มะกา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะกา 23 ข้อ !

มะกา

มะกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Bridelia ovata Decne. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรมะกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้องแกบ (เชียงใหม่), ขี้เหล้ามาดกา (ขอนแก่น), ซำซา มะกาต้น (เลย), มัดกา มาดกา (หนองคาย), มาดกา (นครราชสีมา), กอง กองแกบ (ภาคเหนือ), ส่าเหล้า สิวาลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก The Plant List ระบุว่าสมุนไพรชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

ลักษณะของมะกา

  • ต้นมะกา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล พอลำต้นแก่จะแตกเป็นสะเก็ดยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นมาก และมีแสงแดดแบบเต็มวัน พบขึ้นตามป่าโปร่งทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[6]

ต้นมะกา

ต้นมะกา

  • ใบมะกา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบมน โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ตลอดทั้งขอบใบอ่อนและยอดอ่อนเป็นสีแดง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-21 เซนติเมตร แผ่นใบด้านหลังเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นคราบสีขาว เนื้อใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบสั้น[1],[2]

ใบมะกา

  • ดอกมะกา ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรดอกเป็นสีแดง[1],[2]

ดอกมะกา

  • ผลมะกา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่[1],[2]

ผลมะกา

สรรพคุณของมะกา

  1. แก่นมีรสขม เป็นยาแก้กระษัย (แก่น)[1],[2] ส่วนเปลือกต้นมีรสฝาดขม เป็นยาแก้กระษัย แก้พิษกระษัย (เปลือกต้น)[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้ใบมะกาเป็นยาแก้โรคกระษัย ด้วยการใช้ใบมะกา แก่นขี้เหล็ก เถาคันแดง เหง้าสับปะรด และรากต้นเสาให้ อย่างละเท่ากัน นำมาใส่ในหม้อดินต้มกับน้ำพอสมควร แล้วใส่เกลือทะเล 1 กำมือ ใช้น้ำยารับประทาน (ใบ)[4]
  2. ช่วยแก้ตานขโมย (ใบ)[7]
  3. ทั้งห้าส่วนเป็นยาบำรุงโลหิต (ทั้งห้า)[7]
  4. ช่วยบำรุงธาตุไฟ (ใบ)[7]
  5. ช่วยฟอกโลหิต (แก่น)[1],[2] ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)[7]
  1. รากและใบเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ใบ)[5] ส่วนใบเป็นยาลดไข้ (ใบ)[7]
  2. ใบมีรสขมขื่น สรรพคุณเป็นยาถ่ายพิษไข้ ถ่ายพิษตานซางในเด็ก (ใบ)[1],[2]
  3. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายเสมหะและโลหิต (ใบ)[1],[2]
  4. ใบที่ตายนำมานึ่งมวนเป็นยาสูบกัดเสมหะ หรือนำมาต้มดื่มเป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[2],[5] ส่วนแก่นก็เป็นยาขับเสมหะเช่นกัน (แก่น)[1],[2]
  5. ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)[7]
  6. เมล็ดทำให้ฟันแน่น (เมล็ด)[5]
  7. ช่วยชักลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ (ใบ)[1],[2]
  8. ช่วยขับลม (ใบ, ทั้งห้า)[7]
  9. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)[7]
  10. เปลือกต้นใช้กินเป็นยาสมานลำไส้ (เปลือกต้น)[1],[2]
  11. ใบสดนำมาปิ้งไฟ ใช้เป็นยาระบายอย่างอ่อน (ใบ)[1],[7] ด้วยการใช้ใบแห้งปิ้งไฟให้พอกรอบ 2-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด แช่ไว้ประมาณ 15-20 นาที ใช้ดื่มก่อนนอนเป็นยาระบาย (ใบ)[5]
  12. ช่วยระบายอุจจาระธาตุ (แก่น)[1],[2]
  13. ช่วยคุมกำเนิด ช่วยขับระดู แก้มุตกิดของสตรี (ใบ)[7]
  14. ช่วยแก้ไตพิการ (แก่น)[1],[2]
  15. ช่วยบำรุงน้ำดี (ใบ)[7]
  16. ช่วยบำรุงน้ำเหลือง ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)[7]
  17. เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[6]
  18. ช่วยแก้เหน็บชา (ใบ)[7]

หมายเหตุ : ใบสดไซ้ท้องทำให้คลื่นเหียน ต้องนำมาปิ้งไฟให้พอกรอบเสียก่อนแล้วจึงนำไปใช้ มักใช้ใบยาต้ม[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกา

  • จากการทดลองฤทธิ์ระบายกับผู้ป่วยท้องผูก ด้วยการใช้ใบแห้งในขนาด 1.5-2 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด แล้วแช่ไว้นาน 10-20 นาที ใช้ดื่มก่อนนอน พบว่าได้ผลดี แต่มีอาการข้างเคียงคือ ปวดท้อง คลื่นไส้[3]
  • มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบ[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะกา (Maka)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 213.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะกา”.   หน้า 148.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะกา”.  หน้า 66.
  4. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29.  “มะกา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/.  [13 พ.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน(พัฒนาการภาคตะวันออก), งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนบ้านเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา.  “มะกา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.hinsorn.ac.th/botanyhinsorn/.  [13 พ.ค. 2014].
  6. คมชัดลึกออนไลน์.  “มะกา ใบขับเสมหะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net.  [13 พ.ค. 2014].
  7. การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเขาตายิ้ม อ.เมือง จ.ตราด, สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้ พ.ศ. 2549.  “มัดกา, มะกา”.  (ชูจิตร อนันตโชค, ทรรศนีย์ พัฒนเสร, วจีรัตน์ บุญญะปฏิภาค).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: forprod.forest.go.th/forprod/chemistry/pdf/1.66.pdf.  [13 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.nationaalherbarium.nl, ict2.warin.ac.th/botany/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด