พันงูเขียว สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าพันงูเขียว 18 ข้อ !

พันงูเขียว

พันงูเขียว ชื่อสามัญ Brazilian Tea, Bastard Vervain, Jamaica False Veravin, Arron’s Rod[1]

พันงูเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Stachytarpheta jamaicensis (L.) Vahl จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1]

สมุนไพรพันงูเขียว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เจ๊กจับกบ (ตราด), เดือยงู พระอินทร์โปรย (ชุมพร), หญ้าหนวดเสือ (ภาคเหนือ), สี่บาท สารพัดพิษ (ภาคกลาง), หญ้าหางงู (ภาคใต้), ลังถึ่งดุ๊ก (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เล้งเปียง (จีนแต้จิ๋ว), ยี่หลงเปียน ยวี่หลงเปียน เจี่ยหม่าเปียน (จีนกลาง), ฉลกบาท, หญ้าพันงูเขียว เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของพันงูเขียว

  • ต้นพันงูเขียว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาทางด้านข้าง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้พบได้ในแถบเขตร้อนทั่วไป โดยมักขึ้นตามเนินเขา ตามทุ่งนา ทุ่งหญ้า พื้นที่เปิด หรือตามริมถนน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร[1],[2]

ต้นพันงูเขียว

หญ้าพันงูเขียว

รากพันงูเขียว

  • ใบพันงูเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร[1],[2]

ใบพันงูเขียว

  • ดอกพันงูเขียว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นสีม่วงน้ำเงิน เป็นรูปกลมงอเล็กน้อย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกาบใบ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีฟันเลื่อย 4-5 หยัก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน และมีรังไข่ 2 ห้อง ดอกจะออกในช่วงฤดูร้อน[1],[2]

ดอกพันงูเขียว

  • ผลพันงูเขียว ผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ พบได้ในบริเวณช่อดอก ถ้าแห้งแล้วจะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ด[1],[2]

ผลพันงูเขียว

เมล็ดพันงูเขียว

สรรพคุณของพันงูเขียว

  1. ทั้งต้นมีรสขม ชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)[2]
  2. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ (ทั้งต้น)[3],[4]
  3. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง (ทั้งต้น)[1] ตำรับยาแก้ตาบวม ตาแดง ตาอักเสบ จะใช้พันงูเขียวทั้งต้น 35 กรัม, เจียไก้หลาน 35 กรัม และอิไต้เถิง 25 กรัม นำมารวมกันตำผสมกับพิมเสนเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณตาที่บวม (ทั้งต้น)[2]
  4. ใบใช้รักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำตาล ใช้เป็นยาอม (ใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
  1. ช่วยรักษาอาการอาเจียน (ทั้งต้น)[1]
  2. ใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ทั้งต้น)[1]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียและโรคบิด (เปลือกต้น)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบเป็นยาแก้โรคบิด (ใบ)[4
  4. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1] ใช้ขับพยาธิในเด็ก (ใบ)[4
  5. ช่วยรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ทั้งต้น)[1],[2]
  6. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองใน (ทั้งต้น)[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหนองใน (ราก)[4
  7. รากมีสรรพคุณทำให้แท้ง (ราก)[4
  8. ต้นสดใช้ตำพอกบริเวณที่เป็นแผลอักเสบ แผลเปื่อย ฝีและหนอง และพิษอักเสบปวดบวม (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  9. ใบใช้เป็นยาทารักษาฝีหนอง (ใบ)[1]
  10. ตำรับยาแก้บวม ฟกช้ำ จะใช้พันงูเขียวทั้งต้น, โกฐดอกขาว และสือเชียนเถา อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำผสมกับกับเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[2]
  11. ใบใช้ตำพอกแก้เคล็ด (ใบ)[4
  12. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคปวดข้อ (ทั้งต้น)[1]
  13. ใบใช้เป็นยาทาถูนวดรักษาอาการปวดเมื่อย (ใบ)[1] รักษาอาการปวดเมื่อยตามข้อเนื่องจากลมชื้นคั่งค้างภายในร่างกาย (ทั้งต้น)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หากนำมาใช้ภายนอก ให้นำมาตำพอกบริเวณที่ต้องการ[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพันงูเขียว

  • ในรากพันงูเขียว พบสารจำพวก Phrnol, Chlorogenic acid เป็นต้น[2]
  • สารที่สกัดได้จากการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา ส่วนสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์กระตุ้นอ่อนกว่า แต่ทั้งสองชนิดจะไม่มีฤทธิ์ต่อหูรูด ระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กของกระต่ายและมดลูกของหนูขาว[1],[2]
  • สารที่สกัดได้จากการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์กระตุ้นเพียงเล็กน้อยต่อหัวใจของกระต่าย ถ้านำมาฉีดเข้ากล้ามที่ขาหลังของหนูขาวทดลอง พบว่าสามารถขยายเส้นเลือดของหนูทดลองได้ แต่ถ้านำมาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะไม่มีผลต่อความดันโลหิต[1],[2]
  • ทั้งสารที่สกัดได้จากน้ำและแอลกอฮอล์ หากนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลองในปริมาณ ตัวละ 0.1 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากฉีดยาแล้ว หนูจะตาย[1],[2]
  • น้ำที่สกัดได้จากต้นพันงูเขียว มีฤทธิ์คล้ายโดปามีน (dopamine) และมีพิษต่อหนูถีบจักร[1]
  • จากการศึกษาคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล และหาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดที่ได้จากส่วนของราก ลำต้น ใบ และช่อดอกพันงูเขียว ที่สกัดด้วย น้ำ, เอทานอล 50%, เอทานอล 75% ผลการวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบพันงูเขียวที่สกัดด้วยเอทานอล 75 % สามารถให้เปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล ได้สูงสุดทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง เท่ากับ 6.45 และ 54.00 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินอีที่ความเข้มข้น 5 ppm พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบแห้ง มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งมากกว่าวิตามินอี 1.16 เท่า แต่พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบสด มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งน้อยกว่าวิตามินอี 7.21 เท่า แต่เมื่อนำสารสกัดหยาบมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีก็พบว่ามีกรดแกลลิกและควอซิตินเป็นองค์ประกอบ (การศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากต้นพันงูเขียว โดย : ชัชฎาพร องอาจ และปวีณา ดารา)

ประโยชน์ของพันงูเขียว

  • ใบประเทศบราซิลจะใช้ใบพันงูเขียว แทนใบชา และส่งขายทางยุโรป ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า “Brazillian tea[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พันงูเขียว”.  หน้า 557-558.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “พันงูเขียว”.  หน้า 384.
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “หญ้าพันงูเขียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [09 พ.ย. 2014].
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “พันงูเขียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [09 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Pterodactyl Fung, 石川 Shihchuan, Michael Spencer, Reinaldo Aguilar, Russell Cumming, Forest and Kim Starr, seedmoney1)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด