10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสุวรรณพฤกษ์ ! (ขี้เหล็กอเมริกัน)

สุวรรณพฤกษ์

สุวรรณพฤกษ์ ชื่อสามัญ American Cassia[2]

สุวรรณพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna spectabilis (DC.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia spectabilis DC.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรสุวรรณพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กอเมริกา (เชียงใหม่)[1], ขี้เหล็กอเมริกัน ทองนพคุณ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น

ลักษณะของสุวรรณพฤกษ์

  • ต้นสุวรรณพฤกษ์ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 5-10 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 4-6 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาว ส่วนที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบสภาพอากาศเย็น น้ำปานกลาง และแสงแดดจัด[1],[2],[3]

ต้นสุวรรณพฤกษ์

ขี้เหล็กอเมริกา

  • ใบสุวรรณพฤกษ์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 10-15 คู่ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร แผ่นใบบางอ่อนเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเรียบ ส่วนท้องมีขนละเอียดนาบไปกับแผ่นใบ[1],[2],[3]

ใบสุวรรณพฤกษ์

  • ดอกสุวรรณพฤกษ์ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นรูปดอกหางนกยูง มีประมาณ 6-60 ดอก มีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด ขนาดไม่เท่ากัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เป็นหมัน 3 อัน และดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3]

ดอกสุวรรณพฤกษ์

  • ผลสุวรรณพฤกษ์ ผลมีลักษณะฝักรูปขอบขนานแคบหรือรูปทรงกระบอก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ฝักอ่อนเป็นสีเขียวสด เมื่อสุกจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเข้ม เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีกตามตะเข็บ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-70 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีสีน้ำตาล สามารถติดผลได้ตลอดทั้งปี[1],[2]

ผลสุวรรณพฤกษ์

สรรพคุณของสุวรรณพฤกษ์

  1. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบและก้านใบสุวรรณพฤกษ์ (ใช้อย่างเดียวหรือผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น) นำมาต้มอบไอน้ำ เพื่อรักษาอาการตัวเหลือง ดีซ่าน (ใบ)[1]
  2. ใบและก้านใบนำมาต้มอบไอน้ำ ช่วยรักษาคนติดฝิ่น (ใบ)[1]
  3. ใบและดอกใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ (ใบและดอก)[3]
  4. ใบและดอกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบและดอก)[3]
  5. ใช้เป็นยาถ่ายโลหิตระดูของสตรี โดยมากจะใช้ร่วมกับแก่นขี้เหล็ก และแก่นแสมทะเล (ใบและดอก)[3]
  6. ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (ใบและดอก)[3]
  7. หากมีอาการปวดตามข้อ ให้ใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาตุ๋นกับเป็ด ไก่ หรือเต้าหู้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) กินเป็นยา (ราก)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสุวรรณพฤกษ์

  • มีรายงานว่าเมื่อนำใบแห้งบดเป็นผงให้สัตว์ทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบอย่างอ่อน[1]

ประโยชน์ของสุวรรณพฤกษ์

  • ดอกและใบสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้[3]
  • เนื้อไม้สุวรรณพฤกษ์สามารถนำมาใช้ทำเป็นด้ามเครื่องมือ ไม้ถือ เครื่องเรือน ทำครก สาก หรือนำมาใช้ทำฟืนได้[3]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามที่สาธารณะ เจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป โตเร็ว จึงเหมาะปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่ที่ต้องการการดูแลต่ำ[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สุวรรณพฤกษ์”.  หน้า 64.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขี้เหล็กอเมริกัน”.  อ้างอิงใน : หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [07 ต.ค. 2014].
  3. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ขี้เหล็กอเมริกัน”.  อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [08 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Mauricio Mercadante, Isabelle Prondzynski, mauroguanandi)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด