สาบเสือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสาบเสือ 26 ข้อ !

สาบเสือ

สาบเสือ ชื่อสามัญ Siam weed, Bitter bush, Christmas bush, Devil weed, Camfhur grass, Common floss flower, Triffid

สาบเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรสาบเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง (สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี), ฝรั่งเหาะ ฝรั่งรุกที่ (สุพรรณบุรี), ผัดคราด บ้านร้าง (ราชบุรี), หญ้าดงรั้ง หญ้าพระสิริไอสวรรค์ (สระบุรี), หญ้าดอกขาว (สุโขทัย ระนอง), หญ้าเลาฮ้าง (ขอนแก่น), สะพัง (เลย), มุ้งกระต่าย (อุดรธานี), หญ้าลืมเมือง (หนองคาย), มนทน (เพชรบูรณ์), เบญจมาศ (ตราด), หมาหลง (ชลบุรี-ศรีราชา), พายัพ พาทั้ง หญ้าเมืองวาย นองเส้งเปรง เซโพกวย ซิพูกุ่ย (เชียงใหม่), ไช้ปู่กย ชีโพแกว่ะ เชโพแกว่ะ (แม่ฮ่องสอน), รำเคย (ระนอง), ยี่สุ่นเถื่อน (สุราษฎร์ธานี), หญ้าเหมือน หญ้าเมืองฮ้าง ต้นลำฮ้าง (อิสาน), ต้นขี้ไก่ (ใต้), พาพั้งขาว (ไทใหญ่), จอดละเห่า (ม้ง), หญ้าเมืองวาย (คนเมือง), เฮียงเจกลั้ง ปวยกีเช่า (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของสาบเสือ

  • ต้นสาบเสือ จัดเป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง โดยมีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดาไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา และระบาดทั่วไปในเขตร้อนทั่วทุกทวีป (ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลีย ซึ่งจะพบได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขามากจนเหมือนทรงพุ่ม กิ่งก้านและลำต้นจะปกคลุมไปด้วยขนนุ่มอ่อน ๆ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร

ต้นสาบเสือ

  • ใบสาบเสือ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อแบบตรงกันข้าม ใบมีสีเขียวอ่อน ลักษณะของใบคล้ายรูปรีทรงรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ใบเรียวสอบเข้าหากัน มีขอบใบหยัก ที่ใบเห็นเส้นชัดเจน 3 เส้น ผิวใบทั้งสองด้านมีขนอ่อนปกคลุม ใบและก้านเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายกลิ่นสาบเสือ

ใบสาบเสือรูปสาบเสือ
  • ดอกสาบเสือ ออกเป็นช่อ มีสีขาวหรือสีฟ้าอมม่วง มีดอกย่อยประมาณ 10-35 ดอก โดยดอกวงนอกจะบานก่อนดอกวงใน ที่กลีบดอกหลอมรวมกันเป็นหลอด

ดอกสาบเสือ

  • ผลสาบเสือ เป็นผลขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายรูปห้าเหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ที่ปลายผลมีขนสีขาว ช่วงพยุงให้ผลและเมล็ดสามารถปลิวตามลมได้

สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “สาบเสือ” ก็เพราะว่าดอกของสมุนไพรชนิดนี้จะไม่มีกลิ่นหอมเลย แต่จะมีแต่กลิ่นสาบคล้ายสาบเสือ คนโบราณเวลาวิ่งหนีสัตว์ดุร้ายจะวิ่งเข้าดงสาบเสือเพื่อช่วยอำพรางให้ปลอดภัย เพราะสัตว์จะไม่ได้กลิ่นคน และยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของสรรพคุณทางยามากมาย โดยส่วนที่นำมาก็มีทั้งจากต้น ใบ ดอก ราก เป็นต้น

สรรพคุณของสาบเสือ

  1. ดอกสาบเสือมีสรรพคุณช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (ดอก)
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
  3. ช่วยแก้ตาฟาง ตาแฉะ (ใบ)
  4. ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอก)
  5. ดอกช่วยแก้ไข้ (ดอก)
  1. รากสาบเสือใช้ผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยรักษาไข้ป่าได้ (ราก)
  2. ดอกใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ดอก)
  3. ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ต้น)
  4. รากสาบเสือนำมาใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคกระเพาะได้ (ราก)
  5. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)
  6. ใบนำมาใช้ต้มอาบช่วยแก้ตัวบวมได้ (ใบ)
  7. ช่วยแก้บวม (ต้น)
  8. ช่วยดูดหนอง (ต้น)
  9. สารสกัดจากกิ่งและใบมีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Bacillus subtilis ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนอง (ใบ)
  10. ช่วยแก้พิษน้ำเหลือง (ใบ)
  11. ช่วยถอนพิษแก้อักเสบ (ใบ)
  12. ใบใช้ในการห้ามเลือด ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกและขยี้ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล ก็จะช่วยห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะสาบเสือมีสารสำคัญหลายอย่างที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัว และไปช่วยกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วยิ่งขึ้น แต่อาจจะแสบมาก ๆ แต่เมื่อแผลหายแล้วจะช่วยป้องกันแผลเป็นได้อีกด้วย (ใบ)
  13. ใช้สมานแผล ช่วยป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น (ใบ)
  14. ช่วยรักษาแผลเปื่อย (ใบ)
  15. ทั้งต้นของสาบเสือ ใช้เป็นยาแก้บาดทะยัก (ทั้งต้น)
  16. ใบสาบเสือ มีสารที่ช่วยยับยั้งการงอกและชะลอการเจริญเติบโตของพืชอื่น ๆ (ใบ)

ประโยชน์ของสาบเสือ

  1. ช่วยแก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ ด้วยการใช้ใบสาบเสือนำมาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำ ไม่นานจะทำทำให้เส้นผมดูดกดำขึ้น (ใบ)
  2. ใบสาบเสือมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง ฆ่าแมลงได้ (ใบ)
  3. ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเน่าเสียได้ ด้วยการเอาทั้งต้นและใบใส่ลงไปแช่ในบ่อน้ำเน่า เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์น้ำจะค่อย ๆ ใสขึ้นเอง (ต้น, ใบ)
  4. ต้นสาบเสือมีกลิ่นแรง การใช้ในปริมาณมากนอกจากจะนำไปใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงแล้ว การใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมได้ดีอีกด้วย (ทั้งต้น)
  5. นอกจากนี้เรายังใช้ต้นสาบเสือเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ ถ้าหากอากาศไม่แล้ง ต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอกนั่นเอง

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร, เว็บไซต์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), เว็บไซต์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด