มะเร็งกระดูก (Bone cancer) อาการ & การรักษาโรคมะเร็งกระดูก 10 วิธี !

มะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย สามารถเกิดได้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 10-20 ปี (ในเด็กโต วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว) และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกนี้จะพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด

ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคนี้เพียงประมาณปีละ 650-700 ราย ทั้งนี้พบได้มากกว่าในเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า ส่วนในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100,000 คนต่อปี และพบในเพศหญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี

ชนิดของโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดปฐมภูมิ (มะเร็งที่ต้นเหตุเกิดในกระดูก) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย และชนิดปฐมภูมิ (มะเร็งที่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่น) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่

  1. โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง โดยมักจะเกิดในอวัยวะพวกรยางค์แขนขา ซึ่งตำแหน่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นใกล้กับข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมินี้เป็นกลุ่มมะเร็งที่พบได้ค่อนข้างน้อย (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบอุบัติการณ์ของโรคประมาณ 0.8 รายต่อประชากร 100,000 คน) พบเกิดได้กับคนทุกวัย แต่จะพบในวัยเด็กค่อนข้างมาก ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมินี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
    • ชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) หรือเรียกว่า “มะเร็งเซลล์กระดูกเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด มักพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี
    • ชนิดคอนโดรซาร์โคมา (Chondrosarcoma) หรือเรียกว่า “มะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน” เป็นชนิดที่พบได้ในคนอายุมากกว่า 50 ปี
    • ชนิดอีวิง (Ewing’s sarcoma) เป็นชนิดที่พบได้มากในเด็กและคนอายุน้อยกว่า 30 ปี
    • ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่พบได้น้อย คือ ชนิดคอร์โดมา (Chordoma) ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูกที่มักเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง นอกจากนี้ยังมีชนิด Malignant fibrous histiocytoma (MFH) และชนิดไฟโบรซาร์โคมา (Fibrosarcoma) ซึ่งเป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่ออ่อนที่เกิดขึ้นในกระดูกซึ่งพบได้น้อยมาก โดยชนิด Malignant fibrous histiocytoma (MFH) ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ใหญ่ บริเวณที่พบบ่อยคือ แขนและขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า ส่วนชนิดไฟโบรซาร์โคมา (Fibrosarcoma) จะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนและมักพบที่ต้นขา
  2. โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone cancer) หรือเรียกว่า “โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก” คือ โรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากโรคมะเร็งอื่น ๆ ที่แพร่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งประมาณ 30-40% ของมะเร็งที่กระจายมาจะพบที่แขนขา และประมาณ 50-60% จะกระจายมาตรงส่วนกลางของร่างกาย เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน เป็นต้น (เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายทางเลือดไปยังระบบน้ำเหลืองและไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งตำแหน่งที่พบการแพร่กระจายได้บ่อย คือ กระดูก ตับ และปอด)
    • โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกมีได้เกือบทุกชนิดและมักจะกระจายมาที่กระดูกในช่วงระยะท้าย ๆ ของโรค แต่จะมีโรคมะเร็งเพียง 5 ชนิดที่กระจายมาที่กระดูกตั้งแต่ในระยะแรกของโรค ได้แก่ โรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งไต
    • โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมินี้จึงเป็นกลุ่มที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 30,000 คนต่อปี และมะเร็งได้แพร่กระจายไปที่กระดูกประมาณ 20% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งในระยะท้าย ๆ ของโรค

โรคมะเร็งกระดูกเกิดได้กับกระดูกส่วนใดบ้าง

โรคมะเร็งกระดูกสามารถพบเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับกระดูกเพียงชิ้นเดียว แต่สามารถแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปสู่กระดูกชิ้นอื่น ๆ ได้ในลักษณะเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้โอกาสเกิดในด้านซ้ายและด้านขวามีใกล้เคียงกัน โดยโรคมะเร็งกระดูกแต่ละชนิดก็พบเกิดได้แตกต่างกันไป เช่น

  1. โรคมะเร็งออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) มักพบเกิดกับกระดูกขาและแขน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับข้อกระดูก โดยจะพบเกิดกับ
    • กระดูกต้นขาประมาณ 50%
    • กระดูกขาส่วนล่างประมาณ 30%
    • กระดูกต้นแขนประมาณ 10%
    • กระดูกลำตัว (สะโพกหรือกระดูกซี่โครง) ประมาณ 5%
    • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
    • กระดูกส่วนอื่น ๆ ที่เหลืออีกประมาณ 2%
  2. โรคมะเร็งอีวิง (Ewing’s sarcoma) มักพบเกิดกับกระดูกขาและแขนได้มากกว่ากระดูกส่วนอื่น ๆ เช่นกัน แต่มักเกิดตรงกลางของท่อนกระดูก นอกจากนั้นจะพบเกิดกับกระดูกของลำตัวได้สูง โดยจะพบเกิดกับ
    • กระดูกลำตัวประมาณ 50%
    • กระดูกต้นขาและกระดูกขาประมาณ 30%
    • กระดูกต้นแขนและกระดูกแขนประมาณ 15%
    • กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
    • กระดูกส่วนอื่น ๆ ที่เหลืออีกประมาณ 5-10%

สาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ คือ

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้ที่มีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด
  • การเป็นโรคมะเร็งบางชนิดมาก่อน เช่น โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ได้สูงกว่าคนทั่วไป (ส่วนผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งจอตาในเด็กมาก่อนก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ด้วยเช่นกัน)
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในคนผิวขาวและผิวดำมากกว่าคนเอเชียประมาณ 2 เท่า
  • เกิดจากการรักษาในปัจจุบัน เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การให้รังสีรักษา ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) เช่น ในผู้ที่มีประวัติที่กระดูกเคยได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูงในวัยเด็กจากการฉายรังสีรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ
  • เนื้องอกชนิดไม่ลุกลามหรือโรคของกระดูกอื่น ๆ เช่น Paget’s disease และ Fibrousdysplasia จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
  • การกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสี เป็นต้น ซึ่งคนที่ทำงานที่อยู่กับสารเคมีหรือทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีหรือทางการแพทย์ จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้
  • การเปลี่ยนแปลงทางโลกาภิวัตน์ อาจทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกได้สูงขึ้น เพราะในปัจจุบันเราพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด และในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเพิ่มของโรคมากขึ้นกว่าเดิม
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ฯลฯ ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระดูกด้วยเช่นกัน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิก็คือ ปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การขาดการออกกำลังกาย ภาวะดื่ม เป็นต้น (ปัจจัยข้างต้นนี้มีส่วนในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้สูงถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็ง ในขณะที่ปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลเพียง 5-10%) ซึ่งโรคมะเร็งแต่ละชนิดก็มีปัจจัยเสี่ยงที่จำเพาะแตกต่างกันไป เช่น การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด เป็นต้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่กระดูกได้นั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าผู้ป่วย 2 รายที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ผู้ป่วยรายที่มีเนื้องอกมะเร็งที่ใหญ่กว่าและมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปที่กระดูกได้มากกว่า และสำหรับโรคมะเร็งบางชนิดและโรคมะเร็งที่มีระดับความรุนแรงสูงจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปยังกระดูกได้มากกว่า

  • สาเหตุที่ทำให้โรคมะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายมาที่กระดูก เนื่องจากเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการเกาะยึดกับเนื้อเยื่อที่แตกต่างกัน มะเร็งที่มักเกิดการแพร่กระจายมาที่กระดูกจะมีความสามารถในการจับกับเซลล์กระดูกได้ดี นอกจากนี้เซลล์กระดูกยังมีการสร้างสารทำให้มะเร็งเจริญได้ดีอีกด้วย

อาการของโรคมะเร็งกระดูก

อาการโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการปวดและบวม ซึ่งการปวดอาจเป็น ๆ หาย ๆ ในระยะแรก (ส่วนใหญ่จะปวดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน) และจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นและปวดตลอดเวลาในระยะเวลาต่อมา (อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือต้องใช้แขนหรือขา)

เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นผู้ป่วยจะคลำได้ก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูกตรงกระดูกส่วนที่เป็นโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะพบที่กระดูกขา (บริเวณรอบ ๆ เข่า) และกระดูกแขน มีส่วนน้อยที่พบที่บริเวณอื่น ๆ ถ้าเกิดใกล้บริเวณข้อจะส่งผลให้เกิดอาการข้อบวม เจ็บ เกิดการติดขัดของการใช้ข้อหรือข้อยึดติด ส่วนกระดูกแตกหรือหักจะพบได้ในระยะท้าย ๆ ของโรค (กระดูกหักเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรค ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระดูก) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อยหรือเดินแล้วหัก และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไปได้

  • นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น
  • เมื่อโรคลุกลาม อาจส่งผลให้ก้อนเนื้อแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง หรือโรคแพร่กระจายไปที่ปอดทำให้มีอาการหอบเหนื่อย หรือแพร่กระจายเข้าไขกระดูกก่อให้เกิดภาวะซีดและอ่อนเพลีย บางครั้งอาจมีไข้ต่ำ ๆ เมื่อโรคลุกลาม ส่วนอีกอาการที่อาจพบได้ คือ คลำพบต่อมน้ำเหลืองข้อพับที่ใกล้กับกระดูกที่เกิดโรคโต แต่ไม่เจ็บ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตเมื่อโรคเกิดกับกระดูกต้นขา เป็นต้น
  • อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกบางรายอาจมีรอยโรคเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการก็ได้ และแพทย์มักตรวจพบจากการที่ผู้ป่วยมาตรวจสุขภาพประจำปี หรือเกิดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา และมาตรวจเอกซเรย์แล้วพบ ซึ่งปัจจุบันมักจะพบลักษณะนี้มากขึ้น

    อาการมะเร็งกระดูก
    IMAGE SOURCE : paediatric-cancer.blogspot.com, wiki.ggc.edu, withhealthxxx.blogspot.com, telemedicina.med.muni.cz

    อาการของมะเร็งกระดูก
    IMAGE SOURCE : prohealthblog.com, www.bestonlinemd.com

อาการโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เมื่อมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกจะทำให้กระดูกอ่อนลงและหักง่าย ทั้งนี้เป็นเพราะเซลล์มะเร็งจะสร้างสารทำลายกระดูก เมื่อกระดูกสลายก็จะทำให้แคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดและก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงตามมา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชักได้ นอกจากนี้ในบางกรณียังพบว่า เซลล์มะเร็งสามารถทำให้กระดูกหนาขึ้นผิดปกติ (Osteoblastic) ซึ่งพบได้น้อยกว่าแบบที่สลายกระดูก (Osteolytic) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดกระดูกได้ทั้งคู่ สำหรับอาการและอาการแสดงของมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ คือ

  • ปวดกระดูก ส่วนมากจะพบเป็นอาการแรก การปวดช่วงแรก ๆ มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ปวดมากในตอนกลางคืน ถ้ามีการเคลื่อนไหวจะดีขึ้น หลังจากนั้นอาการปวดจะเป็นบ่อยขึ้นและอาจแย่ลงถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • กระดูกหัก ซึ่งมักเกิดจากการหกล้ม ยกของ อุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งในขณะที่กำลังทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย ๆ คือ กระดูกขา กระดูกแขน และกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกหักผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงขึ้นมาอย่างกะทันหันและไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนที่หักได้
  • การกดทับไขสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการชา อ่อนแรง จนกระทั่งเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องผูก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ร่างกายขาดน้ำ สับสน ง่วงซึม หมดสติ
  • เห็นก้อนไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างกับมะเร็งชนิดปฐมภูมิที่จะเด่นเรื่องก้อน ส่วนมะเร็งชนิดนี้จะไม่เด่นเรื่องก้อน แต่จะมีภาวการณ์เป็นอัมพาตหรือการอ่อนแรงเกิดขึ้นได้

ระยะของโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีก แต่ที่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น คือ ระยะของโรคจะขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค คือ

  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่จุดเดียวในกระดูกและเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามจุดเดียวในกระดูก แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งลุกลามหลายจุดในกระดูก หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงกระดูก
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายไปสู่กระดูกชนิดอื่น ๆ ปอด และไขกระดูก

ความรุนแรงของโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิค่อนข้างรุนแรง ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยในเด็กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมินี้ก็มีข้อดีคือ ถ้าตรวจพบในระยะแรกและมะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ว่าโรคมะเร็งกระดูกจะไม่เหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่นตรงที่ไม่สามารถตรวจก่อนได้ จำเป็นต้องอาศัยความสงสัยจากผู้ปกครองว่าบุตรหลานมีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร

สำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายมาด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่พบว่ามีการกระจายไปที่กระดูกอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจจะสามารถมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดกระจายมาที่กระดูก ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจกระดูกส่วนที่เกิดโรค และจากการตรวจภาพกระดูกด้วยเอกซเรย์ธรรมดา (X-ray) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT- scan) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะช่วยบอกขนาดของมะเร็งที่แท้จริงได้ (มีประโยชน์ในแง่ของการวางแผนในการผ่าตัดรักษา รวมถึงสามารถบอกผู้ป่วยได้ว่าควรจะเก็บขาหรือแขนเอาไว้หรือควรตัดออก) แต่การตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา (นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคได้แล้ว ยังช่วยบอกระยะของโรคได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วย)

นอกจากนั้น คือ การตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งและเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก ตับ และของไต, การตรวจปัสสาวะเพื่อดูการทำงานของไต, การตรวจภาพปอดด้วยการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ปอดหรือไม่ (เพราะโดยปกติมะเร็งกระดูกมักจะแพร่กระจายไปที่ 2 อวัยวะหลัก คือ ปอดและที่กระดูกชิ้นอื่น) รวมทั้งอาจมีการตรวจไขกระดูก ภาพตับ และการสแกนกระดูก (Bone scan) ทั้งตัว เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง และดุลยพินิจของแพทย์

Osteosarcoma คือ
IMAGE SOURCE : www.connectedkansaskids.com, www.healthtalk.umn.edu, www.healio.com

chondrosarcoma คือ
IMAGE SOURCE : www.boneschool.com, radiopaedia.org, cancerwall.com

Ewing’s sarcoma คือ
IMAGE SOURCE : www.radiologyassistant.nl

วิธีรักษาโรคมะเร็งกระดูก

การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ในปัจจุบันการรักษาหลัก คือ การผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด ส่วนการให้รังสีรักษาจะเป็นการรักษาร่วม และการให้ยารักษาตรงเป้านั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา โดยถ้าเป็นมะเร็งในระยะแรก การรักษาหลักจะเป็นการผ่าตัดเอาส่วนเนื้องอกและเนื้อเยื่อรอบข้างออก แต่ถ้าเป็นมะเร็งในระยะท้ายแล้ว การรักษามักใช้หลายวิธีร่วมกัน คือ การผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบีด และการให้รังสีรักษาร่วมด้วย โดยจุดมุ่งหมายในการรักษามะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมินี้แพทย์จะมีเป้าหมายเพื่อนำเนื้องอกออกให้หมดและหวังให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค โดยวิธีการรักษานี้จะแบ่งออกเป็น

  1. การผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเนื้องอกและเนื้อเยื่อรอบข้างออก ซึ่งประมาณ 75-80% สามารถผ่าตัดเอาเนื้องออกโดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นโรคแล้ว หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะใส่เหล็กหรือกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกายเข้าไปแทนที่กระดูกที่ถูกตัดออกไป แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขา (เช่น ในผู้ป่วยที่แพทย์ไม่สามารถตัดเนื้องอกมะเร็งออกได้หมด ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้) โดยการผ่าตัดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การตัดอวัยวะ และการเก็บอวัยวะ
    • การตัดอวัยวะ คือ การตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยแพทย์จะตัดเฉพาะส่วนของตัวกระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไป และให้ผู้ป่วยใส่แขนเทียมหรือขาเทียม แต่การรักษานี้จะไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย (ในสมัยก่อนการตัดอวัยวะเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยทุกคนเป็นกังวล แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของขาเทียมนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องของวัสดุที่มีคุณภาพและความสะดวกสบายในการปรับใช้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ ดังนั้น การใช้ขาเทียมจึงแทบไม่เป็นปัญหาอะไร ส่วนที่เหลือคือผู้ป่วยจะต้องมีการฝึกเดินและปรับเปลี่ยนความคิดว่าการตัดขาไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิต)
    • การเก็บอวัยวะ คือ การตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนเนื้องอกออกและนำกระดูกมาทดแทนส่วนที่ตัดออกไป (การเปลี่ยนกระดูก) ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเราจะนำกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วมาทดแทนส่วนที่ตัดออกไป เพราะมีข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันเหมือนการเปลี่ยนอวัยวะอื่น ๆ (เนื่องจากกระดูกเป็นโครงสร้างและไม่มีเนื้อเยื่อ การใส่กระดูกเข้าไปในผู้ป่วยจึงไม่เกิดภาวะต้าน หรือถ้าหากเกิดก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก) แต่เนื่องจากกระดูกที่นำมาใช้นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกระดูกของผู้สูงอายุ เมื่อนำมาเปลี่ยนให้กับเด็ก กระดูกเหล่านี้จึงมีการสลายได้ง่ายหรือมีการหักได้ง่ายขึ้น (แต่หากผู้ป่วยรู้จักวิธีการดูแลรักษากระดูก กระดูกก็จะอยู่ได้นานหลายปี) และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ในปัจจุบันการบริจาคกระดูกยังคงมีน้อยมากเพราะคนไม่ค่อยรู้จักและทางสภากาชาดไทยเองก็ไม่มีนโยบายที่จะทำเรื่องนี้ (ในปัจจุบันธนาคารกระดูก หรือ Bone Bank มีอยู่ 2 แห่งด้วยกันที่ทำเรื่องนี้ คือ ศิริราชและพระมงกุฎเกล้า ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนแพทย์จะใช้วิธีการเก็บกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่ไร้ญาติเพื่อนำมาใช้เปลี่ยนกระดูกให้ผู้ป่วยได้ แต่ปัจจุบันนี้มีข้อห้ามทางกฎหมายและไม่สามารถทำได้แล้ว การนำมาใช้จึงต้องมีผู้บริจาค แต่เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ จึงทำให้การบริจาคกระดูกยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย จนส่งผลให้ในปัจจุบันแทบจะไม่มีกระดูกใช้เลย) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า การทำ “Recycling Bones” มาใช้ โดยจะเป็นการนำกระดูกของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกที่ถูกตัดออกมาแล้วนำมาทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งการทำลายเซลล์มะเร็งนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การฉายรังสี (โดยใช้ปริมาณรังสีที่สูงมากจึงทำให้เซลล์มะเร็งที่อยู่ในกระดูกตายหมด จากนั้นจึงเอาตัวเซลล์มะเร็งที่ตายออก แล้วนำกระดูกชั้นนั้นมาใส่เหล็กและนำกลับเข้าไปใส่ในผู้ป่วยเหมือนเดิม) หรือการนำกระดูกไปแช่ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิลบ 167 องศาเซลเซียส แต่การนำกระดูกเหล่านี้ไปผ่านกรรมวิธีดังกล่าวจะทำให้กระดูกเสียคุณภาพได้ ดังนั้น กระดูกอาจจะหักได้ง่ายไม่เหมือนกระดูกทั่วไป และมีระยะเวลาในการใช้งานเพียงประมาณ 5 ปี
    • การใช้ข้อเทียม การรักษาจะเป็นการใส่ข้อเทียมที่เป็นโลหะสำหรับโรคมะเร็งทดแทนที่เรียกว่า “Endoprosthesis” โดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาอย่างในสมัยก่อน หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถลุกเดิน ลงน้ำหนัก และขยับแขนขาได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกจะไม่เหมือนกับการใช้ข้อเทียมแบบอื่น เพราะข้อเทียมที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกจะต้องใช้โลหะที่มีความแข็งแรงมากกว่า ส่วนกรรมวิธีในการผลิตก็จะมากกว่าด้วยเช่นกัน)
    • การผ่าตัดแบบเจาะรู (Minimal invasive surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการรักษาในผู้ป่วยระยะแรกที่มาพบแพทย์เร็ว โดยวิธีการคือ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีการก่อเซลล์มะเร็งขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของกระดูก แพทย์ก็จะเจาะรูที่กระดูกตรงนั้น แล้วจะใช้ Probe ตัวเส้นที่ให้ความร้อนผ่านระบบแรงสั่นสะเทือนเข้าไปทำลายมะเร็ง ซึ่งพบว่าได้ผลดี เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องเข้ามารักษาในระยะแรกเท่านั้น
  2. การให้ยาเคมีบำบัด เนื่องจากการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการรักษามะเร็งกระดูก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด) เพราะบางครั้งมะเร็งอาจมีการแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นได้ (ที่พบบ่อยที่สุด คือ ปอด) ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดจะสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบางชนิดได้ ซึ่งแพทย์มักจะให้ยาเคมีบำบัด 3-4 รอบก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง หรือในกรณีที่มะเร็งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหรือเป็นมะเร็งกระดูกระยะสุดท้ายแล้ว เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งเพื่อช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ด้วย และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดอีกเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่
  3. การให้รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมที่แพทย์จะเลือกใช้เฉพาะในรายที่ผ่าตัดไม่ได้หรือเมื่อโรคแพร่กระจายแล้ว หรือในรายที่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไม่หมดหรือยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย โดยการรักษาจะเป็นการใช้รังสีเอ็กซ์หรืออนุภาคอื่น ๆ ในการทำลายเซลล์มะเร็ง การใช้รังสีรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรกจะเป็นการใช้เครื่องฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย (External beam radiation therapy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกว่าประเภทที่สองคือการฝังแร่ในร่างกาย (Internal beam radiation therapy) การใช้รังสีรักษานี้มีทั้งการใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้องอกและการใช้หลังผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย นอกจากนี้การใช้รังสีรักษายังมีส่วนช่วยในการลดขนาดของการผ่าตัดทำให้ไม่ต้องตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออก และช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะสุดท้ายได้ด้วย
  4. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยใช้ยาที่เข้าไปรักษายีนโดยตรง ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและก็มีการค้นพบเรื่อย ๆ ในเรื่องของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับโรคมะเร็งกระดูก แต่ว่ามะเร็งกระดูกจะแตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น คือ ในก้อนมะเร็งกระดูกจะมียีนอยู่หลายชนิด และยีนแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนที่เป็นยีนชนิดเดียวกัน ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้จึงยังเข้าไม่ถึงจนกว่าจะสามารถทราบได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
  5. การติดตามการรักษาเป็นระยะ ภายหลังการรักษาแพทย์จะมีการติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ เพื่อสอบถามอาการ (เช่น อาการปวดกระดูก บวม เป็นต้น), ตรวจร่างกาย, ตรวจเลือด และตรวจเอกซเรย์หรือสแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อสืบค้นว่าผู้ป่วยมีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่ และมะเร็งมีการกระจายไปที่ปอดหรือกระจายไปที่กระดูกส่วนอื่นหรือไม่ เพราะประมาณ 80% ของผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายใน 2 ปี และอีกประมาณ 20% ที่เหลือจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเมื่อครบประมาณ 5 ปี แต่พอหลังจาก 5 ปีไปแล้ว โอกาสการเกิดซ้ำของโรคมะเร็งหรือการกระจายของมะเร็งจะลดลงไปมาก คือ ถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว ไม่มีการเกิดของโรคซ้ำอีก จึงจะเรียกว่าหายขาดได้
  6. การดูแลตนเอง ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดจะต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายร่วมด้วย ผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งกระดูกแล้วจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายตามควรแก่สุขภาพ ควบคุมน้ำหนักให้ดี งดการสูบบุหรี่ และตรวจเช็กมะเร็งกระดูกเป็นระยะ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมในการปฏิบัติตัว

การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ โดยปกติแพทย์จะมุ่งรักษามะเร็งต้นกำเนิดก่อนเป็นหลัก ส่วนการรักษามะเร็งกระดูกทุติยภูมิจะเป็นรักษารอง (ซึ่งมักจะเป็นการรักษาร่วม คือ การให้ยาเคมีบำบัดหรือการให้รังสีรักษา ส่วนการผ่าตัดจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งตั้งต้น, ตำแหน่งของกระดูกและจำนวนกระดูกที่มะเร็งแพร่กระจายไป, การเปลี่ยนแปลงของกระดูกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งว่าเป็นชนิดที่ถูกทำลายหรือถูกสร้างเพิ่ม, ชนิดของการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อน และสภาพร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น) โดยจุดมุ่งหมายในการรักษามะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมินี้แพทย์จะไม่ได้รักษาเพื่อหวังให้ผู้ป่วยรอดชีวิต แต่การรักษาจะเป็นไปเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โดยจะมีหลักในการรักษา คือ 1.) ผู้ป่วยจะต้องไม่ปวด, 2.) ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยกลับมาใช้อวัยวะข้างที่เป็นอยู่ได้ทันที (เช่น กระดูกขาของผู้ป่วยหัก เมื่อผ่าตัดเสร็จ เขาก็สามารถกลับมาเดินได้ เป็นต้น) และ 3.) ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยพึ่งผู้อื่นได้น้อยที่สุด (เพราะถ้าผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่รู้สึกเสียคุณค่าของตัวเองไป จึงทำให้ผู้ป่วยยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป)

  1. การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาหลักในมะเร็งที่แพร่กระจายหลายชนิด โดยมีทั้งแบบฉีดเข้าเส้นเลือดและแบบรับประทาน ซึ่งยาจะเข้าไปในกระแสเลือดและไปยังเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย จึงช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยลงได้
  2. การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด เช่น การตัดรังไข่ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือการตัดอัณฑะในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก (เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สร้างจากอัณฑะจะสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนั้น จึงมีการรักษาเพื่อพยายามลดระดับฮอร์โมนเหล่านี้ลง) นอกจากนี้ยังมีการใช้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนดังกล่าวด้วย เช่น luteinizing-releasing hormone (LHRH)
  3. การให้ยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) ปกติเป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่กระจายมาที่กระดูก ยาตัวนี้จะช่วยลดอาการปวดกระดูก ลดอัตราการทำลายกระดูกของเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และช่วยลดความความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้
  4. การให้ยาลดอาการปวดที่เกิดจากมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการให้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เช่น โคเดอีน (Codeine), ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone), มอร์ฟีน (Morphine) หรือออกซิโคโดน (Oxycodone) ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการลดอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง
  5. การให้รังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงหรืออนุภาคในการทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การฉายรังสีในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว และการฉายรังสีในปริมาณน้อยหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ฉายรังสีหลายครั้งมากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมามีอาการปวดได้น้อยกว่า แต่การฉายรังสีนี้จะเหมาะกับโรคมะเร็งที่ยังแพร่กระจายไปไม่มาก เช่น 1-2 แห่ง แต่ถ้าแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้วอาจจะไม่เหมาะ (ในกรณีที่มีการแพร่กระจายไปหลายตำแหน่งแล้ว แพทย์อาจฉีดสารเภสัชรังสี ซัมมาเรียม-153 (sm-153) เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสารดังกล่าวจะเข้าไปจับกับบริเวณที่มะเร็งกระจายที่กระดูกแล้วปลดปล่อยรังสีบริเวณนั้นทำให้อาการปวดของผู้ป่วยทุเลาลง)
  6. การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อน ความเย็น หรือสารเคมี (ที่นิยมที่สุดคือ การจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะต้องทำในขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาสลบ) แต่วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในการรักษา
  7. การผ่าตัด ส่วนใหญ่การผ่าตัดจะเป็นเรื่องของการเสริมกระดูกที่เสียหายให้แข็งแรงขึ้น ป้องกันกระดูกหัก เช่น ผู้ป่วยมะเร็งกระจายไปที่กระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว การผ่าตัดจะเป็นไปเพื่อใส่เหล็กเข้าไปค้ำเพื่อไม่ให้กระดูกทรุดตัว หรือเมื่อมีการกดไขสันหลัง การผ่าตัดจะทำเพื่อไปตัดตำแหน่งที่กดทับออกไป เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้การฉีดสาร Polymethyl methacrylate (PMMA) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายซีเมนต์หรือกาวเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและสามารถช่วยลดอาการปวดกระดูกให้แก่ผู้ป่วยด้วย
  8. การผ่าตัดแบบตัดกระดูกออกไป เป็นวิธีที่แทบจะไม่ค่อยได้ทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งกลุ่มนี้

การรักษามะเร็งกระดูก
IMAGE SOURCE : www2.ljworld.com

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคมะเร็งกระดูก

การดูแลตนเองจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ผลการรักษาโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกเป็นโรคที่มีความรุนแรง ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ระยะของโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง (เช่น ชนิดอีวิงจะมีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี ต่ำกว่าชนิดอื่น), ขนาดของก้อนมะเร็ง (ยิ่งก้อนโตความรุนแรงของโรคยิ่งสูงขึ้น), การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด, การผ่าตัด (ถ้าผ่าตัดไม่ได้ เพราะตำแหน่งของโรคหรือผู้ป่วยมีสุขภาพไม่ดี ความรุนแรงของโรคก็จะสูงขึ้น) รวมถึงอายุและสุขภาพของผู้ป่วย โดย

  • ในโรคมะเร็งออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
    • ระยะที่ 1 อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ประมาณ 75-80%
    • ระยะที่ 2 ประมาณ 60-75%
    • ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
    • ระยะที่ 4 อัตราการรอดชีวิตที่ 2 ปี ประมาณ 0-10%
  • ในโรคมะเร็งอีวิง (Ewing’s sarcoma)
    • ระยะที่ 1 อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ประมาณ 70%
    • ระยะที่ 2 ประมาณ 60-70%
    • ระยะที่ 3 ประมาณ 20-40%
    • ระยะที่ 4 อัตราการรอดชีวิตที่ 2 ปี ประมาณ 0-5%

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูก

ผลข้างเคียงจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับวิธีรักษา ผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น โรคภูมิต้านตนเอง หรือ Autoimmune disease)

  • การผ่าตัด เช่น การเสียเลือด การสูญเสียเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด คือ เหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผมร่วง ภาวะเลือดออกง่ายจากการมีเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะซีด และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อการรักษาสิ้นสุด
  • รังสีรักษา คือ เหนื่อย อ่อนเพลีย ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเพิ่มโอกาสทำให้กระดูกหักในส่วนที่ได้รับรังสี
  • ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย เมื่อเกิดบาดแผลจะทำให้แผลติดยาก และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้

วิธีป้องกันโรคมะเร็งกระดูก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็มักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกได้ แต่ที่พอทำได้ก็คือ การสังเกตตนเอง เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนผู้ปกครองเองก็ควรเอาใจใส่และคอยสังเกตดูบุตรหลานอยู่เสมอ (เพราะโรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิมักเกิดกับคนในช่วงอายุ 10-20 ปี) ถ้าพบว่าบุตรหลานไม่สบายมีอาการเจ็บที่แขนขา ควรรีบไปพบแพทย์ อย่ารอให้เป็นมากแล้วจึงค่อยพาไป และการไปพบแพทย์ควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกจำเป็นต้องได้รับการติดตามในระยะยาว

ส่วนการป้องกันโรคมะเร็งชนิดทุติยภูมิ คือ การตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะแพร่กระจายและรักษาด้วยการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ซึ่งในปัจจุบันแพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก แต่หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ปวดหลัง (อาจมีอาการปวดหลังร้าวลงขา), ชาที่ขาหรือช่วงท้อง, ขาอ่อนแรงหรือมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยที่มีการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอัมพาตได้

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งกระดูก (Bone cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1176.
  2. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งกระดูก (Bone cancer)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [14 มี.ค. 2017].
  3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคมะเร็งกระดูก”.  (ผศ.นพ.อดิศักดิ์ นารถธนะรุ่ง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/cancer_center/.  [15 มี.ค. 2017].
  4. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งของกระดูก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [16 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด