ผักแครด สรรพคุณและประโยชน์ของผักแครด 8 ข้อ !

ผักแครด

ผักแครด ชื่อสามัญ American weed[2]

ผักแครด ชื่อวิทยาศาสตร์ Synedrella nodiflora (L.) Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรผักแครด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าขี้หมา (นครศรีธรรมราช), สับกา สาบกา (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของผักแครด

  • ต้นผักแครด เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันตก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว ที่มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-2 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นง่าม ตามกิ่งจะมีขนขึ้นปกคลุมประปราย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามที่ชื้นแฉะและตามทุ่งหญ้า[1],[3]

ต้นผักแครด

  • ใบผักแครด ใบเป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งจะเป็นแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบติดเป็นปีกกับก้านใบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-3.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1-5 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบบาง ผิวใบทั้งสองด้านมีขนปกคลุมอยู่ ก้านใบสั้น[1],[3]

ใบผักแครด

  • ดอกผักแครด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบหรือที่ปลายยอด แต่จะมีเฉพาะที่ส่วนยอดของลำต้นเท่านั้น จะไม่มีก้านดอก ดอกเป็นสีเหลืองรูปรางน้ำ ดอกจะแบ่งออกเป็น 2 วง วงนอกยาวได้ประมาณ 9 มิลลิเมตร ปลายแหลมและมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย ส่วนวงในยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร ปลายมน ผิวเกลี้ยง[1]

รูปผักแครด

ดอกผักแครด

  • ผลผักแครด ผลเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ที่ปลายมีขนเป็นหนามแหลมยาวหลายอัน มีความยาวได้ประมาณ 4-5 มิลลิเมตร[1],[3]

ผลผักแครด

สรรพคุณของผักแครด

  1. ทั้งต้นใช้ตำพอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ทั้งต้นนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดหูเป็นยาแก้หูเจ็บ (ทั้งต้น)[1]
  3. ใบนำมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[1],[2]
  4. ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก (ใบ)[1],[2]
  5. ทั้งต้นตำพอกหรือทาสมานบาดแผล (ทั้งต้น)[2]
  6. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาทาแก้โรคไขข้ออักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  7. ทั้งต้นใช้ตำพอกขาเมื่อมีอาการปวด ปวดเข่า (ทั้งต้น)[1],[2]

ประโยชน์ของผักแครด

  • ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารประเภทแกง[4]

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้วิธีการเขตกรรมทั่วไป เช่น การถากหรือตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือการขุดทิ้ง[3]
  • ใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น ไกลโพเซต 16 (ไกลโพเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์), อามีทรีน (อามีทรีน), โดเรมี (2,4-ดี ไอโซบิวทิล เอสเทอร์) เป็นต้น[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักแครด”.  หน้า 486-487.
  2. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ผักแครด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [19 พ.ย. 2014].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (ไพร มัทธวรัตน์).  “ผักแครด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th.  [19 พ.ย. 2014].
  4. กรมประมง.  “ผักแครด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fisheries.go.th.  [19 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, judymonkey17, CANTIQ UNIQUE, Dinesh Valke, Mauricio Mercadante)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด