ผักเสี้ยน สรรพคุณและประโยชน์ของผักเสี้ยน 29 ข้อ !

ผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน ชื่อสามัญ Wild spider flower[1], Spider weed, Spider Flower[3]

ผักเสี้ยน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleome gynandra L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynandropsis pentaphylla (L.) DC.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ CLEOMACEAE

สมุนไพรผักเสี้ยน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักเสี้ยนขาว ผักเสี้ยนไทย ผักเสี้ยนบ้าน ผักเสี้ยนตัวผู้ (ภาคกลาง), ส้มเสี้ยน ผักส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ)[2] เป็นต้น

วงศ์ผักเสี้ยน มีอยู่ด้วยกันประมาณ 20 สกุล และมีมากกว่า 300 ชนิด ในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ ผักเสี้ยน (Cleome gynandra L.), ผักเสี้ยนผี (Cleome viscosa L.), ผักเสี้ยนขน (Cleome rutidosperma DC.), ผักเสี้ยนป่า (Cleome chelidonii L.f.), และผักเสี้ยนฝรั่ง (Cleome houtteana Schltdl. ชื่อพ้อง Cleome hassleriana Chodat) ซึ่งทั้งหมดจะจัดอยู่ในวงศ์ CLEOMACEAE แต่ผักเสี้ยนที่สามารถพบเห็นได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด นั่นก็คือ ผักเสี้ยนขาว (ผักเสี้ยนตัวผู้) และผักเสี้ยนผี (ผักเสี้ยนตัวเมีย)

ลักษณะของผักเสี้ยน

  • ต้นผักเสี้ยน จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-15 เซนติเมตร ส่วนต่าง ๆ ของต้นมีขนปกคลุม[1] ส่วนรากเป็นรากแก้ว และรากแขนงจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[2] โดยมีถิ่นกำเนิดและมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย (รวมทั้งไทย) และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย แหล่งที่พบผักเสี้ยน มักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป และริมลำธาร[1]

ต้นผักเสี้ยน

  • ใบผักเสี้ยน มีใบเป็นใบประกอบ มี 3-5 ใบย่อย ก้านใบมีความยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนเรียวสอบ ส่วนขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยละเอียด และมีใบประดับจำนวนมาก ใบย่อยมี 3 ใบ ยาวประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร ก้านสั้น[1]

ใบผักเสี้ยน

  • ดอกผักเสี้ยน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-2 เซนติเมตร ขยายอีกในช่อผล มีดอกจำนวนมาก ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อันติดบนก้านชูเกสรร่วมที่ยาวประมาณ 0.8-2.3 เซนติเมตร ก้านมีเกสรสีม่วง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร อับเรณูมีสีเขียวอมน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ก้านรังไข่สั้น ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ยื่นยาว 1-1.4 เซนติเมตร ในผล รังไข่เป็นรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่มและติดทน[1]

ดอกผักเสี้ยน

  • ผลผักเสี้ยน ผลมีลักษณะเป็นฝักยาวคล้ายถั่วเขียว ฝักมีสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ฝักยาวประมาณ 4-9.5 เซนติเมตร ด้านในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก

ผลผักเสี้ยน

  • เมล็ดผักเสี้ยน เมล็ดมีสีน้ำตาลแดงปนสีดำ ผิวเมล็ดมีรอยย่น ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[1]

สมุนไพรผักเสี้ยน ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ต้น ดอก ใบ เมล็ด และราก แต่ปกติทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยใช้ผักเสี้ยนมาเป็นยาสมุนไพรมากนัก แต่จะนิยมนำมาดองกินมากกว่า ส่วนผักเสี้ยนชนิดที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น จะใช้ผักเสี้ยนผีมากกว่า แต่บางครั้งก็ใช้ทั้งสองอย่าง

สรรพคุณของผักเสี้ยน

  1. สรรพคุณผักเสี้ยน ช่วยบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกายและให้พลังงาน (ผักเสี้ยนดอง)[4]
  2. ผักเสี้ยนมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อ (ผักเสี้ยนดอง)[4]
  3. รากผักเสี้ยนใช้ต้มรับประทานเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[2] ทั้งต้นช่วยแก้ไข้ตรีโทษ (ทั้งต้น)[3]
  4. ผักเสี้ยนช่วยแก้อาการปวดหู (ใบ)[2]
  5. รากใช้ต้มรับประทานเป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ราก)[2]
  6. เมล็ดผักเสี้ยนช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[2] ส่วนใบช่วยบำรุงเสมหะให้เป็นปกติ (ใบ)[3]
  7. รากผักเสี้ยนช่วยแก้ลมอันเป็นพิษ (ราก)[3]
  8. ทั้งต้น (ใบ ดอก ต้น เมล็ด ราก) มีรสร้อน ช่วยแก้อาการปวดท้อง ลงท้อง (ทั้งต้น)[3]
  9. เมล็ดผักเสี้ยนช่วยขับพยาธิไส้เดือน (เมล็ด)[2]
  10. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ)[5]
  1. ช่วยแก้เริม (ใบ)[5]
  2. ทั้งต้น นำมาต้มหรือดองรับประทาน มีสรรพคุณช่วยขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[2]
  3. ช่วยแก้ประจำเดือนเสียของสตรี (ทั้งต้น)[2] ดอกช่วยแก้เลือดสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ (ดอก)[3]
  4. ใบผักเสี้ยนช่วยแก้งูสวัดได้ (ใบ)[5]
  5. ทั้งต้นหรือใบใช้ตำพอกรักษาฝี แก้พิษฝี และบรรเทาอาการระคายเคือง (ใบ, ทั้งต้น)[2]
  6. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แมงป่องกัด หรืองูกัด (ทั้งต้น)[2] แต่ไม่ควรพอกนานเพราะจะทำให้ผิวไหม้ได้[4]
  7. ทั้งต้นนำมาตำแล้วพอก ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง และช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (ทั้งต้น)[2]
  8. ใบนำมาตำหรือทา ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ใบ)[2]
  9. ต้นและใบใช้ตำ นำมาพอกแก้อาการอักเสบ ช้ำบวมได้ (ใบ, ต้น)[4]
  10. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการเจ็บหลังได้ (ทั้งต้น)[2]
  11. ต้นและใบนำมาตำ ใช้พอกฝีให้แตกและไม่เป็นหนองได้ (ใบ, ต้น)[4]
  12. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการเมาเหล้า เมาสุรา (ทั้งต้น)[2]

ประโยชน์ของผักเสี้ยน

  1. นิยมใช้ทำเป็นผักดองไว้รับประทาน สำหรับวิธีการทำผักเสี้ยนดองก็คือ ให้นำผักเสี้ยนมาหั่นให้มีขนาดพอเหมาะ แล้วนำไปตากแดดพอหมาด เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นเขียว หลังจากนั้นให้นำข้าวเย็นสุก 1 กำมือต่อผักเสี้ยน 5 ถ้วยแกง นำมาขยำกับเกลือให้มีรสเค็มเล็กน้อย เมื่อเสร็จให้นำผักเสี้ยนที่เตรียมไว้ใส่ลงไป แล้วเติมน้ำตาลโตนด 5 ช้อนแกง คลุกเคล้าจนเข้ากัน และปิดฝาภาชนะตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3-4 คืน ผักที่ดองจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปแกงใส่กระดูกหมู แกงส้มกุ้งหรือปลา เป็นต้น[2]
  2. นอกจากนี้ยังนำมาต้มหรือลวกให้สุก เพื่อช่วยลดความขมและกลิ่นเหม็น โดยนำไปเป็นผักจิ้มได้เช่นเดียวกับผักเสี้ยนดอง แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก[3]
  3. ผักเสี้ยนดอง เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร เช่น การขาดวิตามินเอ หรือเป็นโรคโลหิตจาง มีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ เพราะนอกจากจะมีเส้นใยอาหารสูงแล้ว ยังสามารถช่วยขจัดสิ่งตกค้างที่อยู่ในลำไส้ได้อีกด้วย[4]
  4. ในอินเดียมีการใช้เมล็ดผักเสี้ยนผีนำมาสกัดทำเป็นยาฆ่าแมลง[3]
  5. ในแอฟริกามีการใช้ยอดและใบอ่อนผักเสี้ยน นำมาใช้ปรุงรสและแต่งกลิ่นซอส[3]
  6. ในอินโดนีเซียใช้เมล็ดเป็นอาหาร[3]
  7. ในอินโดนีเซียนำผักเสี้ยนมาเป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงสัตว์[3]

ผักเสี้ยนดอง

คำแนะนำในการรับประทานผักเสี้ยน

  • สตรีห้ามรับประทานในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ระดูพิการ มีระดูขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็นมาก ไม่ดีต่อมดลูก และสำหรับสตรีแม่ลูกอ่อนควรระวังให้มาก เพราะอาจจะเป็นลมได้[2]
  • ผักเสี้ยนสดจะมีสารไฮโดรไซนาไนต์ (Hydrocyanide) ซึ่งมีพิษต่อประสาทส่วนกลาง สารนี้จะสลายไปก็ต่อเมื่อนำไปต้มหรือดองก่อนการนำมารับประทาน[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [7 ต.ค. 2013].
  2. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [7 ต.ค. 2013].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 244.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [7 ต.ค. 2013].
  4. คมชัดลึกออนไลน์.  (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net.  [7 ต.ค. 2013].
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [7 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Navida2010, Sharpj99, Russell Cumming, SierraSunrise, Hoa Trai Viet Nam), เว็บไซต์ diaryclub.com (by ketkaew)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด