เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

เกล็ดเลือดต่ำ หรือเกล็ดเลือดน้อย (ภาษาอังกฤษ : Thrombocytopenia, Thrombopenia) คือ ภาวะซึ่งในเลือดมีเกล็ดเลือดน้อยกว่าปกติ* (น้อยกว่า 150,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออกแดง ๆ หรือมีจ้ำเลือดออกตื้น ๆ สีม่วงปนเหลืองที่ผิวหนัง หรือมีเลือดออกมากหลังเกิดบาดแผล (แม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็ก) และบางรายอาจมีอาการเลือดออกอื่น ๆ (เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน เป็นต้น)

หากมีเกล็ดเลือดต่ำมากอย่างรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เลือดออกจนเสียชีวิตได้ ส่วนสาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำก็มีได้หลายอย่าง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถทำให้ผู้ป่วยหายและมีชีวิตเป็นปกติได้

หมายเหตุ : เกล็ดเลือด (Platelet) มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติและช่วยให้เลือดหยุดไหลเมื่อมีเลือดออก เกล็ดเลือดเป็นเซลล์ที่สร้างโดยไขกระดูกและอยู่ในหลอดเลือด เป็นส่วนประกอบของเลือดเช่นเดียวกับเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ซึ่งในกลุ่มเม็ดเลือดนี้ เกล็ดเลือดจะมีขนาดเล็กที่สุด (ประมาณ 2-3 ไมโครเมตร) มีอายุอยู่ได้ประมาณ 8-10 วัน และคนปกติจะมีปริมาณเกล็ดเลือดอยู่ที่ประมาณ 150,000-450,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทั้งนี้ เมื่อมีความผิดปกติในการทำงานของเกล็ดเลือดและ/หรือในปริมาณก็จะทำให้เกิดภาวะผิดปกติได้ เช่น ภาวะเลือดออกง่ายที่เกิดจากการมีปริมาณของเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) หรือเกิดลิ่มเลือดในกรณีที่มีปริมาณของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)

โรคเกล็ดเลือดต่ำ
IMAGE SOURCE : www.momjunction.com

สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

สามารถแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 4 ประเภท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
    • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมหมวกไต และมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งมีผลไปทำลายไขกระดูกและเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)
    • โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ซึ่งเป็นโรคเลือดผิดปกติที่พบได้ค่อนข้างน้อยแต่รุนแรง ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้น้อยมาก รวมทั้งเกล็ดเลือดด้วย
    • การใช้ยาบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อการสร้างและการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
    • การรักษาบางชนิด เช่น การฉายรังสี หรือการใช้ยาเคมีบำบัด (ตัวยาไปกดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก) เพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
    • การสัมผัสสารเคมีบางชนิด ซึ่งเป็นสารที่มีผลไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกาย เช่น สารหนู, สารกำจัดศัตรูพืช, เบนซีน (Benzene) เป็นต้น
    • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น คางทูม, หัดเยอรมัน, อีสุกอีใส, เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus infection), พาร์โวไวรัส (Parvovirus) รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคตับอักเสบซี (Hepatitis C)
    • โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง Wiskott-Aldrich syndrome (WAS)
    • การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีผลชะลอการผลิตเกล็ดเลือด ทำให้จำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
    • การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี12, กรดโฟลิก (โฟเลต), ธาตุเหล็ก
  2. เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมาก เป็นผลมาจากร่างกายมีการใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป เช่น
    • โรคภูมิต้านตนเองหรือโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันที่ปกติแล้วจะต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่กลับเกิดความผิดพลาดไปทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อในร่างกาย รวมถึงเกล็ดเลือดเสียเอง ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคลูปัส (Lupus) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของโรคพุ่มพวง, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคไอทีพี (Immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักมีเกล็ดเลือดต่ำแบบเฉียบพลัน ในเด็กอาจมีการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน หรือมีประวัติการฉีดวัคซีนบางชนิดมาก่อน ส่วนในผู้ใหญ่มักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป
    • การใช้ยาบางชนิด ที่อาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำจากปฏิกิริยาอิมมูน (Immune) หรือจากภูมิต้านทานทำลายเกล็ดเลือด เช่น ยาเฮพาริน (Heparin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้บ่อยในโรคที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด, ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งเป็นยาป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด, ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรค, ยาควินิน (Quinine) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย, ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ซึ่งเป็นยารักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารและอาการลำไส้อักเสบ เป็นต้น
    • การตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดประมาณ 5% จะมีโอกาสเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด
    • การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม, การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (บายพาสหัวใจ) เป็นต้น
    • การติดเชื้อไวรัส เช่น โมโนนิวคลิโอสิส (Mononucleosis), ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) รวมถึงภาวะโลหิตเป็นพิษที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ภาวะที่มีเลือดออก ซึ่งร่างกายต้องนำเกล็ดเลือดไปใช้ในการห้ามเลือด ดังนั้นเมื่อมีเลือดออกและพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะตรวจหาให้ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เกิดก่อน (เลือดออกก่อนหรือเกล็ดเลือดต่ำก่อน) เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ถูกต้อง
    • ภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำจากการใช้เกล็ดเลือดมากเกินไป (พบได้น้อยและมีอาการรุนแรง) เช่น ภาวะ Thrombotic thrombocytopenic purpura (TTP) ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดในร่างกาย หลอดเลือดในสมอง ไต และหัวใจ, ภาวะ Disseminated intravascular coagulation (DIC) ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดกระจายไปในหลอดเลือดเล็ก ๆ ทั่วร่างกาย อันเป็นภาวะแทรกซ้อนมาจากการติดเชื้อรุนแรง ภาวะช็อก ภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน หรือภาวะทางสูติศาสตร์ (เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด) ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการหนัก มีปัญหาโรคอื่น ๆ นำมาก่อนมีลิ่มเลือดในหลอดเลือด แล้วตามมาด้วยภาวะเลือดออกผิดปกติ
  3. เกล็ดเลือดถูกกักหรือบีบไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป (ส่งผลให้เกล็ดเลือดในกระแสเลือดลดลง) เช่น ไปอยู่ในก้อนที่มีหลอดเลือดผิดปกติที่เรียกว่า “Hemangioma” หรือไปอยู่ที่ม้าม (ม้ามมีหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วออกจากกระแสเลือด ปกติเกล็ดเลือดประมาณ 1 ใน 3 จะถูกกักอยู่ที่ม้าม เมื่อเกิดการติดเชื้อ ตับแข็ง หรือโรคมะเร็ง เกล็ดเลือดจะถูกกักที่ม้ามมากขึ้น ทำให้ม้ามโต และทำให้เกล็ดเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอในกระแสเลือด จนเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำในที่สุด)
  4. เกล็ดเลือดต่ำเพราะมีปริมาณน้ำในร่างกายมาก (Dilutional thrombocy topenia) ซึ่งพบได้ในผู้ที่ได้รับน้ำเกลือ หรือสารน้ำคอลลอยด์ (Colloids) ทางหลอดเลือดดำมากเกินไป (คอลลอยด์เป็นสารน้ำที่ใช้เพิ่มปริมาณน้ำในหลอดเลือด เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น จากการสูญเสียน้ำจากแผลไฟไหม้) หรือเกิดจากการได้รับส่วนประกอบอื่น ๆ ของเลือดในปริมาณมาก แต่ไม่ได้รับเกล็ดเลือดร่วมด้วย (เช่น ได้รับเฉพาะเม็ดเลือดแดงหรือเฉพาะเม็ดเลือดขาว) และยังอาจพบได้ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 3) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณสารน้ำในเลือดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็มีเกล็ดเลือดไม่ต่ำมาก

อาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

อาการสำคัญของผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คือ อาการเลือดออก โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเกล็ดเลือดว่าต่ำมากน้อยเพียงใด ถ้าเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ได้ (ไม่มีเลือดออกที่ใด) และอาจตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการเจาะเลือดตรวจนับเม็ดเลือดซึ่งทำเพื่อการตรวจสุขภาพหรือตรวจเพื่อหาโรคจากสาเหตุอื่น ๆ

แต่เมื่อเกล็ดเลือดต่ำจนถึงระดับหนึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออก ซึ่งอาการเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำมักจะเกิดขึ้นที่ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกแดง ๆ จ้ำ ๆ (Petechial hemorrhage) คล้ายยุงกัด กดแล้วไม่จางหายไป (ปกติถ้าเป็นจุดยุงกัดเมื่อกดแล้วจะจางลง) หรือเป็นจ้ำเลือดออกตื้น ๆ (Ecchymosis) สีม่วงปนเหลืองไม่สม่ำเสมอ ซึ่งบางคนเรียกว่า “พรายย้ำ

ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกที่จมูกหรือเหงือก ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ มีเลือดออกมากหลังเกิดบาดแผล (แม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็กก็ตาม) และหากจำนวนของเกล็ดเลือดต่ำมาก อาจพบอาการเลือดออกภายในหรือมีอาการรุนแรงได้ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีเลือดปน หรืออุจจาระมีสีเข้มมาก (สีดคล้ายยางมะตอย) รวมถึงอาจมีอาการเลือดไหลไม่หยุด หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

อาการเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำเพียงอย่างเดียว มักจะไม่มีเลือดออกในข้อหรือในกล้ามเนื้อลึก ๆ หากมีอาการดังกล่าวต้องหาสาเหตุของเลือดออกจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติด้วย

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
IMAGE SOURCE : www.acceleratedgenealogy.com

อาการเกล็ดเลือดต่ำ
IMAGE SOURCE : www.lymphomas.org.uk

วิธีรักษาเกล็ดเลือดต่ำ
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by What Is Thrombocytopenia)

สาเหตุเกล็ดเลือดต่ำ
IMAGE SOURCE : www.humpath.com

เกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร
IMAGE SOURCE : www.lymphomas.org.uk

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

เมื่อเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก ส่วนโอกาสที่เลือดจะออกเองโดยไม่ต้องมีบาดแผลจะเกิดเมื่อเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร

ในผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลงมากหรือต่ำกว่า 10,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในบางกรณี (ค่อนข้างพบได้น้อย) อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เนื่องจากมีเลือดออกในสมอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะมีแนวทางในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

  • การซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อสาเหตุที่อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ประวัติการมีเลือดออก (โดยเฉพาะตำแหน่งของเลือดที่ออก เพื่อแยกว่าเป็นเลือดออกเฉพาะที่หรือเป็นเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และลักษณะของเลือดที่ออก เพื่อแยกว่าเกิดจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือจากเลือดออกจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ), ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ ทั้งยากินและยาฉีด (เช่น การฉีดวัคซีนบางชนิดในผู้ป่วยเด็กอาจมีความสัมพันธ์กับการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ในโรคไอทีพี), ประวัติการมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น มีการติดเชื้อนำมาก่อน หรือมีอาการปวดข้อ ผมร่วง มีผื่น แพ้แสงแดด หรือมีภาวะซีด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี การติดเชื้อไวรัส เช่น ในโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะทำให้เกล็ดเลือดต่ำหลังจากมีไข้สูงได้ประมาณ 3 วัน แต่จะกลับมาเป็นปกติในวันที่ 8-10), ประวัติการให้เลือด, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณของการดื่มแอลกอฮอล์), ประวัติการมีเพศสัมพันธ์และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเอดส์, ประวัติการสัมผัสเลือดที่ติดเชื้อหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ รวมถึงประวัติการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำของบุคคลในครอบครัว เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย เป็นการตรวจร่างกายเพื่อหาร่องรองของอาการเลือดออก เช่น การตรวจหารอยช้ำหรือจุดแดงใต้ผิวหนัง, การตรวจดูหน้าท้องว่าผู้ป่วยมีอาการม้ามโตหรือไม่, การตรวจดูว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ (เป็นอาการของการติดเชื้อ) เป็นต้น
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อนับจำนวนเกล็ดเลือด ซึ่งในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำนั้นจะมีจำนวนของเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (ค่าปกติของเกล็ดเลือด คือ 150,000-450,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ซึ่งการตรวจสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือซีบีซี (Complete blood count – CBC), การตรวจดูสเมียร์เลือด (Blood smear) เพื่อดูความผิดปกติของรูปร่าง หาเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และนับจำนวนของเม็ดเลือดต่าง ๆ โดยเฉพาะเกล็ดเลือดว่าต่ำจริงหรือไม่ (เพราะบางทีเกล็ดเลือดอาจเกาะกลุ่มกัน ทำให้การตรวจนับด้วยเครื่องนับอัตโนมัติผิดพลาดไปได้), การตรวจหาจำนวนของสารภูมิต้านทาน (Antibody) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายผลิตออกมาเพื่อทำลายเกล็ดเลือด เป็นต้น
  • การตรวจไขกระดูก เป็นการตรวจหาสาเหตุว่าทำไมไขกระดูกจึงสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ เกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ (เนื่องจากไขกระดูกเป็นอวัยวะที่ใช้ในการสร้างเกล็ดเลือด) ซึ่งการตรวจไขกระดูกจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การเจาะไขกระดูก (Aspiration) แล้วนำไปส่องกล้องเพื่อหาความผิดพลาดของเซลล์ ส่วนอีกวิธีคือการตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) ซึ่งจะทำหลังการเจาะไขกระดูก เพื่อตรวจสอบจำนวนและชนิดของเซลล์ (ส่วนมากมักตรวจที่ไขกระดูกสะโพก)
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจ Partial Thromboplastin Time (PTT) เพื่อตรวจการแข็งตัวของเลือด, การตรวย Prothrombin time (PT), การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อดูว่าม้ามมีการขยายตัวมากขึ้นหรือไม่, การตรวจหาสาเหตุตามที่แพทย์สงสัยจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย (เช่น การเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นโรคเอสแอลอีหรือไม่) เป็นต้น

การรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น พบจุดเลือดออกตามตัว จ้ำเลือดตามตัว มีเลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมาผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรืออุจจาระเป็นสีดำ หรือเมื่อมีเลือดออกแล้วหยุดยาก (เช่น ถอนฟันแล้วเลือดไหลไม่หยุด หรือมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด เป็นต้น) และควรรีบไปพบแพทย์ในทันทีหากหากมีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือด ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ อาเจียนพุ่ง ซึมลง เนื่องจากอาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุและตามความรุนแรงของอาการผู้ป่วยในแต่ละราย

  • การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำไม่มาก ถ้าไม่มีอาการเลือดออกหรือเกิดบาดแผลแล้วพบว่ามีเลือดไหลไม่มากไปกว่าปกติ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
    • ในผู้ป่วยที่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจให้เปลี่ยนยาหยุดยาที่เป็นต้นเหตุ
    • ในผู้ป่วยที่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีสาเหตุมาจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน แพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อยับยั้งภูมิคุ้มกัน
  • การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมาก แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
    1. การรักษาด้วยยา
      • ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในรูปแบบของยาฉีดหรือยารับประทาน เพื่อช่วยชะลอการทำลายเกล็ดเลือด เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone)
      • อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulins) หรือยาริทูซิแมบ (Rituximab) ซึ่งเป็นยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อช่วยยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน
      • ยาเอลทรอมโบแพค (Eltrombopag) หรือยาโรมิโพลสติม (Romiplostim) ซึ่งเป็นยาชนิดฉีดเข้าที่ใต้ผิวหนัง เพื่อช่วยกระตุ้นไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดเพิ่มมากขึ้น และเป็นการลดการเกิดอาการฟกช้ำ ไม่ให้มีเลือดออก (Bleeding)
    2. การห้ามเลือดและให้เลือด/เกล็ดเลือดทดแทน ซึ่งจะให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกหรือมีความต่อการเลือดออกมาก (ยกเว้นการให้เกล็ดเลือดในกรณีที่เมื่อให้แล้วไม่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น แต่กลับทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายไปมากขึ้น เป็นต้น)
    3. การผ่าตัดม้าม แพทย์จะให้การผ่าตัดหากรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล ซึ่งมักผ่าตัดให้ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไอทีพี (Immune thrombocytopenia) เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดม้ามออกแล้วจะทำให้ป่วยและติดเชื้อได้ง่าย หากมีไข้หรือพบว่ามีอาการอื่น ๆ ของการติดเชื้อ ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที รวมถึงอาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้อกงันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นต่อไปด้วย

การดูแลตนเองเมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกเมื่อมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สามารถทำได้โดยการ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ (ในกรณีที่มียา)
  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มมาก ๆ และแปรงฟันอย่างเบามือ เพื่อหลีกเลี่ยงเลือดออกที่เหงือกในขณะแปรงฟัน
  • ระมัดระวังในการใช้ของมีคมต่าง ๆ เช่น การใช้มีดที่อาจบาดได้และทำให้เลือดไหลไม่หยุด
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทกและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การเล่นฟุตบอล ศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกหรือเสี่ยงต่อการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ซึ่งหากรถล้มหรือเฉี่ยวชนจนศีรษะฟาดก็จะทำให้มีเลือดออกในสมองเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ระมัดระวังการขึ้นไปในที่สูงและเสี่ยงต่อการตกลงมา เช่น การปีนขึ้นไปทำงานในที่สูง หากพลาดตกลงมาจะทำให้มีเลือดออกได้มาก
  • สวมใส่อุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บเสมอในขณะทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น การใส่ถุงมือหรือแว่นตาในขณะที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การคาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับรถยนต์ การสวมหมวกกันน็อคในขณะขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น
  • ในเด็กควรระวังไม่ให้ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการหกล้ม กระทบกระแทก หรือมีเลือดออกง่าย เช่น การวิ่งแข่ง เล่นฟุตบอล เล่นรักบี้ เป็นต้น (กีฬาที่แนะนำให้เล่น คือ การว่ายน้ำ) ส่วนของเล่นที่ให้เด็กเล่นควรเป็นพลาสติกที่ไม่แหลมคม นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านก็ต้องระวังที่มีมุมแหลมด้วย เพราะเด็กอาจวิ่งหรือคลานไปชนได้ (ถ้าเป็นได้ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีมุมแหลมหรือทำให้มุมให้มน)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • ก่อนการทำหัตถการใด ๆ เช่น การฉีดยา การผ่าตัด หรือการถอนฟัน เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และควรแจ้งต่อผู้เกี่ยวข้องที่ทำหัตถการด้วยว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • หากมีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง ให้ใช้ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซแห้ง หรือสำลีแห้งกดไว้ เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมาก ถ้ามีเลือดกำเดาไหลออกมาให้ใช้วิธีก้มหน้าบีบจมูกและหายใจทางปาก แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

อาหารเพิ่มเกล็ดเลือด

เนื่องจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงของยาที่กินอยู่หรือเกิดจากไขกระดูกทำงานลดลง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุก่อน ดังนั้น การกินวิตามิน อาหารเสริม หรือการไปเน้นกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป (แม้จะมีประโยชน์ แต่ถ้าได้รับมากจนเกินไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้) จึงไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นหรือหายได้ เพราะการรักษาจะต้องเริ่มจากทราบสาเหตุก่อนแล้วรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ

อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นการกินข้าวกล้องหรือจมูกข้าว ไข่ไก่ ตับหรือเครื่องในสัตว์ต่าง ๆ เนื้อปลาต่าง ๆ ผักผลไม้ต่าง ๆ เมล็ดธัญพืชและถั่วต่าง ๆ ให้มากขึ้น จำกัดแป้ง น้ำตาล ไขมัน เนื้อแดง และอาหารเค็ม ร่วมกับการออกกำลังตามควรแก่สุขภาพก็เป็นเรื่องดีต่อสุขภาพที่ทุกคนควรปฏิบัติ

ส่วนการจะเลือกบริโภควิตามินหรืออาหารเสริมใด ๆ ควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้แนะนำจะปลอดภัยกว่า อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและลดการสูญเสียเงินจากการลองผิดลองถูกด้วยครับ

การป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนสาเหตุบางอย่างที่สามารถป้องกันได้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำด้วย ได้แก่

  1. ไม่ซื้อยาใด ๆ มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ประชาชนมักซื้อมากินเองโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำตามมาได้ รวมไปถึงยาที่ส่งผลต่อจำนวนและการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่อาจทำให้เกิดเลือดออกหรือทำให้เลือดจางลงได้
  2. ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เป็นต้น
  3. ลดหรือหลีกเลี่ยงกรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะสารหนู สารกำจัดศัตรูพืช เบนซีน ที่สามารถไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกายได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 115.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)”.  (พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [11 ส.ค. 2017].
  3. พบแพทย์.  “เกล็ดเลือดต่ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [13 ส.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด