ริดสีดวง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคริดสีดวงทวาร 18 วิธี !!

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวง (Hemorrhoids หรือ Piles) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำที่มีอยู่ตามธรรมชาติของคนทั่วไปในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง (ขอด) เป็นหัว หรือที่เรียกว่า “หัวริดสีดวง” แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว โดยมักจะมีอาการของโรคเกิดขึ้นในเวลาท้องผูกหรือเกิดท้องเดินบ่อยครั้ง ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย โดยอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลได้

หัวริดสีดวงที่พบอาจมีเพียงหัวเดียวหรือมีหลายหัวก็ได้ ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนักจะเรียกว่า “ริดสีดวงภายนอก” (External Hemorrhoids) ซึ่งอาจมองเห็นจากภายนอกได้ แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดอยู่ลึกเข้าไปจะเรียกว่า “ริดสีดวงภายใน” (Internal hemorrhoids) ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อใช้กล้องส่องตรวจไส้โดยตรง

  • โรคริดสีดวงทวารทั้งภายนอกและภายในอาจปรากฏให้เห็นต่างกัน แต่ในหลาย ๆ รายก็พบว่ามีอาการของทั้งสองประเภท
  • ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 5% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 45-65 ปี แต่อาจพบได้ในเด็กและในช่วงวัยอื่น ๆ ทุกอายุได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดเป็นหลัก (บางรายงานเชื่อว่า อย่างน้อยร้อยละ 50 ของประชากรชาวอเมริกันเป็นโรคริดสีดวงทวารในระยะแสดงอาการช่วงหนึ่งในชีวิต และประมาณร้อยละ 50 เมื่อเป็นแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็มีอัตราการเป็นโรคนี้พอ ๆ กัน)
  • หลายคนรู้สึกอายที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร บ่อยครั้งกว่าจะไปพบแพทย์ได้ก็เมื่อเป็นเอามาก ๆ แล้ว ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยา

โรคริดสีดวงทวาร โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง มักไม่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต แต่อาจทำให้เป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ได้ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และแม้ว่าจะเคยผ่าตัดรักษาริดสีดวงมาแล้ว ก็อาจจะเกิดริดสีดวงหัวใหม่ ทำให้มีเลือดออกได้อีก

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร คือ หลอดเลือดดำที่อยู่ใต้เยื่อเมือกและผิวหนังในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองเป็นหัว เพราะมีภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่

  1. การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  2. ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จนส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพองหรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
  3. ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง การถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ แรงเบ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นกัน
  4. อุปนิสัยในการเบ่งอุจจาระ เช่น ชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ หรือพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายออกไปให้ได้
  5. การเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน จากการเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือในขณะขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนั่งแช่ การยืน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดการกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด
  6. การชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ
  7. ภาวะตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจได้ลดลง จึงเกิดการคั่งอยู่ในหลอดเลือดและเกิดหลอดเลือดบวมพองตามมา
  8. น้ำหนักตัวมาก (โรคอ้วน) มีผลให้แรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์
  9. อายุมาก (ผู้สูงอายุ) ผู้สูงอายุมักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ
  10. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะจะทำให้เกิดการกดเบียดทับหรือเกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้อย่างเรื้อรัง มีผลทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  11. อาการไอเรื้อรัง มีผลเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
  12. โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งอยู่ภายในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  13. เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ริดสีดวงทวารยังอาจพบร่วมกับโรคในช่องท้องอื่น ๆ ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้อง (เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (อาจทำให้มีอาการของริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น ถ้าพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจ), ต่อมลูกหมากโต, ตับแข็ง (เพราะทำให้มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง ซึ่งส่งผลกระทบมาที่หลอดเลือดดำที่ทวารหนัก) เป็นต้น
  14. ไม่ทราบสาเหตุหรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

ชนิดของโรคริดสีดวงทวาร

ทวารหนักเป็นส่วนติดต่อมาจากลำไส้ใหญ่และมาเปิดออกนอกร่างกาย มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และถูกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยเส้นรอบวงที่เรียกว่า “แนวเส้นประสาท” หรือ “แนวรอยต่อระหว่างปลายลำไส้กับทวารหนัก” (Dentate Line หรือ Pectinate Line) ส่วนที่อยู่เหนือแนวเส้นประสาทจะเรียกว่า “รูทวารหนัก” (Anal canal) ซึ่งจะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยงที่ผนังของรูทวารหนักปกติ แต่จะมีก้อนเนื้อนูนออกมาเป็นระยะโดยรอบ หรือที่เรียกว่า “เบาะรอง” (Cushion) ซึ่งภายในจะมีกลุ่มเส้นเลือดและกล้ามเนื้ออยู่

  1. โรคริดสีดวงทวารแบบภายนอก (External hemorrhoids) จะปกคลุมไปด้วยชั้นผิวหนัง เกิดขึ้นในบริเวณใต้แนวเส้นประสาท (Pectinate Line) ซึ่งจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง เรียกว่า “ปากทวารหนัก” (Anal margin) เมื่อเบาะรองจากบริเวณรูทวารหนักเลื่อนตัวลงมาเรื่อย ๆ จนถึงปากทวารหนัก ก็จะดันกลุ่มเส้นเลือดและเนื้อเยื่อของปากทวารหนักให้เลื่อนต่ำลงและเบียดออกไปด้านข้างจนกลายเป็นก้อนนูนที่ปากทวารหนัก
    ริดสีดวงภายนอก
  2. โรคริดสีดวงทวารแบบภายใน (Internal hemorrhoids) จะปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้ เกิดขึ้นในบริเวณเหนือแนวเส้นประสาท (Pectinate Line) หรือที่รูทวารหนัก ซึ่งจะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยงที่ผนังของรูทวารหนักปกติ ผู้เป็นริดสีดวงแบบนี้จึงมักไม่มีอาการเจ็บปวด และผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ก็มักไม่ให้ความสนใจแม้จะรู้ตัวว่าเป็น ถ้ารักษาไม่หายก็สามารถเป็นริดสีดวงทวารได้ 2 แบบ คือ แบบมีก้อนยื่นออกทวาร (Prolapsed hemorrhoids) หรือแบบบีบรัด (Strangulated hemorrhoids) ถ้าหูรูดทวารหนักหดตัวและบีบก้อนหัวริดสีดวงจนขาดเลือดไปเลี้ยง ริดสีดวงก็จะกลายเป็นแบบบีบรัด
    ริดสีดวงภายในนอกจากนี้ริดสีดวงแบบภายในยังสามารถแบ่งตามระยะความรุนแรงของโรคได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
    • ระยะที่ 1 หลอดเลือดที่โป่งพอง ยังเกิดอยู่ภายในทวารหนักและลำไส้ตรง และยังไม่มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมา (สามารถรักษาโดยการให้ยา หรือฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งที่มีเลือดออกได้)
    • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงปลิ้นโผล่ออกมาอยู่ที่ปากทวารหนักในขณะถ่ายอุจจาระ แต่หัวที่โผล่ออกมานี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เองหลังจากขับถ่ายอุจจาระเสร็จ (สามารถใช้วิธียิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมาได้ ซึ่งจะทำให้หัวริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเอง)
    • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงจะไม่สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักเองได้หลังจากขับถ่ายอุจจาระเสร็จ แต่ยังสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้
    • ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงจะกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ และจะค้างอยู่ที่ปากทวารหนัก ถึงแม้จะใช้นิ้วช่วยดันแล้วก็ตาม ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดมากและต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน ก่อนที่หัวริดสีดวงจะเน่าตายจากการขาดเลือด (สำหรับระยะที่ 3-4 สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดทั่วไป)

อาการของริดสีดวงทวาร

  • อาการของโรคริดสีดวงภายนอก คือ
    • มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากปากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม เจ็บ และระคายเคือง (ถ้าไม่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ก็อาจจะไม่ก่อปัญหาอะไรมากนัก)
    • หากมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่อให้เกิดอาการปวด บวม เจ็บมากขึ้น (แต่มักจะไม่ค่อยพบว่ามีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้) ซึ่งปกติแล้วจะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม กว่าจะหายบวมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายดีแล้วอาจจะยังมีผิวหนังเป็นติ่งเหลืออยู่ และหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้ด้วย
  • อาการของโรคริดสีดวงภายใน คือ
    • ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ เลือดที่ออกมานั้นจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสด ออกปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงในโถส้วม และอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระ (เลือดจะออกมาในลักษณะอาบก้อนอุจจาระ ส่วนตัวก้อนอุจจาระยังเป็นสีของมันตามปกติ ไม่มีมูกปน และเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง) ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ามีเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการซีดตามมาได้
    • ในรายที่เป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ปลิ้นโผล่ออกมา ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บที่ทวารหนักได้ (ถ้าเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ริดสีดวงกลายเป็นก้อนแข็ง หรือเกิดภาวะเซลล์ตายจะทำให้มีอาการเจ็บปวดได้) และอาจจะทำให้เกิดอาการคันและอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย โดยการตรวจก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก (อาจคลำได้ก้อนเนื้อนุ่ม ๆ สีคล้ำ ๆ ที่ปากทวารหนัก) และจากการส่องกล้องตรวจทางทวารหนักและลำไส้โดยตรง แต่ในบางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาด้วย เมื่อต้องแยกจากโรคมะเร็ง

ข้อควรรู้ : ปัญหาบริเวณปลายลำไส้และทวารหนักบางอย่าง อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน ทำให้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงได้ เช่น แผลปริ แผลชอนทะลุ มะเร็งลำไส้ตรง เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรง และอาการคัน ส่วนอาการเลือดออกก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันจากสาเหตุของมะเร็งลำไส้ ในกรณีที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ, โรคลำไส้อักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ, โรคถุงลำไส้ใหญ่ และความผิดปกติของเส้นเลือด และสำหรับภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดก้อนเนื้อบริเวณปากทวารหนักได้ก็มีหลายอย่าง เช่น ผิวหนังเป็นติ่ง, หูดทวารหนัก, ติ่งเนื้อ, ลำไส้ตรงเลื่อน, ปุ่มพองออกบริเวณทวารหนัก, เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรงกับทวารหนัก ซึ่งเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงในเส้นเลือดหลักเพิ่มขึ้น อาจแสดงอาการให้เห็นคล้ายคลึงกับโรคริดสีดวงทวาร แต่เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งต่างหาก

ผลข้างเคียงของโรคริดสีดวงทวาร

  • ภาวะซีด เมื่อมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง หรือบางครั้งที่มีเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้เอง อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน (สำหรับอาการเลือดออกมากจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคโลหิตจาง ค่อนข้างจะพบได้น้อย ส่วนอาการที่มีเลือดออกมากจนทำให้เสียชีวิตนั้นก็มีน้อยเข้าไปใหญ่ ฉะนั้นอย่าเป็นกังวลมากเกินไปครับ)
  • เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดจะทำหน้าที่ช่วยการปิดตัวของหูรูดปากทวารหนักในช่วงที่ยังไม่ถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อเกิดหลอดเลือดโป่งพอง หูรูดปากทวารหนักจะปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ตามมา
  • การติดเชื้อ อาจทำให้เกิดเป็นฝีหรือหนองในบริเวณก้นได้
  • เมื่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกมานอกทวารหนักในระยะที่ 4 จะเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดขาดเลือดและเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งในกรณีนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรรีบไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน

วิธีรักษาริดสีดวงทวาร

  • การรักษาแบบประคับประคองอาการ ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ยาทาบริเวณหัวริดสีดวง การเหน็บยา หรือการกินยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
    2. ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอสุก รวมถึงการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก และดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย ถ้ายังมีอาการท้องผูกอีกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซียม, ดีเกลือ, อีแอลพี, สารเพิ่มกากใย
    3. ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
    4. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการยืน การเดิน และการนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ
    5. พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ
    6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้โรคริดสีดวงทวารเป็นมากขึ้นได้
    7. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
    8. เมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเสร็จ ควรล้างก้นด้วยน้ำอุ่น ๆ หรือน้ำสะอาด พยายามรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่ถ้าอยากใช้สบู่ ก็ควรเป็นสบู่เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองของหัวริดสีดวงที่กำลังบวมหรือมีการอักเสบอยู่ (ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแบบแข็ง แต่ควรใช้วิธีชุบน้ำ หรือใช้กระดาษชำระชนิดเปียกแทน)
    9. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือแล้วใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์
    10. ถ้ามีอาการคันให้ยาทาลดคันร่วมด้วย
    11. ในกรณีที่มีอาการปวดมาก ๆ เนื่องจากเกิดการอักเสบให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดบวม และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร โดยเหน็บวันละ 2-3 ครั้ง เช้า ก่อนนอน และหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ จนกว่าอาการจะบรรเทา ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน
    12. เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจใช้วิธีประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยลดอาการบวมลงได้บ้าง
    13. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือสงสัยว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย แนะนำว่าควรไปตรวจที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อาจต้องใช้กล้องส่องตรวจไส้ตรง (Proctoscopy) ถ้าหากสงสัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะต้องเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) ด้วย หรือใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
      เมื่อมีเลือดออกมาก ให้ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นเอาไว้ให้แน่น แต่ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหล ควรรีบไปแพทย์เป็นการด่วน
      หากเกิดภาวะซีดควรรับประทานยาบำรุงโลหิตวันละ 3 ครั้ง (ครั้งละ 1 เม็ด)
    14. ไปพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ และควรรีบไปพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ หรือเมื่ออาการต่าง ๆ เลวร้ายลง เช่น เมื่อมีเลือดออกทางก้นไม่หยุด หรือเมื่อหัวริดสีดวงไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารได้ (อย่าพยายามออกแรงดันหัวริดสีดวงมากจนเกินไป เพราะจะทำให้หัวริดสีดวงได้รับบาดเจ็บและบวมมากขึ้น)
  • การรักษาทางศัลยกรรม (หากใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองมาแล้วแต่ไม่ได้ผล) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ข้อบ่งชี้ และดุลยพินิจของแพทย์
    1. การฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงทวาร ตัวยาจะทำให้หลอดเลือดดำฝ่อและหัวริดสีดวงยุบไป มักใช้กับโรคริดสีดวงในระยะที่ 2 วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด แพทย์มักจะนัดมาฉีดสัปดาห์ละครั้งประมาณ 3-5 ครั้ง สามารถช่วยให้หายขาดได้ประมาณ 60-70%
    2. การรักษาโดยวิธีใช้ยางรัด (Rubber band ligation) หรือยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมา ซึ่งจะทำให้หัวของริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเองภายใน 5-7 วัน วิธีจะใช้ได้ผลดีในระยะ 2 โดยเฉพาะเมื่อหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่หากรัดยางใกล้กับแนวเส้นประสาทมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงทันที
    3. การทำลายเนื้อเยื่อด้วยการเผา เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับโรคริดสีดวงระยะที่ 2 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยปกติแล้วแพทย์จะใช้เฉพาะเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การเผาเนื้อเยื่อด้วยการใช้ไฟฟ้าจี้, การฉายรังสีอินฟราเรด, การใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด, การผ่าตัดด้วยการใช้ความเย็น เป็นต้น (การทำลายเนื้อเยื่อด้วยแสงอินฟราเรดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกรณีที่เป็นโรคในระยะที่ 1-2 ส่วนระยะที่ 3-4 การกลับมาเป็นซ้ำจะมีอัตราที่สูง)
    4. การผ่าตัดริดสีดวงทวาร มักทำให้กรณีที่เป็นมากแล้วในระยะที่ 3-4 หรือเมื่อมีลิ่มเลือด หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวงทวาร ความจริงแล้วการผ่าตัดริดสีดวงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และไม่เจ็บในขณะผ่าตัด เพราะแพทย์จะให้ยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลังก่อนเสมอ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่มากมายแต่อย่างใด และสามารถระงับได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด นอนพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันก็กลับบ้านได้ ที่ผมกล่าวมานี้คือวิธีการรักษาแบบเดิม ๆ ครับ แต่ในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยสามารถผ่าตัดได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่รอบรูทวารหนักเท่านั้น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษใด ๆ ร่วมด้วย แต่อาจมีการฉีดยาหรือรับประทานยาแก้ปวดก่อนการผ่าตัด วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ปวดแผลน้อยมากหรือไม่ปวดเลย ที่สำคัญก็คือไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่ว่านี้ก็คือ การใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น Ligasure หรือ Harmonic scalpel ในการตัดริดสีดวงทวารแต่ละตำแหน่งโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ หรืออาจเย็บแผลเพียง 1-2 แห่ง และอีกวิธีคือการใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลมหรือเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled haemorrhoidopexy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดริดสีดวงและเย็บบาดแผลไปด้วยในเวลาเดียวกันแบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยมาก มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีริดสีดวงหลายตำแหน่ง (อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง)

ข้อควรระวัง : การใช้ยากัดริดสีดวงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ เช่น ทวารหนักเน่า หรือตีบตัน

วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

  1. ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันคือ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและผ่านไปได้โดยง่าย ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ ระวังอย่าให้ท้องผูก
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย
  3. ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ (ขับถ่ายโดยไวเมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ)
  4. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ (ให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดในขณะเบ่งถ่าย และหลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือและอ่านหนังสือในขณะขับถ่าย)
  1. ระวังอย่าให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเดิน หรือท้องเสียบ่อย ๆ
  2. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน) ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  3. ออกกำลังกายให้เพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ เช่น การเดิน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 551-553.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)”.  (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [04 มี.ค. 2016].
  3. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “ผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไรไม่ให้เจ็บ (หรือเจ็บน้อย)”.  (ผศ.ดร.นพ.วรุตม์ โล่ห์สิริวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [05 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.medicalnewstoday.com, www.ami.at, wikipedia.org (by Pachacamac33, Dr. K.-H. Günther, Klinikum Main Spessart, Lohr am Main), hemorrhoid.center

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด