9 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านพญาท้าวเอว !

พญาท้าวเอว

พญาท้าวเอว ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia bispinosa (Griff.) Craib) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรพญาท้าวเอว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขบเขี้ยว สลักเขี้ยว (สุราษฎร์ธานี) ส่วนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียก “พญาท้าวเอว” เป็นต้น[1]

ลักษณะของพญาท้าวเอว

  • ต้นพญาท้าวเอว จัดเป็นไม้พุ่มพาดพันไปบนต้นไม้อื่น ตามลำต้นมีหนามแหลมโค้ง พอแก่แล้วหนามจะโค้งหาลำต้นในลักษณะที่หนามไปล็อกลำต้นไว้ เป็นไม้ป่าของไทยที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด[1]

ต้นหญาท้าวเอว

รูปพญาท้าวเอว

  • ใบพญาท้าวเอว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบประมาณ 6-9 คู่ มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1]

ใบหญาท้าวเอว

  • ดอกพญาท้าวเอว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีขาว 5 กลีบ มีกลิ่นหอม [1]
  • ผลพญาท้าวเอว ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม[1]

สรรพคุณของพญาท้าวเอว

  1. ลำต้นใช้ฝนกับเหล้าทารักษาแผลในปาก (ลำต้น)[1]
  2. หากปวดฟันหรือเป็นรำมะนาด ให้ใช้เหล้าเป็นกระสาย นำมาฝนแล้วทาบริเวณที่ปวด อาการก็จะบรรเทาลง (ลำต้น)[2]
  3. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ลำต้น นำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้อาการท้องเดิน (ลำต้น)[1]
  1. ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้งูสวัด ไฟลามทุ่ง (ลำต้น)[1]
  2. ลำต้นใช้ฝนทาแก้พิษสัตว์กัดต่อย ขบ โดยใช้น้ำมะนาวหรือน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย แล้วเอาว่านนี้มาฝนเข้าด้วยกันกับน้ำกระสาย แล้วเอาไปปิดที่แผล (ลำต้น)[2]
  3. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นพญาท้าวเอวผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น)[1] แต่บางข้อมูลก็ระบุว่าให้นำไม้ท้าวเอวไปแช่ในน้ำให้เปียกชุ่มก่อน จะทำให้ตัวยาของไม้ซึมออกมา จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยไม่นานก็จะหาย
  4. นอกจากนี้ว่านพญาท้าวเอวยังมีสรรพคุณอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาอีก (ข้อมูลไม่มีแหล่งอ้างอิง) เช่น แก้เด็กเป็นทราง ฟันเป็นแมง เจ็บคอ ตกเลือด เลือดทำพิษ แก้โรคผิวหนัง เป็นหันฝีหัวพิษ แก้เล็บขบ (ใช้ลำต้นนำมาฝนกับเหล้า) หรือถ้ากินยาเบื่อ ยาพิษ ผิดสำแดง ปวดท้อง ลงท้อง เป็นบิด ให้นำมาฝนกับน้ำซาวข้าว (ลำต้น)[3]

ประโยชน์ของพญาท้าวเอว

  1. หากนำมาปลูกเป็นไม้ประดับก็สวยและแปลกตาไปอีกแบบที่มีหนามล็อกลำต้น
  2. ในด้านของความเชื่อ พญาท้าวเอวถือเป็นไม้มงคล เป็นว่านเมตตามหานิยมทางแคล้วคลาด ทางเขี้ยวงา ฯลฯ มีไว้ใช้ป้องกันตัว เชื่อว่าป้องกันสัตว์ร้ายและอสรพิษกัด รวมถึงคนที่จะมาลอบทำร้าย (งู ตะขาบ แมงป่อง ปลาดุกยักษ์แทง )[3]

ว่านพญาท้าวเอว

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พญาท้าวเอว”.  หน้า 160.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 20 คอลัมน์ : การรักษาพื้นบ้าน.  (บุญชู ธรรมทัศนานนท์).  “ว่านรักษาโรค : ว่านพญาเท้าเอวกายสิทธิ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ก.ย. 2014].
  3. ตลาดพระ.  “ว่านพญาท้าวเอวกายสิทธิ์ ของดีจากเมืองใต้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.taradpra.com.  [03 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by loupok, Wee Foong Ang)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด