สันพร้าหอม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสันพร้าหอม 25 ข้อ !

สันพร้าหอม

สันพร้าหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupatorium fortunei Turcz. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium stoechadosmum Hance) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]

สมุนไพรสันพร้าหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเสือมอบ (ราชบุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี), เกี๋ยงพาใย (ภาคเหนือ), ซะเป มอกพา หญ้าลั่งพั้ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พอกี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หลานเฉ่า เพ่ยหลาน (จีนกลาง), ผักเพี้ยฟาน, ส่วนกรุงเทพฯ เรียก “สันพร้าหอม” เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของสันพร้าหอม

  • ต้นสันพร้าหอม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีอายุได้หลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 70-120 เวนติเมตร โคนต้นเรียบเป็นมัน เกลี้ยง ตามลำต้นเป็นร่อง แต่จะค่อนข้างเกลี้ยงเล็กน้อย รากแก้วใต้ดินแตกแขนงมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและชุ่มชื้น ความชื้นปานกลาง มีแสงแดดส่องปานกลาง[1],[2],[5] พบขึ้นบริเวณตามหุบเขาหรือลำธาร และพบปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน[3]

ต้นสันพร้าหอม

  • ใบสันพร้าหอม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว หลังใบมีขนปกคลุม เส้นใบคล้ายรูปขนนก เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม ใบบริเวณโคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าและแห้งง่าย[1],[2]

ใบสันพร้าหอม

  • ดอกสันพร้าหอม ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น คล้ายซี่ร่ม ช่อดอกยาวได้ประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ก้านหนึ่งมีประมาณ 10 ช่อ เรียงติดกัน 2-3 แถว แถวด้านนอกมีขนาดสั้นกว่าแถวด้านใน ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีสีแดงหรือสีขาว ดอกมีขนาดเล็ก ดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ใจกลางดอก[1],[2]

ดอกสันพร้าหอม

รูปสันพร้าหอม

รูปดอกสันพร้าหอม

  • ผลสันพร้าหอม ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแคบหรือรูปทรงกระบอก ผลเป็นสีดำ มีสัน 5 สัน ผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อสุกผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอมดำ[1],[2]

สรรพคุณของสันพร้าหอม

  1. ทั้งต้นมีรสเผ็ด มีกลิ่นหอม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อม้ามและกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)[2]
  2. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง (ทั้งต้น)[1] ทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผง ทำเป็นชาสำหรับชงดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้เลือดไหลเวียนดี และช่วยแก้อาการวิงเวียน (ทั้งต้น)[5]
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)[2] ใช้เป็นยาแก้พิษเบื่ออาหาร (ใบ)[3]
  4. ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ใบ)[4]
  5. ช่วยบำรุงโลหิต (ทั้งต้น)[5]
  1. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อนจัด ไข้แดด (ทั้งต้น)[1],[2] ส่วนตำรับยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้แดด ระบุให้ใช้ใบสันพร้าหอม 5 กรัม, ใบสะระแหน่ 5 กรัม, ใบบัวหลวง 5 กรัม, พิมเสนต้น 5 กรัม, ปี่แปะเอี๊ยะ 30 กรัม, โหล่วกิง 30 กรัม และเปลือกฟัก 60 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)[2]
  3. ตำรับยาแก้หวัด ระบุให้ใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด พอเดือดหรี่ไฟลง ต้มต่ออีกประมาณ 15 นาที ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้วประมาณ 125 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา หรือนำมาบดเป็นผงทำเป็นชาชงดื่ม (ทั้งต้น)[5]
  4. ใช้บดกับน้ำ เติมน้ำผึ้งเล็กน้อยเป็นยาแก้ไอ บรรเทาอาการหอบหืดในเด็กและผู้ใหญ่ (ทั้งต้น)[5]
  5. ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)[1]
  6. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ปากแห้ง น้ำลายเหนียว (ทั้งต้น)[2]
  7. ช่วยแก้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น (ทั้งต้น)[1]
  8. ใช้ขยี้ดมแก้ลมชัก แก้ลมมะเฮ็ดคุด (ปวดไม่หาย) ซึ่งจะช่วยทำให้สดชื่นรู้สึกปลอดโปร่งและช่วยกระจายเลือดลมไปเลี้ยงสมองได้ดี การใช้สมุนไพรชนิดนี้จะช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้อาการวิงเวียนและอาการปวดศีรษะลดลงด้วย (ทั้งต้น)[5]
  9. ช่วยแก้ลมขึ้นจุกเสียด แก้ลมขึ้นเบื้องสูง แน่นหน้าอก (ทั้งต้น)[2],[5]
  10. ใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[1],[2]
  11. ใบใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับลาบ นอกจากใบจะอุดมไปด้วยวิตามินซีแล้ว หมอเมืองยังเชื่อว่าสันพร้าหอมเป็นยาปรับธาตุ เป็นทั้งยาช่วยระบายและแก้อาการท้องร่วงในเวลาเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำมากินกับน้ำพริก ส่วนชาวเขาทางภาคเหนือจะใช้ยอดอ่อนกินเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกเช่นกัน (ใบ)[5]
  12. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ปวดกระเพาะ กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (ทั้งต้น)[2]
  13. ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[2]
  14. ใช้เป็นยาแก้สตรีประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ หรือใช้จับเลือดเสียหลังการคลอดบุตรของสตรี ให้ใช้ราก 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด พอเดือดหรี่ไฟลงต้มต่อไปอีก 15 นาที ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้วประมาณ 125 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา (ราก[1],[5], ทั้งต้น[2])
  15. ทั้งต้นใช้เป็นยากระตุ้นความกำหนัด (ทั้งต้น)[1]
  16. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษ (ราก)[1]
  17. หมอยาอีสานจะนิยมนำมาใช้กับแม่หลังคลอดในการทำเป็นยาอบต้มกินเพื่อบำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับน้ำออกจากร่างกาย ลดอาการบวมน้ำ ช่วยทำให้เหงื่อออก และใช้เป็นยาขับประจำเดือนในหญิงที่ประจำเดือนผิดปกติ (ทั้งต้น)[5]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาสดให้ใช้ครั้งละ 10-30 กรัม ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ[2]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้หย่อนไม่มีกำลัง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสันพร้าหอม

  1. ทั้งต้นพบน้ำมันระเหยประมาณ 1.5-2% ในน้ำมันพบสารหลายชนิด เช่น P-cymene, Neryl acetate, 5-Methylthymol ether, Nerylacetate และยังพบสาร Coumarin, O-Coumaric acid, Thymohydroquinone ส่วนใบพบสาร Euparin, Eupatolin gxH เป็นต้น[2]
  2. น้ำมันระเหยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ได้ เช่น สาร Neryl acetate, 5-Methyl[2]
  3. จากการทดสอบทางพิษวิทยา เมื่อนำสันพร้าหอมทั้งต้นมาให้แพะหรือวัวกินติดต่อกันเป็นเวลานาน พบว่าจะเกิดการกระทบที่ตับและไต ทำให้แพะหรือวัวเป็นเบาหวาน หรือถ้าใช้สารที่สกัดได้จากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ มาฉีดเข้าหนูทดลอง จะทำให้หนูทดลองมีการหายใจช้าลง การเต้นของหัวใจช้าลง อุณหภูมิในร่างกายของหนูลดลง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และมีอาการแสดงคล้ายกับเป็นโรคเบาหวาน[2]

ประโยชน์ของสันพร้าหอม

  • ใช้เป็นพืชอาหารและสมุนไพร โดยใบใช้กินกับลาบ น้ำพริก หรืออาหารอื่น ๆ[3]
  • ใช้เป็นส่วนผสมของแป้งหอม ยาสระผมหอมบำรุงผม ธูปหรือเครื่องหอมอื่น ๆ[5]
  • คนปกาเกอะยอรู้ดีว่าธรรมชาติของสันพร้าหอมจะยิ่งหอมมากขึ้นเมื่อแห้ง จึงนิยมนำมาห่อด้วยใบตองที่ทาด้วยน้ำมันมะพร้าวไว้แล้วนำมาย่างไฟจะทำให้กลิ่นหอมมาก ซึ่งคนปกาเกอะยอจะนิยมนำมาทัดหูหรือนำมาห้อยกับสายสร้อยคล้องคอ นอกจากนี้ยังนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อดึงดูดผีบ้านผีเรือนให้คอยปกป้องรักษาบ้านที่อยู่อาศัยและผู้อาศัย หรือนำมาใช้ห้อยคอเพื่อความเป็นสิริมงคลป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ[5]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป พ่อค้านิยมนำมาปลูกไว้ในกระถางเพื่อขายเป็นการค้า[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สันพร้าหอม”.  หน้า 774-775.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สันพร้าหอม”.  หน้า 550.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สันพร้าหอม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [11 ต.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร.  (สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ).  “สันพร้าหอม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.apoc12.com.  [11 ต.ค. 2014].
  5. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร.  “ต้นสันพร้าหอม”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Polotaro, JardinsLeeds, kyoshiok), flowers.la.coocan.jp

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด