียวหวาน

  1. ผลใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ ใช้ทำน้ำส้ม ผลไม้กระป๋อง ฯลฯ ส่วนเปลือกผลสามารถนำมาใช้ทำน้ำมันสลัด สกัดเพกทิน[4]
  2. ส่วนประโยชน์ในด้านสุขภาพของการรับประทานส้มเขียวหวานก็เหมือนกับส้มทั่วไป เช่น ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน รักษาโรคเหงือก ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ช่วยขจัดความหมองคล้ำ ชะลอการเกิดริ้วรอย มีบ้างที่นำมาใช้รักษาสิว เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของส้มเขียวหวาน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 53 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 13.34 กรัม
  • น้ำตาล 10.58 กรัม
  • ใยอาหาร 1.8 กรัม
  • ไขมัน 0.31 กรัม
  • โปรตีน 0.81 กรัม
  • วิตามินเอ 34 ไมโครกรัม (4%)
  • เบต้าแคโรทีน 155 ไมโครกรัม (1%)
  • วิตามินบี 1  0.058 มิลลิกรัม (5%)
  • วิตามินบี 2 0.036 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี 3 0.376 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี 5 0.216 มิลลิกรัม (4%)
  • วิตามินบี 6 0.078 มิลลิกรัม (6%)
  • วิตามินบี 9 16 ไมโครกรัม (4%)
  • วิตามินซี 2 6.7 มิลลิกรัม (32%)
  • วิตามินอี 0.2 มิลลิกรัม (1%)
  • โคลีน 10.2 มิลลิกรัม (2%)
  • แคลเซียม 37 มิลลิกรัม (4%)
  • ธาตุเหล็ก 0.15 มิลลิกรัม (1%)
  • แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม (3%)
  • แมงกานีส 0.039 มิลลิกรัม (2%)
  • ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม (3%)
  • โพแทสเซียม 166 มิลลิกรัม (4%)
  • โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
  • สังกะสี 0.07 มิลลิกรัม (1%)

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ส้มเขียวหวาน”.  หน้า 528.
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มเขียวหวาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [21 ต.ค. 2014].
  3. พืชผลไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ส้มเขียวหวาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fruit.htm.  [21 ต.ค. 2014].
  4. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ส้มเขียวหวาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sc.mahidol.ac.th/wiki/.  [21 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by claudinodebarba, Vijayasankar Raman, Acer Hwang, Eulampio Duarte, Janio Alves, Carmen Coimbra)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด