พญาดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพญาดง 12 ข้อ !

พญาดง

พญาดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Persicaria chinensis (L.) H. Gross (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polygonum chinense L.) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรพญาดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักบังใบ ผักไผ่น้ำ (ภาคเหนือ), เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง), หน่อกล่ะอึ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), มีส้อย ลำถ้อย (ลั้วะ), ปร้างเจงบั้ว (ปะหล่อง), โพ้งลิ่น (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของพญาดง

  • ต้นพญาดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น ลำต้นมีความสูงได้ถึง 4 เมตร[1]

ต้นพญาดง

  • ใบพญาดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ผิวใบเรียบหรือมีขน มีหูใบเป็นปลอกหุ้มลำต้น[1]

ใบพญาดง

  • ดอกพญาดง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู[1]

รูปพญาดง

ดอกพญาดง

รูปดอกพญาดง

  • ผลพญาดง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลม สีน้ำเงินเข้ม[1]

ผลพญาดง

สรรพคุณของพญาดง

  1. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้รากพญาดง ผสมกับรากสากเหล็ก รากหนามแน่ และรากปัวชุนเย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องน้อย สำหรับกามโรค (ราก)[1]
  2. ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอ จะใช้ ใบหรือทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  3. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัด (สำหรับสตรีที่ยังไม่หมดประจำเดือน ห้ามใช้ในขณะที่มีรอบเดือน) (ใบ)[2]
  1. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นิ่ว (ทั้งต้น)[1]
  2. ทั้งต้นนำมาทุบห่อผ้าหมดไฟ ใช้เป็นยาประคบแก้อาการปวดท้องไส้ติ่งที่มีอาการไม่มาก (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้โรคหนองใน โดยตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหรือเหง้าพญาดง ผสมกับรากขี้ครอก โดยใช้อย่างละเท่ากัน นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มเคี่ยวให้ข้น ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคหนองใน ส่วนอีกตำรับจะใช้ใบหรือยอดพญาดงผสมกับรากส้มกุ้ง นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้เหง้าพญาดง ผสมกับเหง้าเอื้องหมายนา และว่านกีบแรด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หนองใน (รากหรือเหง้า, ใบหรือยอด)[1]
  4. สำหรับสตรีที่มีอายุมากแล้วและต้องการให้ประจำเดือนหมด ให้ใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาทำให้หยุดมีประจำเดือน แต่ห้ามใช้กับสตรีที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และสตรีมีครรภ์เด็ดขาด (ใบ)[2]
  5. ใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอกห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  6. ใบหรือทั้งต้นนำมาตำหรือคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด ฝี หนอง ฆ่าเชื้อโรค (ใบ, ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของพญาดง

  1. ผลสุกมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[2]
  2. ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานโดยจิ้มกับเกลือ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ยอดอ่อนนำไปย่างกับไฟรับประทานกับน้ำพริก ส่วนชาวปะหล่องจะนำใบมาสับให้ละเอียดใช้เป็นส่วนผสมในการทำลาบ[2]
  3. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำแป้งเหล้า[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พญาดง”.  หน้า 175.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พญาดง, ผักไผ่”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [11 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Shipher (士緯) Wu (吳), Dinesh Valke, 石川 Shihchuan, wenjihel, 翁明毅)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด