พุดตาน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพุดตาน 18 ข้อ !

พุดตาน

พุดตาน ชื่อสามัญ Cotton rose, Cotton rose hibiscus, Confederate rose, Confederate rose mallow, Dixie rosemallow, Changeable Rose, Changeable rose mallow, Rose of Sharon

พุดตาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus mutabilis L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรพุดตาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดอกสามสี สามผิว (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของพุดตาน

  • ต้นพุดตาน มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน ชาวจีนเชื่อว่าต้นพุดตานเป็นไม้มงคล เพราะดอกพุดตานสามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สีภายในวันเดียว เปรียบเสมือนของชีวิตคนที่เริ่มต้นเหมือนเด็กที่เป็นผ้าขาว แล้วค่อย ๆ เจริญเติบโตพร้อมกับสีสันที่แต่งแต้มขึ้นมา เมื่ออายุมากขึ้นก็พร้อมที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มจนกระทั่งได้ร่วงโรยลงไป เชื่อว่าต้นพุดตานนี้ได้มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงค้าขายกับชาวจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 5 เมตร ต้นและกิ่งมีขนสีเทา ต้นพุดตานชอบอยู่กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด ๆ ไม่ชอบที่มีน้ำขังหรือที่แฉะ เจริญเติบโตได้ดีในที่ดอน มีดินร่วนซุย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและวิธีการปักชำ

ต้นพุดตาน

  • ใบพุดตาน มีใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปไข่โคนรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเว้าลึกมีแฉก 3-5 แฉก แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างหนา ผิวใบมีขนสาก ๆ ใบกว้างประมาณ 9-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร

ใบพุดตาน

  • ดอกพุดตาน มีดอกซ้อนใหญ่สวยงาม ออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง เมื่อดอกบานช่วงแรกจะเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดง มีริ้วประดับอยู่ 7-10 อัน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขน ที่กลีบดอกมีทั้งแบบชั้นเดียวและแบบซ้อนกัน 2 ชั้น กลีบดอกจะเปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิของวัน โดยในตอนเช้าจะเป็นสีขาว พอกลางวันจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู และตอนเย็นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดงเข้ม (ดูภาพประกอบในด้านล่างบทความ) ดอกมียอดเกสรตัวเมียสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร ดอกพุดตานสามารถออกดอกได้ตลอดปี ในดอกพุดตานจะมีสารฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) โดยสารชนิดนี้จะมีปริมาณเปลี่ยนไปตามสีของดอกเมื่อดอกบาน โดยสีแดงจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในช่วงที่ดอกมีสีแดงเข้ม โดยจะมีปริมาณเป็น 3 เท่าของตอนที่ดอกยังเป็นสีชมพู

รูปพุดตาน

ดอกพุดตาน

  • ผลพุดตาน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ด ลักษณะคล้ายรูปไต มีขนยาว

ผลพุดตาน

โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบ (ใบสดหรือใบตากแห้ง), ดอก (เก็บดอกได้ตอนเริ่มบานเต็มที่), ราก (ใช้สดหรือตากแห้งก็ได้ โดยสามารถเก็บได้ตลอด)

สรรพคุณของพุดตาน

  1. ดอกพุดตานมีรสฉุนและสุขุม สรรพคุณช่วยแก้อาการไอ อาเจียนเป็นเลือด มีระดูขาว (ดอก)
  2. รากช่วยแก้อาการไอหอบ มีระดูขาว (ราก)
  3. ใบช่วยแก้อาการตาแดงบวม (ใบ)
  4. ใช้เป็นยารักษาคางทูม ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 ใบ นำมาบดให้ละเอียดแล้วเติมไข่ขาวลงไปผสมให้เข้ากัน เพื่อให้ยาจับกันเป็นแผ่น แล้วนำมาพอกปิดบริเวณที่บวมเป็นคางทูม โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหายบวม หรืออีกวิธีจะใช้ดอกพุดตานแห้งก็ได้ โดยใช้ประมาณ 3-12 กรัม และใบสดประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานแก้อาการ หรือจะใช้ทาภายนอกด้วยการนำมาบดเป็นผงผสมหรือใช้แบบสด ๆ นำมาตำแล้วพอกก็ได้ (ใบ, ดอก)
  5. ใช้เป็นยารักษาแก้งูสวัด โดยใช้ใบสดล้างน้ำสะอาดประมาณ 4-5 ใบ นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำซาวข้าวลงไป แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ หรืออีกวิธีก็คือการใช้รากพุดตานสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะนำรากแห้งมาบดให้เป็นผงผสมแล้วใช้พอกก็ได้ (ใบ, ราก)
  1. รากนำมาต้มน้ำกินหรือนำมาฝนใช้ทา ใช้เป็นยารักษาโรคผื่นคันตามผิวหนัง อาการปวดแสบปวดร้อนตามร่างกาย และรักษาอาการประดงได้ (ราก)
  2. รากพุดตานช่วยแก้ฝีบวม ฝีฝักบัว ฝีหัวแก่ได้ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดินแก้อาการ (ราก)
  3. ช่วยแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้น ด้วยการใช้ก้านและใบสดปริมาณพอสมควรนำมาต้มเอาน้ำ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)
  4. ใบและดอกพุดตานใช้เป็นยาถอนพิษ แก้พิษบวม รักษาแผลมีหนอง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดล้างน้ำสะอาดประมาณ 3-4 ใบ นำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมเข้ากับน้ำมันพืช แล้วนำมาใช้ทาบริเวณแผล หรือจะใช้ใบแห้งผสมกับน้ำผึ้งแล้วใช้ทาแทนก็ได้ (ใบ, ดอก)
  5. ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อยต่าง ๆ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
  6. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยเอว ด้วยการใช้รากสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอยผสมรวมกับกระดูกหางหมู แล้วใส่น้ำและเหล้าอย่างละเท่า ๆ กันในปริมาณพอสมควร แล้วนำมาตุ๋นกิน (ราก)
  7. ช่วยรักษาแผลฟกช้ำ แผลที่เกิดจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก ด้วยการใช้รากสดประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำและเหล้าอย่างละเท่า ๆ กันในปริมาณพอควรแล้วนำมาต้มกิน และใช้ก้านใบนำมาตำพอก (ราก, ก้านใบ)
  8. ใบสดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Micrococcus pyogenes var. aureus, Escherichia coli ได้เช่นเดียวกับต้นหมอน้อย (Murraya koregiyn) (ใบ)
  9. สารสกัดจากก้านและใบสดใช้เป็นยาชาที่ผิวและเป็นยาชาเฉพาะที่ในการผ่าตัดเล็กและใหญ่ได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด (ใบ) (ข้อมูลจากเว็บไซต์หมอชาวบ้าน)

ประโยชน์ของพุดตาน

  • ดอกพุดตานมีสารฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) ซึ่งเป็นสารที่ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้เป็นอย่างดี
  • ต้นพุดตานสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน หรือใช้ปลูกบังกำแพง หรือในที่ที่มีทิวทัศน์ไม่สวยงาม หรือเหมาะสำหรับปลูกในสวนไทย
  • ผงบดละเอียดของเปลือกและรากใช้เป็นแป้งผัดหน้าของคนตั้งแต่เหนือจรดใต้แหลมมลายู
  • รากและลำต้นมีเนื้อไม้สีเหลืองแข็ง ลายละเอียด สามารถใช้ตกแต่งทำเป็นด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างสวยงาม ส่วนก้านสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฟันได้

แหล่งอ้างอิง : ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, มูลนิธิหมอชาวบ้าน (ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์), นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 5

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by silvia soko, Vietnam Plants & The USA. plants, Orient Sea)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด