สบู่แดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสบู่แดง 15 ข้อ ! (ละหุ่งแดง)

สบู่แดง

สบู่แดง ชื่อสามัญ Bellyache bush

สบู่แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha gossypifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

สมุนไพรสบู่แดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สบู่แดง ละหุ่งแดง (ภาคกลาง), สลอดแดง สบู่เลือด หงษ์แดง (ปัตตานี), มะหุ่งแดง สีลอด ยาเกาะ เยาป่า เป็นต้น[1],[3],[4]

ทำความเข้าใจกันก่อน ! : สมุนไพรสบู่แดง ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นไม้คนละชนิดกันกับ “สบู่เลือด” (Stephania pierrei Diels) และไม่ได้อยู่ในสกุลหรือวงศ์เดียวกัน เพียงแต่มีชื่อเรียกที่เหมือนกันว่า “สบู่เลือด

ลักษณะของสบู่แดง

  • ต้นสบู่แดง จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเทา ลำต้นแผ่กิ่งก้านออกไป พบได้ทั่วไป เป็นไม้ที่ชอบอากาศแห้ง กลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและระบายน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ[1],[3],[4] โดยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบต้นสบู่แดงได้ทั่วทุกภาค บริเวณเส้นศูนย์สูตรเขตร้อน[6]

ลักษณะต้นสบู่แดง

ต้นสบู่แดง

  • ใบสบู่แดง เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายฝ่ามือ มีเว้าลึกประมาณ 2-3 เว้า ก้านใบ ใบอ่อน และเส้นใบมีสีแดง ใบอ่อนมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวปนแดงและมีขน[1],[3]

ใบสบู่แดง

  • ดอกสบู่แดง ดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด เป็นช่อดอกแบบ Cyathium กลีบดอกมีสีแดงเข้ม ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ แต่ละช่อย่อยจะมีดอกตัวเมียอยู่ 1 ดอก ที่เหลือเป็นดอกตัวผู้[1],[3],[4]

ดอกสบู่แดง

  • ผลสบู่แดง ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว มี 3 พู ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีเหลือง เมื่อแก่เต็มที่จะแตก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 3 เมล็ด[1],[3],[4]

ผลสบู่แดง

รูปสบู่แดง

สรรพคุณของสบู่แดง

  1. มีรายงานว่ารากมีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ซึ่งชาวเกาะคอสตาริกาได้ใช้รากสบู่แดงในการรักษาโรคมะเร็ง (ราก)[5],[6]
  2. ใบสบู่แดงใช้ต้มกินช่วยแก้ไข้ ลดไข้ (ใบ)[5],[6]ลักษณะสบู่แดง (เมล็ด)[5]
  3. ก้านใบใช้ลนไฟ เป่าเข้าหูจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ (ก้านใบ)[4]
  4. ช่วยรักษาโรคหืด (ราก)[5]
  5. เมล็ดสบู่แดงมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน
  6. ใบนำมาใช้ต้มกินแก้อาการปวดท้องได้ (ใบ)[3],[5]
  7. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการนำใบสบู่แดงมาต้มกิน หรือจะใช้เมล็ดนำมาเผาให้สุกแล้วกินเป็นยาถ่าย ยาระบายก็ได้เช่นกัน แต่ควรใช้แต่น้อย (ใบ, เมล็ด)[3],[5],[6]
  8. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง (น้ำมันในเมล็ด)[5]
  9. ช่วยขับพยาธิ (น้ำมันในเมล็ด)[5]
  10. ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย (น้ำมันในเมล็ด)[5]
  11. ใบใช้ตำพอกแก้ผื่นคัน (ใบ)[3],[5]
  12. ใบใช้ตำพอกช่วยแก้ฝี (ใบ)[5]
  13. เมล็ดนำมาตำใช้พอกทาแผลโรคเรื้อน (เมล็ด)[3],[5]
  14. ใบนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ (ใบ)[4]

พิษของสบู่แดง

  • น้ำยางใสของต้นสบู่แดงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน อักเสบบวม หรือพองเป็นตุ่มน้ำใส หากเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ หรืออาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ วิธีการแก้พิษเบื้องต้น หากถูกผิวให้รีบล้างด้วยน้ำสบู่ ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ถ้าหากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำหลาย ๆ รอบ แล้วใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หยอดตา แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว[2]
  • เมล็ดมีสารพิษ ออกฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ปวดศีรษะ ม่านตาขยาย เลือดออกใน Retina มีอาการสั่น ท้องเดิน ปวดท้อง จุกเสียด ทำให้อ่อนเพลีย อาจถ่ายเป็นเลือด มีความดันโลหิตต่ำ ผิวหนังแดง มีอาการชัก เป็นอัมพาต และอาจมีอาการเคลิ้มฝันในเด็กได้ สำหรับวิธีการแก้พิษให้พยายามทำให้อาเจียน แล้วรับประทานบาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ หลังจากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องให้เร็วที่สุด โดยให้รับประทานยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น ดีเกลือ เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ และให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำ รับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนตอย่างโซดามินต์วันละ 5-15 กรัม เพื่อทำให้ปัสสาวะมีสภาพเป็นด่าง ลดการอุดตันต่อทางเดินในไตเนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่เกาะรวมตัวกัน และในระหว่างนี้ให้รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสูง อย่างเช่น น้ำหวาน งดอาหาร ไขมัน เพื่อลดอาการตับอักเสบ (และให้ระวังเรื่องอาการไตวายและหมดสติด้วย)[2]
  • น้ำมันในเมล็ดมีสารพิษอย่างแรงอาจทำให้อาเจียนและมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง[6]

ประโยชน์ของสบู่แดง

  • สามารถนำมาใช้ในการย้อมสีได้ โดยจะให้สีเชียวหรือสีน้ำตาลที่มีความคงทนต่อการซักและจากแสง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ.  “สบู่แดง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [10 พ.ย. 2013].
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [10 พ.ย. 2013].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [10 พ.ย. 2013].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [10 พ.ย. 2013].
  5. เดอะแดนดอตคอม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [10 พ.ย. 2013].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [10 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steve & Alison1, Altagracia Aristy, Vietnam Plants & The USA. plants, IITA Image Library, jlcrucif, SierraSunrise, Russell Cumming)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด