ฝ้าย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝ้าย 5 ข้อ !

ฝ้าย

ฝ้าย ชื่อสามัญ Cotton[2]

ฝ้าย ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium hirsutum L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1]

ลักษณะของต้นฝ้าย

  • ต้นฝ้าย มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและเอเชียตอนใต้ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีขนละเอียดขึ้นหนาแน่น[1],[2]

รูปต้นฝ้าย

ต้นฝ้าย

  • ใบฝ้าย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ขอบใบเว้าลึกเป็น 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร[1]

ใบฝ้าย

  • ดอกฝ้าย ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมชมพูหลังจากดอกบานเต็มที่[1]

รูปดอกฝ้าย

ดอกฝ้าย

  • ผลฝ้าย ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้ตามพูเป็น 3 ฝา ภายในมีเมล็ดมีขนยาวสีขาวห่อหุ้มอยู่[1]

ผลฝ้าย

ปุยฝ้าย

เมล็ดฝ้ายปุยฝ้าย หรือ เส้นใยฝ้าย คือ เซลล์ผิวของเปลือกเมล็ดซึ่งมีรูปร่างยาวคล้ายเส้นผม การแยกเส้นใยออกจากเมล็ดฝ้าย จะเรียกว่า “การหีบฝ้าย” เส้นใยฝ้ายที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ การเก็บฝ้ายในบ้านเรามักเก็บด้วยมือ โดยเลือกจากผลฝ้ายที่แตกแล้ว ดึงเส้นใยออกจากสมอ ส่งไปโรงงานหีบฝ้ายเพื่อแยกเมล็ดออก หลังจากนั้นจะนำเส้นใยไปทำสำลี ปั่นเป็นเส้นด้าย หรืออัดเป็นแท่ง ส่วนเมล็ดฝ้ายที่แยกเอาเส้นใยออกไปแล้วจะนำไปสกัดเอาน้ำมัน[2]

สรรพคุณของฝ้าย

  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบฝ้าย ผสมกับใบมะม่วง ใบมะนาวป่า ใบขมิ้น ใบไพล และใบตะไคร้ นำมาต้มเคี่ยว ดื่มกินเป็นยารักษานิ่ว (ใบ)[1]
  • เมล็ดฝ้ายใช้ผสมกับแก่นข่อย แก่นฝาง หัวตะไคร้ เลือดแรด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการประจำเดือนผิดปกติ ข้นคล้ำ (เมล็ด)[1]
  • จากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ได้ระบุว่าฝ้ายชนิด Gossypium hirsutum L. ที่กล่าวถึงในบทความนี้ มีสรรพคุณใกล้เคียงกับฝ้ายขาว (Gossypium herbaceum L.) ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนกันได้ โปรดอ่านสรรพคุณของฝ้ายขาวเพิ่มเติมในบทความ “ฝ้ายขาว” ที่ระบุไว้ใน [4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของฝ้าย

  • เนื้อในเมล็ดพบสาร gossypol ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างตัวของอสุจิ ลดระดับไขมันในเลือด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ทั้งในคนและในสัตว์ทดลอง[1]
  • น้ำต้มจากเปลือกรากมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหลอดทดลอง[1]
  • จากการทดลองในคน โดยการกินน้ำมันที่บีบได้จากเมล็ด พบว่าให้ผลลดการสร้างตัวของอสุจิ ทำให้เป็นหมันชั่วคราว และจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมเมื่อหยุดกิน[1]

ประโยชน์ของฝ้าย

  • ปุยฝ้ายหรือเส้นใยจากเมล็ด สามารถใช้ทอเป็นผ้าฝ้าย เส้นด้าย สำลี ผสมในกระดาษ และกระดาษพิมพ์ ส่วนขนปุยสั้น ๆ ที่ติดอยู่ที่เมล็ดจะนำมาใช้ทำพรม โดยใช้พื้นรองพรมเป็นเส้นใยปอแก้ว (ฝ้าย 10 กิโลกรัม จะให้เส้นใยประมาณ 3.5 กิโลกรัม)[2]
  • เมล็ดใช้สกัดเอาน้ำมันเรียกว่า “น้ำมันเมล็ดฝ้าย” (ฝ้าย 10 กิโลกรัม จะให้น้ำมันประมาณ 1 กิโลกรัม)[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ฝ้าย”.  หน้า 121.
  2. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฝ้าย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sc.mahidol.ac.th/wiki/.  [14 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Reinaldo Aguilar, PaintedBunting, julia_HalleFotoFan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด