สายตาเอียง อาการ สาเหตุ และการรักษาสายตาเอียง 5 วิธี !!

สายตาเอียง

สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นภาวะที่แสงจากวัตถุผ่านเข้าสู่ตาไม่รวมเป็นจุดเดียวเช่นคนปกติ แต่แสงในแต่ละแนว เช่น แนวตั้งฉาก แนวนอน แนวทแยงต่างก็แยกกันรวมกันเป็นจุดในแนวของตัวเอง โดยที่แนวตั้งก็รวมกันอยู่จุดหนึ่ง แนวนอนก็รวมกันอยู่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งในแต่ละแนวอาจมีจุดรวมแสงตกข้างหน้าจอประสาทตา ตรงจอประสาท หรือหลังจอประสาทตาก็ได้ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากกระจกตามีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน จึงทำให้มีการหักเหของแสงแตกต่างกันไป เป็นผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการสายตามัว มองเห็นไม่ชัด ต้องคอยหยีตาหรือเอียงคอเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น ในบางรายอาจเพ่งสายตาจนรู้สึกปวดเมื่อยตา ตาล้า หรือตาเพลีย และหากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะมองเห็นไม่ชัดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ง่ายอีกด้วย

โดยทั่วไปแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดมักจะอยู่ในแนวตั้งฉาก ซึ่งเป็นสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอที่พบได้ในผู้ป่วยสายตาเอียงทั่วไป และสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เลนส์ทรงกระบอก (Cylinder) ซึ่งมีกำลังเดียว (สายตาเอียงสม่ำเสมอมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ คือ แนวหนึ่งปกติ แต่อีกแนวหนึ่งอาจสายตาสั้นหรือสายตายาว หรือเป็นสายตาสั้นทั้ง 2 แนว หรือสายตาทั้ง 2 แนว แต่ต่างกำลังกัน หรืออาจเป็นแนวหนึ่งสายตาสั้น ส่วนอีกแนวหนึ่งเป็นสายตายาว) นอกจากนี้ยังมีสายตาเอียงอีกชนิดที่เรียกว่าสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นแนวที่มีกำลังหักเหสูงสุดและต่ำสุดไม่ตั้งฉากกัน มักเกิดในรายที่มีแผลเป็นที่กระจกตา และไม่อาจแก้ไขด้วยการใช้เลนส์ทรงกระบอก แต่ต้องใช้คอนแทคเลนส์หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์แทน

โดยส่วนใหญ่มักพบอาการสายตาเอียงเกิดขึ้นร่วมกับสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาผู้สูงอายุ เพราะจากสถิติในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่มีปัญหาสายตากว่า 30-50% มักจะมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย

สายตาเอียงแตกต่างจากสายตาสั้นหรือสายตายาวตรงที่ว่า ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาวจะมองเห็นภาพ ตัวเลข หรือตัวอักษรได้ชัดหรือมัวเท่า ๆ กันทุกตัว แต่ในผู้ที่มีสายตาเอียงนั้นจะมองเห็นภาพ ตัวเลข หรือตัวอักษรบางตัวได้ชัด บางตัวไม่ชัด เช่น เห็นเลข 1 ชัดเจนแม้ว่าตัวเลขนี้จะมีขนาดเล็กมาก แต่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเลข 2, 4, 7, 8 ได้ แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม

ภาพเปรียบเทียบระหว่างสายตาปกติ สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

สายตาปกติ

สายตาสั้น

สายตายาว

สายตาเอียง

สาเหตุสายตาเอียง

ส่วนใหญ่แล้วสายตาเอียงจะเกิดจากความผิดปกติของกระจกตาซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และจะไม่เป็นมากขึ้นตามอายุ (อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งมีผลทำให้ความเรียบของกระจกตาเปลี่ยนแปลงไป และทำให้มีการหักของแสงในแต่ละแนวแตกต่างกัน

สายตาเอียงเป็นความผิดปกติของตาที่เกิดจากความโค้งของกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ซึ่งนับเป็นความผิดปกติทางกายภาพ แม้ว่าการนอนอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ในที่มืดบ่อย ๆ จะก่อให้เกิดความเมื่อยล้าของดวงตาเนื่องจากการเพ่งสายตาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสายตาเอียงแต่อย่างใด

อาการสายตาเอียง

  • ผู้ป่วยที่สายตาเอียงมาก มักมาพบพบแพทย์ด้วยอาการตามัว มองเห็นได้ไม่ชัด โดยอาจเป็นลักษณะของสายตาสั้นหรือสายตายาวก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องคอยหยีตาหรือต้องเอียงคอเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีอาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตา เพราะการเพ่งไม่สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงมักไม่เพ่ง และปล่อยให้ตาพร่ามัวไป ในบางรายอาจมีพฤติกรรมชอบหันหน้าไปทางด้านใดด้านหนึ่งเพื่อหันไปหาแนวที่ไม่เอียงหรือเอียงน้อยกว่า เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น (ผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงมักจะชอบหยีตาอ่านหนังสือหรือดูอะไรในในระยะใกล้ ๆ เพื่อให้ภาพที่เกิดขึ้นบนจอประสาทตามีขนาดใหญ่และทำให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น ซึ่งต่างจากคนที่มีสายตาสั้นที่มองเห็นได้ชัดในระยะใกล้ ๆ โดยไม่ต้องคอยหยีตาหรือหรี่ตา เพราะระยะวัตถุที่ใกล้จะโฟกัสอยู่บนจอประสาทตาพอดี)
  • ในเด็กที่สายตาเอียงมาก อาจมาพบแพทย์ด้วยการมีท่าทางผิดปกติ เช่น เอียงศีรษะ เอียงคอ เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น (สายตาเอียงในเด็ก อาจส่งผลเสียต่อการเรียนได้ เนื่องจากเด็กจะไม่สามารถแยกตัวอักษรหรือตัวเลขได้ดีมากนัก)
  • ผู้ป่วยที่สายตาเอียงไม่มาก สายตาอาจจะยังดีอยู่ แต่อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเมื่อยตา ตาล้า หรือตาเพลีย หากต้องเพ่งสายตามองอะไรเป็นเวลานาน ๆ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ พิมพ์ดีด ใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น หรืออาจมาด้วยอาการปวดบริเวณหน้าผากจากการเพ่งสายตามากกว่าปกติ หรืออาจมาด้วยอาการมองใกล้ไม่ชัดเป็นบางครั้ง แต่เมื่อหลับตาหรือขยี้ตาก็จะกลับมาเห็นได้ชัดอีกครั้ง แต่ในบางรายก็อาจไม่ตระหนักถึงการมองไม่ชัดของตัวเองก็ได้ เนื่องจากผู้ป่วยเลือกโฟกัสกลับไปมาระหว่าง 2 แนว จึงทำให้มีโอกาสตาเมื่อยล้าได้ง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการอะไร หากไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้สายตาหรือเพ่งสายตาเป็นเวลานาน ๆ
  • ผู้ป่วยมักจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะได้ง่ายกว่าคนปกติเมื่อต้องอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือดูโทรทัศน์ที่มีลักษณะเป็นภาพ 3 มิติ เนื่องจากผู้ที่มีสายตาเอียงจะไม่สามารถจับภาพที่มีลักษณะเบลอ รวมถึงภาพที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วได้ชัดนัก

สายตาเอียงคือ

อาการสายตาเอียง

ทดสอบสายตาเอียง

วิธีที่ 1 ให้เรียงวงกลมทั้งสี่วงเป็นแนวเดียวกัน แล้วมองที่เส้นตรงสีดำภายในวงกลมทุกวง (ให้ทดสอบตาทีละข้างก่อนแล้วจึงทดสอบตาทั้งสองข้างพร้อมกัน จะสวมใส่แว่นหรือไม่ก็ได้) แล้วลองสังเกตดูว่าเห็นเส้นสีดำในวงกลมทุกวงได้ชัดเจนหรือไม่ หากพบว่ามองเห็นเส้นเหล่านี้เบลอในทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือหลายทิศทาง ก็แสดงว่าคุณอาจมีสายตาเอียง หากเป็นเช่นนี้แนะนำว่าควรไปพบจักษุแพทย์ครับ หรือหากมองเห็นเส้นเหล่านี้ผิดปกติไปแม้ในขณะที่สวมใส่แว่นตา ก็ควรนำแว่นตาไปตรวจเช็กด้วยเช่นกัน

ทดสอบสายตาเอียง

วิธีที่ 2 คล้ายกับวิธีแรก ซึ่งคนที่มีสายตาเอียงจะมองเห็นภาพในแต่ละแนวแกนชัดไม่เท่ากัน เช่น แกนตั้งชัดกว่าแกนนอน แกนนอนชัดกว่าแนวตั้ง แกนทแยงชัดกว่าแกนอื่น ๆ เป็นต้น (ถ้าสายตาปกติดีจะเห็นชัดเท่ากันทุกเส้น)

วัดสายตาเอียง

ทดสอบตาเอียง

วิธีที่ 3 จะเป็นการทดสอบด้วยการตอบคำถาม 3 ข้อ ถ้าคำตอบคือ “ใช่” อย่างน้อย 1 ข้อจาก 3 ข้อ คุณอาจมีค่าสายตาเอียง ได้แก่

  1. คุณหรี่ตาหรือเอียงคอเป็นประจำเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น ใช่หรือไม่ ?
  2. คุณมักมีอาการมึนศีรษะง่ายเมื่อใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ และไม่สามารถจับภาพที่มีลักษณะเบลอ รวมถึงภาพที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วได้ชัดเจนนัก ใช่หรือไม่ ?
  3. คุณมีอาการมองเห็นตัวเลขหรือตัวอักษรบางตัวชัด บางตัวไม่ชัด ใช่หรือไม่ ?

วิธีรักษาสายตาเอียง

  • หากสงสัยว่าสายตาเอียง หรือเมื่อมีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น มองเห็นภาพได้ไม่ชัด เมื่อยล้าตามาก หรือแม้แต่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคทางดวงตาและตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาลก่อนเสมอ ผู้ป่วยไม่ควรไปตัดแว่นใส่เองโดยที่ยังไม่ได้ไปพบจักษุแพทย์ (โปรดทราบว่า การเขียนหนังสือเอียง ๆ หรือดูโทรทัศน์แล้วชอบเอียงคอ อาจจะไม่ได้เกิดจากสายตาเอียงเสมอไป แต่อาจจะเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัว การมีสายตาสั้น ตลอดจนตาเหล่ก็ได้ จึงขอแนะนำว่าควรไปตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาลให้แน่ชัดต่อไป)
  • ในรายที่มีสายตาเอียงไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ถ้าสายตาเอียงมากจนตามัวให้รักษาด้วยการใส่แว่นชนิดเลนส์ทรงกระบอกที่มีกำลังในแนวใดแนวหนึ่ง เพื่อแก้ไขความโค้งที่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
    • ผู้ที่มีสายตาเอียงไม่ควรใช้เลนส์แว่นตาที่มีคุณภาพต่ำ เพราะจะทำให้ใส่ไม่สบายตา โดยเฉพาะเมื่อเหลือบมองภาพทางด้านข้าง ก่อนการซื้อควรสอบถามเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพให้ชัดเจนก่อนเสมอ ส่วนในผู้ที่มีสายตาเอียงเกินกว่า -2.00D ควรพิจารณาเลือกใช้เลนส์แว่นตาที่มีคุณภาพสูง
    • เลนส์ทรงกระบอกอาจทำให้ภาพที่เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้ไม่ยอมใส่แว่น ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัวไปสักระยะหนึ่ง
  • หากพบว่ามีสายตาเอียงมาก ๆ จนแก้ไขด้วยแว่นตาไม่ได้ ใส่แว่นแล้วเกิดอาการมึนงงหรือวิงเวียนศีรษะ มองเห็นภาพออกมาผิดเพี้ยนหรือบิดเบี้ยว ให้แก้ไขด้วยการใช้คอนแทคเลนส์ (Contact lens) หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัดด้วยมีด ตลอดจนการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ (Excimer laser) ซึ่งโดยทั่วไปควรจะทำเมื่ออายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป (ในปัจจุบันมีคอนแทคเลนส์ที่ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะเพื่อช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนแทคเลนส์รายวันสำหรับคนสายตาเอียงที่นอกจากจะช่วยแก้ไขค่าสายตาได้แล้ว ยังให้ความรู้สึกชุ่มชื้นสบายตา สะดวกสบาย และสะอาดถูกสุขอนามัยอีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเป็นกังวลกับปัญหาด้านสายตา รวมถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ทั้งอาการวิงเวียนศีรษะและอาการปวดศีรษะอีกต่อไป)
  • ในบางรายอาจรักษาสายตาเอียงด้วยการทำเลสิก (Lasik)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “สายตาเอียง (Astigmatism)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 947.
  2. หาหมอดอทคอม.  “สายตาเอียง (Astigmatism)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [15 เม.ย. 2016].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “สายตาเอียง”.  (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [15 เม.ย. 2016].

ภาพประกอบ : clinicaoftalmolaser.com, www.rutherfordeyecare.com, www.geocities.ws, www.huntingtoneyecare.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด