60 วิธีดับกลิ่นเท้า มีกลิ่นเท้าเหม็นทำไงดี ??

กลิ่นเท้า

กลิ่นเท้ายังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลาย ๆ คน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบกับปัญหา “เท้าเหม็น” กันมาบ้างแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะมีกลิ่นเหม็นมากหรือน้อยเท่านั้นเอง อย่าคิดว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะมันอาจทำให้คุณสูญเสียความมั่นใจ และสูญเสียโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า กลิ่นเท้าไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่มันยังส่งผลไปถึงคนรอบข้างคุณอีกด้วย

ถ้าเท้าของคุณเป็นต้นเหตุของกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ทุกวันติดต่อกันไม่ต้องปวดใจอีกต่อไป วันนี้เรามีสารพัดวิธีที่จะช่วยดับกลิ่นเท้าของคุณได้อย่างชะงัดหลายวิธีด้วยกันมาให้คุณเลือกใช้ได้ตามสะดวก

สาเหตุของกลิ่นเท้า

  1. ต่อมเหงื่อที่เท้า ปกติแล้วเท้าของเราจะมีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่า 250,000 ต่อม และเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากเมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้เหงื่อที่ออกมาก็เพื่อทำให้ผิวเท้าของเราอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น อีกทั้งต่อมเหงื่อที่เท้ายังสามารถผลิตเหงื่อออกมาได้ตลอดเวลาอีกด้วย โดยสามารถผลิตเหงื่อออกมาได้มากถึงสัปดาห์ละ 4.5 ลิตรเลยทีเดียว และนี่เองจึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกลิ่นเท้า
  2. สวมใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิดมากจนเกินไป เช่น รองเท้ากีฬา
  3. สวมใส่ถุงเท้าที่ไม่ใช่ผ้าฝ้าย 100% เพราะจะทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี จนเกิดกลิ่นอับชื้นได้
  4. การมีขนที่ข้อนิ้วเท้าหรือหลังเท้าก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นอับชื้นได้เช่นกัน
  5. เกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของถุงเท้า ถุงน่อง และรองเท้า และการใส่ซ้ำ ๆ โดยไม่ทำความสะอาด
  6. สวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าในขณะที่เท้าหรือถุงเท้า/รองเท้า เปียกชื้นอยู่
  7. เกิดจากการมีแผลเรื้อรังที่เท้า
  8. เกิดจากโรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Micrococcus Sedentarius ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ๆ ทำให้บริเวณเท้าเกิดมีเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก จนเกิดความอับชื้น และส่งผลทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้าเปื่อยยุ่ย ทำให้มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งมีสภาพเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เท้าเกิดเป็นหลุมเล็ก ๆ และเกิดกลิ่นเหม็นได้ เนื่องจากผลของการย่อยผิวหนังที่ฝ่าเท้าของแบคทีเรียทำให้ได้สารกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น โดยโรคเท้าเหม็นนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเพศชายมากถึง 95% เนื่องจากผู้ชายมีเหงื่อออกมากกว่าผู้หญิง และพบได้บ่อยในภูมิประเทศเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร เนื่องจากมีภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

วิธีแก้เท้าเหม็น

  1. รักษาความสะอาดของเท้า อย่าเพียงแค่ใช้น้ำเปล่าหรือน้ำสบู่จากการอาบน้ำให้ไหลผ่านเท้าเท่านั้น แต่คุณควรล้างและถูสบู่ให้ทั่วเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามง่ามนิ้ว ตาตุ่ม และส้นเท้า เสร็จแล้วก็เช็ดเท้าให้แห้ง บำรุงด้วยครีมเข้มข้นหรือปิโตรเลียมเจลเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังบริเวณเท้า แต่สิ่งที่ควรระวังโดยเฉพาะเวลาเร่งรีบ คือ อย่าใส่ถุงเท้า ถุงน่อง หรือรองเท้า ทั้ง ๆ ที่ครีมซึ่งชโลมลงไปนั้นยังไม่ซึมเข้าสู่ผิวดี เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความอับชื้นและทำให้เกิดกลิ่นได้
  2. ขัดเท้า ขัดส้นเท้าและซอกนิ้วทุกนิ้วให้เกลี้ยงด้วยที่ขัดเท้าร่วมกับฟุตสครับ โดยขัดวนเป็นวงกลมนวดไปให้ทั่วเท้า โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่หยาบหนากว่าส่วนอื่น หรือจะเลือกใช้หินพัมมิส (Pumice Stone) นำมาขัดบริเวณผิวหนังที่แข็งกระด้างด้วยก็ได้ ขัดเสร็จแล้วก็ให้ล้างออกด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เช็ดเท้าให้แห้ง แล้วทาครีมบำรุงให้ทั่วเท้า ให้ทำสัปดาห์ละครั้ง วิธีนี้จะช่วยทำให้เท้าของคุณสะอาดมากขึ้นและยังเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดไปในตัวอีกด้วย
    ขัดเท้า
  3. เลือกใช้สบู่ที่ช่วยดับกลิ่นได้ เช่น สบู่เดทตอล สบู่เบนเนท สบู่อิงอร สบู่มาดามเฮง ฯลฯ นำมาฟอกล้างทำความสะอาดเท้าแทนการใช้สบู่อาบน้ำทั่วไป หรือจะล้างเท้าด้วยทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil), น้ำมันสะระแหน่, น้ำมันยูคาลิปตัส+เกลือทะเล ก็ช่วยระงับกลิ่นเท้าได้ดี เพราะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ควรระวังในการใช้หากคุณมีผิวที่แพ้ง่าย และอย่าใช้น้ำมันสะระแหน่ หากคุณกำลังตั้งครรภ์
  4. ทำความสะอาดและดูแลสุขภาพเล็บ ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และควรพิถีพิถันกับการตัดเล็บให้เป็นแนวตรงเพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในเท้าได้ ส่วนขี้เล็บตามซอกเล็บโดยเฉพาะซอกเล็บในนิ้วโป้งเท้า ก็ควรจัดการทำความสะอาดให้เรียบ อย่าให้เหลือ และควรล้างเท้าแล้วซับให้แห้งทุกครั้ง
  5. ซักถุงเท้า ถุงน่อง และรองเท้าอยู่เสมอ เรื่องนี้สำคัญมาก คุณควรหมั่นซักทำความสะอาดและตากให้แห้ง เพราะแบคทีเรียนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่น สำหรับการซักรองเท้าให้สะอาด หากเป็นรองเท้าผ้าใบ ก่อนอื่นให้นำไปแช่ในน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อเดทตอลทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ นำไปตากแดดให้แห้งสนิท เพราะถ้าตากไม่แห้งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ง่าย ส่วนถุงเท้าที่ใส่แล้วก็อย่าใส่ซ้ำ เมื่อถอดแล้วก็ให้รีบนำไปซักและตากให้แห้งทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรีย โดยก่อนนำถุงเท้าไปซัก ให้นำไปแช่ในน้ำร้อนก่อนประมาณ 30 นาที เพื่อเป็นการช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและทำให้คราบสกปรกหลุดออกมาได้ง่าย แล้วซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ น้ำสุดท้ายคุณอาจจะแช่น้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมก่อนก็ได้ แล้วนำไปตากให้แห้งสนิท
  1. ตากแดดและผึ่งลม นอกจากการซักทำความสะอาดตามปกติแล้ว ถ้าวันไหนที่คุณว่างหรือไม่ได้ออกไปไหนแต่ขี้ดันเกียจซักรองเท้าขึ้นมา ก็ให้นำรองเท้าไปตากแดดจัด ๆ โดยให้ตากบ่อย ๆ หรือจะตากทุกวันเลยก็ได้ ก็จะสามารถช่วยกำจัดกลิ่นในรองเท้าได้มากเลยทีเดียว
  2. รักษาอนามัยในตู้เก็บรองเท้า อีกเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะต่อให้เป็นรองเท้าที่คุณเพิ่งซื้อมาใหม่ ๆ ก็ตาม เมื่อนำมาเก็บไว้ในตู้รองเท้าที่หมักหมมมาเป็นเวลานานแล้วละก็ รองเท้าคู่ใหม่ก็อาจสร้างปัญหาให้คุณได้เช่นกัน ดังนั้นคุณไม่ควรปล่อยให้ตู้เก็บรองเท้าของคุณเกิดการหมักหมม ควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดตู้อยู่เสมอ หรือจะใช้สมุนไพรดับกลิ่นร่วมด้วยก็ได้ โดยการนำไปแขวนไว้ในตู้รองเท้าหรือใส่ไว้ในรองเท้าเลยก็ได้ ส่วนรองเท้าที่ยังเปียกชื้นอยู่ก็ควรนำไปตากให้แห้งก่อนนำมาเก็บเข้าตู้
  3. ขนาดถุงเท้าและรองเท้า ควรเลือกสวมใส่ในขนาดเหมาะสม เมื่อใส่แล้วไม่รู้สึกคับหรืออับจนเกินไป เพราะมันอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเล็บขบ แผล ตาปลา และทำให้การระบายอากาศภายในเท้ามีน้อย ซึ่งเหล่านี้เองเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นอับได้
  4. ชนิดของถุงเท้า ควรเลือกใช้แบบที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ โดยเฉพาะถุงเท้าที่เป็นผ้าฝ้าย 100% เพราะจะช่วยระบายอากาศได้ดีกว่า และไม่ควรเลือกใช้ถุงเท้าที่หนาจนเกินไป ส่วนถุงเท้าที่ทำจากสัตว์จะอุ่นเกินไป ซึ่งจะไม่เหมาะกับเท้าที่มีเหงื่อออกมาก ส่วนถุงเท้าไนลอนก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน
  5. ใส่ถุงเท้าทุกครั้ง หากต้องสวมใส่รองเท้าปิดหัวปิดท้าย คุณควรใส่ถุงเท้าทุกครั้ง เพราะถุงเท้าจะช่วยซับเหงื่อ ทำให้เท้ามีความอับชื้นน้อยลง จึงช่วยลดการเกิดกลิ่นเท้าได้
  6. ถอดรองเท้าบ่อย ๆ ในระหว่างวันถ้าคุณไม่ได้ออกไปนอกออฟฟิศหรือมีงานอะไรที่เป็นทางการแล้วละก็ ให้ลองถอดถุงเท้ารองเท้าเพื่อให้เท้าได้เปลือยเปล่าบนรองเท้าแตะหรือรองเท้าลำลองบ้าง วิธีนี้จะช่วยทำให้เท้าและรองเท้าแห้ง และลดการเกิดกลิ่นอับได้
  7. สับเปลี่ยนรองเท้าและถุงเท้าที่สวมใส่ทุกวัน คุณควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2-3 คู่ เพื่อใช้ใส่สลับกัน ส่วนคู่ที่ไม่ได้ใส่ก็ให้นำไปผึ่งแดดไว้ให้แห้ง
  8. เปลี่ยนรองเท้าใหม่ (คิดซะว่าซื้อมาใส่สลับกับคู่เก่าก็ได้) ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามเลือกซื้อรองเท้าที่ไม่ปิดมิดชิดทุกส่วน หรืออาจเลือกรองเท้าที่มีวัสดุที่ช่วยระงับกลิ่นได้ เช่น ส้นรองเท้าที่ทำมาจากยางผสมผงถ่านที่ช่วยระงับกลิ่น หรือเลือกใช้รองเท้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี (เห็นเขาว่ามันก็เวิร์กดีนะ) และหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าที่ทำจากหนังเทียมหรือหนังผสม เพราะเมื่อมีเหงื่อที่เท้า จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ง่าย ๆ แต่คุณสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการสวมใส่รองเท้าหนังหรือรองเท้าพลาสติกแทน
  9. แผ่นรองพื้นรองเท้า ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหนัง คุณควรหาซื้อแผ่นรองพื้นรองเท้าอันใหม่มาสลับใช้กับอันเก่า เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแผ่นรองเท้าได้บ่อย ๆ เพราะแผ่นรองพื้นรองเท้านี้แหละเป็นตัวสะสมแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นชั้นดี หรือถ้าอันเก่าชำรุดหรือขาดแล้วก็ซื้อแผ่นรองพื้นรองเท้าใหม่ได้เลย
  10. เปลี่ยนถุงเท้าใหม่ ถ้าถุงเท้าคู่ไหนหรือชุดไหนที่คุณใส่มานานแล้ว ก็ควรทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่ซะบ้าง และให้ลองสังเกตดูว่าถุงเท้าคู่ไหนหรือชุดไหนที่คุณเพิ่งซักตากแห้งเสร็จใหม่ ๆ แล้วยังมีกลิ่นอับ ๆ ติดอยู่ ถุงเท้าชุดนั้นก็อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าที่ตามมาหลอกหลอนคุณอยู่ก็ได้
  11. แผ่นสมุนไพรดับกลิ่นเท้า เป็นแผ่นรองพื้นรองเท้าที่มีหน้าที่ช่วยซับเหงื่อ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และยับยั้งการเกิดกลิ่นได้
    แผ่นรองเท้าสมุนไพร
  12. ถุงเท้าทองแดง (Copper sock) มันคืออะไร? เนื่องจากทองแดงนั้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียไม่ให้เจริญเติบโตได้ และจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเราก็สามารถผลิตเส้นใยที่มีส่วนผสมของทองแดงได้แล้ว จึงได้มีการนำมาผลิตเป็นผ้าหรือถุงเท้าที่มีส่วนผสมของทองแดงเพื่อช่วยในการยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่นได้
    ถุงเท้าทองแดง
  13. หลีกเลี่ยงการสวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าในขณะที่ยังไม่แห้งสนิท และหลีกเลี่ยงการสวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าในขณะที่เท้าของคุณยังเปียกชื้นอยู่
  14. รักษาเท้าให้แห้งอยู่เสมอ ข้อนี้สำคัญมาก คุณควรดูแลรักษาเท้าไม่ให้เปียกหรืออับชื้น ถ้าเท้าเปียกชื้นก็รีบหาอะไรมาเช็ดให้แห้ง แล้วใช้แป้งมาโรยและทาให้ทั่วเท้าอยู่เสมอ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันความอับชื้นได้
  15. ผงแป้งหรือผงดับกลิ่นเท้า อีกหนึ่งสิ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพราะมันสามารถช่วยระงับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเท้าได้ โดยให้นำมาทาให้ทั่วเท้าก่อนใส่ถุงเท้าหรือรองเท้า หรือจะนำไปโรยในรองเท้าให้ทั่วก่อนสวมใส่ด้วยก็ได้ เช่น แป้งฝุ่นทั่วไป แป้งเด็ก แป้งข้าวโพด แป้งตราเต่าเหยียบโลก แป้งโยคี (แป้งโยคีเห็นว่าดับกลิ่นเหม็นได้ชะงัดนัก ภาพจาก : pramool.com) ซึ่งมันจะช่วยดูดซึมความชื้นจากเหงื่อได้ดีกว่าการใส่ถุงเท้าเพียงอย่างเดียว หรือจะเลือกใช้แป้งโรยเท้าโดยเฉพาะก็ได้ เช่น ผงดับกลิ่นเท้าตราอัศวินขี่ม้าขาว
    ผงดับกลิ่นเท้าแป้งโรยเท้า
  16. สารส้มละลายน้ำ (สเปรย์สารส้ม) หลังอาบน้ำหรือทำความสะอาดเท้าเสร็จแล้ว ให้ใช้สารส้มละลายน้ำแบบสเปรย์ นำมาฉีดลงบนบริเวณเท้าแล้วรอให้แห้ง จากนั้นทาด้วยแป้งทับอีกทีหนึ่ง หรือจะเลือกซื้อสเปรย์สารส้มแบบสำเร็จรูปมาใช้เลยก็ได้
  17. สเปรย์สมุนไพรดับกลิ่นเท้า เช่น สเปรย์ข่าที่ช่วยต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเท้า ช่วยทำให้เท้ามีกลิ่นหอม ลดกลิ่นอับและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ใช้ฉีดพ่นลงบนเท้าที่ทำความสะอาดดีแล้ว แล้วถูฝ่าเท้าไปมาสักครู่จนแห้ง
  18. สเปรย์ระงับกลิ่นเท้า (Aluminum chlorohydrate) คุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แล้วนำมาฉีดพ่นให้ทั่วเท้าและฝ่าเท้าก่อนใส่ถุงเท้าทุกครั้ง สารเคมีในน้ำยาจะช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นเท้าได้ในระดับหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเท้าที่ใช้ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบหลัก จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่ใช้เพื่อบดบังกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าร่างกายมีเหงื่อออกมากและไม่ได้ล้างเท้าให้เรียบร้อยก่อนใช้ มันก็อาจทำให้เกิดกลิ่นใหม่ที่ฉุนได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งสามารถทำลายและป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่น และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางคือผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น (deodorant) และต้านการขับเหงื่อ (antiperspirant) ซึ่งสามารถช่วยระงับกลิ่นและต้านการขับเหงื่อได้ดีและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
    สเปรย์ระงับกลิ่นเท้า
  19. สเปรย์ดับกลิ่นรองเท้า (Polygiene Spray Ag+ หรือยี่ห้ออื่น ๆ) ใช้ฉีดพ่นดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ภายในรองเท้าหรือตู้เก็บรองเท้าพอหมาด ๆ แล้วผึ่งให้แห้ง โดยวางไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก แต่บางคนเลือกก็ใช้สเปรย์ปรับอากาศในห้องธรรมดา ๆ นี้แหละ นำมาฉีดรองเท้า ก็ได้ผลเหมือนกัน (ไม่รู้จะดีขึ้นหรือแย่ลงนะ 555)
    สเปรย์ดับกลิ่นรองเท้า
  20. โรยเบคกิ้งโซดาหรือผงฟู เบคกิ้งโซดามีคุณสมบัติช่วยดูดซับกลิ่นเหม็นในรองเท้าได้ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับรองเท้าที่ไม่เหม็นมากเท่าไร หรือจะเลือกใช้แป้งตราเต่าเหยียบโลกหรือแป้งโยคีก็ได้ โดยนำมาโรยให้ทั่วในรองเท้าก็ได้ผลดีเหมือนกัน
    ผงดับกลิ่นรองเท้า
  21. ถุงดับกลิ่นเท้า สูตรเบคกิ้งโซดาหรือผงฟู โดยให้ใช้เบคกิ้งโซดา น้ำมันหอมระเหย ผ้ายืด (เลือกใช้ผ้าบาง ๆ ที่ไม่หนามาก เช่น ผ้ายืดส่วนของแขนเสื้อ) และเชือก ขั้นตอนแรกให้นำเชือกมารัดที่แขนเสื้อด้านหนึ่ง จากนั้นให้ใส่เบคกิ้งโซดาเข้าไป แล้วเหยาะด้วยน้ำมันหอมระเหยลงไปประมาณ 2-3 หยด จากนั้นให้ใช้เชือกรัดให้แน่นเป็นอันเสร็จ แล้วนำถุงดับกลิ่นที่ได้ไปยัดใส่ในรองเท้าทิ้งไว้ วิธีนี้จะช่วยดูดซับกลิ่นเหม็นในรองเท้าได้ดี และน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้รองเท้ามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
    ถุงดับกลิ่นเท้า
  22. ถุงดับกลิ่นเท้า สูตรตะไคร้หอม ผิวมะกรูด ถ่านป่น และสารส้มสะตุ ให้ใช้อย่างละ 1 ส่วน นำมาใส่ในถุงที่ทำจากผ้าขาวบางหรือผ้าที่มีช่องระบายอากาศ แล้วนำไปใส่ไว้ในรองเท้าหรือตู้รองเท้า จะช่วยดูดกลิ่นได้อย่างหมดจด
  23. ถุงชาที่ใช้แล้ว คุณอาจนำถุงชาที่ดื่มแล้วไปตากให้แห้ง แล้วนำมาใส่ไว้ในรองเท้าเพื่อช่วยดูดซับกลิ่นก็ได้
  24. กากกาแฟหรือทรายแมว ให้ใช้กากกาแฟหรือทรายที่ใช้รองกระบะขับถ่ายของแมว นำมาโรยลงไปในรองเท้าทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วค่อยเคาะออก ก็ช่วยดูดกลิ่นได้ดี แต่บางคนเมื่อลองใช้กากกาแฟดูแล้วผลลัพธ์ที่ได้กลับแย่ลงไปอีก ทำให้กลิ่นเท้าเหม็นมากขึ้น เลยหันมาใช้เมล็ดกาแฟแทนกากกาแฟแทน แต่ถ้าไม่มีเมล็ดกาแฟ ก็ให้ใช้กากใบชาแทนกากกาแฟก็ได้ผลเหมือนกัน ยังไงก็ไปลองไปปรับใช้กันดูนะครับ
  25. กระดาษหนังสือพิมพ์ก็ดูดกลิ่นได้ เพียงแค่คุณใช้กระดาษหนังสือพิมพ์แห้ง ๆ นำมาขยำ ๆ เป็นก้อนแล้วยัดใส่ลงไปในรองเท้า วิธีนี้จะช่วยลดกลิ่นเหม็นของรองเท้าลงได้บ้าง แต่ต้องทิ้งไว้หลายวันหน่อยนะ
    กระดาษหนังสือพิมพ์ยัดรองเท้า
  26. เกลือ ให้แช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือ เป็นอีกวิธีการง่าย ๆ ที่ได้ผลดี โดยการต้มน้ำให้เดือด ทิ้งไว้ให้พออุ่น จากนั้นใส่เกลือลงไปในน้ำที่เตรียมไว้ แล้วเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที หากทำทุกวันอาการเท้าเหม็นของคุณจะทุเลาลงหรืออาจหายไปเลยก็ได้
    เกลือดับกลิ่นเท้า
  27. สารส้ม ให้ใช้สารส้มแบบผงนำมาละลายผสมในน้ำอุ่น แล้วเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที หรือจะใช้สารส้มแบบก้อน นำมาขัดถูให้ทั่วเท้าทั้งซอกนิ้ว หลังเท้า และฝ่าเท้าตอนอาบน้ำก็ได้ อาบไปก็ขัดถูไป เพราะสารส้มมีคุณสมบัติในการช่วยระงับกลิ่นได้ดี
  28. ด่างทับทิม ให้นำด่างทับทิมมาผสมกับน้ำอุ่น แล้วเอาเท้าลงไปแช่ ในระหว่างแช่ก็ให้ขัดเท้าไปด้วย วิธีนี้ก็จะช่วยขจัดและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้
    ด่างทับทิมล้างเท้า
  29. เบคกิ้งโซดาผสมน้ำ ให้นำเบคกิ้งโซดามาผสมกับน้ำเปล่าให้พอข้น แล้วเอามาชโลมให้ทั่วเท้า จากนั้นให้หาแปรงเล็ก ๆ หรือแปรงสีฟันเก่า ๆ ก็ได้ นำมาขัดแปรงให้ทั่วทุกซอกทุกมุมของเท้าให้สะอาด ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วค่อยล้างออก นอกจากจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการทำความสะอาดเท้าไปในตัวอีกด้วย
  30. ผงวุ้น ให้เลือกใช้ผงวุ้นชนิดมะนาวหรือส้มมาละลายในน้ำร้อน หลังจากผงวุ้นละลายดีแล้วให้เติมน้ำเย็นลงไปผสมให้กลายเป็นน้ำอุ่น แล้วเอาเท้าลงไปแช่ในน้ำ โดยรอจนกว่าผงวุ้นจะแข็งตัว เมื่อผงวุ้นแข็งตัวก็ให้ยกเท้าออก จากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดเท้าให้แห้ง
  31. น้ำส้มสายชู โดยให้เลือกใช้น้ำส้มสายชูแบบหมักธรรมชาติ ใช้ในอัตราส่วน 1/3 ถ้วยต่อน้ำอุ่น 1 กะละมังเล็ก นำมาผสมกันแล้วแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที
    น้ำส้มสายชูดับกลิ่นเท้า
  32. แอปเปิ้ลไซเดอร์ (น้ำส้มชนิดหนึ่งที่ทำมาจากน้ำแอปเปิ้ล) ให้แช่เท้าในน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือใช้น้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ 1 ถ้วย และน้ำยาบ้วนปาก 1 ฝา นำไปผสมในน้ำอุ่น แช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง ถ้าให้ดีควรทำต่อเนื่องกัน อาทิตย์หนึ่งทำหลาย ๆ ครั้งก็จะช่วยได้ไม่น้อย
    แอปเปิ้ลไซเดอร์ดับกลิ่นเท้า
  33. สารฟอกขาว ให้เลือกใช้สารฟอกขาวประเภทไฮเตอร์ ประมาณ 1/4 ถ้วย นำมาเทผสมลงในน้ำอุ่น จากนั้นเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง
  34. น้ำยาเดทตอล (Dettol) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเดทตอลขวดส้ม ๆ โดยให้ใช้น้ำยาเดทตอลประมาณ 2-3 ฝา นำมาผสมกับน้ำในกะละมังที่เตรียมไว้ (เดทตอลผสมกับน้ำในอัตรา 1:20) แล้วเอาเท้าลงไปแช่ ในระหว่างแช่เท้าก็ให้เอาแปรงที่ใช้ขัดเท้าขัดทำความสะอาดไปด้วย โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วและซอกเล็บที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่มากเป็นพิเศษ โดยให้ขัดทุกวันก่อนนอนก็จะช่วยฆ่าเชื้อโรคและทำให้เท้าหายเหม็นได้
    เดทตอล
  35. น้ำยาบ้วนปาก อย่างเช่นยี่ห้อลิสเตอรีน (LISTERINE) หรือยี่ห้ออะไรก็ได้ที่ถูก ๆ โดยใช้น้ำยาสัก 2 ฝา เทลงไปผสมกับน้ำ แล้วเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที จะช่วยแก้เท้าเหม็นได้ เพราะน้ำยาบ้วนปากนั้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี ถ้าทำเป็นประจำก็จะช่วยแก้ปัญหาเท้าเหม็นได้ หรืออีกวิธีให้นำสำลีก้อนไปชุบน้ำยาบ้วนปาก จากนั้นก็นำไปทาให้ทั่วบริเวณเท้าก็ได้
    แช่เท้าด้วยน้ำยาบ้วนปาก
  36. แอลกอฮอล์ล้างแผล หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วให้นำสำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์แล้วนำมาทาให้ทั่วเท้าก่อนเข้านอน พอเช้าก็ให้ล้างออก แต่ไม่ควรทำบ่อย ๆ
  37. เหล้าวอดก้า เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งของการกำจัดกลิ่นเท้า คือ การแช่เท้าในเหล้าวอดก้า ซึ่งวิธีนี้มีคนเคยลองทำมาแล้ว และมันก็ได้ผลซะด้วย
  38. น้ำชา ให้นำน้ำชาที่ชงด้วยน้ำอุ่นเทลงในกะละมังเล็ก ๆ ให้พอท่วมหลังเท้า แล้วแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หากทำก่อนนอนทุกคืน กรดแทนนิคที่มีอยู่ในน้ำชาจะช่วยทำให้เหงื่อที่เท้าของคุณลดลงได้ ส่งผลให้กลิ่นเท้าเหม็นหายไป แต่ถ้ากลิ่นเท้าเริ่มลดลงแล้วก็ให้ลดความถี่ในการทำลงเป็นทำอาทิตย์ละครั้งก็พอ
  39. ใบชาดำ ให้ใช้ใบชาดำประมาณ 5 ช้อน นำมาต้มกับน้ำประมาณ 1 แกลลอน รอให้น้ำอุ่น แล้วเอาเท้าลงไปทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที จะช่วยลดกลิ่นเท้าและช่วยลดแบคทีเรียได้ โดยให้ทำประมาณ 2 ครั้งต่อเดือน
  40. ถุงชาที่ใช้แล้ว ให้ใช้ถุงน้ำชาที่ชงแล้วประมาณ 4-5 ถุง ผสมกับน้ำอุ่น แล้วนำไปแช่ลงในอ่างหรือกะละมังที่ใส่น้ำอุ่นไว้ แล้วให้แช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าได้
    ถุงชาดับกลิ่นเท้า
  41. ขมิ้นชัน วิธีดับกลิ่นเท้าด้วยขมิ้นนั้นเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ใช้กันมาแต่ช้านาน คือการนำขมิ้นชันมาหมัก โดยการนำขมิ้นชันไปแช่กับน้ำเปล่าและเกลือเล็กน้อย แล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง จนได้เป็นน้ำส้มขมิ้นชัน แล้วนำมาทาที่เท้าก่อนสวมใส่ถุงเท้า วิธีนี้จะช่วยทำให้เท้าไม่เหม็นได้ แม้จะมีเหงื่อออกที่เท้ามากก็ตาม และถุงเท้าก็ไม่เหม็นอีกด้วย
  42. ใบสะระแหน่ ให้ใช้ใบสะระแหน่ประมาณ 2-3 กำมือ นำมาต้มในน้ำประมาณ 7 ถ้วย เมื่อน้ำเดือดแล้วให้เอามาเทลงในกะละมัง รอจนน้ำหายร้อนให้พออุ่น ๆ แล้วเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ในระหว่างนี้ก็ให้ใช้แปรงขัดเท้าเล็ก ๆ ขัดถูไปด้วยให้ทั่วทุกซอกทุกมุม ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดกลิ่นเท้าได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดอาการส้นเท้าแตกได้อีกด้วย
  43. มะนาว วิธีดับกลิ่นเท้าด้วยมะนาวสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่นำมะนาวมาคั้นเอาแต่น้ำ และเอาไปผสมกับน้ำเปล่าในปริมาณเท่ากัน จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำที่ผสมแล้ว นำมาทาถูให้ทั่วฝ่าเท้า นิ้ว และตามง่ามนิ้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ให้ทำเช่นนี้อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้กลิ่นเท้าของคุณจางหายไปได้
  44. สูตรเกลือผสมมะนาว ขั้นตอนแรกให้ต้มน้ำร้อนผสมกับเกลือสมุทร คนให้เข้ากัน แล้วบีบน้ำมะนาวผสมลงไป จากนั้นก็เติมน้ำเย็นให้ได้น้ำอุ่นพอดี ๆ แล้วเอาเท้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ระหว่างแช่เท้าให้นวดเท้า ขัดเท้า ขัดเล็บไปด้วย กลิ่นเท้าจะค่อย ๆ หายไปเอง สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่อย่าลืมทาครีมบำรุงผิวให้เท้าด้วยล่ะ
  45. สูตรขิง ข่า ผิวและน้ำมันมะกรูดหรือมะนาว และเกลือ ให้ใช้ทั้งหมดอย่างละ 1 ส่วน นำมาต้ม หลังจากนั้นรอให้อุ่น แล้วแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที วิธีนี้หากทำเป็นประจำนอกจากจะช่วยลดกลิ่นเท้าได้แล้วยังช่วยคลายความปวดเมื่อยได้ด้วย
  46. สูตรสับปะสด สะระแหน่ น้ำมะนาวหรือมะกรูด และเกลือ โดยใช้สับปะรด 2 ส่วน สะระแหน่ครึ่งส่วน และเติมน้ำมะนาวหรือมะกรูดลงไปครึ่งส่วน แล้วเติมเกลือลงไป 2 ส่วน นำมาปั่นรวมกัน นำใช้มาขัดเท้า
  47. สูตรผงสมุนไพรดับกลิ่นเท้า ให้ใช้ผิวมะกรูด 50 กรัม, ตะไคร้บด 50 กรัม, อบเชยบด 50 กรัม, ทองพันชั่ง 50 กรัม, ชุมเห็ดเทศ 50 กรัม, และสารส้ม 25 กรัม (เลือกใช้แบบอบแห้งทั้งหมด) นำมาผสมกัน แล้วใช้น้ำมันหอมระเหยผสมลงไป คนให้เข้ากัน (อย่าให้จับกันเป็นก้อน) แล้วร่อนด้วยตะแกรงร่อนแป้งเค้ก จากนั้นผสมเกลือ 25 กรัม, พิมเสน 50 กรัม และการบูร 50 กรัมลงไป แล้วนำไปบรรจุใส่ในกระปุก ปิดฝาให้สนิท เวลาใช้ก็ให้นำผงสมุนไพรที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำอุ่น (ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ผสมต่อน้ำอุ่นครึ่งอ่าง) แล้วแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที
  48. นอกจากนี้ ยังมีสูตรแช่เท้าอีกหลายสูตรให้เลือกใช้ เช่น สูตรน้ำอุ่นผสมมะนาวหรือส้มฝานบาง ๆ, สูตรน้ำอุ่นกับเกลือหอม ใบชา มะกรูดฝานแว่นและน้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด, สูตรน้ำอุ่นผสมกระเทียมทุบ 2-3 กลีบ, สูตรน้ำอุ่นผสมน้ำมะขามเปียก, สูตรน้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูและด่างทับทิม ฯลฯ โดยให้แช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที หลังจากนั้นก็เช็ดเท้าให้แห้ง บำรุงด้วยครีมพร้อมทั้งนวด วิธีนี้จะช่วยทำให้เท้าได้ผ่อนคลายหลังจากต้องรับบทหนักมาทั้งวันได้ดี หากทำได้ทุกวันก็จะดีมาก
    วิธีลดกลิ่นเท้า
  49. อาหารเสริม ให้เลือกรับประทานอาหารที่มีสังกะสีในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อวัน โดยให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอาการเท้าเหม็น ส่วนหนึ่งอาจมาจากร่างกายขาดสังกะสีก็เป็นได้ ถ้าหากรับประทานสังกะสีแล้วปัญหาเท้ามีกลิ่นเหม็นเกิดหายไป ก็แสดงว่าร่างกายของคุณกำลังขาดสังกะสีหรือซิงค์อยู่ (Zinc)
  50. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเหงื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสารอะลูมิเนียม เซอร์โคเนียม เกลือสังกะสี ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการขับเหงื่อและช่วยป้องการเกิดกลิ่นได้ และผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยตัวยาฆ่าเชื้อ เช่น ควอเตอร์นารี ไตรโคลซาน พาราเบน แอมโมเนียม เป็นต้น ซึ่งตัวยาเหล่านี้สามารถช่วยลดจำนวนของแบคทีเรียที่ผิวหนังและช่วยลดการเกิดกลิ่นเหม็นได้
  51. ไอออนโต (Iontophoresis) การทำไอออนโตที่ฝ่าเท้า วิธีนี้สามารถรักษาภาวะเหงื่อออกมากที่ฝ่าเท้าได้พอสมควร โดยการให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านน้ำในขณะที่เท้าแช่น้ำอยู่ ใช้เวลาทำครั้งละประมาณ 30 นาที สามารถทำให้เหงื่อออกได้ภายใน 3-4 วัน แต่ผลการรักษาจะไม่อยู่ถาวร และต้องทำซ้ำหลายครั้ง
    ไอออนโตลดเหงื่อ
  52. โบทอกซ์ (Botox) การรักษาด้วยวิธีการฉีดโบทอกซ์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ที่สามารถช่วยลดเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าได้ แต่จะต้องฉีดยาซ้ำเรื่อย ๆ ทุก 3-6 เดือน ราคาทำต่อครั้งก็ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
    โบท็อกซ์ลดเหงื่อที่เท้า
  53. ผ่าตัดเส้นประสาท อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคเท้าเหม็นหรือมีกลิ่นเท้ารุนแรงที่รักษาด้วยวิธีไหนก็ไม่หาย การผ่าตัดเส้นประสาทที่ทำให้เกิดเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าก็คงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย
  54. สำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกที่เท้ามาก คุณควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าที่ทำจากวัสดุยางหรือพลาสติก และรองเท้าดีไซน์หุ้มส้นมิดชิดมาเป็นรองเท้าเปลือยส้นหรือเปิดนิ้วแทน และควรใช้สเปรย์ระงับกลิ่นเท้าหรือใช้แป้งฝุ่นร่วมด้วยเพื่อทำให้ผิวที่เท้าแห้ง จะเป็นแป้งฝุ่นทั่วไปหรือแป้งเฉพาะสำหรับเท้าที่เรียกว่า “Foot powder” ก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดอาการระคายเคือง ทำให้ไม่รู้สึกเฉอะแฉะ และช่วยให้เกิดความรู้สึกเย็นสบายได้
  55. สำหรับผู้ที่เป็นโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) หรือมีกลิ่นเท้ารุนแรงมาก เบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) หรือยารักษาสิวก็สามารถนำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ นอกจากนั้นยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็ใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามคุณควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะว่าเท้าของคุณอาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจะรักษาเองได้ เช่น เกิดจากเชื้อรา เป็นต้น ส่วนในกรณีอื่น ๆ แพทย์อาจจะจ่ายยาที่ทำให้เท้าแห้งหรือยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
    โรคเท้าเหม็น

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด