5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพรหมตีนสูง ! (ว่านขันหมากเศรษฐี)

พรหมตีนสูง

พรหมตีนสูง ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaonema simplex (Blume) Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aglaonema tenuipes Engl.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[2]

สมุนไพรพรหมตีนสูง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โหรา (ตราด, ชุมพร), ว่านงดหิน (ตรัง), ว่านขัดหมาก (ภาคกลาง), พรมตีนสูง (ภาคใต้), ว่านขันหมากเศรษฐี เป็นต้น[1]

ลักษณะของพรหมตีนสูง

  • ต้นพรหมตีนสูง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และสูงได้ประมาณ 35-40 เซนติเมตร พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น[1]

ต้นพรหมตีนสูง

  • ใบพรหมตีนสูง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลมกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ก้านใบมีลักษณะกลมและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนของโคนใบแผ่แบนและโอบหุ้มลำต้น[1]

ใบพรหมตีนสูง

  • ดอกพรหมตีนสูง ออกดอกเป็นช่อตรงยอดหรือตรงด้านข้าง และมีกาบหุ้มช่อดอกลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม ยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร มีจุดเล็ก ๆ สีขาว ลักษณะช่อดอกเป็นแท่งกลมยาว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ และดอกเพศเมียซึ่งจะมีน้อยกว่าดอกเพศผู้[1]

ดอกพรหมตีนสูง

  • ผลพรหมตีนสูง ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร[1]

ผลพรหมตีนสูง

สรรพคุณของพรหมตีนสูง

  • ผลใช้รับประทานเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณด้านอายุวัฒนะและต้านความชรา (ผล)[2] ตำรายาไทยระบุว่ารับประทานผลสุกก่อนนอนเป็นประจำเพียงวันละ 4 ผล จะทำให้อายุยืน เพราะเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอด ที่ช่วยชะลอความแก่ คงความเป็นหนุ่มสาว ทำให้หน้าตา ผิวพรรณขาวผุดผ่อง เนื้อหนังเต่งตึง ผมไม่หงอก (ผล)[3]
  • ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายมีกำลังวังชาแข็งแรง ว่องไว ไม่เหนื่อยง่าย แก้อาการอ่อนเพลีย โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่จะมีอาการดีขึ้น (ผล, ทั้งต้น)[3]
  • ต้นใช้ต้มกินเป็นยาระบาย (ต้น)[1],[3]
  • ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำหนัดในเพศชาย ช่วยเพิ่มพละกำลังทางเพศ (ทั้งต้น)[3]

วิธีใช้ : ให้ใช้ลำต้น ราก ใบ และเมล็ด ไปสตุหรือทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลงก่อน แล้วจึงนำไปผึ่งให้แห้งประมาณ 4-5 วัน หรือนำไปย่างกับไฟให้น้ำยางออกมาเสียก่อน แล้วจึงนำไปต้มกิน ส่วนผลสดห้ามเคี้ยวรับประทาน แต่ให้รับประทานโดยการกลืน หรือจะใช้ผลดิบนำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงอัดเป็นเม็ดแคปซูลรับประทานก็ได้[3]

ข้อควรระวัง : ห้ามรับประทานผลโดยการเคี้ยวเมล็ดโดยเด็ดขาด เนื่องจากผลสดมีรสขื่นคัน มียางทำให้ปากคัน ลิ้นช้า และเกิดอาการบวมพองได้ แต่สามารถกลืนลงไปในท้องได้เลย[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพรหมตีนสูง

  • จากการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน โดยการป้อนและการฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์หยาบจากผลของต้นพรหมตีนสูงเข้าหลอดเลือดดำ พบว่า ไม่พบมีความเป็นพิษหรือทำให้หนูตาย ของสารสกัดในหนูเม้าส์ที่ได้รับสารสกัดความเข้มข้น 2,000 หรือ 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว หรือฉีดสารสกัด 0.5 มิลลิลิตร ที่ความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เข้าทางหลอดเลือดดำที่หางของหนูทดลอง และในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลของสารสกัดต่อความผิดปกติของโครโมโซมในเซลล์ไขกระดูกของหนูแรทและฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดแอลกอฮอล์หยาบจากผลของพรหมตีนสูง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่ก่อพิษเช่นเดียวกัน[2]

ประโยชน์ของพรหมตีนสูง

  • นอกจากจะรับประทานผลเป็นยาบำรุงกำหนัดแล้ว ยังมีความเชื่อว่า จะช่วยทำให้เกิดเสน่ห์แก่ผู้พบเห็นได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พรมตีนสูง”.  หน้า 531-532.
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ว่านขันหมากเศรษฐี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.   [10 พ.ย. 2014].
  3. กรีนคลินิก.  “พรหมตีนสูง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [10 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.virboga.de, araceae.e-monocot.org, logoxamat.com.vn, www.biogang.net (by jibjoy)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด