ลำพูป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำพูป่า 8 ข้อ !

ลำพูป่า

ลำพูป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Duabanga grandiflora (DC.) Walp. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duabanga sonneratioides Buch.-Ham., Lagerstroemia grandiflora Roxb. ex DC., Leptospartion grandiflora Griff., Leptospartion grandiflorum (Roxb. ex DC.) Griff.)[1],[4] จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)

สมุนไพรลำพูป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาลา คอเหนียง (เชียงใหม่), สะบันงาช้าง (แพร่), กระดังงาป่า (กาญจนบุรี), ตะกูกา (จันทบุรี), ลิ้นควาย (ปราจีนบุรี), หงอกไก่ (ประจวบคีรีขันธ์), ขาเขียด (ชุมพร), ลำพูขี้แมว (ระนอง), ลำแพน (ตรัง), ลำแพนเขา (ยะลา), ลำพูควน (ปัตตานี), เต๋น ตุ้มเต๋น ตุ้มบก ตุ้มลาง ตุ้มอ้า ลาง ลูกลาง ลูกลางอ้า (ภาคเหนือ), ตะกาย โปรง ลำพูป่า (ภาคใต้), บ่อแมะ (มลายู-ยะลา), บะกูแม (มลายู-นราธิวาส), กู โก๊ะ ซังกะ เส่ทีดึ๊ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ซิกุ๊ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ซ่อกวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กาปลอง (ชอง-จันทบุรี), เตื้อเร่อะ (ขมุ), ไม้เต๋น (ไทลื้อ), ลำคุบ ไม้เต้น (ลั้วะ), ซือลาง (ม้ง) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของลำพูป่า

  • ต้นลำพูป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร โตวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 100-200 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง รูปทรงกลมหรือทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกเป็นสีเทาเป็นสะเก็ดหรือตกเป็นแผ่นไม่เป็นระเบียบ เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ ส่วนกระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเหลือง เกลี้ยง บิดไปมาระหว่างคู่ใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธาร หรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย[1],[3],[4]

ต้นลำพูป่า

ลําพูป่า

  • ใบลำพูป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปติ่งหู ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-24 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหรือเป็นคราบขาว เส้นแขนงใบมีประมาณ 14-20 คู่ ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบกลายเป็นเส้นขอบใบชัดเจน เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได มองเห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ก้านใบเป็นสีเขียวเข้ม ลักษณะอวบ มีขนาดยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร ส่วนหูใบไม่มี[1],[3],[4]

ใบลำพูป่า

  • ดอกลำพูป่า ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ประมาณ 15-30 ดอก ลักษณะห้อยลง ดอกลำพูป่าจะบานในช่วงเวลากลางคืนถึงช่วงเช้า หุบในช่วงกลางวัน เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวขนาดใหญ่ ประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปถ้วย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกประมาณ 6-7 แฉก กว้างประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-3 เซนติเมตร แผ่ออก ส่วนกลีบดอกมี 6-7 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ขนาดยาวกว่ากลีบดอก อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศเมียจะยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีเขียว ก่อนจะออกดอกจะทิ้งใบหมดแล้วจะผลิใบใหม่ทันทีพร้อมกับเริ่มผลิดอก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3],[4]

ดอกลำพูป่า

  • ผลลำพูป่า ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมทรงกลม รูปไข่กว้าง รูปกลมแป้น หรือมีลักษณะแป้นเป็นรูปตลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ และแตกอ้าออกตรงกลางพูเป็นเสี่ยง ๆ ที่ฐานมีชั้นกลีบเลี้ยงรูปดาวรองรับ กลีบเลี้ยงติดคงทน ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 6-7 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปเส้นยาวมีหาง โดยจะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และผลจะแก่เต็มที่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[4]

ผลลำพูป่า

รูปลำพูป่า

สรรพคุณของลำพูป่า

  • ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้เมล็ดลำพูป่า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (เมล็ด)[1]
  • ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ จะใช้เปลือกต้นลำพูป่า นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ แต่คนที่จะเก็บมาใช้เป็นยา จะต้องเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีคาถาอาคมติดตัว (เปลือกต้น)[2]
  • กิ่งและต้น นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการช้ำใน (กิ่งและต้น)[2]
  • ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อุจจาระติดโลหิตสด ๆ โลหิตช้ำ เผาไฟเอาขี้เถ้าละลายน้ำสุก ดื่มแก้เมื่อยเคล็ดตามข้อกระดูก (ทั้งต้น) (ข้อมูลจาก : plugmet.orgfree.com)

ประโยชน์ของลำพูป่า

  • ดอกมีน้ำหวาน ใช้รับประทานได้[2] ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวกเป็นผักจิ้ม[3]
  • ชาวลั้วะจะนำกลีบเลี้ยงหรือผลมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้ผลอ่อนนำไปเผาไฟรับประทานจิ้มกับน้ำพริก[2]
  • เนื้อไม้ลำพูป่าเป็นสีเทา มักมีเส้นผ่านสีเหลืองหรือน้ำตาล เสี้ยนตรงหรือสั้น เนื้อไม้หยาบ เลื่อยผ่าไสกบง่าย มีความแข็งแรงปานกลาง ผึ่งง่าย ทนทานปานกลางในที่ร่มและเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำ ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ทำฝา พื้นบ้าน ทำเรือ ไม้พายเรือ ทำลังใส่ของ หีบศพ ทำไส้ไม้อัด กล่องไม้ขีด ก้านร่ม ทำแบบหล่อคอนกรีต ใช้เป็นส่วนประกอบของร่มกระดาษ ฯลฯ[2],[4]
  • ต้นลำพูป่าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง นิยมใช้ปลูกเป็นไม้บุกเบิก เหมาะสำหรับใช้ปลูกเพื่อการฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ลำพูป่า”.  หน้า 97.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ลำพูป่า, ตุ้มเต๋น”.  [ออนไลน์].  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [26 ต.ค. 2014].
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ลำพูป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [26 ต.ค. 2014].
  4. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ตุ้มเต๋น”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [26 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Radha, Hai Le, rogerphayao, Yeoh Yi Shuen, Ahmad Fitri, Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด