ผักบุ้งทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของผักบุ้งทะเล 22 ข้อ !

ผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเล ชื่อสามัญ Goat’s foot creeper, Beach morning glory[1],[5]

ผักบุ้งทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.[2],[5] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Convolvulus pes-caprae L., Ipomoea biloba Forssk.[6]) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]

สมุนไพรผักบุ้งทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักบุ้งต้น ผักบุ้งขน (ไทย), ผักบุ้งเล (ภาคใต้), ละบูเลาห์ (มะลายู-นราธิวาส), หม่าอานเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของผักบุ้งทะเล

  • ต้นผักบุ้งทะเล จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน สามารถเลื้อยไปได้ยาวมาก ประมาณ 5-30 เมตร ลักษณะของลำต้นหรือเถากลมเป็นสีเขียวปนแดงหรือเป็นสีแดงอมม่วง ผิวเกลี้ยงลื่น ตามข้อจะมีรากฝอย ภายในกลวง ทั้งต้นและใบมียางสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและตัดลำต้นปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มักขึ้นตามหาดทรายหรือริมทะเล[1],[2],[4]

ภาพผักบุ้งทะเล

ต้นผักบุ้งทะเล

รูปผักบุ้งทะเล

  • ใบผักบุ้งทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม รูปไข่ รูปไต หรือรูปเกือกม้า ปลายใบเว้าบุ๋มเข้าหากัน โคนใบสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เส้นใบเป็นแบบขนนก เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมันเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวมีสีแดง[1],[2],[4]

ใบผักบุ้งทะเล

  • ดอกผักบุ้งทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามง่ามใบ ในช่อดอกจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก และจะทยอยบานทีละดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกบานเป็นรูปปากแตร มี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกกลมรี แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนจะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ส่วนกลีบดอกเลี้ยงเป็นสีเขียว และดอกจะเหี่ยวง่าย[1],[2],[4]

รูปดอกผักบุ้งทะเล

ดอกผักบุ้งทะเล

  • ผลผักบุ้งทะเล ลักษณะของเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่มีเหลี่ยมคล้ายแคปซูล ผิวผลเรียบ พอผลแห้งจะแตกออกได้ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุม[1],[2],[4]

ผลผักบุ้งทะเล

เมล็ดผักบุ้งทะเล

สรรพคุณของผักบุ้งทะเล

  1. ต้นช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น)[1]
  2. ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม เค็ม เป็นยาเย็นเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้ามและตับ ใช้เป็นยาขับลม ขับน้ำชื้น (ทั้งต้น)[4]
  3. ช่วยแก้หวัดเย็น (ทั้งต้น)[4]
  4. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ราก)[5]
  5. ใช้แก้อาการจุกเสียด (ใบ)[1]
  6. เมล็ดมีรสขื่น ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (เมล็ด)[1],[2]
  7. รากใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ราก)[1]
  8. เมล็ดใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย (เมล็ด)[1],[2]
  9. รากเป็นยาขับปัสสาวะ ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ราก)[1],[5]
  10. ใบใช้เข้ากับสมุนไพรอื่น นำมาต้มเอาไอรมรักษาริดสีดวงทวาร (ใบ)[1],[2]
  1. ใบใช้เป็นยาทาภายนอก แก้แผลเรื้อรัง หรือนำไปต้มกับน้ำใช้ล้างแผล (ใบ)[1],[2] น้ำคั้นจากใบนำมาต้มกับน้ำมะพร้าว ทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลได้ชนิดรวมทั้งแผลเรื้อรัง (ใบ)[2]
  2. ทั้งต้นช่วยกระจายพิษ แก้พิษฝีบวม ฝีหนองบวมแดงอักเสบ แก้งูสวัด (ทั้งต้น)[4] ส่วนใบนำมาโขลก พอก ถอนพิษ แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ปลา สัตว์ทะเลอื่น ๆ แมลง เป็นต้น (ใบ)[5]
  3. ต้นใช้เป็นยาถอนพิษลมเพลมพัดหรืออาการบวมที่เปลี่ยนไปตามอวัยวะทั่วไป (ต้น, ทั้งต้น)[1],[5],[7]
  4. ใช้เป็นยาทาแก้อาการอักเสบ แก้พิษจากแมงกะพรุนไฟ ทำให้แผลหายเร็วและไม่เป็นแผลเป็น ตามตำรายาระบุให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับน้ำส้มสายชู นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น ส่วนตำรายาไทยระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำทาแผลบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน หรือจะตำกับเหล้าใช้เป็นยาพอกก็ได้ หรืออาจจะใช้รากสด 1 ราก นำมาฝนกับน้ำฝนให้ข้น ๆ ผสมกับเหล้าโรงหรือแอลกอฮอล์ แล้วใช้ทาบ่อย ๆ หรือจะใช้ทั้งต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำหรือนำมาตำผสมกับเหล้าใช้เป็นยาทาหรือพอกก็ได้เช่นกัน (ก่อนทายาให้ใช้ทรายขัดบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนเพื่อเอาเมือกของแมงกะพรุนออกไปให้หมดก่อน[6] และให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น จนกว่าจะหาย) (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[5]
  5. ใบใช้เป็นยาพอกหรือต้มอาบรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)[5]
  6. ต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการคันตามผิวหนัง (ต้น, ทั้งต้น)[1],[5] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง (ราก)[5]
  7. ใช้แก้ผดผื่นคันบริเวณหลังเนื่องจากการกดทับ ตามตำรายาระบุให้ใช้ใบสดนำมาตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[4]
  8. ตำรายาแก้ฝีหนองภายนอกระบุให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[4]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ตะคริว ป้องกันตะคริว (เมล็ด)[1],[2],[5]
  10. ใบมีรสขื่นเย็น ใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้โรคไขข้ออักเสบ แก้ปวดไขข้ออักเสบมีหนอง (ใบ)[1],[2],[5]
  11. ช่วยแก้ลมชื้นปวดเมื่อยตามข้อ แก้เหน็บชา (ทั้งต้น)[4]
  12. ช่วยแก้โรคเท้าช้าง (ราก)[5]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [4] ที่ไม่ได้ระบุวิธีใช้ไว้ ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือหากใช้ภายนอก ให้ใช้ตามความเหมาะสม[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งทะเล

  • ทั้งต้นพบสาร Citric acid, Fumaric acid, Hyperoside, Isoquercitrin, Malic acid, Succinic acid, Tartaric acid ส่วนลำต้นที่อยู่เหนือดินพบสาร Behenic acid, Benzoic acid, Butyric acid, ß-Sitosterol, Essential oil, Myristic acid, Potassium Chloride, Sodium chloride[5]
  • ใบพบสาร Citric acid, Curcumene, Ergotamine, Fumaric acid, Maleic acid, Succinic acid[5] และในใบยังพบน้ำมันระเหย (Essential oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Behenice acid, Melissic acid, Myristic acid[4]
  • ส่วนในเมล็ดผักบุ้งทะเลจะพบ Indole อัลคาลอยด์ เป็นอนุพันธ์ของ Lysergic acid[1] และยังพบ Cacalol methyl ether, Dehydrocacalohastine, Ergotamine, Matorin, Matorin acetate[5]
  • ในส่วนของใบผักบุ้งทะเลจะพบสารจำพวก Volatile ester ซึ่งจะมีฤทธิ์เป็น Antihistaminic-like[1]
  • ในใบผักบุ้งทะเลมีสารที่สามารถระเหยได้ และยังมีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้จากพิษของแมงกะพรุน ที่ทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้พอง เป็นผื่นแดง และมีอาการคันได้[4]
  • สารออกฤทธิ์สำคัญได้แก่ Beta-damascenone และ E-ehytol โดยจะมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เป็นผลทำให้การอักเสบลดลง และยังมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยลดการอักเสบอื่น ๆ ได้แก่ 2-hydroxy-4,4,7-trimethyl-1-(4H)-naphthalenone, (-)-mellein, eugenol, 4-vinyl guaiacol, actinidols Ia และ Ib ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin)[6]
  • จากการทดสอบฤทธิ์ต่อต้านฮีสตามีน (สารที่ทำให้เกิดอาการแพ้) ด้วยการใช้สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล นำไปทดลองกับลำไส้ที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีนและพิษจากแมงกะพรุน พบว่าสามารถช่วยต้านฤทธิ์ทั้งสองได้ และเมื่อได้มีการทำครีมขึ้นโดยใช้สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลด้วยอีเทอร์ 1% ก็สามารถช่วยรักษาพิษของแมงกะพรุนได้[1] โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านพิษแมงกะพรุนได้คือสาร Damascenone[3]
  • ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ส่วนสกัดที่เป็นไขมันที่ไม่สามารถทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสบู่ได้ (unsaponifiable fraction) และสารที่มีผลึกเป็นรูปเข็มสีขาวที่ได้จากสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบผักบุ้งทะเลและน้ำคั้นจากใบผักบุ้งทะเลสด พบว่ามีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อนำมาทดสอบกับผิวหนัง แต่ส่วนสกัดอื่นและส่วนสกัดที่เป็นเมือกจากสารสกัดด้วยน้ำ ไม่พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านฮีสตามีน ส่วนครีมที่มีสารสกัดจากใบที่ความเข้มข้นร้อยละ 1 พบว่า มีฤทธิ์ในการถอนพิษแมงกะพรุน เมื่อนำครีมทาทันทีในวันแรกที่โดนพิษของแมงกะพรุน จะช่วยทำให้ตุ่มแดงและอาการคันลดลงและหายไปภายใน 2 วัน หากใช้ยานี้ในรายที่มีพิษเป็นแผลเรื้อรังแล้ว พบว่าแผลจะหายไป 50% ภายใน 1 สัปดาห์ และจะหายสนิทภายในหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง[6]
  • ฤทธิ์ลดการอักเสบ พบว่าสารสกัดด้วยอีเทอร์และเอทานอลจากใบผักบุ้งทะเลมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin)[6]
  • ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อฉีดสารสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทและน้ำจากส่วนเหนือดินของต้นผักบุ้งทะเลเข้าทางช่องท้องของหนูเมาส์ พบว่าจะช่วยลดอาการปวดที่ถูกกระตุ้นโดยกรดอะซิติกและฟอร์มาลินได้ และการให้หนูกินสารสกัดด้วยเมทานอลก็พบว่าจะลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐานพาราเซตามอลหรือยาแอสไพริน สารสกัดด้วยเมทานอลและสารสกัดด้วยน้ำไม่ว่าจะให้ด้วยวิธีการฉีดเข้าทางช่องท้องหรือให้โดยวิธีกินก็สามารถช่วยลดอาการปวดในหนูเมาส์ได้เช่นเดียวกับการฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินเข้าทางช่องท้องของหนูเมาส์[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าไม่ว่าจะทดสอบกับสุนัขในขนาด 2 กรัม ด้วยสารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำ หรือปิโตเลียมอีเทอร์ ก็ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษหลังจากผ่านไป 4 วัน และกับแมวหนัก 1.8 กรัม ต่อแอลกอฮอล์ 50% ที่ฉีดเข้าทางช่องท้องก็ไม่เป็นพิษ หรือกับแมวที่มีท้องก็ไม่เป็นผลต่อลูกในท้องของมันเลย เช่นเดียวกับหนูแรทที่กินสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล[1],[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉพาะที่พบว่า สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลไม่ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ทั้งผิวหนังธรรมดาและผิวหนังที่ขูดถลอกของกระต่าย[6]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรผักบุ้งทะเล

  • ยางจากต้นหรือใบมีพิษห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้เมา วิงเวียน และคลื่นไส้[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ผักบุ้งทะเล”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 493-495.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ผักบุ้งทะเล”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 178.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักบุ้งทะเล Goat’s Foot Creeper”.  หน้า 127.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ผักบุ้งทะเล”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 346.
  5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ผักบุ้งทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [25 เม.ย. 2014].
  6. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ผักบุ้งทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [25 เม.ย. 2014].
  7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ผักบุ้งทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [25 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Siyang Teo, SierraSunrise, hn., sclereid0309, Nusa Tenggara (Indonesia), Rick Shackletons Photographic Adventures, William Roth Photography, 翁明毅)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด