มะสัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะสัง 9 ข้อ !

มะสัง

มะสัง ชื่อสามัญ Wood apple[3]

มะสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus lucida (Scheff.) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Feroniella lucida (Scheff.) Swingle) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE[1]

สมุนไพรมะสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักสัง (มุกดาหาร), หมากกะสัง มะสัง (ภาคกลาง), กะสัง (ภาคใต้), หมากสัง, กระสัง เป็นต้น[2],[3],[4]

ลักษณะของมะสัง

  • ต้นมะสัง มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านขนานกับลำต้นหรือออกตั้งฉากกับลำต้น ต้นมีกิ่งก้านจำนวนมาก เปลือกต้นเป็นร่องเล็ก ๆ เปลือกแตกเป็นเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ต้นแก่เป็นสีเทาถึงดำ ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมยาว และแข็งตรง ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ ชอบแสงแดดจัด และควรปลูกไว้กลางแจ้ง พบขึ้นได้ทางภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าโคก ทุ่งนา[1],[2],[4]

ต้นมะสัง

ต้นมะสัง

  • ใบมะสัง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น ปลายใบคี่ ก้านใบรวมยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร เรียงตัวกันแบบสลับหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ก้านใน 1 ข้อ ใบย่อยจะเกิดเป็นคู่ ๆ เรียงตัวกันแบบตรงข้าม มีจำนวน 3-5 คู่ ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือค่อนข้างมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านท้องใบเห็นต่อมน้ำมันกระจายชัดเจน[4]

ใบมะสัง

  • ดอกมะสัง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งหรือตามซอกใบคล้าย ๆ ดอกกระถิน เป็นปุย ๆ มีสีขาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โคนก้านมีใบประดับ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ปลายแหลม ขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีขาวแยกจากกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ปลายกลีบแหลม โคนกลีบตัดตรง มีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ส่วนปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก เป็นกลีบสีเขียวแกมเหลือง ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-20 อัน บ้างว่าประมาณ 10-12 อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกันประมาณ 1/5 ส่วนของความยาวก้าน ปลายก้านแยกจากกัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูติดบนก้านแบบ Basifix สีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน รังไข่ superior ovary สีเขียว ลักษณะเป็นรูปโดมทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ก้านเกสรอวบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยอดเกสรจะเรียวเล็กกว่าก้านเกสรเล็กน้อย รังไข่ 5-6 ห้อง มีออวุลจำนวนมาก สามารถออกดอกได้ตลอดปี[1],[2],[3],[4]

ดอกมะสัง

  • ผลมะสัง ผลมีลักษณะกลม เป็นสีเขียวคล้ายผลมะนาว มีขนาดประมาณ 4-12 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เปลือกผลแข็งและหนามาก มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกมีกลิ่นหอม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปยาวรี โดยผลจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาใช้แทนมะนาวได้[1],[2],[4]

ผลมะสัง

ลูกมะสัง

เมล็ดมะสัง

สรรพคุณของมะสัง

  1. ใบมีรสฝาดมัน สรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ใบ)[1],[2]
  2. รากและผลอ่อนเป็นยาแก้ไข้ ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ผลอ่อน)[2]
  3. ช่วยแก้ท้องเดิน (ใบ)[1],[2]
  4. ใบช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ)[2]
  5. แก่นมะสังใช้ร่วมกับแก่นมะขาม ใช้ต้มกับน้ำดื่มขณะอยู่ไฟ (แก่น)[2]
  6. ใบใช้เป็นยาสมานแผล (ใบ)[1],[2]

ประโยชน์ของมะสัง

  • ผลมะสังมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาใช้แทนมะนาวได้ โดยใช้ปรุงน้ำพริก หรือใส่แกง นอกจากนี้ยังใช้กินและนำมาทำน้ำผลได้อีกด้วย[2],[3]
  • ยอดอ่อนและใบอ่อนมะสังใช้กินเป็นผักสด หรือนำไปปิ้งไฟให้หอมก็ใช้รับประทานร่วมกับลาบ ก้อย ซุปหน่อไม้[2],[3]
  • ในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทำเป็นไม้แคระประดับหรือไม้ดัด เนื่องจากมีความสวยงามจากเปลือกที่ขรุขระ มีรูปทรงของต้นที่สวยงาม ออกใบดกและมีขนาดเล็ก และง่ายต่อการดัดเพราะกิ่งก้านมีความเหนียว[3]

มะสังบอนไซ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะสัง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 158.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะสัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [18 พ.ค. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะสัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [18 พ.ค. 2014].
  4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.  “มะสัง, กระสัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: science.sut.ac.th.  [18 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by bims meniano), www.bansuanporpeang.com (by rose1000)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด