ระย่อมหลวง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมหลวง 4 ข้อ !

ระย่อมหลวง

ระย่อมหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia cambodiana Pierre ex Pit. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1]

สมุนไพรระย่อมหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นางแย้ม (นครราชสีมา), ระย่อม (ตราด), ขะย่อมตีนหมา ขะย่อมหลวง (ภาคเหนือ), ขะย่อมหลวง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ย่อมตีนหมา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ระย่อมใหญ่ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของระย่อมหลวง

  • ต้นระย่อมหลวง จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 0.3-1 เมตร และอาจสูงได้ถึง 2 เมตร และจะมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์แคบ พบได้ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชา ในประเทศพบกระจายห่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้ โดยจะพบขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3]
  • ใบระย่อมหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงรอบข้อ ข้อละ 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปวงรีแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปหอกกลับ ปลายใบและโคนใบเรียวแหลมหรืออาจเป็นหางยาว ส่วนปลายสุดนั้นจะแหลมหรือมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เส้นใบมีประมาณ 12-25 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
  • ดอกระย่อมหลวง ออกดอกเป็นช่อกระจุก ออกเดี่ยวตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ก้านช่อมีความยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร เกลี้ยง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.8-6.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นรูปเข็ม โคนกลีบดอกเป็นหลอดสีม่วงหรือแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ด้านในมีขนรอบปากหลอดกลีบดอกและใต้เกสรเพศผู้ กลีบดอกเป็นสีขาว มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ปลายมน ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อดอกยังตูมอยู่กลีบดอกจะบิดเป็นเกลียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ด้านในกึ่งกลางหลอดหรือเหนือกว่าเล็กน้อย ก้านเกสรมีขนาดสั้นมาก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตรงปลายเป็นติ่งแหลม จานรองดอกยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่มีอยู่ 2 ช่อง แยกออกจากกัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ท่อเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเรียวเล็ก มีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร รวมปลายเกสรเพศเมีย[1],[2],[3]
  • ผลระย่อมหลวง ผลมีลักษณะเป็นผลแฝดแต่ไม่ติดกันเป็นผลสด มีน้ำมาก ลักษณะของผลเป็นรูปรีหรือรูปไข่ หัวและท้ายแหลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมูหรือสีเทาดำ ภายในมีเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

สรรพคุณของระย่อมหลวง

  • รากระย่อมหลวงจะมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิด ใช้เป็นยาบำรุงประสาท (ราก)[2]
  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากระย่อมหลวงเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[2]
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  • ช่วยทำให้นอนหลับ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ระย่อมหลวง”.  หน้า 176.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขะย่อมหลวง”.  หน้า 100-101.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ระย่อมหลวง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :  www.dnp.go.th/botany/.  [28 ต.ค. 2014].
  4. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ระย่อมหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org.  [28 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด