ฝิ่นต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝิ่นต้น 17 ข้อ !

ฝิ่นต้น

ฝิ่นต้น ชื่อสามัญ Coral bush, Coral plant, Physic Nut[4],[5]

ฝิ่นต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha multifida L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรฝิ่นต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะหุ่งแดง (ภาคเหนือ), มะละกอฝรั่ง (กรุงเทพฯ), ทิงเจอร์ต้น ว่านนพเก้า (คนเมือง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของฝิ่นต้น

  • ต้นฝิ่นต้น จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นคล้ายกับต้นมะละกอ แต่มีขนาดเล็กและเป็นแกนแข็งกว่า โดยลำต้นจะมีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร และอาจสูงได้ถึง 6 เมตร ลำต้นค่อนข้างอวบน้ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มีกระและจุดเล็ก ๆ มียางสีขาว รากมีลักษณะเป็นหัว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง[1],[2],[3]

ต้นฝิ่นต้น

รูปฝิ่นต้น

  • ใบฝิ่นต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปกลม ขอบใบลึกเป็นแฉกเว้าลึกลักษณะคล้ายฝ่ามือ ประมาณ 9-11 แฉก ในขอบใบที่เป็นแฉกจะหยักเป็นซี่ฟันช่วงกลางขอบใบ ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง ปลายใบแหลม พบบ้างมีรยางค์แข็ง ใบมีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเรียบ ก้านใบยาวกลม หูใบแยกเป็นง่ามรูปขนแข็ง ยาว 2 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบฝิ่นต้น

หูใบฝิ่นต้น

  • ดอกฝิ่นต้น ออกดอกเป็นช่อแบนแน่นติดกันแบบช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 23 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กติดกันแน่น ดอกมีสีแดงสด ดอกเป็นแบบแยกเพศ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกเถาคันหรือดอกกะตังบาย กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้จะเป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกแยกจากกัน ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร สีแดงสด เกสรเพศผู้มี 8 อัน ก้านเกสรแยกกัน ส่วนกลีบดอกในดอกเพศเมียจะยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกระจุก เป็นพู 2 พู[1],[2],[4],[5]

รูปดอกฝิ่นต้น

ดอกฝิ่นต้น

  • ผลฝิ่นต้น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู คล้ายผลสลอดหรือผลปัตตาเวีย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละพูจะมีลักษณะเป็นสัน ผลมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองหม่น มีลายสีน้ำตาล มีจุกขั้วขนาดเล็ก แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 1.7-2 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4],[5]

ผลฝิ่นต้น

เมล็ดฝิ่นต้น

สรรพคุณของฝิ่นต้น

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดเมาร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมและโลหิต (เปลือกต้น)[1]
  2. ใช้เป็นยาคุมธาตุ (เปลือกต้น)[2],[3]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้อาการลงแดง (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  4. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้อาเจียน (เปลือกต้น)[1],[2],[3] ส่วนเมล็ดมีรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณทำให้อาเจียนเช่นกัน แต่มีอันตรายมากจนอาจใช้เป็นยาเบื่อได้ จึงไม่นิยมใช้กัน(เมล็ด)[1],[3]
  1. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้บิดปวดเบ่ง แก้ท้องเสีย ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
  2. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคลำไส้ (ราก)[1]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยย่อยอาหาร (ราก)[1]
  4. ใบมีรสเมา ใช้ต้มกินเป็นยาถ่าย (ใบ)[1],[3] ส่วนเมล็ดมีน้ำมันประมาณ 30% ใช้กินเป็นยาถ่ายอย่างแรง (เมล็ด)[1],[3]
  5. เมล็ดใช้บีบเอาน้ำมัน ใช้ทั้งภายในและภายนอกเป็นยาทำให้แท้งบุตร (เมล็ด)[1],[3]
  6. น้ำยางใช้ใส่แผลสดเป็นยาช่วยสมานแผล ใช้ทาแผลปากเปื่อย แผลมีดบาด แผลอักเสบเรื้อรัง จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (น้ำยาง)[3]
  7. ใบใช้เป็นยาฆ่าหิด กำจัดพยาธิผิวหนัง ใช้สระผมแก้เหา (ใบ)[1],[3]
  8. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเมื่อยตามข้อ ปวดเส้นเอ็น (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  9. สมุนไพรฝิ่นต้นจัดอยู่ในพิกัดตรีเกสรมาศ (ตำรับยาที่ประกอบไปด้วย เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ คุมธาตุ แก้ท้องร่วง) และพิกัดตรีเกสรเพศ (ตำรับยาที่ประกอบไปด้วย เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวงขาว และเกสรบัวหลวงแดง มีสรรพคุณเป็นยาคุมธาตุ แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุกำเริบ ทำให้ตัวเย็น แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน) (ข้อมูลจาก : mhoya.9nha.com)

พิษของฝิ่นต้น

  • ส่วนที่มีพิษ : เมล็ดและน้ำยางมีพิษ โดยเมล็ดจะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยสารที่เป็นพิษคือสาร Clacium Oxalate[4],[5]
  • อาการของพิษ : เมล็ดเมื่อรับประทานจะทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ปากบวมพอง เยื่อบุแกม ลิ้นเพดาน และหนาบวม น้ำลายไหล บริเวณที่บวมพองอาจมีเม็ดตุ่มเกิดขึ้น ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ทำให้กระเพาะอักเสบ ปวดท้อง อาจมีอาการชา แขนขาอาจเป็นอัมพาตได้ถึง 24 ชั่วโมง และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 7 วัน การหายใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้ารับประทานเพียง 3 เมล็ด อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนน้ำยางเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดงแสบร้อน[4],[5]
  • การรักษาพิษ : หากรับประทานเมล็ดเข้าไป ก่อนนำส่งโรงพยาบาลให้ดื่มนมหรือผงถ่าน (Activated charcoal) เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการหมดสติและอาการช็อกที่เกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ในรายที่มีอาการคล้ายสาร atropine เช่น ในกลุ่มสารพิษ curcin ให้สารแก้พิษ (atropine antagonists) เช่น physostigmine salicylate ทางเส้นเลือด ส่วนในกรณีอื่น ๆ ให้รักษาไปตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate เพื่อลดอาการปวด เป็นต้น ส่วนน้ำยางหากถูกผิวหนังให้ล้างน้ำยางออกโดยใช้สบู่และน้ำ และใช้ยาทาสเตียรอยด์ แต่หากรับประทานเข้าไปให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกโดยใช้ผงถ่าน ทำให้อาเจียน หรือล้างท้อง และรักษาไปตามอาการ[4],[5]

ประโยชน์ของฝิ่นต้น

  1. รากมีรสเฝื่อนคล้ายรากมันสำปะหลัง สามารถนำมาเผาแล้วกินได้[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาเบื่อ[1] บ้างนำเมล็ดมาใช้เป็นยาเบื่อปลา ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ต้นมีสารจำพวกซาโปนิน สามารถนำมาใช้เบื่อปลาได้เช่นกัน
  3. ใบใช้ในการย้อมสีเส้นไหม โดยใบสด 15 กิโลกรัม สามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลเขียว[7]
  4. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท[6],[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ฝิ่นต้น (Fin Ton)”.  หน้า 187.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ฝิ่นต้น”.  หน้า 520-521.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะละกอฝรั่ง, ฝิ่นต้น”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)., หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์)., ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลำดับที่ 12(1) : พืชสมุนไพรและพืชพิษเล่ม 1 (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [13 พ.ย. 2014].
  4. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฝิ่นต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.   [13 พ.ย. 2014].
  5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฝิ่นต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [13 พ.ย. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ฝิ่นต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [13 พ.ย. 2014].
  7. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม.  “ฝิ่นต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/.  [13 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Karen, Ton Rulkens, SierraSunrise, Benrose, Susan Ford Collins, 3Point141, Nelindah)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด