ส้มมะปิด สรรพคุณและประโยชน์ของส้มมะปิด 7 ข้อ ! (ส้มจี๊ด)

ส้มมะปิด

ส้มมะปิด ชื่อสามัญ Calamondin, Calamondin orange, China orange, Chinese orange, Golden lime, Kalamansi lime, Panama orange, Musklime, Philippine lime[1],[3]

ส้มมะปิด ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus × microcarpa Bunge (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus × mitis Blanco, × Citrofortunella microcarpa (Bunge) Wijnands) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[3]

ส้มมะปิด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะนาวหวาน ส้มจี๊ด (กรุงเทพฯ), ส้มมะปิด (ตราด) เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ : ส้มมะปิดหรือส้มจี๊ดที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับ “ส้มจี๊ด” หรือ “ส้มกิมจ๊อ” (Kumquat) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus Japonica Thunb.

ลักษณะของส้มมะปิด

  • ต้นส้มมะปิด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 1.5-3 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปักชำกิ่งหรือตอนกิ่ง เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนแล้วจึงแพร่กระจายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย อินเดีย อินดีสตะวันตก อเมริกากลาง และอเมริกาเหนือ[1],[2],[4]

ต้นส้มมะปิด

  • ใบส้มมะปิด ใบเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 1 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบ[1]

ใบส้มมะปิด

  • ดอกส้มมะปิด ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยว โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[4]

ดอกส้มมะปิด

  • ผลส้มมะปิด ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมเหมือนส้มทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม น้ำเยอะ รสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ด ออกผลดกมาก1]

ผลส้มมะปิด

ส้มจี๊ด

สรรพคุณของส้มมะปิด

  1. น้ำจากผลมีรสเปรี้ยว นำมาผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยาบรรเทาอาการไอ (น้ำจากผล)[1],[4]
  2. ผลแก่ดองเค็มตากแห้ง ใช้รับประทานเป็นยาแก้ไอและแก้อาการเจ็บคอ (ผลแก่ดองเค็มตากแห้ง)[1],[4]
  3. น้ำจากผลนำมาผสมกับเกลือน้อย ใช้ดื่มเป็นยาขับเสมหะ (น้ำจากผล)[1],[4]
  4. เปลือกผลดิบใช้กินสด ๆ เป็นยาขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เปลือกผลดิบ)[1],[4]

ประโยชน์ของส้มมะปิด

  • ส้มมะปิดสามารถนำมารับประทานได้ทั้งเปลือก อีกทั้งน้ำส้มยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และกรดอินทรีย์อีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนเปลือกของส้มมะปิดห่าม ๆ ก็สามารถนำมารับประทานเป็นผักเหนาะหรือผักแนมจิ้มกับน้ำพริกได้อีกด้วย[4]
  • น้ำในผลมีรสเปรี้ยวจัด สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารแทนน้ำมะนาวได้ หรือใช้ปรุงรสน้ำพริก เพิ่มรสเปรี้ยวให้น้ำผลไม้[2],[4]
  • ส้มมะปิดทั้งเปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นแยมทาขนมปังได้ ในเวียดนามและฟิลิปปินส์จะนิยมนำมาแปรรูปโดยการแช่อิ่ม ดองเค็ม ตากแห้ง และใช้ในการปรุงอาหาร[2],[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ส้มจี๊ด (Som Jit)”.  หน้า 280.
  2. หนังสือผลไม้ 111 ชนิด : คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์).  “ส้มจี๊ด”.
  3. MULTILINGUAL MULTISCRIPT PLANT NAME DATABASE.  “Citrus madurensis Lour.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ars-grin.gov.  [20 ต.ค. 2014].
  4. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ส้มเคยขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th.  [20 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Luisa, –ki—, Ahmad Fuad Morad, Buyung Akram, Adrian Pratt)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด